ผู้เขียน หัวข้อ: ผลสอบ สตง. ประเมิน สสส.ปี 2557(ตอนที่1) : สั่งเรียกเงินคืนจากผู้บริหารยันพนักงาน  (อ่าน 1240 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
ผลสอบ สตง. ประเมิน สสส. ปี 2557 (ตอนที่1) : สั่งเรียกเงินคืนจากผู้บริหารยันพนักงาน เบิกซ้ำซ้อน – ไม่มีเอกสารยืนยันไปตปท.รวมกว่า 8 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากที่ได้มีการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2557 โดยมีการประเมินในด้าน 1) การใช้จ่ายเงิน 2) ทรัพย์สิน 3) การบริหารงานของ สสส. โดยในแต่ละด้านมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุง เช่น การเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศไม่ถูกต้อง ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน

นอกจากนี้ ยังมีการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมซ้ำซ้อน การอุดหนุนโครงการที่จ่ายให้กับผู้รับทุนที่มูลนิธิ สมาคม และบุคคลธรรมดา ไม่มีการหักและนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ปิดอากรแสตมป์ในสัญญาให้ทุนสนับสนุนโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างทำแค่ใบสั่งซื้อ สั่งจ้างไม่ทำเป็นสัญญา การจัดทำงบประมาณไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม รวมทั้งการประเมินการดำเนินงานไม่บรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัด เป็นต้น

“จากการตรวจสอบของ สตง. ในประเด็นการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องและซ้ำซ้อน ได้มีคำสั่งให้เรียกเงินคืนนำส่งเป็นรายได้ สสส. และกำกับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ที่ถูกเรียกเงินคืนมีตั้งแต่อดีตผู้จัดการ สสส., รองผู้จัดการ, รองประธานคนที่ 2, ผู้บริหารแผนคณะต่างๆ, ผู้อำนวยการฝ่าย รวมทั้งพนักงานทั่วไป” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการเบิกจ่ายเงินของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ กรรมการ ที่ปรึกษาอื่นๆ ที่ สตง. ขอให้เรียกเงินคืน สสส. รวมทั้งหมดเป็นเงิน 8.3 ล้านบาท ได้แก่

1. ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมในต่างประเทศโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน เช่น ดูงาน World Social Marketing Conference ประเทศแคนาดา, GAPC 2013 ประเทศเกาหลีใต้ เฉพาะงานนี้มีรายชื่อผู้สื่อข่าว 4 ฉบับด้วย, 2014 Global Summit on Physical Activity of Children ประเทศแคนาดา รวมทั้งการดูงานที่ฟินแลนด์ บราซิล มาเลเซีย เป็นต้น เป็นเงินประมาณ 500,000 บาท

2. ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปต่างประเทศ โดยไม่มีเอกสารยืนยันการเดินทาง (Boarding pass) รวมเป็นเงิน 7.3 ล้านบาท

3. ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปต่างประเทศที่เบิกจ่ายเกินสิทธิของรองประธานคนที่ 2, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ, ที่ปรึกษา สสส. และกรรมการประเมินผลการดำเนินงานกองทุน เป็นเงินรวม 70,000 บาท

4. ค่าเบี้ยเลี้ยงของบุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง สสส. ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายตามระเบียบ สสส. เป็นเงิน 273,500 บาท

5. ค่าเบี้ยเลี้ยงกรณีที่มีอาหารเลี้ยงครบ 3 มื้อจึงไม่มีสิทธิเบิกจ่าย เป็นเงิน 112,600 บาท

6. ค่าเบี้ยเลี้ยงที่ผู้เดินทางเบิกจ่ายไม่ได้ตามระเบียบ 25,650 บาท

7. ค่าเบี้ยประกันภัยเดินทางที่เบิกจ่ายไม่ได้ 35,575 บาท

8. ค่าที่พักในต่างประเทศที่เบิกเกิน 20,000 บาท
ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/contact/banner_popup.php?ads_id=287

ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/contact/banner_popup.php?ads_id=287
28 โครงการ สตง.ขอเอกสารเบิกเงินไม่ได้

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สตง. ยังระบุว่า ระบบการจัดเก็บเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินให้กับโครงการที่ได้รับเงินอุดหนุนไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม สสส. ต้องจัดเก็บเอกสารไว้ที่ สสส. เมื่อ สตง. ขอตรวจสอบ สสส. ต้องใช้เวลานานมากในการรวบรวมเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบ และไม่สามารถหาเอกสารให้ตรวจสอบได้จำนวน 28 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 148.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.51 จากที่ทดสอบจำนวน 193 โครงการ และเมื่อ สตง. ขอทดสอบระบบการบันทึกข้อมูลโครงการ สสส. ไม่อนุญาตให้เข้าถึงระบบดังกล่าว โดยแจ้งว่าระบบยังไม่สมบูรณ์

สำหรับโครงการที่ขอตรวจสอบแต่ยังไม่ได้รับเอกสารหลักฐานของโครงการจาก สสส. เช่น โครงการสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ วงเงิน 30 ล้านบาทของสำนัก 5, ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อประชาชนของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ 1.5 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.), ระบบบริการดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. 2 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สกส., จ้างเหมาออกแบบและจัดสร้างเพื่อพัฒนาส่วนจัดแสดงนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้สุขภาวะ 4.9 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สกส., การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ 1.7 ล้านบาท ผู้รับงานคือ สกส., ส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพร่วมกับองค์กร 30 ล้านบาท ของสำนัก 5, พัฒนานักวิจัยระดับสูงด้านการควบคุมแอลกอฮอล์ 5.6 ล้านบาทของสำนัก 1 เป็นต้น

นอกจากนี้ สสส. ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับงานของโครงการ แต่ให้มีการจ้างผู้สอบบัญชีมาตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจสอบเพียงการรับจ่ายเงินและบันทึกบัญชี โดยบางรายมีข้อสังเกตแต่ไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจน แสดงถึงการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไม่อิสระ และไม่เที่ยงธรรม จึงทำให้ยังไม่มีการตรวจสอบว่าผลการดำเนินโครงการถูกต้องตามที่กำหนดในข้อตกลงหรือไม่

รวมทั้ง สสส. ไม่มีการรายงานและติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการ มีเพียงผู้ประสานงานโครงการ รวบรวมสรุปปัญหา อุปสรรคตามแบบรายงานความก้าวหน้าของโครงการเท่านั้น โดยไม่มีรายงานให้ผู้บริหารแต่ละระดับทราบ ส่งผลให้มีโครงการที่ครบกำหนดว่างานต้องแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2550-2557 แต่ยังไม่สามารถปิดโครงการได้ 1,194 โครงการ เป็นเงิน 323.47 ล้านบาท

http://thaipublica.org/2016/01/thaihealth-25-1-2559/
25 มกราคม 2016
.........................................
ชี้แจงกรณีการดำเนินงาน สสส.
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสายสังคม กรณีชี้แจงการดำเนินงาน สสส.
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558
ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.

          เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ผมและคณะ ได้มีโอกาสสำคัญเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมคณะอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน โดยใช้เวลาในการชี้แจงพอประมาณ เพื่อให้รายละเอียดในการตอบผลตรวจสอบของ คตร. ทุกข้ออย่างละเอียด โดยรวมก็ต้องขอบคุณอย่างสูงต่อคณะกรรมการที่รวมถึงคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ให้โอกาส สสส. ชี้แจงและรับฟังข้อมูลของ สสส. โดยภาพรวม สสส. ได้ชี้แจงทุกประเด็นชัดเจน ทั้งแง่มุมของกฎหมาย หรือในแง่มุมปฏิบัติ และในเอกสารหลักฐานทั้งหมด
          เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม ท่าน พล.อ.ไพบูลย์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่า ภาพรวมประเด็นของการตรวจสอบ ที่พูดถึงประเด็นของการทุจริตก็ดี หรือกรณีที่ระบุว่า มีการดำเนินการที่ผิดระเบียบ ไม่ถูกต้องตามระเบียบก็ดี ทั้งหมดได้ถูกพิจารณาแล้วว่า ไม่พบการกระทำใดที่เป็นประเด็นทุจริต หรือผิดระเบียบ ซึ่ง ประธาน คตร. ได้แถลงว่า คตร. จะยุติการสอบสวน สสส แล้ว
          เฉพาะใน 3 ประเด็น ที่ยังเป็นข้อสงสัยในสังคมนั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องของการกระทำที่ผิดระเบียบ ไม่ใช่เรื่องของการทุจริต แต่เป็นแง่มุมที่คิดว่า สังคมอาจถกเถียงกันใน 3 ประเด็นนี้ จึงได้ส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้ไปพิจารณาปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการต่างๆ ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
          1. ประเด็นด้านขอบเขตของคำว่า “สุขภาพ” และ “การสร้างเสริมสุขภาพ” ควรอยู่ตรงไหนที่พอดี เหมาะสม
          2. ประเด็นด้านระบบการจัดสรรงบประมาณการเงิน
          3. ประเด็นด้านระบบธรรมาภิบาล ผลประโยชน์ทับซ้อน
          ทั้ง 3 ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณาเพื่อให้เกิดความลงตัว ความสมดุลมากขึ้นซึ่งไม่ได้เน้นว่า จำเป็นจะต้องเป็นการแก้ไขกฎหมาย ของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 เสมอไป แต่อาจใช้วิธีอะไรก็ตามที่คณะกรรมการฯ เห็นว่าเหมาะสมที่สุด แต่ในภาพรวม ได้รับการยืนยันแล้วว่า “ไม่มีประเด็นในเรื่องของการทุจริต หรือการกระทำที่ผิดระเบียบ”
          อย่างไรก็ตามในเชิงหลักการ สสส. สามารถอธิบายการดำเนินงานในประเด็นต่างๆที่มีข่าวจากผลการตรวจสอบที่ผ่านมาได้ ดังนี้
          เรื่องการที่ สสส. มีการจัดทำแผนการดำเนินงาน มีการกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อการดำเนินงานหรือไม่ ได้ชี้แจงว่า สสส. ได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงาน และวางเป้าหมายการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีการกำหนดเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานทั้งระยะ 1 ปี ระยะ 3 ปี และระยะ 10 ปี เฉพาะในปี 2557 สสส. กำหนดตัวชี้วัดด้านต่างๆ ไว้ถึง 113 ตัวชี้วัด ซึ่งท่านประธาน คตร. เองได้ปรารภในที่ประชุมว่า เป็นครั้งแรกที่รู้เรื่องว่า สสส. มีตัวชี้วัดถึง 113 ตัวชี้วัด จากเดิมท่านเองคิดว่า สสส.มีตัวชี้วัดเพียง 2 ตัวชี้วัด คือ ด้านสุรา และยาสูบเท่านั้น ฉะนั้นประเด็นเรื่อง ไม่สอดคล้องนั้น มีหลักฐานที่ชัดเจนมากว่าแผนปี 2557สอดคล้องกับแผน 3ปีถึงร้อยละ 93 และตัวชี้วัดส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงหลัก อาทิ สุรา ยาสูบ อาหาร ออกกำลังกาย โดยมีสัดส่วนถึง 54% สัดส่วนที่เหลือเป็นเรื่องอื่น อาทิ ระบบสุขภาวะในองค์กร สุขภาวะในชุมชน สุขภาวะเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ระบบสื่อสาร เป็นต้น
          สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวว่า สสส. ทำงานไม่ได้ผล เพราะอัตราการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าไม่ลด และนำมาสรุปภาพใหญ่ว่า เพราะ สสส.ทำงานไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งกองทุนขึ้นมานั้น อัตราสูบบุหรี่และดื่มเหล้า มีทิศทางลดลงในทศวรรษที่ผ่านมา มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ต้องใช้เวลาอธิบาย ซึ่งเข้าใจว่าผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับข้อมูลทางเทคนิคในส่วนนี้ เมื่อดูแล้วอาจจะเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานด้านการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และดื่มเหล้านั้น ไม่ใช่แต่เพียง สสส.หน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบแม้จะสำเร็จหรือล้มเหลวแต่เป็นความร่วมมือกันของหน่วยงาน รวมถึงกระทรวงต่างๆ ดังนั้นหากแม้ว่า สามารถลดอัตราผู้สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าลงได้ ก็ไม่ยุติธรรมหากจะบอกว่าเป็นการดำเนินงานของ สสส.เพียงหน่วยงานเดียว
 

          ยกตัวอย่างงานวิจัยจากผลการทำงานจากการควบคุมยาสูบคนไทย ตามโมเดลของด็อกเตอร์เลวี่ จากมหาวิทยาลัยบัลติมอร์  ซึ่งเป็นโมเดลสากลที่ นำมาประยุกต์กับข้อมูลของไทยได้ผลชี้ว่า มาตรการอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประชาชนไทย คือ มาตรการด้านภาษี และรองลงมาคือการห้ามโฆษณา ดังนั้นบทบาทของ สสส. คือต้องชวนคนมาทำงานทุกเรื่อง เช่น ทำงานกับหน่วยงานทางภาษี ทำความเข้าใจ ถ้าประสบความสำเร็จก็ต้องถือเป็นความสำเร็จร่วม ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในการควบคุมยาสูบ มีการกำหนดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบไว้ถึง 21 หน่วยงาน
          ฉะนั้นข้อกล่าวหาที่ว่า 1. จำนวนผู้บริโภคสุรา ยาสูบไม่ลดลงเลยนั้น เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะแนวโน้มใหญ่ลดลง 2. การที่จำนวนผู้บริโภคสุรา ยาสูบลดหรือไม่นั้น สสส.เป็นส่วนหนึ่ง และมีผู้เกี่ยวข้องอีกมาก และ 3. ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในด้านสุรา ยาสูบ เป็นส่วนหนึ่งของ 113 ตัวชี้วัดว่า องค์กรทำงานประสบผลสำเร็จหรือไม่ โดยตัวชี้วัดนี้คณะกรรมการกองทุนฯ หรือบอร์ด สสส. เป็นผู้กำหนด และมีคณะกรรมการประเมินผล ที่แต่งตั้งโดย ครม. มีอำนาจในการเป็นผู้ประเมินผล ซึ่งตามปกติการกำหนดตัวชี้วัดล่วงหน้า ซึ่งเป็นกรอบหลักแบบ Balance Score Card ที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนใช้อยู่ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) ก็ใช้กรอบนี้ในการประเมินหน่วยงานรัฐด้วย
          ดังนั้น ตัวชี้วัดที่เป็นทางการของ ล่าสุด ได้คะแนนถึง 4.77 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน ซึ่งถือเป็นระดับคะแนนที่สูงมาก ประเด็นขอบเขตการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่กล่าวหาว่า สสส.ทำงานกว้างขวางเกินไปหรือไม่นั้น เป็นคำถามยอดนิยมอันดับหนึ่ง ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.กองทุนฯ ระบุวัตถุประสงค์ และกำหนดนิยามไว้ชัดเจน
 

          สิ่งที่ สสส.พยายามอธิบาย คือ คำว่า “สร้างเสริมสุขภาพ” ในวัตถุประสงค์ 6 ข้อ พูดถึงขอบเขตของ “การสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ” โดยตามกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้กำหนดขอบเขตของสิ่งที่ สสส.จะต้องดำเนินการในแต่ละปี หรือที่เรียกว่า “แผนการดำเนินการ” โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ก็จะเป็นผู้พิจารณาว่า สสส.ควรจะทำอะไรบ้าง รวมถึงในแผนการดำเนินการก็จะอธิบายไว้ชัดเจนว่า เหตุใดจึงเลือกแนวทางที่ระบุไว้
          สำหรับแผนการดำเนินการ ในปี 2557 แปลงนิยาม การสร้างเสริมสุขภาพ ให้ออกมาในเชิงปฏิบัติการโดยกำหนดการดำเนินงานออกเป็น 14 แผน เราใช้การศึกษาภาวะโรคของประเทศไทยที่วิจัยว่า คนไทยมีปัญหาอะไร จากปัจจัยเสี่ยงอะไรที่เป็นอันดับต้นๆ เพื่อคัดเลือกมาดำเนินงาน แต่ สสส.ไม่ได้ทำทุกอย่าง แม้แต่ปัจจัยเสี่ยงไม่ได้ทำทุกปัจจัย โดยเลือกจากการวิเคราะห์ทางวิชาการ เช่น สุขภาวะทางเพศ ถูกเลือกขึ้นมาเพราะเป็นภาระโรคอันดับต้นๆ แต่ภาระโรคที่เป็นอันดับท้ายๆ อาจไม่ถูกเลือก
          นอกจากเรื่องปัจจัยเสี่ยงแล้ว สสส.ยังพิจารณาถึงกลุ่มองค์กรที่จะเข้ามาร่วมกันทำงาน โดยเลือกกลุ่มที่ต้องทำเป็นสำคัญ ตามหลักวิชาของการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น กลุ่มเด็ก เยาวชน เป็นหัวใจหลัก ซึ่งทั่วโลกเมื่อจะพูดว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มที่ควรจะต้องลงทุนเพื่อการสร้างสุขภาพ รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่นๆ จะตั้งเป็นแผนประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเหตุผลทางวิชาการ ฉะนั้นในนิยาม “สร้างเสริมสุขภาพ” ของ สสส.ที่กว้างพอประมาณ เราเลือกทำตามลำดับความสำคัญ ที่ประมวลจากเหตุผลทางวิชาการ
          ถัดไปคือ กลุ่มชุมชน ถือเป็นการสร้างสุขภาวะเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) ซึ่งสากลยึดถือเป็นคัมภีร์ด้านสร้างเสริมสุขภาพ “แผนสุขภาพของชุมชน” คือการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวมของเชิงพื้นที่ ซึ่งจะพูดถึงเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชน จะทำให้คนในชุมชนสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่การมีสุขภาพดีของคนในพื้นที่ได้
          ฉะนั้นทั้ง 14 แผนของ สสส. จะมีหลักคิด ยุทธศาสตร์ และวิชาการรองรับที่เป็นหลักใหญ่กำหนดว่า จะทำงานด้านใดบ้างใน 14 แผนนี้ ซึ่งเป็นหลักคิด ณ ช่วงเวลานั้นๆ เช่น  ในปีนี้มี 14 เรื่องใหญ่ แต่ปีต่อไปสถานการณ์เปลี่ยน ภาระโรคเปลี่ยนก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แม้แต่เรื่องแอลกอฮอล์ ก็จะบอกว่า สถานการณ์จนถึงปีนี้เป็นอย่างไร และ สสส.ทำอะไรไปแล้ว มีอะไรที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ดังนั้นปีนี้ต้องเน้นเรื่องอะไร แผนการดำเนินงานของ สสส. เขียนระบุไว้หมด โครงการที่เกิดมาจะสะท้อนสิ่งที่เราวางไว้ มีเหตุมีผลทุกแผน
          ยอมรับว่า ส่วนนี้เองก็อาจจะมีคนไม่เข้าใจ ซึ่ง สสส.ก็ยินดีหาจุดลงตัวที่จะพูดถึงขอบเขตการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่สังคมจะเข้าใจและเห็นพ้องด้วย แต่เท่าที่ดำเนินการอยู่ก็เป็นไปภายใต้การทำงานที่เป็นระบบมียุทธศาสตร์  มีระเบียบ และมีเหตุผลรองรับ ซึ่งส่วนนี้เองที่ประชุม ศอตช. ก็ยอมรับในระดับหนึ่งแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ซึ่ง สสส. พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังเสียงสังคมเพื่อหาจุดที่สบายใจร่วมกัน
          ประเด็นด้านการใช้งบประมาณตามวัตถุประสงค์  โดยกรณีการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีที่มีข้อสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างไร รวมทั้งมีการใช้งบประมาณจำนวนมากนั้น ได้ชี้แจงว่า ยุทธศาสตร์ในการทำงานของ สสส. คือ หาทางเลือกที่จะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย ที่แข่งกับวัฒนธรรมเดิมที่มีแนวโน้มทำลายสุขภาพ เมื่อเสนอเข้าไปสู่สังคมแล้ว สสส.ก็จะพยายามหาทางจุดกระแสให้ติด เมื่อติดกลายเป็นกระแส เป็นไฟลามไปแล้ว สสส.ก็จะถอยตัวเองออกมา โดย สสส.ริเริ่มดำเนินการ “สวดมนต์ข้ามปี” กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในปี 2557 พบว่า เทียบกับงบประมาณที่ลงทุนไป ได้ผลตอบแทนทางสื่อที่กลับมาปีนั้นประมาณ 256 ล้านบาท กลายเป็นกระแส และทางเลือกใหม่ของคนในสังคม ซึ่งยอมรับว่าในปีแรกๆที่ริเริ่มก็ใช้งบประมาณมาก เพื่อสร้างกระแสให้เกิดขึ้น แต่ลดลงมาเรื่อยๆ กระทั่งปี 2558 ลดลงเหลือ 7 ล้านกว่าบาท และปีนี้แทบจะไม่ต้องลงทุนเลย เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพดำเนินการแล้ว ดังนั้นในเพราะเชิงยุทธศาสตร์ ถือว่าเราจุดติดแล้ว ซึ่ง สตง.อาจมองว่า การลงทุนทั้งหมดเพื่องาน 1 วัน แต่ในความเป็นจริงมียุทธศาสตร์รองรับในการสร้างค่านิยมใหม่อย่างยั่งยืน และได้อธิบายให้ที่ประชุมเข้าใจ
          ประเด็นด้านระบบธรรมาภิบาล ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หรือ COI ได้อธิบายแนวคิดที่ได้มีการออกแบบไว้ตั้งแต่ก่อนจะเกิด พ.ร.บ.กองทุนฯ โดยการศึกษาออกแบบการทำงานการสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ จนเกิดคำว่า “สร้างเสริมสุขภาพ” จากเดิมที่ใช้คำว่า “ส่งเสริมสุขภาพ” โดยวิธีใหม่ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ หัวใจสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำงานเกินจากเรื่อง การแพทย์ การรักษา เกินจากเรื่องการบริการสุขภาพ แต่เป็นการทำงานไปถึงพฤติกรรมของคน  และไปถึงปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้น ทำอย่างไรคนจึงจะสุขภาพดี ดื่มเหล้าน้อยลง การทำงานส่วนนี้จริงๆ บริการทางการแพทย์ทำอะไรได้น้อยมาก ดังนั้น สสส.เข้าไปทำงานในเชิงวัฒนธรรม เชิงสังคม ไปเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ไปเชิญทางมหาเถรสมาคม สำนักพุทธฯ กระทรวงวัฒนธรรม วัดทั่วประเทศ นั่นคือตัวอย่างของวิธีใหม่ในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ
          ฉะนั้นการทำวิธีใหม่ จำเป็นต้องใช้การมีส่วนร่วมมาก ไม่ใช่ภาคส่วนสุขภาพเดิมๆ ทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการพยายามเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดูแลมาร่วมกันทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบุคคลเหล่านี้จะเป็นที่นับถือ เป็นที่รู้จักในสังคม ดังนั้นเมื่อ สสส.เชิญท่านเหล่านั้นมาร่วมเป็นกรรมการกองทุนฯ อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ได้รับการยอมรับในสังคม เป็นกรรมการบอร์ดมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง และได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านต่างๆ จากจุดนี้เป็นหลักคิดทำให้เกิดการออกแบบ สิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ ความสัมพันธ์ต้องห้าม แต่ยังคงร่วมประสานงานของภาคส่วนต่างๆเพื่อร่วมสร้างสุขภาพ ตามหลักสากลชัดเจน
          สสส.ได้พัฒนาและปรับปรุงการจัดการด้านจรรยาบรรณของคณะกรรมการกองทุนฯ ตั้งแต่ปี 2545 โดยข้อสรุป คือ กลไกต่างๆ มีกระบวนตรวจสอบที่เข้มข้น และได้แสดงผลต่อที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า สสส.ทำถูกต้องตามระเบียบ การที่มีการหยิบยกรายชื่อคณะกรรมการท่านต่างๆ ขึ้นมาทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อยากให้พิจารณาข้อมูลที่รอบด้าน ซึ่ง สสส.ได้ทำข้อมูล ตารางชี้แจงให้เห็นว่า กระบวนการทั้งหมด องค์กร หน่วยงาน มูลนิธิต่างๆ และกรรมการทุกคน ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนตามที่มีการระบุไว้ อีกทั้งกระบวนการและกติกาที่ สสส.กำหนดไว้ ก็เข้มข้นกว่าในตลาดหลักทรัพย์เสียอีก รวมทั้งมีการดูแลมาอย่างเคร่งครัดมาตลอด 10ปีที่ผ่านมา
          อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าแนวคิดนี้ยังใหม่สำหรับสังคมไทยโดยทั่วไป ทุกท่านยังเคลือบแคลง พอมีชื่อออกมาเช่นนี้ก็ถูกสังคมมองในทางลบ ซึ่งตนเห็นใจทุกท่านที่ทำงานทางสังคม ทุกท่านที่เลือกทางนี้ทำงานเพื่อสังคม จริงๆแล้ว ไม่ใช่งานที่มั่นคง ไม่ร่ำรวย ถ้าสัมผัสกับภาคี สสส. ทุกคนทำงานด้วยใจจริงๆ ดังนั้นเห็นใจทุกท่านที่ต้องทุกข์มากที่ถูกกล่าวหาอย่างนี้ หลักวิชานี้อาจอธิบายทำให้เข้าใจในเวลาสั้นๆไมได้ ดังนั้นอาจจะต้องมีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เพื่อเชิญทุกท่านเข้าร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ สสส.เองก็พร้อมรับฟัง พร้อมอธิบายและออกแบบแนวทางร่วมกันที่สังคมคิดว่าเหมาะสม
          แนวทางที่เหมาะสมจะต้องมีการปรับแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฯ หรือไม่?
          ข้อตกลงตามที่ที่ประชุมได้มีมติตอนท้ายนั้น ระบุว่าจะเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขใน  3 ประเด็นข้างต้นที่สังคมยังสงสัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่ได้ลงรายละเอียดว่าต้องแก้ไขอย่างไร การแก้ไขกฎหมายก็เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไข แต่จริงๆ แล้วสามารถปรับแก้ไขในส่วนของระเบียบต่างๆ เพื่อให้รัดกุม ชัดเจนยิ่งขึ้นก็เพียงพอแล้ว
          อย่างไรก็ตาม พล.อ.ไพบูลย์ ก็ย้ำว่า ในเรื่องของงบประมาณการทำงานในรูปแบบของ สสส. คล่องตัวกว่ารูปแบบของระบบราชการ ดังนั้นหากจะนำงบฯ ไปผ่านระบบงบประมาณแผ่นดินปกติ ก็ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหา  สสส.จะต้องมีความคล่องตัวอยู่ ซึ่งเป็นหลักในการบริหารรัฐกิจแนวใหม่ซึ่งเป็นที่มาขององค์กรตาม พรบ. เฉพาะ เพียงแต่อยากให้ทำอย่างไรให้รัดกุม ชัดเจน ใกล้เคียงพอประมาณกับการบริหารรัฐแบบอื่นๆ
          มีการเปิดเผยข้อมูลรายชี่อคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้รับทุนในโครงการต่างๆ ตั้งข้อสงสัยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่?
          สสส. ได้พยายามอธิบายหลักการในเรื่องประโยชน์ทับซ้อน และได้วิเคราะห์ภาพรวมรายองค์กร ทุกท่านอยู่ภายใต้การจัดการตามมาตรฐาน และตามระเบียบ โดยเฉพาะท่านที่ทำงานในองค์กรสาธารณะประโยชน์ ถูกมองแง่ร้ายเกินจริง ทั้งที่มีองค์กรร่วมทำงานกันหลากหลายทั้งราชการ มหาวิทยาลัย ส่วน กฎหมาย สสส ออกแบบให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในบอร์ด เช่น 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ คมนาคม  มหาดไทย แรงงาน เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการกองทุนฯ ให้คนที่รู้งาน เกี่ยวข้องกับงาน เข้ามาร่วมกันทำงาน มาร่วมคิดตัดสินใจ ดังนั้นไม่อยากให้ไปคิดว่าองค์กรสาธารณะประโยชน์ เป็นผู้ร้ายอย่างเดียว องค์กรสาธารณะประโยชน์ หากำไรไม่ได้ มีการเชิญบุคคลสำคัญในสังคมมาเข้าร่วมเป็นกรรมการ ประชุมกรรมการเพียงปีละ 1-2 ครั้ง 
          ผมรู้สึกเห็นใจ และต้องขอความเป็นธรรมให้แก่ท่านคณะกรรมการและภาคีเครือข่ายทุกท่านที่ถูกกล่าวหา กลายเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งยอมรับว่า เมื่อออกมาชี้แจง ตอบโต้ สังคมก็มักจะไม่ฟังจำเลยเท่าไร อย่างน้อยจึงอยากขอให้มีการพิจารณาโดยรอบด้าน จากหลักฐานทั้งหมด และให้ความเป็นธรรมกับทุกท่านที่ถูกกล่าวหา
          ขอบคุณครับ