ผู้เขียน หัวข้อ: คนไทยติดเชื้อดื้อยากว่า 1 แสนรายต่อปี  (อ่าน 548 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9785
    • ดูรายละเอียด
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า การใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เป็นปัญหาใหญ่ทั้งของวงการสาธารณสุขไทย และทั่วโลก องค์การอนามัยโลกประเมินว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ เมื่อปี 2553 มีมูลค่าสูงถึง ร้อยละ 46.7 ซึ่งสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 4 เท่า นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของไทยเพิ่มขึ้นทุกปีโดยในปี พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการสูงถึงกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท

ดังนั้นการใช้ยาไม่สมเหตุผลจึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลเสียมหาศาลต่อผู้ป่วยและสังคมทั้งในด้านอันตรายจากการใช้ยาที่เพิ่มสูงขึ้น ประสิทธิผลในการรักษาที่ต่ำลง สร้างภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากโดยไม่เกิดความคุ้มค่า อย่างเช่น การใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งใช้รักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย แต่กลับนำไปใช้รักษาโรคหวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส นอกจากจะรักษาโรคไม่ได้ผลแล้ว ยังก่อปัญหาเชื้อดื้อยาด้วย

ข้อมูลจากรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)ในปี พ.ศ.2555 ชี้ว่าในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่า 100,000 ราย เสียชีวิตมากกว่า 30,000 ราย ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้นมากกว่า หนึ่งล้านวัน และสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 10,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมถึงการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลที่เกิดจากการสั่งใช้ยาภายใต้อิทธิพลจากการส่งเสริมการขายยาและการโฆษณายาทำให้เกิดการใช้ยาโดยไม่จำเป็น การสั่งใช้ยาซ้ำซ้อน สั่งใช้ยาโดยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ารักษาโรคนั้นได้จริง

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า ตนในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ คณะอนุฯ จึงร่วมมือกับ สวรส. กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เครือข่ายโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (องค์กรมหาชน) ดำเนินโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational drug use hospital : RDU hospital) โดยจะจัดประชุมจำนวน 5 ครั้ง 5 ภาค เพื่อให้ความรู้แก่เภสัชกรแต่ละโรงพยาบาลในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และเปิดรับโรงพยาบาลที่จะนำร่องโครงการนี้ ซึ่งล่าสุดดำเนินการแล้วในภาคใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเข้าร่วมแล้ว 18 แห่ง นอกจากนี้ ทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพของ สธ. จะเลือกโรงพยาบาลในเขตที่มีความพร้อมเข้าร่วมด้วย โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2559 จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยาลง 5% ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินราว 7 พันล้านบาท โดยจะมีการประเมิน 2 ครั้ง คือ ในรอบ 6 เดือน และ 1 ปี ว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านยา มีการใช้ยาสมเหตุผลจริงหรือไม่

“โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สวรส.  กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย  เครือข่ายโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ (UHosNet)  สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (องค์กรมหาชน) โดยโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จะเป็นส่วนหนึ่งของการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล นอกจากนี้จะมีการมอบรางวัลให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญเหนือกว่าการได้รับรางวัลคือ ความปลอดภัย คุ้มค่าจากการใช้ยาและสุขภาพที่ดีของประชาชน”


2014-05-25 16:57 -- hfocus