ผู้เขียน หัวข้อ: สะท้อนภาพครอบครัวไทย 2555 เราจะอยู่อย่างไรในปี 2556  (อ่าน 865 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
 ปี พ.ศ. 2555 กำลังจะจบลงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าแล้ว หลาย ๆ ประเทศอาจเริ่มต้นฉลองการเข้าสู่ปีใหม่ด้วยการจุดพลุสวย ๆ สร้างสีสันด้วยการเคาต์ดาวน์ และการยิ้มรับกับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะมาในปี พ.ศ. 2556 แต่สำหรับสถาบันครอบครัวแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราไม่อาจมองข้ามความเป็นจริงที่เกิดกับสถาบันครอบครัวตลอดปี 2555 ไปได้ และยิ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเหล่านั้นกำลังรอแสดงผลต่อเนื่องในปี 2556 ที่กำลังจะมาถึงด้วย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า พ.ศ. 2555 อาจเป็นยุคแห่ง...

   
       1. ยุคแห่งการกดขี่พ่อแม่คนทำงาน
       
       หากสังเกตรัฐบาลประชานิยมชุดนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่มีนโยบายใด ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการสร้างครอบครัวของพ่อแม่ชนชั้นกลาง เหล่าทาสผู้แบกรับการจ่ายภาษีของประเทศนี้เอาไว้แม้แต่นโยบายเดียว ทั้ง ๆ ที่ถ้ามีความคิดก็สามารถทำได้มากมาย จะมีก็แต่นโยบายช่วยสร้างหนี้เพื่อเอาใจกลุ่มนายทุนทั้งสิ้น
       
       2. ยุคแห่งคนชราไร้สุข - ไร้ความภาคภูมิใจ
       
       การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยโดยที่ยังขาดซึ่งความพร้อม และขาดการวางแผนที่ดีส่งผลให้ผู้สูงอายุ และคนวัยทำงานที่กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเสี่ยงที่จะเจอปัญหามากมาย เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านอาชีพ ผู้สูงอายุในยุคต่อไปเสี่ยงป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือดูแลได้ก็ในระดับต่ำ
       
       นอกจากปัญหาสุขภาพที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุขแล้ว การไม่มีงานทำ ต้องอยู่บ้านเฉย ๆ รอจนกว่าลูกหลานจะกลับมา ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุขาดความเชื่อมั่นในตนเอง เหงา หรือเกิดความเครียดได้ง่าย ทำให้หลายคนหันไปพึ่งไสยศาสตร์ การพนัน หรือสิ่งเสพติดได้ ตรงกันข้ามกับต่างประเทศที่เรามักพบผู้สูงอายุจำนวนมากยังทำงานอยู่ เช่น อาจเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ หรือเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานเล็ก ๆ น้อย ๆ คอยอำนวยความสะดวกแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นงานที่ไม่หนักมาก และสามารถทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้อยู่ อีกทั้งการมีกิจกรรมทำช่วยให้ผู้สูงอายุมีความเชื่อมั่นในตนเอง ยิ่งถ้าหากเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมด้วยแล้วยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นของตนเองอีกด้วย ไม่ต้องพึ่งพาเงินทองจากบุตรหลานเสมอไป
       
       3. ยุคแห่งอาหารพิษ
       
       ยุคนี้เป็นยุคแห่งการหาร้านอร่อย คนรุ่นใหม่จำนวนมากนิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งนั่นทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะบางครั้งเราก็ไม่ทราบว่า เบื้องหลังของการปรุงอาหารจานอร่อยออกมาให้เราลิ้มลองนั้น มันมีที่มาอย่างไร ผนวกกับข้อมูลของ
       มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ออกตรวจผักที่นิยมใช้ปรุงอาหาร 7 ชนิดอย่าง กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และ พริกจินดา ที่วางจำหน่ายตามห้างเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งได้พบสารเคมีศัตรูพืช อาทิ เมโทมิล ตกค้างจำนวนมาก แม้ไม่เกินมาตรฐานไทย แต่เกินมาตรฐานยุโรป นอกจากนั้นยังพบ คาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกมีประกาศห้ามใช้และปฏิเสธการขึ้นทะเบียน เนื่องจากมีพิษร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย
       
       นี่ยังไม่นับรวมอาหารปลอมทั้งที่ผลิตออกมาหลอกคนไทยกันเอง หรือนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำลายสุขภาพคนไทยอีกเป็นระลอก ๆ

   
       4. ยุคแห่งสังคมพิษ
       
       เรามีวันแรงเงาแห่งชาติ วันเสียตัวแห่งชาติ ฯลฯ ไปพร้อม ๆ กับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขที่ว่า
       
       - วัยรุ่นไทยในปัจจุบันมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุน้อยลงเรื่อยๆ จากอายุ 18-19 ปี ใน พ.ศ. 2539 เป็นอายุ 15-16 ปี ใน พ.ศ. 2552
       - ส่วนอัตราการคลอดบุตรของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี เพิ่มจาก 50.3 ใน พ.ศ. 2548 เป็น 54.9 ต่อกลุ่มหญิงอายุ 15-19 ปีทุกๆ 1,000 คน ในปี 2554
       - ขณะที่วัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกใช้ถุงยางอนามัยไม่ถึงร้อยละ 40 ทำให้อัตราป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนอายุ 15-24 ปีสูงขึ้นจาก 23.5 ในพ.ศ. 2545 เป็น 79.8 ต่อประชากรวัยนี้ทุก 1 แสนคน ใน พ.ศ. 2553
       
       นอกจากนั้น การสำรวจกลุ่มตัวอย่างเยาวชน อายุ 12 - 24 ปี จำนวน 1,014 คนโดยกระทรวงสาธารณสุข และสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้และการเข้าถึงถุงยางอนามัย พบว่า เยาวชนไทยร้อยละ 69 ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ส่วนในกลุ่มที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ระบุว่า เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 14-15 ปี ในจำนวนนี้ใช้ถุงยางอนามัยเพียงร้อยละ 52 ข้อมูลที่สำคัญพบว่า มีเยาวชนประมาณ 1 ใน 3 ยอมรับว่า เคย “สวิงกิ้ง” หรือเปลี่ยนคู่นอน ขณะที่ในเรื่องของทัศนคติของเยาวชนที่มีต่อถุงยางอนามัย พบเพียงร้อยละ 43 เห็นว่า ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์ได้ โดยเยาวชน ร้อยละ 89 ไม่พกถุงยางอนามัย
       
       ข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือข้อมูลจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวที่ทำการสำรวจครอบครัวไทยทั่วประเทศจำนวน 4,000 ตัวอย่าง จาก 9 จังหวัด ในทุกภาค พบว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยบกพร่องในการทำหน้าที่สำคัญ คือ การเตรียมบุตรหลานของตนให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการปกป้องดูแลตนเอง โดยเฉพาะการตั้งรับกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ซึ่งผลวิจัยชี้ว่า ครอบครัวไทยราวร้อยละ 10.0 ไม่มีการเตรียมให้ความรู้กับลูกวัยรุ่นว่าด้วยการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและการตั้งครรภ์เมื่อพร้อม ในขณะที่อีกร้อยละ 13.7 ให้ข้อมูลว่า แทบไม่ได้เตรียมเลย
       
       ฟังข้อมูลข้างต้นแล้ว พ่อแม่หลายท่านคงอดเป็นห่วงบุตรหลานไม่ได้ นี่ยังไม่นับปัญหานักเรียนตีกันจนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนที่จะมาเป็นระยะ ๆ ตลอดทั้งปี ทั้งหมดนี้ คือความเสื่อมโทรมที่เกิดกับสังคมไทยชนิดที่ยากจะฉุดให้ดีขึ้นได้ในระยะเวลา 5 - 10 ปี
       
       5. ยุคแห่งการศึกษาเป็นพิษ
       
       คนไทยเรียนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่เล็ก แต่ก็ยังพูดอังกฤษไม่ได้ เรียนคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เล็กเช่นกัน แต่คณิตศาสตร์กลับติดโผในวิชาที่เด็กเกลียดที่สุด การไปโรงเรียนของเด็ก ๆ ทุกวันนี้ ไปเพื่ออะไร และหวังให้ได้อะไรกลับมา เป็นเรื่องที่น่าคิดสำหรับพ่อแม่ นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่า มีหลายธรรมเนียมที่คนชาติอื่นเขาไม่ทำกัน แต่บ้านเราทำกันจนเคยชิน เช่น การมีเด็กเส้น เด็กฝาก การจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ลูกเข้าไปแย่งที่นั่งเด็กคนอื่น ซึ่งนำไปสู่ความภูมิใจแห่งการมีเส้นสาย การใช้เส้นสายเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ตัวอย่างเหล่านี้พบได้ในระบบการศึกษาของไทยทั้งสิ้น
       
       พ่อแม่ยุคต่อไป อยู่อย่างไรให้รอด

   
       1. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
       
       ครอบครัวต้องพยายามยืนหยัดให้ได้ด้วยตนเอง อย่าหวังพึ่งนโยบายรัฐบาล หรือคนรอบข้าง รายรับมีน้อยก็ใช้น้อย อย่าหวังยืมเงินในอนาคตจากบัตรเครดิตต่าง ๆ มาใช้ก่อน หรือหันหน้าเข้าหาอบายมุข เช่น หวังโชคจากเลขท้ายสองตัวที่รัฐบาลใช้มอมเมาประชาชน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะหากพ่อแม่ลูกยืนได้ด้วยตัวเอง ต่อให้มีมรสุมใด ๆ พัดเข้ามา เราก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ แต่ถ้าเราอยู่โดยการพึ่งพิงบางสิ่งบางอย่าง เมื่อสิ่งเหล่านั้นหายไป ครอบครัวก็จะล้ม และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นเด็ก ๆ
       
       2. ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
       
       เมื่อครอบครัวสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว อย่าลืมมองไปรอบตัว และช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า ครอบครัวที่มีปัญหาด้วย ซึ่งความช่วยเหลือในที่นี้อาจมาได้ในหลายรูปแบบ เช่น การแบ่งปัน การให้คำแนะนำ การสนับสนุน การหากิจกรรมดี ๆ มาทำร่วมกัน เพื่อให้ชุมชนที่ครอบครัวของเราอยู่อาศัยมีความเข้มแข็ง ปลอดภัย และใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น
       
       3. ต้องเปิดรับข่าวสารจากโลกภายนอก
       
       เพราะนโยบายจากรัฐบาล จากหน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ ล้วนส่งผลกระทบต่อชุมชน ประชาชน และสถาบันครอบครัว การเปิดกว้างรับฟังข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และนำมาวิเคราะห์หาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัว หรือหาทางหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดภัยขึ้นกับครอบครัวเป็นสิ่งที่จำเป็น

   
       4. ต้องมีวิสัยทัศน์ในการเลี้ยงดูลูกของตัวเอง
       
       อย่าหวังพึ่งรัฐบาลที่คิดได้แค่การแจกแท็บเล็ต (และมองว่านโยบายนี้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก) หรือเปิดห้องรับเด็กฝาก เพราะโลกเราหมุนเร็วกว่านั้นมากมายหลายเท่า การปล่อยลูกให้เรียนไปตามกระแส (ในเมืองไทย) อาจทำเด็กตกเทรนด์ระดับโลกเอาได้ง่าย ๆ เพราะเด็กที่ถูกยัดเยียดให้เรียนแค่ในห้อง ท่องแต่วิชา เลิกก็เอาเวลาไปติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย รู้แค่ใช้ทางลัดในการทำข้อสอบให้ได้คะแนนดี ๆ จะสอบแต่ละทีก็ขอตัวช่วย ระบบการศึกษาแบบนี้ไม่ใช่ระบบการศึกษาที่จะพัฒนาเด็กไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเพื่อโลกในยุคถัดไปอย่างแน่นอน
       
       แต่ถ้าไม่ทราบว่าโลกยุคหน้าจะเป็นเช่นไร คุณพ่อคุณแม่ลองฟังเสียงจากหัวใจตัวเองดูก็ได้ค่ะ เราเชื่อว่าทุกท่านต่างมีสัญชาติญาณที่จะจับความรู้สึกนี้ได้กันทุกคน อย่างน้อยที่สุด เราก็ต้องการให้ลูกค้นหาทางที่เขาสนใจ และได้ทำสิ่งที่เขารัก ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ วิศวกร สถาปนิก หรืออาชีพที่มีรายได้เยอะ ๆ ก็ได้ หากเขาอยากจะเป็นครู เป็นตากล้อง เป็นคนทำขนม ฯลฯ ถ้าอาชีพนั้นสุจริตและไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทุกเส้นทางสามารถก้าวไปสู่ระดับโลกได้ทั้งสิ้น
       
       ที่สำคัญ โลกยุคหน้า การคิดว่า ทำแค่นี้ก็พอแล้ว หรือรู้แค่นี้ก็พอแล้ว อาจเป็นความคิดที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะโลกยุคหน้าจะเป็นยุคของโอกาสที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ต้องสร้างความรู้สึกแห่งการ "อยาก" ขวนขวายหาความรู้ และหาทางพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อว่าหากมีสักวันที่เราเข้าใกล้โอกาสนั้น ๆ บ้าง เราจะดีพอที่คว้ามันมา และรักษามันไว้ได้ตราบนานเท่านานนั่นเอง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 ธันวาคม 2555