ผู้เขียน หัวข้อ: มือถือปฏิวัติโลก - โลกาภิวัตน์  (อ่าน 975 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
มือถือปฏิวัติโลก - โลกาภิวัตน์
« เมื่อ: 07 ตุลาคม 2012, 21:50:30 »
ทั่วโลกใช้มือถือแบบหยุดไม่อยู่ จากการสำรวจของสหภาพโทรคมนาคม ระหว่างประเทศหรือไอทียู เมื่อปีที่แล้ว (2011) มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 6 พันล้านเลขหมาย และมีคำอธิบายหลายเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามือถือปฏิวัติโลก
   
ประชากรโลกมีทั้งสิ้นประมาณ 7 พันล้านคน แต่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออาจจะมีบางคนชอบใช้ทีเดียวหลายเลขหมาย แต่คุณไมเคิล เซย์เลอร์ ซีอีโอ ของบริษัทไมโคร
สทราเทจี้ พยากรณ์ว่าคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือใน 5 ปีข้างหน้าจะมีประมาณ 5 พันล้านคน ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั่วโลก สามารถใช้มือถือเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง
   
ประเทศสหรัฐอเมริกาเองปัจจุบันโดยเฉลี่ยประชากรมีมือถือคนละเลขหมายแล้ว ไม่ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นระบบแอปเปิ้ลหรือแอนดรอยด์ก็ตาม แต่ละเครื่องมีสมรรถนะในการคำนวณมากยิ่งกว่าตอนที่สหรัฐอเมริกาส่งยานอะพอลโลพร้อมมนุษย์ (นีล อาร์มสตรอง) ขึ้นเหยียบบนดวงจันทร์เสียอีก
   
“ในหลาย ๆ ประเทศนั้น ประชาชนใช้มือถือมากกว่าการเข้าห้องน้ำ” คุณแนนซี่ กิบบ์ แห่งนิตยสารไทม์ ได้เขียนวิจารณ์เอาไว้
   
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ คุณมาร์ติน คูเปอร์ แห่งโมโตโรล่า ได้เปิดตัวมือถือขนาดเท่าก้อนอิฐฉาบปูนตัวแรกสู่สาธารณะในปี ค.ศ. 1973 มาปัจจุบันคนหลายพันล้านคนทั่วโลก มีมือถืออัจฉริยะใช้กันอย่างสนุกสนานและสะดวกสบาย
   
ในประมาณปี ค.ศ. 2000 ขึ้นมา เราก็จะเห็นว่ามีการใช้ระบบ จีพีเอส หรือระบบการหาจุดที่ตั้งจากดาวเทียมเข้ามาร่วมใช้กับระบบมือถือทำให้มือถือยิ่งทรงพลังมากขึ้น ตั้งแต่มีการเปิดตัวไอโฟนในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งก็จะมีแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ผนวกเข้าไปด้วย
   
แต่ก่อนหน้ามีช่วงหนึ่งที่มือถือจะต้องรอการพัฒนา การติดตั้งเสาอากาศรับส่งสัญญาณมือถือ เลยทำให้เครื่องมือติดตัว ประเภทเพจเจอร์สำหรับการรับข้อความและส่งอีเมลก็บูมมากอยู่ช่วงหนึ่ง
   
จริง ๆ แล้วมือถือนี่แหละทำให้เกิดแหล่งนวัตกรรมยิ่งใหญ่เพื่อความสะดวกสบายของมนุษย์ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับสมัยโบราณที่กองทัพสวิสเคยประดิษฐ์คิดค้นมีดพกสารพัดประโยชน์มาแล้ว
   
ถ้าหากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ที่อาจจะรวมไปถึงแท็บเล็ตต่าง ๆ เช่น อี-รีเดอร์ สำหรับอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แล้วมือถือก็จะเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันและธุรกิจไม่แพ้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแล็ปท็อป
   
เซย์เลอร์ยังได้กล่าวอีกว่า “เทคโนโลยีมือถือเคลื่อนที่นี่แหละคือคลื่นยุคที่ 5 แห่งสมรรถนะการคำนวณที่ยิ่งใหญ่” ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า หลังจากยุคเมนเฟรม สู่มินิคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ จนมาสู่มือถืออัจฉริยะนั้น ทำให้มนุษย์หลายพันล้านคนจำเป็นต้องใช้แทบจะทุกนาทีทุกวันกันเลย
   
เดิมทียุคการปฏิวัติการเกษตรของมนุษย์เราใช้เวลาประมาณหลายพันปี จึงมาถึงจุดที่เลี้ยงมนุษย์ได้ทั่วโลก ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมใช้เวลาสั้นลงเพียงไม่กี่ร้อยปี แต่ยุคเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่นี้ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว เพราะมีการใช้ซอฟต์แวร์เพื่อคิดคำนวณให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคนได้ทุกแห่งหนและเพิ่มโอกาสให้มนุษย์ได้ทุกขณะ.

รองศาสตราจารย์ ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

เดลินิวส์ 4 ตุลาคม 2555