ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.คุมเข้มมาตรการจ่ายยาสวัสดิการ ขรก.อุดช่องทุจริตเงินหลวง  (อ่าน 1771 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สธ.ปรับปรุงมาตรการจ่ายยา รักษาผู้ใช้สวัสดิการข้าราชการให้รัดกุม ป้องกันปัญหาการทุจริตยาและการเบิกจ่ายยาเกินความจำเป็นโดยมีผลบังคับใช้ แล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา
       
        นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายยากลุ่มที่ใช้สิทธิ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หลังจากที่มีรายงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจพบการทุจริตยาในโรงพยาบาลหลายแห่ง และมีผู้เกี่ยวข้องเป็นบุคลากรในโรงพยาบาล มีส่วนในการสั่งจ่ายหรือเบิกยาด้วย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโรงพยาบาลและระบบราชการรวมทั้งประเทศชาติในภาพรวม ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเภสัชกร และแพทย์ผู้รักษา จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งขณะ นี้ได้มีข้อเสนอมาตรการแนวทางการเบิกจ่ายยาของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาข้าราชการ ทั้งประเภทเรื้อรังและยาที่ต้องควบคุมการจ่ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามเพื่อประกาศใช้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งจะทำให้การใช้ยาของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เป็นไปอย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยยิ่งขึ้น

 นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวกำหนดให้การสั่งจ่ายยาแต่ละรายการให้เป็นไปตามเงื่อนไขและ ข้อกำหนดที่คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา และที่คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ของโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ประกาศใช้ โดยการสั่งจ่ายยารักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ใช้ต่อเนื่องและในปริมาณมาก จะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือแพทย์ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมอบหมาย โดยจ่ายได้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยในการจ่ายยาแพทย์เฉพาะทางสั่งจ่ายได้ครั้งละไม่ควรเกิน 3 เดือน วงเงินรวมไม่ควรเกิน 50,000 บาทคิดจากราคาขาย หากไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางสามารถสั่งจ่ายได้ครั้งละไม่ควรเกิน 1 เดือน วงเงินไม่ควรเกิน 20,000 บาทคิดจากราคาขาย แต่กรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่ได้ และมีความจำเป็นต้องรับยา จะสั่งจ่ายได้เฉพาะกรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอนุญาตให้จ่ายได้
       
       กรณีการสั่งจ่ายยาที่ต้องควบคุมได้แก่ ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ให้มีการจำกัดจำนวนการจ่ายต่อครั้ง สำหรับกรณีที่มีการขอเบิกยาเดิมซ้ำ ในขณะที่จากการคำนวณแล้วยาเก่ายังเหลือพอใช้ได้จนถึงวันที่แพทย์นัด จะต้องระบุเหตุผลความจำเป็นไว้ในบัตรผู้ป่วยนอก กรณีที่แจ้งว่ายาหายจะต้องแจ้งให้โรงพยาบาลทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาจทำแบบฟอร์มให้ผู้ป่วยกรอกและแนบเอกสารไว้กับบัตรผู้ป่วยนอก
       
       กรณีการสั่งจ่ายยาโดยทันตแพทย์ให้สั่งจ่ายได้เฉพาะรายการยาที่เกี่ยว ข้องกับการรักษาทางทันตกรรม หรือกรณีเจ็บป่วยจากโรคทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาเฉพาะทาง ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้มารับการตรวจจากแพทย์โดยตรงแต่มีญาติมาขอเบิกยาแทน จะต้องระบุเหตุผลความจำเป็นไว้ในบัตรผู้ป่วยนอกด้วย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นบ่อย นอกจากนี้ กรณีที่ตรวจพบการสั่งจ่ายยาผิดปกติ ให้ผู้ที่พบเหตุการณ์สอบถามกลับไปยังผู้ป่วย แพทย์ผู้สั่งยา และผู้ที่เกี่ยวข้อง หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ให้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และให้โรงพยาบาลทำการสุ่มแฟ้มประวัติของผู้ป่วยเพื่อดูการสั่งจ่ายยาว่าเป็น ไปอย่างเหมาะสมหรือไม่ และห้องจ่ายยาจ่ายตรงตามที่แพทย์สั่งหรือไม่


ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 มกราคม 2554