ผู้เขียน หัวข้อ: “แท้งเสรี” กับทารก 2002 ศพ  (อ่าน 2162 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
“แท้งเสรี” กับทารก 2002 ศพ
« เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2010, 07:06:34 »
หลังจากการตรวจพบ "ซากทารก" ที่ถูกรีดทิ้งจากครรภ์มารดา มากกว่า 2,000 ศพ ในวัดไผ่เงินโชตนาราม ถนนจันทน์ ย่านบางคอแหลม อันนำมาซึ่งความสะเทือนขวัญ และเขย่ามโนธรรมสำนึกของผู้คนในสังคมเกี่ยวกับประเด็น "การทำแท้ง" กันเป็นอย่างมาก โดยนางสมบัติ สิโนทก มารดาของ น.ส.ลัญฉกร จันทมนัส ผู้ ต้องหาคดีลักลอบทำแท้งเถื่อน อธิบายเหตุผลในการทำแท้งว่า คล้ายกับการทำบาปครึ่งหนึ่ง บุญครึ่งหนึ่ง หาก น.ส.ลัญฉกรไม่ทำจะมีเด็กกี่คนที่ถูกทิ้งตามถังขยะ ตามห้องน้ำ ปั๊มน้ำมัน ที่มีทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต หรือถูกทิ้งตามป้ายรถเมล์
       
       แต่ความจริงก็คือ ไม่ว่าน.ส.ลัญฉกรจะทำแท้งหรือไม่ ปัญหานี้ก็จะยังไม่หมดไป หรือไม่มีวันหมดไปจากสังคม เพราะการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยจนนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม กำลังเป็นปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากเอแบคโพลล์เมื่อต้นปี 2553 พบว่าเยาวชนไทยร้อยละ65 ไม่รู้วิธีการคุมกำเนิด และร้อยละ 64 ไม่รู้วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีเพียงร้อยละ 21.1 ที่ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ร้อยละ 58.8 ใช้บางครั้ง และร้อยละ 20.1 ไม่เคยใช้เลย
       
       นั่นแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นไทยกำลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม โดยสวนดุสิตโพลรายงานเรื่องการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม ว่า พบคุณแม่วัยใสอายุน้อยกว่า 20 ปีที่คลอดลูกจากปี 2542 ที่มีร้อยละ 12.5 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.7 ในปี 2549 และสูงกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 10 ส่วนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) รายงานเมื่อปี 2546 ว่าค่าเฉลี่ยวัยรุ่นไทยอายุ 15-19 ปี คลอดลูก 70 รายต่อ 1,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็น 90 รายต่อ 1,000 คน หรือวันละเกือบ 200 ราย และปัจจุบันปี 2553 คิดดูว่าจะเพิ่มมากขึ้นขนาดไหน
       
       ที่สำคัญ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน และแม้กระทั่งผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ก็มีปัญหาเรื่อง “ท้องไม่พร้อม” จนนำไปสู่การ “ทำแท้ง” ด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยที่อาจนำไปสู่การท้องไม่พร้อมและการทำแท้งมีมากมายหลายปัจจัย อาทิ การตั้งท้องนอกสมรส การตั้งท้องขณะเรียนหนังสือ หรือหลังจากตั้งท้องแล้วสามีเสียชีวิต หรือพบว่าสามีมีภรรยาอยู่แล้ว ฯลฯ ผู้หญิงจึงต้องหาทางออกด้วยการ “ทำแท้ง” เพื่อหลีกหนีปัญหา ภาระ และความยุ่งยากต่างๆ นานาที่จะถาโถมเข้ามาในชีวิต ดังนั้น การท้องไม่พร้อมจึงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และโดยไม่เลือกว่าผู้หญิงคนนั้นจะเป็นใคร และที่สำคัญการ “ท้องไม่พร้อม” ของผู้หญิงหลายคนนั้นไม่เข้าเกณฑ์ที่กฎหมายอนุญาต จึงทำให้พวกเธอยอมเสี่ยงกฎหมายและยอมเสี่ยงชีวิตหันไปพึ่งบริการ “หมอเถื่อน” ให้รีดลูกทิ้ง อย่างที่ปรากฏเป็นข่าว “ซากทารก2,002 ศพ” ในวัดไผ่เงินโชตนาราม อันน่าสลดหดหู่ใจนั่นเอง
       
       และก็เป็น “ทารก 2,002 ศพ” นั่นเอง ที่เป็นตัวจุดกระแส และคล้ายกับว่าพวกเขาได้เรียกร้องให้ผู้คนในสังคมหันมา “ตระหนัก” ถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย รวมถึงการระวังป้องกันไม่ให้การมีเพศสัมพันธ์นำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ไม่ พร้อม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและบาปที่เกิดจากการทำร้าย “ชีวิตน้อยๆ” ในครรภ์มารดา
       
       ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ “ทารก 2002 ศพ” ที่เกิดขึ้นก็นำมาสู่การทบทวนและนำมาซึ่งประเด็นเรียกร้องกันว่า ควรเปิดให้มีการ “ทำแท้งเสรี” หรือไม่ เพื่อให้มีหลักการทำแท้งที่ปลอดภัย และมีเหตุทำแท้งที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย ในกรณีที่จำเป็น โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดระยอง ได้ออกมาเสนอว่า ต้องมีกฎหมายทำแท้งเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาการทำแท้ง โดยบอกว่า จะนำเสนอและผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ ชื่อว่า "กฎหมายทำแท้งโดยถูกต้องด้วยความสมัครใจและร้องขอโดยมีเหตุจำเป็น"
       
       สาระสำคัญ คือ ให้ผู้ปกครองของผู้เยาว์หรือผู้ตั้งครรภ์ สามารถร้องขอต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอทำแท้งได้ ด้วยเหตุผลดังนี้ 1. ตนเองและบิดาของทารกไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูเด็กหลังคลอดได้ เนื่องจากวัย ฐานะทางการเงิน สภาพแวดล้อม 2.ถูกคนที่เป็นบิดา (ของเด็กในครรภ์) ทอดทิ้ง และไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตร 3.ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ และสมัครใจไม่เอาทารกไว้ 4.ทารกในครรภ์มีปัญหาโรคติดต่อ และ 5.ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เกิดมาแล้วอาจพิการ หรือไม่ปกติ
       
       นอกจากนี้ นายสาธิตยังอธิบายว่า ประโยชน์ทางตรงที่จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ คือ 1.ลดการเสียชีวิตของมารดาที่มีทารกในครรภ์จากการทำแท้ง 2.แก้ไขปัญหาการมีบุตรในภาวะมารดาไม่พร้อม และ 3.ลดการกระทำความผิดของคลินิครับทำแท้ง ส่วนประโยชน์ทางอ้อม คือ 1.ลดปัญหาสังคมที่เกิดจากการมีประชากรที่ไม่มีคุณภาพ จากการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวที่มีปัญหา 2. ลดปัญหาสังคม
       
       อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายสาธิตเตรียมเสนอ “กฎหมายทำแท้งโดยถูกต้องด้วยความสมัครใจและร้องขอโดยมีเหตุจำเป็น” ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้านั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ เคยออกมาค้านร่างกฎหมายทำแท้งเสรีจนตกไปในสภา ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายทำแท้งเสรี หากผ่านสภาออกมาบังคับใช้มีแต่จะเพิ่มปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหา และที่ว่าจะแก้ปัญหาคลินิกทำแท้งเถื่อน จะเป็นไปได้อย่างไร
       
       ยกตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษก่อนมีกฎหมายทำแท้งเสรี อัตราการทำแท้งเถื่อนร้อยละ 3 เท่านั้น เมื่อมีกฎหมายทำแท้งเสรีการทำแท้งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว ดังนั้น หากมีกฎหมายทำแท้งเสรี คลินิกทำแท้งจะมีเต็มไปหมดและมากขึ้นไปอีก
       
       ขณะที่นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิ เพื่อนหญิง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ถึงเวลาที่ไทยควรจะมีกฎหมายลักษณะนี้ เพื่อเปิดช่องให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ที่ ปลอดภัยมากขึ้น จากปัจจุบันอนุญาตให้ยุติการทำแท้งถูกกฎหมายเพียง 2 กรณี คือ การถูกข่มขืน และการตั้งครรภ์ต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพมารดาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงผู้หญิงที่ทำแท้งยังมีสาเหตุอื่นด้วย เช่น ไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ มารดามีอายุน้อยเกินไป ผู้ชายไม่รับผิดชอบ และกระทบต่อการศึกษาของแม่และพ่อ
       
       ด้านนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้ความเห็นว่า การพบศพทารก 2002 ศพ ซุกในโกดังเก็บศพวัดไผ่เงิน ถือเป็นความรุนแรงที่ผู้หญิงและเด็กถูกกระทำมานานนับสิบปี ซึ่งการแก้ปัญหาการทำแท้ง คงจะใช้กฎหมายมาแก้ปัญหาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะการใช้กฎหมายเป็นการแก้ปัญหาการทำแท้งที่ปลายเหตุ แต่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้องเน้นการให้การศึกษากับเยาวชน ให้มีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะปัญหาการทำแท้งที่เกิดขึ้นเกิดจากเยาวชนเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับ กิจกรรมทางเพศ อย่างไม่รู้เท่าทัน พอเกิดปัญหาตั้งครรภ์ในสภาวะที่ยังไม่มีความพร้อม จึงหาทางออกด้วยวิธีการแบบผิดๆ ด้วยการทำแท้ง
       
       อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยืนยันว่ากฎหมายการทำแท้งในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว คือมีความยืดหยุ่นพอสมควร โดยหลักการทำแท้งถือว่าผิดกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นให้เพื่อประโยชน์เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยแพทยสภาได้ออกหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติต่างๆ
       
       ขณะเดียวกัน สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับเสียงสะท้อนกรณีการทำแท้งจากการพบซาก ทารกที่เกิดจากการทำแท้งครั้งนี้ จากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,458 คน ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยข่าวการพบซากทารก 2002 ศพ ที่วัดไผ่เงินสร้างความตกตะลึงและตกใจว่าทำไมถึงมีคนทำแท้งกันมากมายขนาดนี้ ถึง 62.18 % และประชาชนคิดว่าการทำแท้งเป็นสิทธิส่วนบุคคล และมาจากความจำเป็นของแต่ละคน 47.17 % ไม่เป็น 22.64% และไม่แน่ใจ 30.19%
       
       สำหรับกรณีที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตรงกับปัญหานี้ออกมาใช้ ประชาชนเห็นด้วย 65.62% ไม่เห็นด้วย 12.66% ไม่แน่ใจ 21.72 % ประชาชนคิดว่าสภาพสังคมย่ำแย่ลงอย่างมาก ทำให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบอย่างผิดๆ 34.38% สังคมไทยมีจิตใจตกต่ำ แย่ลง ขาดคุณธรรมและจริยธรรม 32.81% ส่วนแนวทางป้องกันแก้ไขเรื่องนี้ ประชาชนคิดว่าการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การป้องกัน การคุมกำเนิด ให้เหมาะสมกับเด็กตามระดับชั้นเรียนมีจำนวน 36.09 % พ่อแม่คนในครอบครัวดูแลเอาใจใส่อบรมบุตรหลานอยางใกล้ชิด 29.14% ปราบปรามคลินิกทำแท้งเถื่อน 15.50%
       
       อย่างไรก็ตาม นั่นคือมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายต่อประเด็นกฎหมายการทำแท้งเสรี และปัญหาการทำแท้งเถื่อนที่เกิดขึ้น และเข้าใจว่าทุกคนที่นำเสนอความคิดเห็นและวิธีการแก้ปัญหาล้วนมีความปรารถนา ดีและต้องการอยากหาทางออกให้กับสังคมด้วยกันทั้งนั้น แต่การที่เราจะแก้ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ การแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา น่าจะเป็นทางออกของผู้มีปัญญาและนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างยั่งยืนที่สุด เพราะการใช้ “กฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตามแต่ ล้วนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยกันทั้งนั้น
       
       ปัญหาการทำแท้งก็เหมือนกัน
       
       แม้ “กฎหมายการทำแท้งเสรี” จะมีหลักการและเหตุผลสักเพียงใด แต่มันก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือจะมองในแง่ศีลธรรม ก็อย่างที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี อรรถาธิบายว่า การทำแท้งในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไปทำ หรือคนที่ทำให้ จะเป็นการฆ่าคนดีๆ เป็นการทำบาปอย่างร้ายแรง แน่นอนว่า การทำแท้งนั้นก็คือการฆ่าผู้อื่น โดยเฉพาะเป็นการฆ่าเลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง เป็นภาพสะท้อนของจิตใจมนุษย์ที่โหดเหี้ยมอำมหิตยิ่ง ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามอธิบายว่าเป็นการฆ่าเพื่อไม่ให้เด็กเหล่านั้นต้อง เป็นเด็กมีปัญหา แต่ปัญหาของมนุษย์ที่ไม่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ย่อมร้ายแรงกว่าหลายเท่า
       
       สุดท้ายแล้ว ก็อย่างที่บอก ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี “กฎหมายทำแท้งเสรี” ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เรามารณรงค์เรื่องการป้องกันให้จริงจังและมากขึ้นดีกว่า และให้โอกาสผู้หญิงที่ประสบปัญหาเหล่านี้ ที่พลาดพลั้ง ก็ให้กำลังใจพวกเธอ และทำความเข้าใจเสียใหม่กับ “ผู้ชาย” ที่เป็นตัวก่อปัญหาให้คนอื่นต้องแบกรับ โดยเฉพาะกับพวก ผู้ชายที่ “ไม่รับผิดชอบ” ทั้งหลาย
       
       เพราะมนุษย์ต่างกับสัตว์ตรงที่มี “ศีลธรรม” การแก้ปัญหาที่ถูกต้องควรแก้ที่ “ต้นเหตุ” ของปัญหา และการ “ไม่ฆ่า” น่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

ASTVผู้จัดการรายวัน    26 พฤศจิกายน 2553