ผู้เขียน หัวข้อ: พบไข้เลือดออกป่วยตายสูงกว่ามือเท้าปาก สธ.แนะกำจัดน้ำขัง  (อ่าน 1267 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
       อธิบดี คร.เผย สถานการณ์โรคไข้เลือดออกน่าห่วงกว่าโรคมือเท้าปาก ชี้ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสะสมเยอะกว่า แนะกำจัดน้ำขังรอบบ้าน หากพบอาการจุดแดงๆ ตามตัว มีไข้สูงเกิน 3 วัน ควรพบแพทย์


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

       นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่หนักกว่าโรคมือ เท้า ปากระบาด เนื่องจากมีตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงกว่า โดยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-24 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยสะสม 25,351 ราย มีผู้เสียชีวิต 27 ราย อัตราป่วยอยู่ที่ 39.69 ต่อแสนประชากร อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.04 ต่อแสนประชากร ซึ่งผู้ป่วยลดลงกว่าปี 2554 ณ ช่วงเวลาเดียวกันที่ร้อยละ 21.87 คือ ในปี 2554 พบผู้ป่วย 68,362 ราย เสียชีวิต 62 ราย คิดเป็นอัตราป่วยที่ 107.02 รายต่อแสนประชากร และคิดเป็นอัตราเสียชีวิตที่ 0.10 รายต่อแสนประชากร
       
       “แม้ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจะไม่มากเท่า แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะขณะนี้จากตัวเลขสะสม 6 เดือนก็พู่งสูงกว่ามือ เท้า ปากเสียอีก ที่สำคัญ อันตรายมากกว่า เพราะตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกว่า โดยในรายที่เสียชีวิตนั้น พบว่า มีจำนวน 27 ราย ซึ่งเป็นวัยรุ่นอายุ 18-19 ปี ถึง 13 ราย ตรงนี้ต้องระวังในเรื่องการดูแลตัวเอง และดูแลรอบๆ บ้าน อย่าให้มีแหล่งน้ำขัง และขอให้สังเกตอาการของสมาชิกในครอบครัว โดยหากพบสมาชิกในครอบครัวมีอาการไข้สูง 3 วัน มีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามตัว โดยเฉพาะรักแร้ ขาหนีบ ต้องรีบพาพบแพทย์ทันที” นพ.พรเทพ กล่าว
       
       ด้าน นพ.วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวว่า สถิติการป่วยโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 กรกฎาคม พบว่า มีผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 23,213 ราย และเสียชีวิตแล้ว 27 ราย ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2554 แล้วปีนี้ 2555 มีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่กลับมีอัตราการตายที่สูงกว่า โดยสิ่งที่ต้องตระหนักมากที่สุดในขณะนี้ คือในวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี เพราะปีนี้พบการเสียชีวิตถึง 13 รายแล้ว ส่วนในวัยเด็กหรืออายุ 5-14 มีการเสียชีวิตอยู่ที่ 14 ราย โดยอัตราการตายของผู้ใหญ่ในปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้สายพันธุ์ที่ 3 ยังเป็นสายพันธุ์ที่พบมากในครั้งนี้คนที่ป่วยในระยะแรกก็มีการแสดงอาการที่รุนแรง
       
       อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 25,351 ราย โดยหากแยกจำนวนผู้ป่วยตามภาค จะพบว่า ภาคใต้ อัตราป่วยสูงที่สุด 57.88 รายต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วยคิดเป็น 5,147 ราย รองลงมา คือ ภาคกลาง พบอัตราป่วย 44.01 รายต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วย 9,517 ราย ภาคเหนืออัตราป่วย 33.71 รายต่อแสนประชากร คิดเป็น 3,974 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 31.12 รายต่อแสนประชากร คิดเป็น 6,713 ราย ตามลำดับ
       
       นอกจากนี้ หากแยกตามจังหวัดที่พบมากที่สุด คือ กระบี่ พบอัตราป่วยสูงถึง 271.32 รายต่อแสนประชากร รองลงมา คือ ระยอง อัตราป่วยอยู่ที่ 166.67 รายต่อแสนประชากร จันทบุรี อัตราป่วย 125.92 รายต่อแสนประชากร พังงา อัตราส่วน 110.23 รายต่อแสนประชากร และสตูลอัตราส่วนที่ 92.21 รายต่อแสนประชากร