ผู้เขียน หัวข้อ: ผอ.รพ.พระมงกุฎฯ แจง กมธ.กิจการสภา จะปรับแผนช่วยเหลือฉุกเฉินให้เร็วขึ้น  (อ่าน 830 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ประธานคณะ กมธ. เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน รพ.พระมงกุฎเกล้า กรณีการให้ความช่วยเหลือช่างภาพเครือเนชั่น ซึ่งเจ็บป่วยฉุกเฉินบริเวณอาคารรัฐสภา โดยได้เชิญ พล.ต.ต.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานรัฐสภา น.ส.สุนทร รักเมือง ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎรและนายฉลาด จันทร์เดช ประธานชมรมช่างภาพการเมือง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ถามในประเด็นที่มีการส่งตัวนายสกล สนธิรัตน์ ช่างภาพเนชั่น ไป รพ.ล่าช้าและเหตุใดจึงต้องรอรถพยาบาลฉุกเฉินคันที่ 2 มาสับเปลี่ยน
 
พล.ต.ต.ชุมพล ได้ชี้แจงว่า การส่งต่อผู้ป่วยไปยัง รพ.กลางใช้เวลาประมาณ 20 นาที ถือว่าไม่ช้าจนเกินไป เพราะก่อนนำส่งตัวผู้ป่วย แพทย์ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่ปลอดภัย และจะไม่เกิดการช็อกระหว่างเดินทาง เพราะหากเป็นเช่นนั้น ทางรพ.พระมงกุฎฯ ต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ เมื่อไปถึง รพ.กลาง ผู้ป่วยยังปลอดภัย ส่วนเรื่องรถฉุกเฉินที่ต้องนำส่งผู้ป่วย ยืนยันว่ารถที่จอดไว้ที่รัฐสภาใช้ได้ แพทย์สามารถสั่งได้ทันที ถ้าประเมินแล้วว่า ผู้ป่วยมีภาวะฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน ระหว่างนั้นก็จะประสานรถฉุกเฉินให้มาสับเปลี่ยน แต่ในกรณีนายสกล รถคันที่ 2 มาถึงพอดี

นายฉลาดกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการส่งตัวผู้ป่วย ตนได้ประสานเจ้าหน้าที่ว่า นำรถคันฉุกเฉินที่จอดไว้ไปส่งได้เลยหรือไม่ เพราะนายสกลมีอาการหนักมาก แต่เจ้าหน้าที่ผู้ชายคนหนึ่ง บอกว่าไม่ได้ เนื่องจากกลัวผู้ใหญ่ตำหนิ หากมีเหตุการณ์ซ้อนขึ้นมา จึงทำให้การส่งต่อล่าช้ามากกว่า 30 นาที

พล.ต.ต.ชุมพลกล่าวอีกว่า จากที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทาง รพ.พระมงกุฎฯ ได้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปว่า อาจมีปัญหาด้านการสื่อสาร ต่อไปในอนาคตก็ต้องปรับแผนการช่วยเหลือให้รวดเร็วขึ้น และอาจต้องมีการนำระบบวิทยุสื่อสารเข้ามาใช้ร่วมในการทำงาน เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์ พยาบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ส่วนกรณีที่ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่พูดว่าเอารถออกไม่ได้ เพราะกลัวผู้ใหญ่ตำหนิ จากการตรวจสอบไม่พบ แต่เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายจะตรวจสอบอีกครั้งในประเด็นนี้

นายสุวิจักขณ์กล่าวว่า ต่อกรณีนี้ทางเลขาธิการสภา เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ ก็ได้ทำข้อตกลงกับ รพ.พระมงกุฎฯ ให้มีการเพิ่มรถฉุกเฉินมาประจำที่สภาจำนวน 2 คัน และย้ำว่าการให้บริการด้านพยาบาลต้องครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในสภา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งนี้ ได้ตั้งอนุกรรมการด้านสวัสดิการขึ้นมาดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ โดยจะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 18 มกราคม เบื้องต้นจะมีการพิจารณาการเยียวยาให้กับช่างภาพเนชั่นด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้มีการซักถามถึงงบประมาณที่สำนักงานเลขาธิการสภาได้จัดสรรให้กับหน่วยพยาบาล โดย น.ส.สุนทร ชี้แจงว่าสำนักงานเลขาธิการสภา ได้จัดสรรงบประมาณเป็นค่าตอบแทนแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ปีละ 2 ล้านบาท โดยหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนแพทย์ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลนั้น เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด คือ แพทย์ได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 500 บาท พยาบาลได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 200 บาทและผู้ช่วยพยาบาลได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 100 บาท ส่วนค่ายาเวชภัณฑ์นั้นมีการเบิกจ่ายเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนบาท

นอกจากนี้ กมธ.ได้พูดถึงการบริการทางการแพทย์ประจำห้องพยาบาล โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.ได้หันไปพูดกับนายไพจิต ซึ่งนั่งใกล้กัน โดยไม่ได้มีการบันทึกในห้องประชุมว่า "การไปเบิกยาที่ห้องพยาบาล เหมือนเป็นขอทาน"

ด้าน นายปรีชา มุสิกุล ส.ส.กำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ.ด้านสถานพยาบาลประจำรัฐสภา กล่าวว่า ทราบว่าที่ห้องพยาบาลประจำรัฐสภา มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน ซึ่งใช้งบประมาณจัดซื้อ 8-13 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ขอให้นำตัวผู้ป่วยไปยังห้องดังกล่าว เพื่อได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีในเบื้องต้น นอกจากนั้น แล้วเรื่องการเบิกจ่ายยา ทราบว่า ข้าราชการและบุคลากร ที่ไม่ใช่ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ได้รับสิทธิให้เบิกจ่ายยานอกระบบ ดังนั้น ขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ด้วย