ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.เร่งทุก รพ.ใช้ยาสมเหตุผล ชูกลยุทธ์ “P-L-E-A-S-E” ช่วยลดใช้ยาปฏิชีวนะ  (อ่าน 651 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
สธ. เร่งทุก รพ. ใช้ยาสมเหตุผล ชู รพ.ชัยนาทนเรนทร ใช้กลยุทธ์ “P-L-E-A-S-E” จัดทำแนวทางใช้ยาปฏิชีวนะ 3 กลุ่มโรค ผ่านเกณฑ์การใช้ยาสมเหตุผล
       
       วันนี้ (18 พ.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร จังหวัดชัยนาท ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เข้มงวดการป้องกันและควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ และส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use : RDU) ให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยและประสิทธิผลสูงสุด โดยกำหนดให้อยู่ในแผนการพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) ให้ทุกเขตสุขภาพจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีเครื่องมือประเมินผลการใช้ยาอย่างเป็นระบบ สร้างกลไกเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพและนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้มีหลายโรงพยาบาลได้เริ่มดำเนินการแล้ว
       
       สำหรับโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร ได้รับมอบหมายจากเขตสุขภาพที่ 3 โดยให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลระดับเขต ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย มี 8 ตัวชี้วัดด้วยกลยุทธ์กุญแจ 6 ดอก P-L-E-A-S-E โดยมีเป้าหมายให้โรงพยาบาลทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 3 ผ่านเกณฑ์ระดับกำลังพัฒนาร้อยละ 100 และผ่านเกณฑ์การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล (Antibiotic Smart Use : ASU) 3 กลุ่มโรค ได้แก่โรคระบบทางเดินหายใจ โรคอุจจาระร่วง  และแผลสะอาด ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2560
       
       ในส่วนของโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร พบว่า ตัวชี้วัดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลใน 3 กลุ่มโรคในปี 2559 ยังสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเขตสุขภาพที่ 3 คือ โรคระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 55 โรคอุจจาระร่วง ร้อยละ 43 และแผลสะอาด ร้อยละ 67 จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
1. จัดทำแนวทางการสั่งใช้ยาต้านจุลชีพใน 3 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคอุจจาระร่วง และแผลสะอาด
2. ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนในผู้ป่วยโรคหวัดและท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
3. พัฒนาระบบเครือข่ายภายในจังหวัดชัยนาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ได้แก่ การส่งข้อมูล Antibiogram ให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งใช้เป็นแนวทางประกอบการสั่งใช้ยาต้านจุลชีพ จัดประชุมให้ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพที่ถูกต้องให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และร้านขายยาภายในจังหวัดชัยนาท
4. การจัดทำฉลากยามาตรฐานให้ครอบคลุม 13 กลุ่มยา และ
5. ส่งเสริม จริยธรรมและจรรยาบรรณในการคัดเลือกยา การส่งเสริมการขายยา ทั้งนี้ ได้มีระบบติดตามแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวพร้อมตัวชี้วัดทุกเดือน โดยมีเป้าหมายว่าโรงพยาบาลจะต้องผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผลใน 3 กลุ่มโรค ภายในระยะเวลา 9 เดือน


โดย MGR Online       18 พฤศจิกายน 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 รัฐบาลตั้งเป้าลดป่วยจากเชื้อดื้อยา 50% ภายในปี 5 ปี ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในคน 20% ในสัตว์ 30% เร่งรณรงค์ให้ความรู้ทุกภาคส่วนร่วมกันลดการใช้ยาไม่สมเหตุผล ย้ำ 3 โรค “หวัด - ท้องเสีย - บาดแผล” ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
       
       วันนี้ (18 พ.ย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดแถลงข่าว “สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559” โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ส่งผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน และทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 46,000 ล้านบาท จึงจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 - 2564 โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกรอบการทำงาน โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 50% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลง 20% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลง 30% ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น 20% และระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล ไม่ต่ำกว่าระดับ 4
       
       “นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา ถึงการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ว่า ต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัย และในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดรับฟังความเห็นในการยกเลิกรายการยาต้านจุลชีพจากการเป็นยาสามัญประจำบ้าน นอกจากนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะต้องมีประกาศปรับประเภทยาต้านจุลชีพ 1 ฉบับ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ควบคุมการผลิต ขาย ใช้ ยาผสมลงในอาหารสัตว์ 1 ฉบับ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
       
       นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 - 38,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่ง และยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่ในโรงพยาบาลโดยรวมนานขึ้น 3.24 ล้านวัน หรือเฉลี่ยคนละ 24 - 46 วัน สาเหตุที่ทำให้คนไทยมีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุสมผล โดยพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เช่น ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น หยุดรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการดีขึ้น ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากแพทย์ครั้งก่อนๆ ใช้ยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะ สสส. จึงสนับสนุน กพย. ในการพัฒนาชุดความรู้และเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนการดื้อยาต้านจุลชีพตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกร่วมกับประเทศต่างๆ และในปีนี้ได้เสริมทัพการทำงานด้วยการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกร ด้วยการจัดทำสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาที่เข้าใจง่าย เช่น หยุด 10 พฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา รวมถึงชุดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกโรคถูกวิธี โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://atb-aware.thaidrugwatch.org  และ https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness
       
       ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ระหว่างวันที่ 14 - 20 พฤศจิกายน เป็นสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559 ในส่วนของประเทศไทย กพย. ได้สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในปีนี้ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลทั้งในคนและในการเกษตร เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกโรค ไม่ถูกวิธี ได้สร้างปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนอาจถึงขั้นวิกฤต กพย. จึงทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มากกว่า 30 จังหวัด รวมถึงในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล พร้อมกับสนับสนุนการวิจัยผู้ป่วยหวัดและท้องเสียในเด็ก ซึ่งพบว่ายาต้านแบคทีเรียไม่มีผลกระทบต่อการรักษาและได้ผลที่ดีกว่า การทำงานร่วมกับเครือข่ายเภสัชกรรมชุมชนในการให้คำแนะนำกับผู้บริโภค รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งล่าสุด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้จัดอบรมบุคลากรภายในสถาบัน เช่น อาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ เภสัชกร ถึงทักษะในการสื่อสารเมื่อถูกผู้ปกครองกดดันให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเด็กโดยไม่จำเป็น และมีการทำพื้นที่ตัวอย่างชุมชนปลอดภัยห่างไกลยาต้านแบคทีเรียในร้านชำ
       
       ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) และ RDU Hospital Project กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคที่รักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ 1. โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส 2. ท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ และ 3. บาดแผลทั่วไป ทำให้ประชาชนมีความเชื่อที่ผิดว่าโรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาแก้อักเสบ สยส. จึงรณรงค์ให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่า การใช้ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันอย่างผิดๆ ว่า ยาแก้อักเสบในโรคติดเชื้อไวรัส ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษ และเน้นรณรงค์เพื่อแก้ไขความเชื่อที่ผิด
       
       รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ขอเสนอให้เร่งรัดการเพิกถอนทะเบียนตำรับยา รูปแบบยา และข้อบ่งใช้ที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น ยาอมผสมยาต้านแบคทีเรียเพราะไม่ได้ผลในการรักษาและทำให้เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย ยกเลิกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทสบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน เจลล้างมือที่ผสมสารเคมีฆ่าเชื้อ ได้แก่ ไตรโคลซาน และสารอื่นๆ อีก 18 ชนิด ที่มีรายงานวิจัยยืนยันแล้วว่าสารเหล่านั้น ทำให้เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียเมื่อใช้เป็นเวลานาน ซึ่งองค์การอาหารและยา (FDA) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้แล้ว นอกจากนี้ เครือข่ายผู้บริโภคขอเรียกร้องให้รัฐมีการควบคุมการใช้ยาต้านแบคทีเรียในปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเกษตร ให้ใช้ยาได้เฉพาะการรักษาโรคเท่านั้น ห้ามใช้เพื่อการป้องกัน และเร่งการเจริญเติบโต และห้ามการปล่อยน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์ลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการบำบัด

โดย MGR Online       18 พฤศจิกายน 2559