ผู้เขียน หัวข้อ: จุฬาฯเจ๋ง! ประยุกต์วิธีปิดรูเส้นเลือดขั้วหัวใจสำเร็จรายแรก ไม่ต้องผ่าตัด  (อ่าน 1967 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
รพ.จุฬาฯ แถลงความสำเร็จการสอดสายสวนทางเส้นเลือด ปิดรูรั่วเส้นเลือดใหญ่ที่ขั้วหัวใจ โดยไม่ต้องผ่าตัด สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ราคาถูกกว่า 4 เท่า แผลเล็ก พักฟื้นไม่นาน ความปลอดภัยสูง เล็งคุยบริษัทผู้ผลิตต่อยอดผลิตแบบให้ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

 วันนี้ (25 พ.ย.) เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผอ.รพ.จุฬาฯ พร้อมด้วยรศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ, ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ, รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ,รศ.นพ.พรเทพ เลิศทรัพย์เจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจในเด็ก และนายสุชาติ นิทัศน์ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอาการรูรั่วที่เส้นเลือดหัวใจด้วยวิธีสอดท่อผ่าน หลอดเลือดเข้าไปอุดรูรั่ว ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จด้านการแพทย์อีกครั้งของ รพ.จุฬาฯ
       
       ศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า วิสัยทัศน์หลักของ รพ.จุฬาฯ คือ การพัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลชั้นนำในระดับโลก ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการแพทย์ การบริการ ด้านบุคลากร และนอกจากนี้ ด้านนวัตกรรมก็เป็นยุทธศาตร์หลักสำคัญที่ทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ล่าสุด ทางโรงพยาบาลได้ประยุกต์เครื่องมือสายสวนที่ภายในบรรจุอุปกรณ์ที่ส่วนหัวมี ลักษณะคล้ายจุกก๊อก สอดผ่านเลือดเลือดใหญ่ที่ต้นขาผ่านมายังหัวใจ ผ่านมายังเส้นเลือดใหญ่ที่มีรูรั่วของหัวใจ จากนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษา จะดันอุปกรณ์คล้ายจุกก๊อกออกมาจากสายสวน เพื่ออุดรูรั่วเส้นเลือดใหญ่หัวใจ โดยได้ใช้วิธีนี้รักษานายสุชาติ ผู้ป่วยวัย 43 ปี ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ และได้เข้ารับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 2 ลิ้นเมื่อ พ.ศ.2546 ที่ผ่านมา ซึ่งผลที่ออกมาปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจมาก

  ผศ.พญ.สมนพร กล่าวว่า ในเคสของ นายสุชาติ ได้มีการติดตามอาการหลังผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจมาตลอด จนกระทั่งต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา นายสุชาติ ถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการเหนื่อย บวม ปวดท้อง ผลการตรวจเบื้องต้น พบว่า หัวใจโตและตับโตมาก เสียงหัวใจเต้นผิดปกติ ที่หัวใจมีก้อนเลือดขนาดใหญ่ และพบว่า มีรูรั่วที่บริเวณเส้นเลือดใหญ่ที่ขั้วหัวใจ 8 มิลลิเมตร และมีโพรงเลือดไหลผ่านขนาดใหญ่ทะลุเข้าไปยังหัวใจห้องขวาบน ส่งผลให้ตับโตและเสี่ยงกับอาการตับวาย หากผ่าตัดจะเสี่ยงถึงร้อยละ 40 เนื่องจากต้องผ่าตัดผ่านทางช่องออก เจาะผ่านกระดูกหน้าอก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อก้อนเลือด และโพรงเลือดที่หัวใจได้ และหากผ่าตัดในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท
       
       “หลังจากตรวจเบื้อง ต้น พบความผิดปกตินี้แล้ว เราก็ใช้เทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาช่วยเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น ด้วยเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนแบบสามมิติ ทำให้เราเห็นรูรั่วที่หัวใจชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้การตรวจรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น”
       
       ด้าน รศ.นพ.สุพจน์ เปิดเผยว่า หลังจากได้ภาพหัวใจที่ตรวจโดยคลื่นเสียงสะท้อนแบบสามมิติทำให้ทีมแพทย์ ตัดสินใจเลือกวิธีสอดสายสวนผ่านเส้นเลือดที่ขาเข้าไปอุดรอยรั่วเส้นเลือด หัวใจ แทนที่จะเป็นการผ่าตัด เพราะนายสุชาติเป็นคนไข้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเปิดช่องอกมาก่อน ทำให้มีพังผืดบริเวณผนังทรวงอก และก้อนเลือดดังกล่าวก็อยู่บริเวณส่วนหน้าของหน้าอก ทำให้การผ่าตัดเป็นวิธีที่เสี่ยงเกินไป
       
       “เราสอดสายสวนเข้าไปในเส้นเลือดดำ ให้ย้อนกลับออกมาที่เส้นเลือดแดง จากนั้นดันอุปกรณ์ที่คล้ายจุกก๊อกให้อุดรอยที่รั่ว เมื่อได้ระดับดีแล้วเราก็คายเกลียวแล้วปล่อยให้จุกก๊อกอุดอยู่แบบนั้น อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนาจากเดิมที่เป็นนิกเกิลไปเป็นการหุ้มด้วย วัสดุทองคำขาว ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สามารถทิ้งเอาไว้ในร่างกายได้ตลอดชีวิต แม้ไม่สลายไปก็ตามที และหลังจากอุดรูรั่วแล้ว โพรงทางเดินของเส้นเลือดก็จะค่อยๆ หายไปเอง ก้อนเลือดในหัวใจก็ปล่อยไว้ อาจจะมีการดูดซึมกลับเข้าไปในร่างกายเองหรือไม่ก็ได้ ซึ่งทีมแพทย์ก็ได้ติดตามเฝ้าระวังอาการอยู่เป็นระยะ
       
       ในขณะที่ นายสุชาติ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นคนแรกของประเทศ กล่าวว่า ตอนแรกที่มาโรงพยาบาลรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก แต่พอได้รับการรักษาแล้วหายใจเต็มปอด ไม่เหนื่อยง่าย ทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกคิ คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก
       
       ด้าน นพ.วิชัย กล่าวว่า การ รักษาด้วยวิธีนี้ ราคาจะอยู่ที่ราวๆ 50,000 บาท ถูกกว่าการผ่าตัดถึง 4 เท่าและปลอดภัยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม รพ.จุฬาฯ ไม่ได้รักษาคนป่วยด้วยวิธีการดูตามสิทธิต่างๆ ของคนไข้ หากแต่ดูความเหมาะสมและปลอดภัยของคนไข้เป็นหลัก
       
       “แม้ว่าหากวิธีนี้แพงกว่าการผ่าตัด แต่ถ้าเราคิดว่าจำเป็นต่อคนไข้มากกว่า เราก็จะรักษาวิธีนี้ให้” นพ.วิชัย กล่าว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    25 พฤศจิกายน 2553