ผู้เขียน หัวข้อ: โรงพยาบาลหาดสำราญ: ภาพสะท้อนโครงสร้างอำนาจของสังคมไทย  (อ่าน 1259 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ไม่ว่าจะไปอยู่พื้นที่ใดในประเทศไทย สิ่งที่เราพบเห็นได้เสมอก็คือหลักฐานอันแสดงถึงโครงสร้างอำนาจและพฤติกรรมอัปลักษณ์ของบุคคลสามกลุ่มอันได้แก่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ นักการเมือง และนายทุนเสมอ กลุ่มเหล่านี้สมคบกันทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ และทำงานไร้ประสิทธิภาพ อันเป็นตัวการหลักในการสร้างปัญหาและความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
       
       อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง เป็นอำเภอเล็กๆ ที่เพิ่งจัดตั้งมาไม่นาน มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน มีชายหาดที่สวยงามพอประมาณ ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าหลายอย่าง ทั้งป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมาก และสัตว์ทะเลนานาชนิด วิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนส่วนใหญ่ที่นั่นคือการทำประมงชายฝั่ง ทำสวนยาง และปาล์ม สำหรับในปัจจุบันหาดสำราญเริ่มกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาไปเยี่ยมเยือนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
       
       หลังจากมีการจัดตั้งเป็นอำเภอไม่นาน หน่วยงานราชการต่างๆ ก็เริ่มทยอยลงไปก่อสร้างอาคารสำนักงาน หลายอาคารก็สร้างเสร็จตามที่กำหนด สถานีตำรวจก็มีแล้ว ที่ว่าการอำเภอก็มีแล้ว โรงเรียนมัธยมก็มีแล้ว แต่ทว่าโรงพยาบาลชุมชนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและประชาชนต้องการอย่างยิ่งกลับยังเป็นปมปัญหาที่สร้างความร้าวรานใจแก่ประชาชนเหลือประมาณ
       
       หลักการพื้นฐานประการหนึ่งของการบริการทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยคือ การกำหนดให้ทุกอำเภอในประเทศไทยมีโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึงโดยง่าย ที่อำเภอหาดสำราญก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการจัดตั้งเป็นอำเภอ ทางภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดทำโครงการเพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลและเตรียมบุคลากรลงไปบริการประชาชน
       
       หลังจากได้รับอนุมัติโครงการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดการประมูล ซึ่งที่ประมูลได้เป็นนายทุนท้องถิ่นผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตข้าราชการผู้หนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นนักการเมืองหุ่นเชิดระดับชาติ สัญญาในการก่อสร้างระบุว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี การก่อสร้างเริ่มขึ้น พ.ศ. 2552 และมีกำหนดการแล้วเสร็จ ใน พ.ศ. 2554
       
       ดังที่เกิดขึ้นเป็นแบบแผนอันเป็น “ธรรมเนียมแห่งความชั่วร้าย” ที่กัดกินประเทศไทยถึงเลือดเนื้อและกระดูกมาอย่างยาวนาน งบประมาณแผ่นดินแทนที่จะถูกใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ถูกพวกเหลือบที่อยู่ในระบบรุมแย่งกันดูดออกไปในนามค่า “หัวคิว” หรือ พวกชั่วบางคนเรียกเสียหรูว่า “ค่าดำเนินการ” หลายเปอร์เซ็นต์
       
       ยิ่งกว่านั้น ทันที่มีการเริ่มสร้างโรงพยาบาล ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขก็สั่งเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์มารอไว้ก่อน โดยใช้งบประมาณไปอีกเกือบสิบล้านบาท หากมองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เมื่อโรงพยาบาลสร้างเสร็จก็สามารถใช้ได้ทันทีก็คงจะได้ แต่หากใครที่คิดแบบนั้นก็แสดงว่าไม่เข้าใจนิสัยพื้นฐานที่แท้จริงของข้าราชการไทยบางกลุ่ม
       
       ตั้งแต่อดีตมา หากชาวบ้านในอำเภอหาดสำราญเจ็บป่วยและต้องไปโรงพยาบาล พวกเขาต้องเดินทางอย่างน้อยประมาณ 40 กิโลเมตร เพื่อไปโรงพยาบาลของอำเภอย่านตาขาว อันเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด สำหรับผู้ที่มีฐานะดี มีรถยนต์ส่วนตัวก็คงเดือดร้อนไม่มากนัก แต่สำหรับชาวบ้านที่ยากจนการเดินทางไกลเช่นนั้นย่อมเป็นความเดือดร้อนเป็นอย่างสาหัส
       
       ช่วงแรกที่มีการเริ่มสร้างโรงพยาบาล ชาวบ้านต่างดีใจกันถ้วนหน้า เพราะคิดว่าไม่นานคงจะเสร็จรออีกสองปีคงไม่นานเกินไป ชาวบ้านต่างก็หวังว่าจะได้มีโอกาสเข้าไปใช้โรงพยาบาลที่อยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านตนเองมากนัก
       
       แต่รอแล้ว รอเล่า สองปีผ่านไป ก็พอเห็นเป็นโครงสร้างของอาคาร จนในที่สุดเมื่อครบกำหนดตามสัญญา โรงพยาบาลก็ยังสร้างไม่เสร็จ ปีที่สามผ่านไปก็ยังไม่เสร็จ ปัจจุบันปีที่สี่แล้วก็ยังไม่เสร็จอีก ผมเพิ่งเข้าไปในอำเภอหาดสำราญเมื่อไม่นานมานี้ ชาวบ้านได้มาเล่าให้ฟังว่า ทางสาธารณสุขอำเภอบอกว่าจะเปิดโรงพยาบาลในเดือนพฤษภาคม 2556 นี้ แต่เมื่อผมเข้าไปดูสภาพของโรงพยาบาลแล้วไม่มีทางที่โรงพยาบาลจะเปิดให้บริการประชาชนได้ทันดังที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบอก
       
       ปมปัญหาสำคัญคือ สาธารณสุขจังหวัดตรังและกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นหน่วยงานที่ต้องควบคุมกำกับการก่อสร้างโรงพยาบาลมีการบริหารสัญญาการก่อสร้างอย่างไร ทำไมจึงปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้โดยไม่ใส่ใจกับความเดือดร้อนของประชาชน
       
       ปัจจุบันสัญญาการก่อสร้างโรงพยาบาลเกินระยะเวลาที่กำหนดมาแล้วประมาณสองปี ค่าปรับที่บริษัทรับเหมาต้องจ่ายรายวันอาจจะมากกว่างบประมาณที่เขาประมูลมาก่อสร้างในตอนแรกด้วยซ้ำ แต่ความมหัศจรรย์คือ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่บอก เลิกสัญญากับผู้รับเหมา โดยอ้างว่าผู้รับเหมายังไม่ทิ้งงาน เท่าที่ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังคือ ในแต่ละวันเห็นคนงานประมาณ 2-3 คน มาทำงานเล็กๆน้อยๆในการก่อสร้างโรงพยาบาลมานับปีแล้ว หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีกว่าโรงพยาบาลจะเสร็จ แต่ทันทีที่เสร็จทุกส่วนโรงพยาบาลก็คงจะเก่า ทรุดโทรม และผุพังเกินกว่าที่จะใช้ได้แล้ว
       
       ชาวบ้านในอำเภอหาดสำราญเชื่อกันว่า เหตุที่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ยอมบอกเลิกสัญญาและขึ้นบัญชีดำผู้รับเหมาก็เพราะว่า ผู้รับเหมาที่สร้างโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองบางคนในพรรครัฐบาลปัจจุบัน จึงมีการพยายามช่วยเหลือกันโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน แม้ว่าความเดือดร้อนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนนับหมื่นคนที่เฝ้ารอรับบริการทางการแพทย์และพยาบาลก็ตาม
       
       ผมไม่มีข้อมูลที่จะบอกได้ว่า มีผู้ป่วยในอำเภอหาดสำราญกี่คนที่ต้องเสียชีวิตจากการขาดการช่วยเหลืออย่างทันเวลาจากหมอและพยาบาลวิชาชีพ ผมไม่ทราบว่ามีทารกตายกี่คนจากการคลอดเนื่องจากไม่มีโรงพยาบาล ผมไม่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตกี่คนจากการประสบอุบัติเหตุทางจราจรที่ขาดการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ที่ผมทราบแน่ๆคือ ทันทีที่พวกเขามีความเจ็บป่วย ตั้งครรภ์ หรือประสบอุบัติเหตุ พวกเขามีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและพิการสูงกว่าประชาชนที่มีโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอของตนเองแน่นอน
       
       ความเสี่ยงของชีวิตและสุขภาพซึ่งประชาชนต้องแบกรับที่อำเภอหาดสำราญเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนกรณีหนึ่งในสังคมไทย อันเกิดจากการกระทำของข้าราชการ นายทุนและนักการเมืองที่ชั่วช้าทั้งหลาย อำเภอหาดสำราญคงไม่ใช่พื้นที่เดียวที่มีปัญหาแบบนี้ ยังคงมีอีกหลายแห่งในประเทศไทยที่ประชาชนต้องประสบเคราะห์กรรมจากพฤติกรรมและจิตใจอันสกปรกโสมมของนายทุน ข้าราชการ และนักการเมือง
       
       หากผู้ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในปัจจุบัน ทั้งสาธารณสุขจังหวัดตรัง ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและผู้มีอำนาจหน้าที่อื่นๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ยังมีสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อหน้าที่และรับผิดชอบต่อประชาชนหลงเหลืออยู่บ้าง โปรดอย่านำชีวิตและสุขภาพของประชาชนมาเป็นเครื่องเล่นเกมทางการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตัวอีกเลย แต่ควรไปจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
       
       อีกอย่างหนึ่ง ผมประสงค์จะฝากไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ด้วยว่า ช่วยกรุณาส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเกี่ยวกับการประมูลและการบริหารสัญญาของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขด้วย เพราะนอกจากการสร้างโรงพยาบาลที่อำเภอหาดสำราญแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า การก่อสร้างของกระทรวงนี้อีกหลายแห่งที่มีปัญหาทำนองเดียวกัน
       
       เรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่ละคล้ายคลึงกับการประมูลและการบริหารสัญญาในการสร้างสถานีตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ป.ป.ช. ตั้งเรื่องสอบสวนไปแล้ว แต่ผมคิดว่าการทุจริตในการสร้างโรงพยาบาลสร้างผลประทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. ควรทำเป็นคดีตัวอย่าง เพื่อป้องปรามผู้ทิ่มีจิตใจสกปรกไม่ให้ก่อพฤติกรรมที่เลวร้ายเช่นต่อไปในอนาคต
       
       การเสนอโครงการ การประมูล การก่อสร้าง และการบริหารสัญญาการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในกับโรงพยาบาลหาดสำราญ จึงเป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างอำนาจ อันเป็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนายทุน นักการเมือง และข้าราชการ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเดือดร้อน วิบัติ หายนะ แก่ประชาชนและประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย
       
       ปรากฏการณ์เลวร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ทุกวงการ ที่มีกลุ่มบุคคลสามกลุ่มนี้อยู่ร่วมกัน และจะมีความรุนแรงมากขึ้นหากประชาชนในพื้นที่วางเฉยและไม่เข้าไปตรวจสอบ
       
       หวังว่าประชาชนชาวอำเภอหาดสำราญคงจะได้รับการบริการจากโรงพยาบาลโดยเร็ว แต่หากภายใน 3-4 เดือนนี้ยังไม่เสร็จ ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนในอำเภอหาดสำราญไม่ควรนิ่งเฉยอีกต่อไป และควรจะลงมือปฏิบัติการทางการเมืองบางอย่างเพื่อสั่งสอนผู้มีอำนาจทั้งหลายให้สำนึกถึงพลังประชาชนเสียบ้าง


ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ASTVผู้จัดการรายวัน    12 เมษายน 2556