ผู้เขียน หัวข้อ: เด็กไทย2% พัฒนาการบกพร่อง สธ.แนะเทคนิคกระตุ้น  (อ่าน 884 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
สธ.รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี 4 แสนคน เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชินี หลังพบเด็กไทย 1-2% พัฒนาการบกพร่อง พร้อมจัดพิมพ์หนังสือกิน กอด เล่น เล่า 4 แสนเล่ม แจกแม่เด็กใช้เป็นคู่มือส่งเสริมพัฒนาการของลูก...

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงโครงการรณรงค์การส่งเสริมพัฒนาการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินีว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการรณรงค์การส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยเพื่อเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี และน้อมรับคำขวัญวันแม่พระราชทานประจำปี 2555 ว่า "มือของแม่นั้นคือมือช่างปั้นขึ้นรูปอันอ่อนลออจนหล่อเหลา อยากให้เป็นงานดีที่งามเงา อยู่ที่คอยขัดเกลา แต่เบามือ" และสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2555-12 กันยายน 2555

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็ก ซึ่งเป็นวัยทองของพัฒนาการเด็กทั้งหมด จำนวน 4 แสนคนทั่วประเทศ หรือร้อยละ 50 ของเด็กที่เกิดในปี 2553 โดยดำเนินการในคลินิกสุขภาพเด็กดี ของโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่งฟรี โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดพิมพ์หนังสือกิน กอด เล่น เล่า จำนวน 400,000 เล่ม เพื่อแจกให้แม่ นำไปใช้เป็นคู่มือส่งเสริมพัฒนาการของลูก ซึ่งจะประกอบด้วย โภชนาการอาหารของเด็ก การกอดลูกสร้างความรักความผูกพัน ความอบอุ่นให้เด็ก การเล่น/ของเล่นของเด็กตามวัย และการเล่านิทานให้เด็กฟัง หากพบว่าเด็กรายใดมีพัฒนาการไม่สมวัย จะแนะนำเทคนิควิธีการผู้ปกครองช่วยกันกระตุ้น ส่งเสริม และติดตามผลต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมเด็กเข้าสู่การเรียนรู้ในโรงเรียน ป้องกันปัญหาเด็กไอคิว หรือสติปัญญาต่ำ รายใดที่พัฒนาการบกพร่องรุนแรง จะให้การดูแลบำบัดฟื้นฟูเป็นการเฉพาะและทันท่วงที จะทำให้ปัญหาเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าหรือมีสติปัญญาต่ำลดลง

นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมอนามัยล่าสุดในปี 2553 ประเทศไทยพบเด็กบกพร่องทางพัฒนาการร้อยละ 1-2 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 70 หรือประมาณ 3 ล้านคน จากจำนวนเด็กวัยนี้ที่มีประมาณ 4 ล้านคน โดยมีเด็กเพียงร้อยละ 20 ที่ได้รับการตรวจคัดกรองพัฒนาการในคลินิกสุขภาพเด็กดี และพบว่าเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 5.23 เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนแก้ไขโดยการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการด้านเด็กปฐมวัยตามนโยบายรัฐบาล พ.ศ.2555-2559 เร่งรัดให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง เพื่อเด็กทุกคนมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัยทั้งด้านร่างกาย และสติปัญญา โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง จัดคลินิกสุขภาพเด็กดีดูแลเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ปี โดยจัดอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดแล้ว ขณะเดียวกันมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาคลินิกฝากครรภ์คุณภาพ รณรงค์ให้หญิงฝากครรภ์อย่างน้อย 4 ครั้งก่อนคลอด

นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พัฒนาการเด็กมี 4 ด้าน ได้แก่ สติปัญญา การเคลื่อนไหว การสื่อสาร และทักษะทางสังคม เด็กที่มีพัฒนาการดังกล่าวล่าช้าในระยะหน้าต่างทองของการพัฒนา คือ อายุต่ำกว่า 3 ปี จะส่งผลกระทบต่อระดับเชาวน์ปัญญา การปรับตัว อาจจะมีหรือไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย หรือจิตร่วมด้วย โดยเฉพาะเด็กอายุ 5 ปีแรก ซึ่งจะมีพัฒนาการทางด้านสมองมากที่สุด หากมีพัฒนาการที่ไม่เหมาะสมกับวัย เช่น อ่อนแอ รูปร่างแคระแกร็น ศีรษะค่อนข้างเล็ก หรือโต ประวัติการเจริญเติบโตล่าช้า คือ มีการคว่ำ คลาน นั่ง ยืน เดิน ช้ากว่าเด็กปกติ จะมีโอกาสเกิดไอคิวต่ำมาก และส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่ 1.กล้ามเนื้อการเคลื่อนไหวทำงานไม่ประสานกันระหว่างมือกับสายตา 2.ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี 3.พูดไม่ชัด ความรู้ทางภาษาจำกัด และ 4.มักประสบความล้มเหลวในการเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เด็กออกนอกระบบการศึกษา