ผู้เขียน หัวข้อ: ต้นแบบ 'โรงพยาบาลแห่งอนาคต' ความร่วมมือทางเทคโนโลยี  (อ่าน 1513 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เผยโครงการนำร่อง ปรับภาพลักษณ์โรงพยาบาลรัฐด้วยเทคโนโลยี ดึงโซลูชันเครือข่ายของซิสโก้ เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการและเชื่อมต่อข้อมูล...

นอกจากประโยชน์ด้านการสื่อสาร ปัจจุบันเทคโนโลยียังถูกนำมาใช้เสริมศักยภาพด้านอื่นๆ อาทิ การบริหารจัดการ การเชื่อมต่อข้อมูล รวมถึงด้านการแพทย์ ถือเป็นความน่ายินดีที่ล่าสุดโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หน่วยงานใหม่ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด นำโซลูชันและเทคโนโลยีด้านโมบิลิตี้ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบเสียงและวีดิโอ พัฒนาการบริหาร บริการ และมาตรฐานทางการแพทย์ให้เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน เตรียมความพร้อมสู่การเป็นโรงพยาบาลแห่งอนาคต...



นายแพทย์วิโรจน์ จงกลวัฒนา รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีจากหลายบริษัท ข้อจำกัดของระบบต่างๆที่แยกจากกัน ทำให้เกิดอุปสรรคและการดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง โจทย์ของโรงพยาบาลคือการให้บริการที่เป็นเลิศและมีมาตรฐานการแพทย์ที่ได้การยอมรับระดับสากล โซลูชันครบวงจรที่เป็นเครือข่ายเดียวจึงเป็นสิ่งสำคัญ

นายแพทย์วิโรจน์ ให้รายละเอียดด้วยว่า โรงพยาบาลมีกำหนดเปิดบริการช่วงต้นปี 2555 พร้อมเพิ่มความสามารถในการรองรับบริการผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาและการบริการในโรงพยาบาลรัฐ



ด้านนายธัชพล โปษยานนท์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด ชี้แจงว่า เทคโนโลยีและระบบเครือข่ายถือเป็นรากฐานสำคัญ เนื่องจากมีการใช้ข้อมูล วีดิโอและภาพวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งต้องมีระบบจัดเก็บอย่างปลอดภัย นอกจากนี้สิ่งสำคัญของผู้ให้บริการทางการแพทย์คือ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลทุกที่ทุกเวลา

ทั้งนี้โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้ติดตั้งสถาปัตยกรรมเครือข่ายไร้พรมแดนของซิสโก้ ทำให้เพิ่มเซิร์ฟเวอร์รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จำนวนมาก ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์ของซิสโก้ โซลูชันวีดิโอ และแอคเซสพอยท์ไว-ไฟทั่วโรงพยาบาล ทำให้การดำเนินงานของบุคลากร การให้ความรู้เรื่องสุขภาพผ่านหน้าจอ การค้นหาข้อมูลแบบบริการตนเอง และความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของโรงพยาบาลได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมและทั่วถึง นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งแอปพลิเคชั่นและการแชร์วีดิโอสำหรับการเข้าถึงหลักสูตรและติดต่อกันระหว่างนักศึกษาแพทย์และอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย

ส่วนนายสุทัศน์ คงดำรงเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดเมนชั่น ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า บริษัทเป็นผู้ออกแบบติดตั้งและดำเนินการให้บริการเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาล เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียในการให้บริการข้อมูล และการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีทางด้านวีดิโอและโซลูชัน ซึ่งทำงานประสานกัน

ถือเป็นโอกาสดีที่ประชาชนไทยจะได้มีบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถพลิกโฉมการให้บริการของโรงพยาบาลภาครัฐได้รวดเร็วและทันสมัยยิ่งขึ้น หากสัมฤทธิผลและเกิดขึ้นจริงก็เปรียบเป็นการปฏิวัติภาพลักษณ์วงการแพทย์ ด้วยการบริหารจัดการและประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ทั้งยังสามารถเป็นโครงการต้นแบบนำร่องแก่โรงพยาบาลอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่บริการทางการแพทย์ไทยต่อไป.

thairath.co.th