ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์ผ่านมุมมอง "หมอสมาน" สงกรานต์เจ็บตายพุ่ง ต้นเหตุ "ธุรกิจเหล้า-จนท.-ปชช.  (อ่าน 468 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
 "หมอสมาน" ชี้สงกรานต์เจ็บตายพุ่งไปต่างจากที่คาดการณ์ เหตุบรรยากาศเฉลิมฉลองเต็มที่ ไม่มีภัยธรรมชาติ-วิกฤตการเมืองแบบปีก่อน วิเคราะห์ 3 สาเหตุเมาไม่ขับต้นตออุบัติเหตุ พบมาจากธุรกิจแอลกอฮอล์ดิ้นจัดงานสงกรานต์เหล้า กอบโกยผลประโยชน์ เร่งทำยอดขายหลังใกล้เวลาห้าม ยันต้องห้ามขายเหล้าทั้งปีใหม่-สงกรานต์ เร่งรวบรวมข้อมูลเสนอมาตรการคุมเหล้าเพิ่มเติมลดอุบัติเหตุ
       สถิติ 7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 9-15 เม.ย. 2558 พบเกิดอุบัติเหตุรวม 3,373 ครั้ง เสียชีวิต 364 ราย บาดเจ็บ 3,559 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับสงกรานต์ปีก่อนพบว่า สถิติเพิ่มสูงขึ้นทั้งหมด โดยสงกรานต์ปี 2557 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 326 คน ผู้บาดเจ็บ 3,225 คน สำหรับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ เมาสุรา ร้อยละ 39.31
       
       จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า การดื่มหนักช่วงเทศกาลยังคงเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แต่ดูเหมือนก็ยังไม่สามารถเข้ามาช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ ที่สำคัญคือปีนี้เป็นปีที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมต่างออกมาร่วมกันจัดงานเทสกาลสงกรานต์ปลอดภัยปลอดเหล้ากันเป้นจำนวนมาก มีการตั้งด่าน ออกตรวจการทำผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น รวมไปถึงการตั้งด่านชุมชนเพื่อสกัดผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

       เรื่องนี้ นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าวคุณภาพชีวิต ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพื่อไขข้อข้องใจในเรื่องดังกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเจ็บตายสูงขึ้น เพราะปีนี้ประเทศไทยบรรยากาศการเฉลิมฉลองของประเทศไทยเป็นปกติ ไม่ได้เจอกับภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือความไม่ปกติทางการเมืองแบบปีก่อนๆ ทำให้เฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ซึ่งตั้งแต่แรกพวกเราก็วิเคราะห์กันแล้วว่าปีนี้เจ็บตายอาจจะสูงกว่าปีก่อนแน่นอน
       
       ส่วนที่ว่าปีนี้ดำเนินการกันอย่างเข้มข้นแล้ว ตัวเลขก็ยังไม่ลดลงนั้น ก่อนอื่นคงต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงานทั้งหมดที่ทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งจัดงานสงกรานต์ปลอดภัยปลอดเหล้า บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นทั้งจราจรและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ที่อุบัติเหตุเจ็บตายยังคงสูง สาเหตุมาจากองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ
       
       1.ผู้ประกอบการธุรกิจแอลกอฮอล์ยังไม่ลดราวาศอก มีทั้งการโฆษณาสื่อสารการตลาด และส่งเสริมการขายอย่างเต็มที่ โดยไปใช้พื้นที่เอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ในการจัดงานแทน เพราะภาครัฐและภาคประชาสังคมต่างร่วมมือกันจัดงานสงกรานต์เล่นน้ำแบบปลอดเหล้า โดยมองว่าเป็นช่วงกอบโกยเต็มที่เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยไม่คำนึงว่าผิดกฎหมายหรือไม่

        2.เจ้าหน้าที่บางส่วนยังปล่อยปละละเลย เนื่องจากยังมีวิธีคิดที่ว่าเป็นช่วงงานเทศกาล นานทีมีครั้ง ก็จะอะลุ้มอล่วยให้คนทำผิดกฎหมาย บางส่วนก็เข้าไปร่วมกอบโกยผลประโยชน์ ตรงนี้ต้องไปปรับวิธีคิดใหม่
       
       และ 3.ภาคประชาชนยังมีวิธีคิดว่าช่วงสงกรานต์จะสนุกสนานอย่างเต็มที่ ขอให้ได้สนุกกัน ทำผิดกฎหมายได้ทุกข้อ ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้อันตรายและยังพบมากอยู่พอสมควร ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเสี่ยงมาก เพราะช่วงสงกรานต์เมากันเยอะ สิ่งที่ตามมาคือ อุบัติเหตุเยอะขึ้น การทะเลาะวิวาท เสียชีวิตเยอะขึ้น จริงๆ แล้วต้องคิดตรงกันข้าม โดยช่วงปีใหม่และสงกรานต์ต้องเป็นช่วงปฏิบัติตามกฎหมายเข้มงวดมากกว่าปกติ เพื่อรักษาความปลอดภัยภาพรวม
       
       "เมาเหล้าไม่ได้ส่งผลเสียแค่กับคนดื่มเท่านั้น เพราะคนที่ไม่ดื่มไม่เมาก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น คนเมาขับรถชนคนไม่เมา คนเมาตีหัวคนไม่เมา คนเมาลากคนไม่เมาไปข่มขืน ผมมองว่าเราต้องบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะกฎหมายเรื่องเหล้าประเทศไทยก็มีอยู่ระดับหนึ่งแล้ว แต่ปีใหม่สงกรานต์ต้องเข้มงวดมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ยังพบว่ามีบางคนใช้ช่องโหว่กฎหมาย ทำให้เจ้าหน้าที่เจอปัญหาอยู่พอสมควร เช่น ตามกฎหมายจะห้ามขายเหล้าช่วง 14.00-17.00 น. เจตนารมณ์คือต้องการให้คนดื่มได้พักบ้าง ไม่ใช่ดื่มตลอดทั้งวัน แต่กลับพบว่าช่วงประมาณใกล้ๆ บ่ายสอง สักประมาณบ่ายโมงห้าสิบกว่าๆ จะเร่งขายเหล้าขายเบียร์กันอย่างหนักก่อนหมดเวลาขาย เพื่อให้ลูกค้านั่งดื่มยาวไปจนถึงเย็น โดยยังคงให้บริการมิกเซอร์อยู่ตลอด ซึ่งการไม่ห้ามขายทั้งวันทำให้มีผลเช่นนี้" นพ.สมาน กล่าว
       
       นพ.สมาน กล่าวว่า ยังคงยืนยันในข้อเสนอก่อนหน้านี้ที่ว่าช่วงที่มีอุบัติเหตุเจ็บตายเยอะอย่างช่วงปีใหม่ 31 ธ.ค.-1 ม.ค. และสงกรานต์คือ 12-14 เม.ย. การห้ามขายไปเลยน่าจะมีประโยชน์มากกว่า ซึ่งไม่ได้เป็นการไปละเมิดสิทธิอะไร เพราะห้ามขาย แต่ไม่ได้ห้ามดื่ม หากต้องการดื่มช่วงเทศกาลก็วางแผนการดื่มไว้ก่อนว่าจะดื่มประมาณเท่าไร ก็ไปซื้อเตรียมมาล่วงหน้า จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุล้มตายได้มาก จากการเมาแล้วออกไปซื้อเหล้าเบียร์เพิ่ม หรือเปลี่ยนร้านดื่ม เช่น เย็นค่ำนั่งดื่มร้านหนึ่ง พอตกดึกไปอีกร้านหนึ่ง เป็นต้น การงดขายไปเลยจะช่วยลดปัญหาได้
       
       อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ สคอ.และตำรวจยังคงดำเนินการตรวจการขายเหล้าหลังสงกรานต์ต่อเนื่องอีก 7 วัน เพราะบางพื้นที่จัดสงกรานต์ช้ากว่าที่อื่น หรือมีประเพณีวันไหล ในจังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งหากลงพื้นที่ตรวจครบทั้งหมดก็จะรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำเป็นข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติมในการช่วยรักษาชีวิตความปลอดภัยของคนไทยมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะได้ข้อเสนอในช่วงปลาย เม.ย.นี้ โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติในช่วง พ.ค.หรือต้นเดือน มิ.ย. และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติต่อไป


ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 เมษายน 2558