ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหาธรรมมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตอนที่ 8  (อ่าน 689 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้ผลการรักษาผู้ป่วยไม่เท่าเทียมระบบสวัสดิการข้าราชการ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
29 กรกฎาคม 2559


การประกันสุขภาพ เป็นการประกันภัยชนิดหนึ่ง ที่ให้ความคุ้มครองสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เนื่องจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยจากโรคภัย
ในประเทศไทยมีโครงการประกันสุขภาพจากภาครัฐสำหรับประชาชนอยู่ 3 ระบบ ได้แก่
1.ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ
2.ระบบประกันสังคม
3.ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
จะเห็นได้ว่าการประกันสุขภาพในประเทศไทย เริ่มจากระบบสวัสดิการข้าราชการ เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ผู้ที่ทำงานบริการประชาชน ซึ่งต้องเสียสละเวลาให้แก่ราชการภายใต้ระเบียบวินัย และคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติ การจัดให้มีระบบสวัสดิการข้าราชการก็เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนสมัครเข้ามาทำงานในระบบราชการนั่นเอง
ระบบสวัสดิการข้าราชการนี้ ข้าราชการไม่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบทางตรง แต่ถือได้ว่าต้องจ่ายเงินสมทบทางอ้อม จากการที่ได้รับเงินเดือนในอัตราไม่สูงเท่ากับระบบเอกชน และต้องเสียสละเวลาทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือตามที่หน่วยราชการกำหนด แต่ในปัจจุบันข้าราชการอาจต้อง “ร่วมจ่าย” ค่ารักษาส่วนเกินที่กรมบัญชีกลางกำหนดอีกด้วย
สำหรับระบบประกันสังคมนั้น เริ่มขึ้นตามพ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ประชาชนที่ทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน โดยลูกจ้างต้องจ่ายเงินเดือนๆละ 5% ของค่าจ้างที่ไม่เกิน 15,000 บาทสมทบกับนายจ้างในอัตราที่เท่ากัน และรัฐจ่ายสมทบอีก 2.75 % เข้าสู่กองทุนประกันสังคม และในจำนวนเงินที่จ่ายเข้าสู่กองทุนประกันสังคมนี้จำนวน 1.5% จะใช้ในการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้าง(ผู้ประกันตน) เจ็บป่วยอันมิใช่เกิดจากการทำงาน ส่วนที่เหลือจะเป็นสิทธิสำหรับการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ตาย ว่างงาน ชราภาพ
ส่วนกองทุนเงินทดแทนนั้นเป็นสิทธิของลูกจ้างที่ได้รับในการเจ็บป่วย อันตราย ตาย หรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โดยนายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียว

ในระบบหลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาทนั้น งบประมาณทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรงหรือทางอ้อม โดยมีประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพเพียง 48 ล้านคนเท่านั้น และประชาชนที่ได้รับสิทธิในระบบนี้ ต้องร่วมจ่ายเมื่อไปรับการรักษาพยาบาลครั้งละ 30บาทในระยะเริ่มต้นพ.ศ. 2546-2550 โดยประชาชนที่ยากจนไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเมื่อไปใช้บริการ ติอมาในปีพ.ศ. 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนพ.มงคล ณ สงขลาได้ประกาศยกเลิกการจ่ายเงินสมทบครั้งละ 30 บาท
การที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ประชาชนชาวไทยเกือบทั้งหมดมีการประกันสุขภาพ แต่ผู้บริหารโครงการนี้คือคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เรียกชื่อโครงการนี้ว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ Universal (Healthcare) Coverage ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วโครงการนี้ไม่ได้ให้ความคุ้มครองหรือให้การประกันสุขภาพแก่ประชาชนถ้วนหน้าจริงดังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
เพียงแต่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ช่วยให้การประกันสุขภาพแก่ประชาชนที่ยังไม่มี “การประกันสุขภาพในระบบสวัสดิการข้าราชการหรือในระบบประกันสังคม”เท่านั้น

สิทธิเสมอภาคและความเหลื่อมล้ำในการประกันสุขภาพของพลเมืองไทย
จะเห็นได้ว่าระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคมนั้น ประชาชนต่างก็ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตนเอง (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม) สมทบกับเงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน ในการที่จะได้รับสิทธิประกันสุขภาพ ข้าราชการจ่ายเงินสมทบทางอ้อมคือต้องรับเงินเดือนน้อยและต้องอยู่ในข้อบังคับ ระเบียบวินัยและคำสั่งทางราชการ

ปัจจุบันนี้กรมบัญชีกลางได้จำกัดขอบเขตการรักษาข้าราชการ ทำให้ข้าราชการยังต้องร่วมจ่ายโดยตรงจากกระเป๋าของตนเอง ในการที่จะได้รับยาหรือการรักษาบางอย่างที่กรมบัญชีกลางไม่อนุญาตให้ใช้
ส่วนประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมนั้น ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าของตนเองทุกเดือนจึงจะได้รับสิทธิประกันสุขภาพ
แต่ประชาชนในระบบ 30 บาท 48 ล้านคนนี้ ไม่ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋นตนเองเลยในการประกันสุขภาพและไปรับการรักษาตัวในสถานพยาบาล และประชาชนกลุ่มนี้มีทั้งคนจน คนชั้นกลาง (ไม่จน) และคนที่มั่งมี

จึงนับว่ารัฐบาลได้ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพแก่ประชาชนเพียง 48 ล้านคน ไม่ใช่การประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ ได้รับความคุ้มครองในการรับบริการสาธารณสุขโยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเหมือนประชาชนกลุ่มอื่น นับเป็นการเลือกปฏิบัติหรือสร้างความเหลื่อมล้ำแก่ผู้ประกันตนและข้าราชการที่ตองจ่ายเงินจากกระเป๋าตนเองร่วมด้วยจึงจะได้รับการบริการด้านสุขภาพ

การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้มาตรฐานการแพทย์ตกต่ำ
ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด) มีหน้าที่สำคัญที่จะกล่าวถึงคือทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ และกำหนดมาตรการในการดำเนินงานเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพให้มีคุณภาพ กำหนดขอบเขตการให้บริการสาธารณศุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตและอัตราค่าบริการสาธารณสุข กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน ที่สำคัญที่สุดคือคณะกรรมการฯมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสำนักงานให้ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ กล่าวคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ
แต่คณะกรรมการฯได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหารประชาสัมพันธ์ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค โดยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด แต่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าจะได้รับการรักษาทุกโรคตามมาตรฐาน เพราะว่าคณะกรรมการฯจะมีระเบียบข้อบังคับหลายอย่าง ที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ตามแนวทางและวิจารณญาณหรือความเชี่ยวชาญของแพทย์แต่ละคน เพราะจะมีข้อจำกัดเรื่องยาหรือวิธีการรักษาผู้ป่วย เช่นการมีระเบียบให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายทุกคน ต้องรับการรักษาด้วยวิธีล้างไตทางหน้าท้องเป็นวิธีแรก (มิฉะนั้นผู้ป่วยต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเองในการรักษา-CAPD-first, Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis) โดยไม่สนใจว่าสภาวะของผู้ป่วยเหล่านั้นจะเหมาะสมกับการล้างไตทางหน้าท้องหรือควรจะได้รับการล้างไตด้วยการฟอกเลือด (Hemodialysis ) จนทำให้ผู้ป่วยมีอัตราตายสูงกว่าปกติ และอัตราตายสูงกว่าผู้ป่วยที่ฟอกเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญโรคไตออกมาเปิดเผยเรื่องผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องมีอัตราตายสูงกว่าปกติ (1) ปรากฎว่าสปสช.ได้ลบข้อมูลอัตาการตายของผู้ป่วยออกจากwebsite ของสปสช.ทันที แต่ได้มีการคัดลอกไว้แล้ว (2) (ตามรูปที่ 1)


รูปที่ 1 ข้อมูลอัตราตายของผป.ที่รักษาตามข้อบังคับของสปสช.ที่ให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายต้องล้างไตทางหน้าท้อง(เป็นวิธีแรก)ทุกคน

ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้ผลการรักษาผู้ป่วยไม่เท่าเทียมระบบสวัสดิการข้าราชการ
นอกจากรณีเรื่องล้างไตทางช่องท้องแล้ว ยังมีกรณีผลการวิจัยของ TDRI (Thailand Development Research Institute) โดยดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยสังกัด TDRI ได้ให้สัมภาษณ์ Bangkok Post ตีพิมพ์วันที่ 5/6/2015 ว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างการประกันสุขภาพ 3 ระบบ ระบบสวัสดิการข้าราชการใช้วิธีจ่ายเงินในเวลาผู้ป่วยไปรับการรักษา (pay for service) และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 12,859 บาทต่อปี ในขณะที่ระบบประกันสังคมจ่ายเงินเหมาจ่ายล่วงหน้าคนละ 2,509 บาทต่อปี และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็เหมาจ่ายล่วงหน้าคนละ 2,245 บาทต่อปี
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ยังกล่าวอีกว่าความแตกต่างในการจ่ายเงินในแต่ละระบบทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการดูแลรักษาสุขภาพ ( healthcare inequities ) ทั้งนี้ดร.วรวรรณยังกล่าวอีกว่าผู้ป่วยสูงอายุในระบบสวัสดิการข้าราชการมีอายุยืนยาวกว่าผู้ป่วยในระบบ 30 บาท และผลการวิจัยของเธอยังบอกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการมีชีวิตอยู่ 10 วันภายหลังการรักษาในขณะที่ผู้ป่วยในระบ[บัตรทองมีชีวิตอยู่เพียง 62% และภายหลังการรักษา 40 วันผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการมีชีวิตอยู่ 57% ในขณะที่ผู้ป่วยในระบบ 30 บาทมีชีวิตอยู่เพียง 29% เท่านั้น


ที่มา ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร(4)
รูปที่ 2 ข้อมูลอัตราการตายและการรอดชีวิตของผู้ป่วยเปรียบเทียบระหว่างสวัสดิการข้าราชการและระบบ 30 บาทจากผลการวิจัยของ TDRI

งานวิจัยนี้ยังบอกอีกว่า ผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยในระบบ 30 บาท
จากผลการวิจัยนี้ อาจชี้ให้เห็นได้ว่าการรักษาผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการมีคุณภาพดีกว่าการรักษาผู้ป่วยบัตรทองหรือระบบ 30 บาท และจากการวิเคราะห์ผลลัพธ์การรักษาผู้ป่วยในระบบ 30บาท มีข้อเสนอแนะจากศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูรว่า(ตามรูปที่ 3)


ที่มา ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร(4)
รูปที่ 3 เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยบัตรทอง ควรแก้ไขเรื่องการรักษาที่ต่างกันก่อนอย่างอื่น
อันที่จริงแล้ว ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ควรทำการวิจัยในเชิงลึกว่า ทำไมผู้ป่วยในระบบ 30บาท จึงมีอายุสั้นกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการและทำไมจึงตายมากกว่าและตายเร็วกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ และเหตุใดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพการรักษาในระบบสวสดิการข้าราชการจึงดีกว่าผู้ป่วยในระบบ 30 บาท
ความแตกต่างในผลลัพธ์การรักษาผู้ป่วย 30 บาทและผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ
ความแตกต่างในการรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 ระบบเกิดจากระเบียบข้อบังคับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่แตกต่างจากการรักษาผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้เมื่อดูจากงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในการรักษาพยาบาล พบว่าข้าราชการมีรายจ่ายสูงกว่าระบบ 30 บาทเกือบ 5 เท่า เนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถใช้ดุลพินิจของแพทย์ตามความรู้ความสามารถและความชำนาญ/เชี่ยวชาญเฉพาะตน สั่งการรักษาผู้ป่วยและให้ยาผู้ป่วยได้ตามหลักวิชาการแพทย์ แต่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับการรักษาที่ดีที่สุดทุกคน เพราะสปสช.จะออกกฎระเบียบให้รักษาผู้ป่วยในโรคเดียวกันเหมือนกันหมด (เหมือนการเหมาโหล) ทั้งๆที่ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความแตกต่างในหลายๆเรื่อง เช่น สาเหตูของโรค สภาพร่างกายและอวัยวะต่างๆหรือมีโรคอื่นร่วมด้วย จึงทำให้ผลลัพธ์การรักษาไม่ดีเท่าระบบราชการ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งที่รักษาผู้ป่วยใน 2 ระบบว่ายาและเวชภัณท์ที่ไม่เหมือนกันนี้ทำให้ผลการรักษาแตกต่างกันอย่างแน่นอน(4)

ที่มาศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร(4)
รูปที่ 4 การประหยัดงบประมาณโดยไม่สนใจคุณภาพมาตรฐานการรักษาผู้ป่วยของสปสช.
บประมาณรายหัวในระบบ 30 บาทที่น้อยกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ ทำให้โรงพยาบาลที่ต้องรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะรายรับจากระบบ 30บาท น้อยกว่ารายจ่ายมาตั้งแต่เริ่มแรกในปีพ.ศ. 2546และโรงพยาบาลก็ยังขาดทุนอย่างต่อเนื่องตามที่แสดงในรูปที่ 5


รูปที่ 5 อัตราการขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงินของรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรายไตรมาส

จากการขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลต่างๆ แทนที่สปสช.จะแก้ปัญหาด้วยการ “หาเงินมาเพิ่มในระบบ” แต่ สปสช.พยายามลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล โดยการนำงบประมาณมาซื้อยาเองและอ้างว่าสามารถซื้อยาราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพราะเป็นการซื้อเป็นจำนวนมาก แต่จะเห็นได้ว่าสปสช.อาจซื้อยาที่ไม่มีคุณภาพ คือใช้ “จำนวนเงิน”มากำหนดว่าควรจะซื้อยาอะไรได้บ้าง (เคยมีเภสัชกรของรพ.ใหญ่แห่งหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า บางทีเป็นยาใกล้หมดอายุแล้ว กว่ายาจะมาถึงโรงพยาบาลก็หมดอายุแล้วก็มีไม่น้อย ) และในกรณีจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ก็เช่นเดียวกัน โดยสปสช.ซื้อยาส่งให้โรงพยาบาล และบังคับให้รักษาผู้ป่วยแบบเหมาโหลเหมือนกันหมด ให้ยาเหมือนกัน (เท่าที่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ) ให้เครื่องมือแพทย์ เช่น ขดลวดถ่างเส้นเลือดหัวใจ (stent) หรือเล็นส์แก้วตาเทียม แบบเหมาโหลเหมือนกัน โดยยาหรือเครื่องมือแพทย์เหล่านี้มีราคาถูก และบางอย่างไม่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยเหมือนใส่เสื้อเหมาโหล ที่ราคาถูกแต่ไม่สวยงามเหมาะตัวคนสวมใส่ แต่ยาและเครื่องมือแพทย์เหมาโหล ทำให้คุณภาพการรักษาตกต่ำ อายุไม่ยืนยาว(ตามผลการวิจัยของ TDRI ) เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเร็วกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการอย่างเห็นได้ชัด
การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขาดหลักธรรมาภิบาล
1.ขาดหลักนิติธรรม กล่าวคือสปสช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะนำงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปซื้อยาและเครื่องมือแพทย์เอง แต่สปสช.ก็ทำและยังได้ผลประโยชน์ตอบแทน(เปอร์เซ็นต์จากการซื้อยา) เอาไปใช้เพื่อสวัสดิการของเจ้าหน้าที่สปสช. ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินชี้แล้วว่าไม่ถูกต้อง และสปสช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะโอนเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกไปนอกเหนือสถานบริการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2.ขาดหลักคุณธรรม ( และเมตตาธรรม) กล่าวคือสปสช.ไม่สนใจเรื่องคุณภาพการรักษาผู้ป่วย มุ่งแต่จะ “ประหยัดงบประมาณ” จนทำให้ผลลัพธ์การรักษาผู้ป่วยในระบบ 30 บาทตายมากกว่าและตายเร็วกว่าผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการดังกล่าวแล้ว และทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรับการรักษาตามข้อบังคับของสปสช.ที่ให้ใช้การรักษาแบบล้างไตทางช่องท้อง มีอัตราตายสูงมาก นับว่าสูงที่สุดในโลก
3.ขาดหลักความโปร่งใส เช่น การปกปิดข้อมูลผู้ป่วยโรคไตที่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง และยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสอีกหลายเรื่อง เช่นการใช้งบกองทุนอย่างผิดกฎหมาย โดยโอนไปให้มูลนิธิต่างๆที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ซึ่งส่วนมากมูลนิธิเหล่านี้มีกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการบริหาร หรือโอนงบประมาณที่ควรใช้รักษาผู้ป่วยไปให้พรรคพวกทำการวิจัย เป็นต้น
4.ขาดหลักความมีส่วนร่วม เช่น การไม่รับฟังแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยและโรงพยาบาลที่รับเงินงบประมาณจากสปสช.ว่า มีเงินไม่พอทำงาน หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามกฎเหล็กของสปสช.มีผลเสียหายเกิดขึ้น สปสช.ก็ไม่เคยรับฟังและแก้ไขสิ่งเหล่านี้
5.ขาดหลักความรับผิดชอบ สปสช.ไม่รับผิดชอบต่อการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพว่าทำให้รพ.ขาดเงินทุนหมุนเวียน หรือผู้ป่วยได้รับความเสียหาย
6.ขาดหลักความถูกต้อง สปสช.ละเมิดสิทธิผู้ป่วย โดยกำหนดให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบเหมาโหล และละเมิดสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ให้ประกอบวิชาชีพโดยอิสระในการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งไม่ถูกต้ามตามหลักวิชาการแพทย์และสาธารณสุข
การแก้ไขปัญหา
จะแก้ไขการทำงานของกรรมการหลักประกันสุขภาพให้มีธรรมาภิบาลได้อย่างไร เป็นปัญหาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงาสาธารณสุขในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและรัฐบาลจะต้องเร่งรีบแก้ไขอย่างรีบด่วยที่สุด และปฏิรูประบบประกันสุขภาพให้มีธรรมาภิบาลอย่างครบถ้วน เพื่อให้ระบบบริการสาธารณสุขมีมาตรฐานและยั่งยืน เพื่อที่ประชาชนจะมีสุขภาพดีละปลอดภัยจากการไปรับบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขทุกคน