ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.จุฬาฯ ให้อิสระผู้ป่วยเลือกจ่ายหรือไม่จ่าย 30 บาท  (อ่าน 1237 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
รพ.จุฬายันทำตามนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท ไม่มีการบังคับผู้ป่วย ให้เป็นไปตามสมัครใจ พร้อมเร่งทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงาน เผยหากไม่ทัน 1 ก.ย. จะชะลอการเก็บเงิน ด้าน สปสช.เตรียมรับเรื่องร้องเรียนผ่าน 1330 “วิทยา” สวน รพ.ไม่เก็บ 30 บาทต้องมีเหตุผล ชี้เปิดช่องให้ไม่ประสงค์ร่วมจ่ายอยู่แล้ว ยันไม่เกี่ยวการเมืองหรือสร้างแบรนด์
       
       รศ.นพ.ประเสริฐ ตรีวิจิตรศิลป์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการร่วมจ่าย 30 บาท ในโครงการหลักประกันสุขภาพว่า ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ พร้อมที่จะทำตามนโยบายข้อปฏิบัติของรัฐบาลในโครงการร่วมจ่าย 30 บาท แต่ทางโรงพยาบาลจะไม่มีการบังคับหรือบอกให้ผู้ป่วยที่มาใช้บริการให้จ่ายเงินแต่จะให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเองว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายก็ได้ เนื่องจากในโครงการร่วมจ่าย 30 บาท ที่ได้กำหนดสิทธิ์ในการร่วมจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 21 ข้อ นั้น ในข้อ 21 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขมีการระบุบที่ชัดเจนว่าจะมีการยกเว้น กับบุคคลที่ไม่ประสงค์ร่วมจ่าย ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลก็มีความพร้อมในการให้บริการ
       
       ขณะที่ รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ รองผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า รพ.จุฬาฯ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ กำลังอยู่ระหว่างทำแนวปฏิบัติและสื่อสารให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากไม่ทันก่อนวันที่ 1 กันยายน รพ.จุฬาฯ จะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก่อนให้ได้มากที่สุด โดยจะยังไม่เก็บเงินดังกล่าว คือ อาจต้องชะลอการเก็บเงินไปก่อน เพื่อให้ระบบเข้าที่กว่านี้
       
       ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในกฎหมายของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ไม่ได้ระบุชัดถึงข้อปฏิบัติของหน่วยบริการว่าต้องดำเนินการเก็บร่วมจ่ายหรือไม่ แต่ไปเน้นในการให้บริการประชาชนและให้พวกเขาได้ร่วมจ่าย ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นจะผิดหลักกฎหมายหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ คงต้องกลับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 กันยายนที่จะเริ่มเก็บเงินเป็นวันแรกนั้น ทางสปสช.ได้เตรียมระบบรับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วน โทร. 1330
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในกรณีโรงพยาบาลที่ประกาศว่าจะไม่เก็บ 30 บาทนั้นก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งนโยบายได้เปิดช่องไว้ให้ในกรณีที่ประชาชนไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายได้อยู่แล้ว โดยเรื่องนี้ เป็นนโยบายเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพดำเนินไปอย่างดี ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการเมือง หรือต้องการจะสร้างแบรนด์แต่อย่างใด เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล และไม่ได้บังคับเพราะหากประชาชนไม่อยากจ่ายก็สามารถทำได้
       
       “วิทยา” ดีเดย์ร่วมจ่าย 30 บาท เมื่อรับยา
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาทตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคยุคใหม่ ซึ่งจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 1 กันยายน 2555 เป็นต้นไปว่า การให้ประชาชนร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท จะดำเนินการเฉพาะการรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป จนถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดอื่น และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ในกรณีเดียวคือเฉพาะรายที่ได้รับยาเท่านั้น ซึ่งในกลุ่มผู้ที่มีบัตรทอง 30 บาทที่อยู่ในข่ายร่วมจ่ายมี 25.9 ล้านคน ส่วนค่ายายังฟรีเหมือนเดิม หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าตรวจโรค ไม่รับยา ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ
       
       นายวิทยากล่าวว่า การร่วมจ่ายนี้เป็นการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจแก่ผู้รับบริการ และเป็นการกระตุ้นให้สถานพยาบาลทุกระดับเกิดการพัฒนาคุณภาพบริการยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน การรักษาโรคไต เอดส์ อาหารสุขภาพในโรงพยาบาล และให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่วนผู้ที่ใช้บริการตรวจโรคหรืออื่นๆ เช่น ทำแผล ฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลที่กล่าวมาที่ไม่ได้รับยา รวมทั้งใช้บริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดาร และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ทั่วประเทศ ยังเป็นการให้บริการฟรีทั้งหมดเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม หากไม่ประสงค์จะร่วมจ่ายก็สามารถสงวนสิทธิ์ได้ โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบรายหัวในโครงการ 30 บาท ในอัตรา 2,755.60 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 หัวละ 209.12 บาท
       
       นายวิทยากล่าวต่อว่า กลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องร่วมจ่ายค่าธรรมเนียม 30 บาท ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นเดิม 20 กลุ่ม เช่นผู้พิการ ผู้สูงอายุ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ผู้นำศาสนาอิสลาม เป็นต้น และผู้ที่ใช้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค เช่นฉีดวัคซีน การเข้ารับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤติ/ฉุกเฉินเร่งด่วน หรือเข้ารับบริการในหน่วยบริการระดับต่ำกว่าโรงพยาบาลชุมชน คือที่ รพ.สต. 9,750 แห่ง ศูนย์สุขภาพชุมชนในถิ่นทุรกันดาร 200 แห่ง และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 240 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวยื่นเมื่อเข้ารับบริการ การบริการเร็วขึ้น มีระบบให้คำปรึกษาออนไลน์หรือระบบการแพทย์ทางไกล เทเลเมดิซิน (Telemedicine) ระหว่าง รพ.สต. หรือ ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองที่อยู่ใกล้บ้านกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลในเมืองก็ได้
       
       ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโครงการ 30 บาทในรอบปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนได้รับการดูแลทั่วถึง โดยมีผู้เข้าใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 153 ล้านกว่าครั้ง และนอนรักษาในโรงพยาบาล 5 ล้านกว่าราย โดยในผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงหรือโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ 7 โรคได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการบำบัด 447,182 ราย ผ่าตัดสมอง 4,715 ราย ผ่าตัดหัวใจ 38,847 ราย ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม 6,292 ราย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการดูแลล้างไตและฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรวม 25,001 ราย และผ่าตัดเปลี่ยนไต 662 ราย ส่วนผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอดส์ได้รับยาต้านไวรัส 153,214 ราย