ผู้เขียน หัวข้อ: เตือนโรคหัดระบาดแนะเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน  (อ่าน 1005 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนไปจนถึงปลายฤดูหนาว ช่วงเดือนมี.ค.ของทุกปี เป็นช่วงเวลาเสี่ยงที่โรคหัดหรือที่เรียกว่าไข้ออกผื่น มักระบาด หากประชาชนไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นได้ทุกอายุ แต่พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-6 ปี มักไม่พบในเด็กเล็กกว่า 8 เดือน เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันจากแม่ โรคหัดส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เด็กเล็กควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด คือฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นเมื่อเริ่มชั้นประถม 1 หรืออายุ 6 ขวบ

จากรายงานสถานการณ์โรคหัด กลุ่มระบาดวิทยา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 21 ส.ค. 2556  สคร.7 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคหัดทั้งสิ้น 87 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย 1.37 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0-4 ปี อัตราป่วย 8.73 ต่อประชากรแสนคน (34 ราย) รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9  ปี อัตราป่วย 2.86 ต่อประชากรแสนคน (13 ราย), 10-14  ปี อัตราป่วย 2.7ต่อประชากรแสนคน (12 ราย), 15-24  ปี อัตราป่วย 1.11 ต่อประชากรแสนคน (11 ราย)  จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ จ.นครพนม อัตราป่วย 2.13 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ จ.อุบลราชธานี อัตราป่วย 1.93 ต่อประชากรแสนคน (35 ราย), จ.อำนาจเจริญ อัตราป่วย 1.88 ต่อประชากรแสนคน (7 ราย) , จ.ศรีสะเกษ อัตราป่วย 1.31 ต่อประชากรแสนคน (19 ราย),  จ.ยโสธร อัตราป่วย 1.11 ต่อประชากรแสนคน (6 ราย),  จ.สกลนคร อัตราป่วย 0.45 ต่อประชากรแสนคน (5 ราย) และ จ.มุกดาหาร ยังไม่พบรายงานผู้ป่วย

นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า อาการของโรคหัดจะคล้ายกับอาการของไข้หวัดธรรมดา คือ มีไข้ก่อนน้ำมูกไหล  มักจะไอแห้งๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางทราบเลยว่า เด็กเป็นหัดแล้ว จนเมื่ออาการเพิ่มขึ้น มีไข้สูง ตาแดงแฉะ กลัวแสง เวลาโดนจะแสบระคายเคืองตา ไอและมีน้ำมูกมาก ปากและจมูกแดง เด็กอาจจะมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นคล้ายผื่นแพ้ยาลุกลามจากหลังหูไปยังหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ถ้าสังเกตจะพบก่อนวันที่เด็กจะมีผื่นออกตามลําตัว จะมีตุ่มเล็กๆในปาก กระพุ้งแก้ม ฟันกรามบน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัดเท่านั้น ผื่นจะมีขนาดโตขึ้นและสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง ซึ่งคงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมดจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย

ส่วนวิธีป้องกันแนะนำว่าสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กทุกคน คือ ควรไปรับวัคซีนป้องกันโรคหัด เพื่อรับการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นเมื่อเริ่มชั้นประถม 1 หรืออายุ 6 ขวบ  สำหรับเด็กที่เป็นโรคหัด คือ อาการแทรกซ้อนมากมายที่อาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ เพราะไวรัสหัด ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายของผู้ป่วยต่ำลง  จึงเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงตามมา เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง วัณโรคกำเริบ สมองและหูชั้นกลางอักเสบ บางคนตับอักเสบ โดยเฉพาะผู้เสี่ยงสูงคือเด็กเล็กและผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนการดูแลรักษาโรคหัดควรไปตรวจรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรักษาตามอาการ นอนพัก ดื่มน้ำให้เพียงพอ ถ้าไข้สูงมากให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราว ร่วมกับการเช็ดตัว.