ผู้เขียน หัวข้อ: ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ-วิพากษ์-ตอนที่ 11-15 (พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา)  (อ่าน 1551 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 11 หมวด 4 (ต่อ) การพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย


มาตรา 29 การพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น และคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและอัตราที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ

มาตรา 30 ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นหรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี ส่งคำขอให้คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัยหรือถือว่ามีคำวินิจฉัยให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 27 หรือนับแต่วันที่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้รับคำขอตามมาตรา 28
   ให้คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยพิจารณาจ่ายเงินชดเชยโยคำนึงถึงหลักการเกี่ยวกับการชดใช้สินไหมทดแทนเพื่อละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
   ให้คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยวินิจฉัยคำขอให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นหรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ด้วย

มาตรา 31 หากผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับจำนวนเงินชดเชยที่คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยได้วินิจฉัย ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชย โดยยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงาน และให้สำนักงานส่งคำอุทธรณ์ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์
   ให้คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ถ้ายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ขยายระยะเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวันคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

มาตรา 32 การพิจารณาและการจ่ายเงินขดเชยตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยและคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ
วิพากษ์ การกำหนดให้มีการประเมินเงินชดเชยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ถือเป็นการเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นกระบวนการที่นานเกินไปในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน และการกำหนดให้คำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยและคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ฉะนั้น ถ้าประชาชนไม่พอใจการวินิจฉัยนี้ ก็คงจะต้องนำเรื่องไปฟ้องศาลต่อไป

มาตรา 33 เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทตกลงยินยอมรับเงินชดเชย ให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวช้องกับความเสียหายและผู้เสียหายทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งนี้ตามวิธีการ รูปแบบ และรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ

วิพากษ์ ในกระบวนการต่างๆ คณะอนุกรรมการและกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์และกรรมการต่างก็เป็น “คนกลาง” ระหว่างสถานพยาบาล/ผู้ประกอบวิชาชีพและผู้เสียหายหรือญาติอยู่แล้วทุกขั้นตอน
 ฉะนั้นเมื่อผู้เสียหายหรือทายาทตกลงยินยอมรับเงินแล้ว ก็ควรจะกำหนดให้คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นผู้จัดทำสัญญาประนีประนอมแทนให้เสร็จสิ้นกระบวนการ ว่าประชาชนพอใจกับการได้รับเงินชดเชยแล้ว และจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องใดๆต่อสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพอีก
  แต่ถ้าผู้รับเงินจากกองทุนนี้ไปแล้ว เกิดเปลี่ยนใจจะฟ้องร้องสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพอีก ผู้นั้นควรจะต้องคืนเงินที่ได้รับจากกองทุน พร้อมด้วยเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือน เหมือนกับการเรียกเก็บเงินจากสถานพยาบาล ก็น่าจะยุติธรรมดี
   อันนี้ เพื่ออธิบายว่า ไม่มีใครสามารถ “ตัดสิทธิ์การฟ้องศาลได้” พระราชบัญญัตินี้ก็ไม่ “ตัดสิทธิการฟ้องศาล” แต่เมื่อฟ้องศาล ก็ควรคืนเงินให้กองทุนก่อน ไม่ใช่จะเลือกเอาทั้งสองทาง อันไหนได้มากกว่า ก็จึงค่อยเลือกเอาทางนั้นทีหลัง

มาตรา 34 ในกรณีที่คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยหรือคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้กำหนดจำนวนเงินชดเชยแล้ว หากผู้เสียหายหรือทายาทไม่ตกลงยินยอมรับเงินชดเชย และได้ฟ้องให้ผู้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายเป็นคดีต่อศาล ให้สำนักงานยุติการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ และผู้เสียหายหรือทายาทไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้อีก
   หากศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ให้คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยพิจารณาว่าจะจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาหรือไม่เพียงใด ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
        หากศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดยกฟ้องโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายต้องรับผิด คณะกรรมการอาจพิจารณาจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

วิพากษ์ ในวรรคหนึ่งถ้าได้กำหนดเงินชดเชยแล้วผู้เสียหายไม่ยอมรับ และไปฟ้องศาล ก็ให้ยุติการพิจารณาเงินชดเชย ก็ดูสมเหตุสมผลดี
   แต่วรรคสองสองนี้ไม่เหมาะสมเลย ที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ เรียกเก็บเงินเพื่อไว้จ่ายเป็นค่าเสียหายจากสถานพยาบาลล่วงหน้าไปแล้ว แต่พอศาลตัดสินว่าเกิดความเสียหาย แทนที่สำนักงานจะเป็นฝ่ายจ่ายเงิน(ที่เรียกเก็บมาแล้ว) กลับไม่ยอมจ่ายเงิน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่เป็นธรรมต่อสถานพยาบาล
ในขณะที่วรรคสามนั้น ถ้าศาลยกฟ้อง ไม่จ่ายเงินให้ผู้เสียหาย คณะกรรมการอาจพิจารณาจ่ายเงินจากกองทุนให้ผู้เสียหายหรือไม่ก็ได้
ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร่างพระราชบัญญัตินี้ มีความลำเอียงและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม คือ “ให้” ผู้เสียหายมากมาย คือรับประกันได้เลยว่าต้องได้เงินแน่นอนเมื่อยื่นคำร้องขอ
 แต่ “เอาเงิน” จากสถานพยาบาลอย่างแน่นอน ไม่ว่าถูกหรือผิด
เหมือนหมาป่าก็ย่อมต้องกินลูกแกะวันยังค่ำ

มาตรา 35 ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือทายาทได้นำเหตุแห่งความเสียหายฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายโดยได้ร้องขอเงินตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะขอรับเงินค่าเสียหายก่อนหรือหลังการฟ้องคดี ให้ดำเนินการให้มีการพิจารณาเฉพาะการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายหรือทายาทเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ให้นำความเห็นมาตรา 34 วรรคสองและวรรคสาม มาบังคับใช้โดยอนุโลม

วิพากษ์ ไม่มีปรากฏคำจำกัดความระหว่าง “เงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชย” ทั้งนี้มาตรา 27 กำหนดว่าถ้าคณะอนุกรรมการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น พิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว ให้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชย ดูเหมือนว่าจะเป็นเงินก้อนเดียวกัน แต่มาตรา 35 นี้เขียนไว้เหมือนกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย เป็นเงินคนละก้อน

มาตรา 36 ในกรณีที่มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายแล้ว หากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย ให้หักเงินช่วยเหลือเบื้องต้นออกจากค่าสินไหมทดแทนด้วย

วิพากษ์ อย่างที่บอกแล้วว่า เมื่อรับเงินไปโดยไม่สมควรได้รับ ควรคิดดอกเบี้ยจากเงินก้อนนั้นที่จะถูกหักออกด้วย  จึงจะยุติธรรม เพราะถ้าสถานพยาบาลส่งเงินเข้ากองทุนช้า ต้องเสียดอกเบี้ยถึงร้อยละสองต่อเดือน

มาตรา 37 ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 33 โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้เสียหายหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ ให้ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินชดเชยตามตามพระราชบัญญัตินี้ภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ให้บริการสาธารณสุขซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันรู้ความเสียหายที่ปรากฏขึ้นภายหลัง ในกรณีเช่นว่านี้ ให้สำนักงานหรือหน่วยงานหรือองค์กรที่สำนักงานกำหนด แล้วแต่กรณี ส่งคำขอดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ โดยให้นำมาตรา 30 มาตรา 31 และมาตรา 33 มาบังคับใช้โดยอนุโลม

วิพากษ์ การกำหนดในมาตรานี้นับว่าเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข ที่รักษาผู้ป่วยไปแล้ว ต้องรับผิดชอบอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี เพราะนับอายุความไปถึง 10ปี นับจากผู้ป่วยเพิ่ง “รู้สึกตัว” ว่าเกิดความเสียหายและต้องรู้ตัวว่า “ใครทำ”ให้เกิดความเสียหายด้วย
จะทำให้การฟ้องร้องยืดเยื้อเรื้อรังไปอีกหลายสิบปี และเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่า ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่าเกิดความเสียหาย
  ฉะนั้นการอ้างว่าพระราชบัญญัตินี้ จะช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพและประชาชน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการฟ้องแพทย์มากที่สุดในโลก เขาก็นับอายุความเพียงสองปี หลังจาก "การรักษา"
 ไม่ใช่สิบปี หลังการรู้ตัวว่าเกิดความเสียหาย
..........................................................................................
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 12 หมวด 5  การไกล่เกลี่ยและการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข


มาตรา 38 หากผู้เสียหายและผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายตกลงให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ย ให้สำนักงานดำเนินการให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันหรือเพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันในเรื่องอื่นนอกเหนือจากเงินค่าเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้
   การไกล่เกลี่ยตามวรรคหนึ่งจะดำเนินการก่อนหรือภายหลังผู้เสียหายได้ยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายตามมาตรา 25 หรือหลังจากการพิจารณาคำขอค่าเสียหายเสร็จแล้วก็ได้

มาตรา 39 ในการไกล่เกลี่ย ผู้เสียหายและผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายมีสิทธิเลือกผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคนเดียวหรือหลายคนตามที่ตกลงกันตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการหรือหน่วยงานหรือองค์กรเอกชนอื่นได้จัดทำไว้ หรือบุคคลอื่นใดที่ผู้เสียหายหรือผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายเห็นสมควรร่วมกัน เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และให้สำนักงานแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่ออำนวยความสะดวกและให้ข้อมูลในการไกล่เกลี่ยด้วย
   การไกล่เกลี่ยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งอย่างช้าต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย หากมีเหตุจำเป็นไม่อาจไกล่เกลี่ยให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว อาจขยายเวลาได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ทั้งนี้ผู้เสียหายหรือผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายมีสิทธิที่จะยุติการไกล่เกลี่ยเสียเมื่อใดก็ได้
   หากผู้เสียหายกับผู้ให้บริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายสามารถตกลงร่วมกันในเรื่องอื่นนอกเหนือจากเงินค่าเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้บุคคลดังกล่าวร่วมกันทำสัญญายอมความเพื่อให้มีผลผูกพันกับทั้งสองฝ่ายในเรื่องดังกล่าว
   หลักเกณฑ์ วิธีการ และรูปแบบของการไกล่เกลี่ย สัญญาประนีประนอมยอมความ  และค่าตอบแทนของผู้ไกล่เกลี่ย ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

วิพากษ์   การไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันได้ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเงินค่าเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรกับทั้งสองฝ่าย เพราะผู้ให้บริการสาธารณสุขก็คงไม่มีเจตนาร้ายเหมือนอาชญากร ส่วนผู้เสียหายก็อยากจะได้เงินเท่านั้น  เมื่อไม่สามารถพูดเรื่องเงินค่าเสียหายได้ ผู้เสียหายก็คงไม่อยากจะเสียเวลามาไกล่เกลี่ยเป็นแน่และผู้ให้บริการสาธารณสุขก็คงไม่อยากเสียเวลาจากภาระงานในการรักษาผู้ป่วยเป็นแน่

มาตรา 40 เมื่อมีการไกล่เกลี่ยตามมาตรา 38 ให้อายุความฟ้องร้องคดีแพ่งสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้นจนกว่ามีการยุติการไกล่เกลี่ย

มาตรา 41 ห้ามมิให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยใช้ข้อมูลดังต่อไปนี้ในการดำเนินคดีทางศาล
(1)ข้อเท็จจริงใดๆ
(2)ความเห็นหรือข้อเสนอใดๆ ซึ่งได้เสนอโดยผู้เกี่ยวข้องกับการไกล่เกลี่ยในยกระบวนการไกล่เกลี่ย
(3)ข้อเท็จจริงที่ผู้เกี่ยวข้องในการไกล่เกลี่ยได้ยอมรับหรือปฏิเสธข้อเสนอในการไกล่เกลี่ยเพื่อยังให้เกิดการตกลงซึ่งได้เสนอโดยผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย   
วิพากษ์ เมื่อไกล่เกลี่ยแล้ว ยังมีการนำคดีไปฟ้องศาลได้อีก เท่ากับเป็นความล้มเหลวของการไกล่เกลี่ย ฉะนั้นผู้เสียหายอาจจะอยากได้ข้อมูลอย่างละเอียดทุกประเด็น เพื่อนำไปอ้างในศาล การห้ามตามมาตรา 41 คงไม่สามารถเป็นจริงได้ เพราะผู้เสียหายจะอ้าง “สิทธิ” ในการเข้าถึงข้อมูล ขนาดห้ามฟ้องศาลยังทำไม่ได้ เพราะอ้างสิทธิเช่นเดียวกัน
 ฉะนั้น การบัญญัติในหมวดนี้ เห็นว่าจะไม่เกิดผลดีใดๆทั้งสิ้น เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
.......................................................................................
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 13 หมวด 6 การพัฒนาระบบป้องกันความเสียหาย


มาตรา 42 ให้คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชยวิเคราะห์สาเหตุแห่งความเสียหายเพื่อแจ้งให้สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับความเสียหาย พิจารณาหาแนวทางพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายรวมทั้งการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข แล้วให้สถานพยาบาลนั้นทำรายงานการปรับปรุงและส่งให้สำนักงานภายในหกเดือน
   เมื่อสถานพยาบาลได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามแนวทางในวรรคหนึ่งแล้ว คณะกรรมการอาจนำมาประกอบการพิจารณากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามมาตรา 21 ในทางที่เป็นคุณให้แก่สถานพยาบาลนั้นก็ได้

มาตรา 43 ให้สำนักงานสนับสนุนสถานพยาบาล หน่วยงาน หรือองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมและพัฒนาระบบความปลอดภัยและป่องกันความเสียหายของผู้รับบริการสาธารณสุข เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายของผู้รับบริการสาธารณสุข และกิจกรรมด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข โดยเสนอแผนงานต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนสำหรับใช้จ่ายในการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว ทั้งน้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 44 สถานพยาบาลใดที่มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายตามที่คณะกรรมการกำหนด คณะกรรมการอาจสั่งให้ลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามมาตรา 21 ได้

วิพากษ์  คณะอนุกรรมการประเมินเงินชดเชย( ที่มีการแต่งตั้งตามมาตรา 12 (2)  ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละหนึ่งคน ) ช่างเป็นผู้มีความสามารถเหนือกว่าปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกๆคน เพราะสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุแห่งความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขได้
เพราะพวกผู้บริหารที่กล่าวมาแล้วเหล่านี้ ยังไม่สามารถหาสาเหตุเพื่อป้องกันความเสียหายได้เลย

 ในวรรคสองเมื่อสถานพยาบาลได้แก้ไขแล้ว คณะกรรมการอาจพิจารณากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบที่เป็นคุณแก่สถานพยาบาลนั้น ความหมายก็คือ ถ้าสถานพยาบาลใดไม่เคยมีความเสียหายเลย คณะกรรมการกลับ“ลงโทษ” คือกำหนดอัตราการจ่ายเงินที่เป็นโทษ (ตรงข้ามกับเป็นคุณ)คือจะไม่มีการพิจารณา “ลดเงินที่ต้องจ่ายเลย” (ไม่มีบัญญัติไว้ในมาตราใดเลย)
  เรื่องนี้ เป็นเรื่องตลกจริงๆ ที่ใดไม่เคยเกิดความเสียหาย จ่ายเงินเข้ากองทุนทุกปีเท่าเดิม(หรือมากขึ้น เพราะกรรมการใช้เงินมาก) แต่สถานพยาบาลใดทำให้เกิดความเสียหายแล้ว ปรับปรุงให้ “ดีเหมือนสถานพยาบาลอื่น” จะได้รางวัล คือจ่ายเงินน้อยลง
และมาตรา 44 ก็กำหนดไว้เช่นเดียวกัน คือมีเรื่องเสียหายแล้ว สามารถพัฒนาตามที่คณะกรรมการสั่ง แล้วจะได้ลดการจ่ายเงิน
ความคิดของผู้ร่างพระราชบัญญัตินี้ น่าบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การแพทย์ไทยจริงๆ
................................................................................................
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 14 หมวด 7 การฟ้องอาญาและบทกำหนดโทษ


    มาตรา 45 ในกรณีที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำการโดยประมาทเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่างๆของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี  มาตรฐานทางวิชาชีพ   การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ การชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้ขำเลยได้รับโทษ ตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควร พิจารณาประกอบด้วยการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้

   มาตรา 46 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคณะอนุกรรมการตามาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วิพากษ์ การเขียนในมาตรา 45 นี้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของศาล เพราะศาลท่านมีความรู้และมีหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่แล้ว
  ยิ่งในวรรคที่บอกว่า “การที่ผุ้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษ” ก็เป็นตลกร้ายอีก
ขอถามหน่อยเถิดว่า ถ้าผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษ ตามที่กำหนดไว้ แล้วท่านไปฟ้องศาลอาญาเพื่ออะไร
ส่วนมาตรา 46 นั้นได้วิพากษ์ไว้แล้วในตอนวิพากษ์มาตรา 18
.........................................................................................
วิพากษ์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ.....
(ฉบับร่างรัฐบาล) ตอนที่ 15 บทเฉพาะกาล


มาตรา 47-49 เป็นการโอนภาระงาน งบประมาณ จากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

วิพากษ์ นี่คือสุดยอดปรารถนาของปลัดกระทรวงคนปัจจุบัน ที่ได้กล่าวในที่ประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 18 เขตเมื่อเร็วๆนี้ว่า ต้องการเงิน(จากกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้) เพื่อเอามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข  เพราะตอนนี้กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีเงินให้ปลัดเอามาใช้ในการทำงาน
  แต่การหาเงินแบบนี้ เป็นการหาเงินมาทำงานที่ผิดวิธี ไม่โปร่งใส ไม่ตรงกับภารกิจที่ปลัดอ้างว่าไม่มีเงิน เป็นการหาเงินมาทำงานที่ไม่ตรงไปตรงมา
และวิธีการนี้ เป็นการทำร้ายบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาและความรับผิดชอบของท่านปลัดกระทรวง ผู้หวังจะได้เงินในทางผิดๆ โดยทำร้ายและทำลายระบบบริการสาธารณสุขที่เอื้ออาทรแบบวัฒนธรรมไทย เป็นวัฒนธรรมแห่งการฟ้องร้อง ขอเงินๆเท่านั้น
 ปลัดกระทรวงโดยความร่วมมือของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยังได้ออกหนังสือขอความคิดเห็นจากบุคลากรสาธารณสุข โยมอบให้ผู้ตรวจราชการทั้ง 18 เขต ให้ไปขอความคิดเห็นจากบุคลากรสาธารณสุขว่าเห็นด้วยในหรือไม่ 12 ประเด็นที่ปลัดกระทรวงได้อ้างว่าสรุปหรือไม่
ทั้งนี้ปลัดกระทรวงได้พูดกับแพทย์คนหนึ่งว่า รัฐบาลเขาเอาแน่ในการเดินหน้าเอาเข้าสภาภายในสมัยประชุมนี้

มาตรา 50เป็นการกำหนดตัวกรรมการชุดแรก ที่กำหนดตัวคนไว้แล้วล่วงหน้า ว่าเป็น NGO ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ 6 ใน 11 คน อีก 3คนมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สื่อสารมวลชน และการเจรจาไกล่เกลี่ยสาธารณสุขอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน
วิพากษ์ การกำหนดให้รัฐมนตรีเลือกกรรมการรักษาการ โดยเป็นการล็อกสเปคเอาไว้ คือให้ NGO สาธารณสุขมาเป็นกรรมการ6 ใน 11 คน เกินครึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และที่เหลืออีก 5 คนนั้นอีกสองคนไม่ได้กำหนดไว้ ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่ าต้องเป็นเป็นผู้รับผิดชอบในการเขียนและผลักดันร่างพระราชบัญญัตินี้
 
ฉะนั้นเราจึงเห็นว่าพระราชบัญญัตินี้ เกิดขึ้นจากความเห็น ที่เต็มไปด้วยอคติต่อผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุข
 
โดยผู้ร่างพระราชบัญญัตินี้ มีความต้องการเงินจากสถานพยาบาล เพื่อเอาไปบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะสามารถกำหนดการใช้เงินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของพรรคพวกตน ที่ได้เป็นกรรมการ ต่างๆ และอนุกรรมการต่างๆ เพราะได้กำหนดตัวบุคคลเอาไว้แล้วในการเริ่มต้นทำงานในบทเฉพาะกาลนี้
 
เพื่อที่กรรมการในบทเฉพาะกาลจะได้ไปกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการบริหารงาน บริหารเงินเอาไว้แล้ว 
และถึงขั้นกำหนดตัวผู้จะมาเป็นกรรมการต่อเนื่องในชุดต่อไปอีก
 
โดยผู้อยู่เบื้องหลังการร่างและผลักดันพ.ร.บ.นี้จะได้เป็นกรรมการกำหนดทิศทางการใช้เงิน โดยอำนาจตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ 
 
เรียกว่า "ชงเอง กินเอง " เหมือนพระราชบัญญัติ สสส. 
สวรส. สปสช. สช. และออกแบบตามมาเป็นพิมพ์เดียวกันเป็นพ.ร.บ.คค.นี้
 
โดยคนเหล่านี้ ไม่สนใจว่าระบบการบริการทางการแพทย์จะมีความเสียหายอย่างไร และบุคลากรทางการแพทย์จะมี ต่างคิดอยากจะได้เงิน และได้อำนาจในการบริหารเงิน และผลประโยชน์ส่วนตนก่อน
การอ้างประโยชน์แก่ประชาชนนั้น ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า เป็นการอ้าง "บังหน้า" เท่านั้น
ทุกคนที่ติดตามเรื่องราวของพ.ร.บ.นี้มาก็ทราบกันดีอยู่แล้ว
.................................................................................................