ผู้เขียน หัวข้อ: “วิทยา” เน้น ผอ.สปสช.สาขาจังหวัดเป็น CEO คุมงบ 30 บ.  (อ่าน 1574 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
 “วิทยา” มอบนโยบายกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 55 เน้น ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด เป็น CEO ดูแลงบ 30 บาท ภายในจังหวัด  คาด เริ่มเก็บ 30 บาทในเดือน พ.ย.พร้อมตั้งเป้าลดแออัดให้ได้ 50% ภายใน 6 เดือน
       
       วันนี้ (5 ต.ค.)  นายวิทยา บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  เป็นประธานในการประชุม ชี้แจงเรื่อง “การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2555”  โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ รร.รามากาเด้น  เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้กับ ผู้บริหารระดับกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการ รพ.ศูนย์ และ รพ.ทั่วไป และ ผอ.สปสช.เขต และ ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด ทุกจังหวัด และมอบรางวัลการบริหารงบค่าเสื่อมดีเด่น
       
       โดย นายวิทยา   กล่าวว่า นโยบายการจัดการงบประมาณในปีงบประมาณต่อไป อยากเน้นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  ซึ่งทำหน้าที่เป็น ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด บริหารงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ลง  โดยงบประมาณปี 2555 คาดว่า จะได้รับ 114,527 ล้านบาท จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำงานโดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ในการบริหารแผนปฏิบัติการและจัดระบบบริการตามนโยบาย ในขณะที่ ผอ.สปสช.สาขาจังหวัดมีหน้าที่จัดการด้านการเงินให้สอดคล้องกับกฎหมาย และนโยบายรัฐบาล ที่สำคัญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการระบบ หรือ CEO ใน ระดับจังหวัดทำให้กับหน่วยบริการภายในจังหวัดมีงบประมาณเพียงพอ มิให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง รวมถึงติดตามการใช้เงินของหน่วยบริการให้มีประสิทธิภาพ มิให้นำเงินไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย และนำเงินไปลงทุนที่ไม่เกิดประโยชน์ในการบริการคนไข้
       
                       “ในปี 2555 นี้ ขอมอบหน้าที่ในการบริหารจัดการโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดให้กับ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด  ซึ่งทำหน้าที่เป็น ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด ขออย่าให้มีโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องเกิดขึ้น รวมทั้งนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรคของรัฐบาลได้ รวมทั้งกำกับการบริหารงานของโรงพยาบาล ให้มีการสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิหรือ รพ.สต. สามารถจัดบริการแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ลดความแออัดของหน่วยบริการขนาดใหญ่   จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระบบส่งต่อและส่งกลับอย่างมีประสิทธิภาพ ให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง จะต้องส่งกลับไปให้หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจที่เป็นเครือข่ายให้ช่วยดูแล” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว
       
                       รมว.สธ.กล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บค่าบริการ 30 บาท คาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งระหว่างนี้ คณะกรรมการ สปสช.กำลังอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แต่คาดว่าเงื่อนไขจะคล้ายเดิมที่เคยมีการจัดเก็บอยู่ แต่จะหารือในประเด็นเพิ่มเติม เช่น การใช้ตัวเลข 13 หลัก มาใช้ในการเก็บประวัติการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรักษาที่ใดก็ได้  โดยจะประสาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ว่า จะสามารถทำได้หรือไม่ในเชิงเทคนิค แต่จะยังไม่ลงทุนเพิ่มในระยะใกล้นี้  นอกจากนี้ จะหารือในประเด็นการให้บริการให้ครอบคลุม ต้องสามารถให้บริการได้ทุกที่ และให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี นอกจากนี้ ยังมีจุดเชื่อมต่อกับประกันสังคม ที่ต้องหารือ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับบริการที่เหลื่อมล้ำกัน  คาดว่า จะสามารถนำรายละเอียดทั้งหมดหารือกันได้ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ราว 50 % ภายใน 6 เดือน

             ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค  ที่ผ่านมา สปสช.ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ได้แก่  ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวิชาชีพ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและได้รับบริการสาธารณสุขตามสิทธิได้มากขึ้น  สำหรับปีงบประมาณ 2555 ในการจัดกระบวนการแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทำงาน ร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานต่างๆภายในกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า หน่วยบริการในทุกจังหวัดจะไม่เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง สามารถให้บริการประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง
       
            เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า แม้ว่ากระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ของประเทศจะยังไม่แล้วเสร็จ  แต่เนื่องจากการบริหารจัดการกองทุนฯ ต้องดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 คณะ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงมีมติให้ใช้หลักเกณฑ์การดำเนินงานและแนวทางการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2555 ด้วยกรอบวงเงินซึ่งกำหนดอัตราเหมาจ่ายรายหัว 2,895.60 บาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสำนักงบประมาณและรัฐมนตรีในรัฐบาลที่แล้วไปก่อน และหากมีการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ก็จะมีการปรับเปลี่ยนตามงบประมาณที่ได้รับ สำหรับการเบิกเงินที่จะจัดสรรให้หน่วยบริการในปีงบประมาณนี้  จะใช้ตัวเลขปีงบประมาณ 2554 คือ อัตราเหมาจ่ายรายหัวที่ 2,546.48  บาท ไปก่อนจนกว่ากระบวนการทางด้านงบประมาณปี 2555 จะแล้วเสร็จ จึงจะจัดสรรเพิ่มเติมให้หน่วยบริการต่อไปได้

ASTVผู้จัดการออนไลน์    5 ตุลาคม 2554