ผู้เขียน หัวข้อ: นักกายภาพรุ่นแรกของไทยใช้เทคนิค Vojta รักษาเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวแต่กำเนิด  (อ่าน 1029 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- อาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2556 00:00:27 น.
กรมการแพทย์ประสบความสำเร็จในการผลิตนักกายภาพฯ สามารถใช้เทคนิค Vojta รักษาเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวแต่กำเนิดได้เป็นรุ่นแรกของไทย


"เทคนิค Vojta"หรือ Vojta therapy เป็นการนวดกดจุดเก่าแก่ของประเทศเยอรมนีที่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้น การสั่งงานระบบสมองจนทำให้ร่างกายสามารถควบคุมการทรงตัวและเคลื่อนไหวได้ ซึ่งประเทศไทยเริ่มรู้จักการบำบัดด้วยเทคนิค Vojta เมื่อ 4 ปีก่อน จากกรณีของน้องซาย บุตรของคุณวอลเตอร์ ลี ที่ได้รับการบำบัดด้วยเทคนิค Vojta ร่วมกับการรับแขนขาเทียมจากเยอรมัน จนสามารถทรงตัวและใช้แขนขาเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พ.ญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์เห็นว่าเทคนิค Vojta มีประโยชน์และจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการทรงตัวของเด็กที่ผิดปกติในการเคลื่อนไหวเสริมจากเทคนิคที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงได้ทำบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กประเทศเยอรมนี ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กได้แนะนำให้กรมการแพทย์ติดต่อกับองค์กรวอยตาสากล จัดให้มีการอบรมการบำบัดด้วยเทคนิควอยต้าขึ้นในไทยเป็นรุ่นแรก โดยแบ่งการเรียนออกเป็น 4 ช่วง ห่างกันช่วงละ 6 เดือน จะมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี มีผู้ที่ผ่านการอบรมทั้งแพทย์ และนักกายภาพบำบัดจากทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 25 คน นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดอบรมแก่แพทย์จำนวน 20 คน ให้สามารถวินิจฉัยความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวด้วยเทคนิควอยตาได้เช่นกัน นับเป็นก้าวใหม่ของการพัฒนาเทคนิคการรักษาความพิการครั้งแรกในประเทศไทย ให้สามารถตรวจวินิจฉัยความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น จากเดิมที่เคยวินิจฉัยได้ในเด็กอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป จะสามารถเริ่มวินิจฉัยได้ในเด็กอายุแค่ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ได้รับการบำบัดรักษาเร็วขึ้น

พ.ญ.วิลาวัณย์ กล่าวอีกว่า หลักการของเทคนิค Vojta จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นรูปแบบการกระตุ้นด้วยมือ มีทั้งแรงกด และการยืดไปตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการตอบสนอง และการเคลื่อนไหวของแขน ขา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการจัดท่าเด็กให้อยู่ในท่าจำเพาะในท่าทางที่ถูกต้อง และการใช้มือส่งแรงกดไปตามจุดต่างๆ ในตำแหน่ง ทิศทาง และองศาที่ถูกต้อง กระตุ้นให้มีการประสานสัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อก่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหว จึงมีผลต่อการทรงตัวของร่างกายและการเคลื่อนไหวของแขนขา เป็นการใส่ข้อมูลเพื่อให้สมองเรียนรู้รูปแบบวิธีการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง หากทำการกระตุ้นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติแบบซ้ำๆ บ่อยๆ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเส้นประสาทส่วนปลายสมอง และไขสันหลังขึ้นใหม่ได้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงขวบปีแรกของการเติบโต

นอกจากนี้เทคนิค Vojta ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับผู้ที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กสมองพิการ ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนล่าง อัมพาตทั้งตัว ปลายประสาทถูกกดทับ และผู้ป่วยที่เกี่ยวกับระบบกระดูกกล้ามเนื้อ เช่น กระดูกสันหลังคด คอเอียง การสร้างอย่างผิดรูปของกระดูกและข้อต่อ ผู้ป่วยแขนขาขาด เด็กพิการแขนขาขาดหายแต่กำเนิด รวมถึงผู้ที่มีปัญหาการหายใจ การเคี้ยว การกลืนด้วย แต่การบำบัดรักษาด้วยเทคนิค Vojta จะมีความแตกต่างการรักษาแบบกดจุด หรือการรักษาด้วยการบำบัดชนิดอื่นๆ รวมถึงการนวดกดจุดแบบจีน เพราะใช้วิธีกระตุ้นเฉพาะจุด และเน้นกระตุ้นส่วนประสาทระบบการเคลื่อนไหวที่มีปัญหา ไม่เกี่ยวกับเส้นลมปราณ ซึ่งก่อนการรักษา แพทย์จะมีการประเมินและวิเคราะห์ก่อนปัญหาที่มีอยู่ว่าเกิดจากอะไร เพราะถ้ากดผิดจุดหรือผิดวิธี นอกจากการรักษาจะไม่ได้ผลแล้วอาจนำไปสู่อันตรายแก่ผู้ที่ได้รับการรักษาได้

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ที่ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการบำบัดรักษาเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวด้วยเทคนิค Vojta Therapy ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จ.นนทบุรี

"ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมและได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ถือเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีความพร้อมในการให้บริการเทคนิค Vojta ในหน่วยงานที่ตนเองสังกัดอยู่ไม่ว่าจะเป็นที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และหน่วยงานอื่นๆ เช่น สว่างคนิวาส สภากาชาดไทย, รพ.สมิติเวช, ม.ขอนแก่น, รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์, รพ.จุฬาลงกรณ์ , สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์, ม.สงขลานครินทร์, รพ.สำโรงการแพทย์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, สถาบันราชานุกูล และ รพ.รามาธิบดี ฯลฯ นับเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยให้กับเด็กที่มีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศด้วย" พญ.วิลาวัณย์ กล่าว