ผู้เขียน หัวข้อ: มอบบทบาท"อภ."บริหารยารพ.ภูมิภาค  (อ่าน 756 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
มอบบทบาท"อภ."บริหารยารพ.ภูมิภาค
« เมื่อ: 21 ธันวาคม 2012, 22:15:10 »
สธ.มอบบทบาท “อภ.” ตัวกลางบริหารยา รพ.ในภูมิภาค ทำหน้าที่ต่อรองราคายาที่จำเป็น เพื่อลดค่าใช้จ่ายค่ายาใน รพ. พร้อมหนุนให้ผลิตยาสามัญในประเทศมากขึ้น ลดยอดนำเข้ายานอกที่สูงถึง 70% ด้านการผลิตวัคซีนอาจล่าช้า หลัง อภ.เจอปัญหาผู้รับเหมาสร้างโรงงานผลิตฯ ร้องขอทำสัญญาใหม่ เพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างเป็น 70 ล้าน แต่หมอประดิษฐขีดเส้นต้องสรุปให้ได้ภายใน 6 เดือนนี้   
    นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนก็คือ ให้ อภ.มีหน้าที่จัดทำคลังยาในภูมิภาค และเป็นหน่วยงานกลางในการจัดเก็บและต่อรองราคายา เพื่อเป็นการลดจำนวนยาที่ไม่จำเป็น หรือยาที่เก็บไว้เป็นเวลานาน ด้วยการนำออกมาจำหน่ายระหว่าง รพ. ซึ่งหากทำได้จะทำให้ รพ.มีสภาพคล่องมากขึ้น เพราะไม่ต้องนำเงินไปซื้อยามาเก็บไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ก็จะรับรองได้ว่าเรามียาสำรองอยู่ในคลังอยู่แล้ว
    รมว.สธ.กล่าวต่อว่า การที่ อภ.เข้ามาซื้อยาตรงนี้จะทำให้เกิดอำนาจการต่อรองมากขึ้น และจะทำให้ราคายาลงมาในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่ได้กำหนดว่ายาทุกประเภทต้องให้ อภ.เป็นผู้ซื้อ 100% เท่านั้น แต่เราจะกำหนดราคากลางขึ้นมา เพื่อที่ว่าหาก รพ.ใดจะซื้อผ่านบริษัทยาโดยตรง ก็ได้ยาในราคาที่ต่อรองไว้ และมีมาตรฐานเดียวกัน เบื้องต้นยาที่ อภ.จะทำการต่อรองเป็นยากลุ่มที่มีราคาสูงมาก และเป็นยาที่มีความสำคัญประมาณ 20 ตัว เช่น ยาลดไขมัน ยาปฏิชีวนะที่มีราคาสูง ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้น ส่วนที่เหลือ อภ.จะเข้ามาแทรกแซงบ้างเป็นระยะ ในเรื่องของการให้ราคา เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามนโยบาย แต่จะไม่เข้าไปแข่งขันกับบริษัทยามาก ไม่อย่างนั้นเขาก็อยู่ไม่ได้ เอาเฉพาะยาที่สำคัญ ยาที่เป็นภาระของประเทศ ซึ่งจะเริ่มกันต้น ม.ค.นี้
     นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมให้ใช้ยาสามัญ (generics) มากขึ้น โดยไม่ว่าจะเป็นยาที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ อภ.ต้องร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ
    “สิ่งที่ผมเน้นมากที่สุดคือการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 70% จะทำอย่างไรเราถึงจะเปลี่ยนสมดุลของยาตรงนี้ให้เป็นยาที่ผลิตภายในประเทศ และสนับสนุนว่า อย.ต้องหาวิธีกระตุ้นให้มีการผลิตยาเจเนอริกมากขึ้น เพื่อที่จะได้ลดการนำเข้า เราจำเป็นต้องให้มีการผลิตในประเทศ ไม่ใช่ไปนำเข้ามาหมดทุกอย่าง เพราะถ้าเกิดปัญหานำเข้าไม่ได้จะทำอย่างไร” รมว.สธ.กล่าว
    นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ. กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ จ.สระบุรี ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปเรื่องของการออกแบบโรงงานใหม่แล้ว แต่ทางผู้รับเหมาเรียกร้องทำสัญญาก่อสร้างใหม่เป็น 70 ล้านบาท ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาจัดทำราคากลางอยู่ที่ 40 กว่าล้านบาท ดังนั้นภายในเดือน ธ.ค.นี้ จะเชิญกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างมาเจรจาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาข้อสรุปว่าเขารับรับงานได้หรือไม่ หากไม่ได้อาจจะต้องยกเลิกข้อตกลง และหาผู้รับเหมารายใหม่ โดยขั้นตอนทั้งหมดนี้คาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และ อภ.จะทำสรุปค่าใช้จ่ายชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะมีส่วนต่างถึง 30 ล้านบาท
    “เบื้องต้นเราเคาะกันแล้วว่าจะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย แต่ก็จะไม่ทิ้งเชื้อเป็น จะมีการวิจัยต่อไปอีก เผื่อว่าเกิดการระบาดใหญ่จะได้เดินสายการผลิตเองได้เลย” นพ.วิทิตกล่าว   
    ด้าน นพ.ประดิษฐกล่าวว่า คิดว่าภายใน 6 เดือนแรกของปี 2556 ต้องทำให้จบทั้งเรื่องข้อตกลงก่อสร้างโรงงาน ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีที่ชัดเจนว่าจะต้องผลิตได้อย่างไร ซึ่งหากตกลงได้แล้ว กว่าโรงงานจะสร้างเสร็จคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง-2 ปี
    “สาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างโรงงานวัคซีนแห่งนี้ยืดเยื้อ เนื่องจากที่ผ่านมามีความสับสนทางด้านเทคโนโลยีการผลิตระหว่างวัคซีนจากเชื้อเป็นและเชื้อตาย ซึ่งตอนแรกตั้งใจให้เป็นยุทธศาสตร์ผลิตเป็นเชื้อตายจะทำให้มีปริมาณที่เพียงพอใช้ภายในประเทศ แต่เมื่อคิดว่าหากเกิดการระบาดเยอะมากก็ต้องใช้ชนิดเชื้อเป็น ซึ่งต้องใช้อีกมาตรฐานหนึ่งผลิต ทำให้ช่วงนั้นยังไม่มีการตัดสินใจ และรอจนถึงทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นต้องมาตัดสินใจแล้วว่าจะผลิตแบบใด” รมว.สธ. กล่าว.