ผู้เขียน หัวข้อ: จี้ สปสช.เลิกครอบงำการรักษา ชี้ปรับเกณฑ์ซื้อเวชภัณฑ์เหมาโหล เพราะถูกหมอโวย  (อ่าน 696 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
 "หมออภิวัฒน์" จี้ สปสช.เลิกครอบงำการรักษาของแพทย์ ซื้อ "ยา-เวชภัณฑ์" เหมาโหล ส่งผลการรักษาผู้ป่วย สาเหตุหนึ่งสิทธิบัตรทองตายสูงกว่า ขรก. ชี้ สปสช.ปรับเกณฑ์ซื้อสายสวนหัวใจหลายยี่ห้อ เพราะถูกหมอหัวใจโวย ด้าน สปสช.แจงซื้อแบบยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว นักวิจัยทีดีอาร์ไอป้อง สปสช. บอกตีความไปไกล บอกตายสูงกว่าไม่ได้ เพราะฐานข้อมูลต่าง

        ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการแพร่ผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่พบผู้ป่วยบัตรทองใน 5 โรคมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ ว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการจำกัดสิทธิการเข้าถึงยา เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยานอกบัญชียาหลักได้ หรือใช้ยาสูตรเฉพาะนอกเหนือจากที่ สปสช.กำหนด และกำหนดวิธีการรักษา เช่น การล้างไตผ่านช่องท้องเป็นวิธีรักษาแรก ซึ่งตรงนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยทั้งสิ้น แพทย์ไม่มีอิสระในการรักษาผู้ป่วย ทั้งที่การรักษาถือเป็นศิลปะ ผู้ป่วยแต่ละคนมีวิธีการรักษาโรคที่ต่างกัน แต่ผู้ป่วยบัตรทองจะได้รับการรักษาที่เหมือนกัน ทั้งยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยกตัวอย่าง Stent ที่ใช้ในการขยายหลอดเลือดหัวใจ ที่ผ่านมาก็ทำการซื้อแบบเหมาโหลยี่ห้อเดียว บริษัทเดียว
       
       "หากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจไม่ส่งเสียงออกมาว่า การซื้อเหมาโหลเช่นนี้เกิดปัญหา เช่น ใส่ Stent เข้าไปให้คนไข้แล้วหลุด เนื่องจากขนาดไม่พอดีกับหลอดเลือด ซึ่งการที่ สปสช.เหมาโหลซื้อแบบเดียว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นได้ ทั้งที่แพทย์ทำการฉีดสีแล้วทราบว่า Stent แบบไหนที่เหมาะสมกับการรักษาผู้ป่วย ซึ่งหลังจากมีการส่งเสียงออกไป สปสช.จึงค่อยขยายให้มีการใช้ Stent ในการรักษา 2 ยี่ห้อ ซึ่งก็ช่วยให้ดีขึ้น แต่ถามว่าปัญหาที่ต้นเหตุถูกแก้ไขหรือไม่ ก็เปล่า เพราะยังกำหนดวิธีการรักษาให้แพทย์อยู่เช่นเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็คงต้องให้แพทย์ทุกด้านค่อยๆ ออกมาส่งเสียง ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่" ศ.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว
       
       ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า ยอมรับว่าตัวเลขผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตสูงกว่าจริง แต่ไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากการเหมาโหลซื้อเวชภัณฑ์ อาทิ สายสวนหัวใจได้ ต้องมาดูเหตุผลอื่นประกอบ ที่สำคัญตอนนี้ สปสช.เข้าใจดีว่าการรักษาโรคเป็นศิลปะเฉพาะบุคคล ตอนนี้ก็มีการปรับเกณฑ์ไปเยอะ อย่างสายสวนหัวใจก็อนุมัติให้ รพ.เลือกใช้ได้ประมาณ 2-3 ชนิด เช่นเดียวกับเลนส์แก้วตาเทียมที่ตอนนี้อนุญาตให้ใช้ได้เกือบทุกยี่ห้อแล้ว ยืนยันว่า สปสช.มีการรับฟังอยู่แล้ว และพยายามพบกันตรงกลาง แต่อย่าลืมว่า สปสช.มีงบประมาณจำกัด ต้องดูแลคนเยอะ ดังนั้น ต้องหาคนกลาง ซึ่งแรกๆ ยอมรับว่าเรื่อง Stent อาจจะสุดโต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ตอนนี้ก็ยืดหยุ่นให้ระดับหนึ่ง พยายามจะปรับปรุงอยู่ แต่ก็มีข้อจำกัดที่งบประมาณ การซื้อเหมาโหลก็คือการจัดซื้อรวม ต่อให้ไม่มี สปสช. รพ.ก็ซื้อรวมเหมือนกัน เพราะราคาถูก แต่ว่าโดยงบประมาณมีเท่านี้
       
       ด้าน ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า จากการที่มีการเรียกร้องให้ทีดีอาร์ไอเปิดเผยผลวิจัยฉบับเต็มกรณีผู้ป่วยบัตรทองตายสูงกว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการนั้น ในฐานะนักวิจัยเรื่องดังกล่าวขอชี้แจงว่า การศึกษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. และมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ ทำเสร็จสมบูรณ์ ธ.ค. 2557 รายงานฉบับสมบูรณ์ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ ตั้งแต่ มี.ค. 2558 ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นได้ และยังได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 15 แห่ง เนื้อหาในรายงานจึงไม่ใช่ข้อมูลลับแต่อย่างใด
       
       ดร.ตรีนุช กล่าวว่า สำหรับผลการวิจัยนั้นต้องชี้แจงว่า ข้อมูลโครงสร้างอายุของผู้ป่วยสิทธิบัตรทองและข้าสราชการต่างกัน โดยอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยและอายุเฉลี่ยวันที่ตายของผู้ป่วยสิทธิข้าราชการสูงกว่าบัตรทอง แต่อัตราการตายในผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสูงกว่า ทำให้อาจตีความว่ามีการตายสูงผิดปกติ ซึ่งจริงๆ เป้นการตีความไปไกลเกินกว่าผลการศึกษา เพราะการจะสรุปว่าตายสูงผิดปกติต้องเปรียบเทียบข้อมูลผู้ป่วย 2 ชุดที่มีลักษณะผู้ป่วยเหมือนหรือคล้ายกันมาก แต่ผู้ป่วยสองระบบอายุต่างกัน และไม่ได้จัดเก็บข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผู้ป่วย เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าฐานข้อมูลสองชุดนี้มีผู้ป่วยในลักษณะเหมือนกันมากพอหรือไม่ นอกจากนี้ การประเมินประสิทธิผลการรักษาจำเป็นต้องคำนึงถึงทรัพยากรของระบบนั้นด้วย เพราะมีผลต่อการเลือกใช้ยาและเทคโนโลยี รวมถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลค่าใช้จ่ายพบว่า ช่วง 1 ปีก่อนตายของผู้ป่วยในสิทธิข้าราชการสูงกว่าบัตรทองร้อยละ 13 น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในการรักษาที่ควรแก้ไข และพบว่าค่าใช้จ่ายของทั้งสองระบบจะยิ่งสูงขึ้น เมื่อผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษาหาแนวทางในการลดค่าใช้จ่าย
       

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 มิถุนายน 2558