แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 644 645 [646] 647 648 ... 652
9676
ข้อมูลสาธารณะที่ประชาชนควรทราบ
พรบ. คุ้มครองฯ
ร่างกฏหมายมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บก่อนเดินเข้าโรงพยาบาล
            เครือข่ายปกป้องบริการสาธารณสุข

วันที่ 8 สิงหาคม 2553


“แพทย์ 7 พันคนทะเลาะกับแพทย์ NGO 10 กว่าคน ตามสื่อ”

ภาพความขัดแย้งในวงการแพทย์ที่ปรากฎเป็นข่าวในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่า พรบ.คุ้มครองฯนั้น ทางฝ่ายเสนอบอกว่าดีมาก ลดการฟ้องร้อง ประชาชนได้รับเงินเยียวยาเร็ว แต่ฝ่ายหมอชุดดำ 7 พันคนคัดค้านโดยอ้างว่าจะทำให้เกิดการฟ้องร้องมากขึ้นและค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น โดยอำนาจไปตกอยู่กับบุคคลผู้ไม่เกี่ยวข้อง
   ทางเครือข่ายผู้ปกป้องบริการสาธารณสุขขอทำความเข้าใจเพื่อให้ความกระจ่างแก่ประชาชน ดังต่อไปนี้

บุคคล 3 กลุ่มที่ต้องให้คำจำกัดความ

   ในนานาอารยประเทศทั่วโลก เมื่อประชาชนเกิดความไม่พึงใจหรือได้รับผลกระทบซึ่งคาดว่าจะเกิดจากการรักษาพยาบาลและเข้าร้องเรียนต่อศาลสถิตยุติธรรม, ร้องเรียนกองทุนชดเชย, ร้องเรียนสถานพยาบาล ฟ้องร้องแพทย์-พยาบาลผู้ให้การรักษา จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1   แพทย์ – พยาบาล    ผิด         ประชาชน    ถูก   

ประชาชนได้รับความเสียหายจากความผิดพลาดของการรักษาพยาบาลจริง ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
1.1   ความเสียหายเกิดจากความประมาทหรือจงใจประมาทโดยแพทย์หรือบุคคลากรทางการแพทย์ โดยเจตนาหรือประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิชอบ
1.2   ความเสียหายซึ่งเกิดจากความขาดแคลนของระบบ และการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ เช่น ขาดเครื่องมือ เตียงล้น คนไข้ล้น

ในกลุ่ม 1.1 นั้น ต้องฟ้องร้องและเอาผิดกับผู้ทำการรักษาต่อศาลสถิตยุติธรรม   โดยสภาวิชาชีพ  เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาลต้องดำเนินการสอบสวน และลงโทษทางจริยธรรมโดยอัตโนมัติ ทันที รวดเร็ว  รัฐบาลเตรียมการชดเชยและเยียวยาผ่านกองทุนส่วนกลางหรือจัดสรรไว้ในระดับจังหวัด หรือระดับสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ส่งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทันทีและเพียงพอ  จากเงินของรัฐหรือเรียกเก็บจากผู้ให้บริการ กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก 200-300 รายต่อปีจากสถิติที่ผ่านมา

ในกลุ่ม 1.2 นั้น เนื่องจากความขาดแคลนของระบบ ดังนั้นความรับผิดจะอยู่ที่รัฐ  ต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองหรือเรียกค่าชดเชยจากกองทุนซึ่งจัดตั้งโดยเงินของรัฐ ไม่ใช่เงินของหมอ-พยาบาล เพราะบุคคลากรทางการแพทย์ได้ปฎิบัติงานอย่างเต็มความสามารถและเกินความสามารถแล้ว  คือ   ตรวจคนไข้จำนวนเกิน   เตียงล้น  ซึ่งปกติแล้วควรตรวจคนไข้ 40 คนต่อ 3 ชั่วโมง แต่กลายเป็นว่าต้องตรวจคนไข้ 70-100 คนต่อ 3 ชั่วโมง จากความพยายามที่จะช่วย  จึง “ห้าม” เรียกเก็บจากแพทย์-พยายาล  หากเอาเกณฑ์มาตรฐานมาจับก็พบว่าผิดตั้งแต่ต้น คล้ายกับเรื่องรถสิบล้อบรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะเถ้าแก่(รัฐ)บังคับให้กระทำการ ความรับผิดอยู่กับคนขับหรือเถ้าแก่   ข้อเสนอ การแยก 1.1 ออกจาก 1.2 ต้องใช้ องค์กรวิชาชีพจากผู้เชี่ยวชาญ

กลุ่มที่ 2    แพทย์ - พยาบาล    ถูก            ประชาชน    ถูก

ตัวอย่างที่ดีคือ กรณีคนไข้แพ้ยา คนไข้ไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองแพ้ยา และแพทย์ก็ไม่ทราบ เช่น คนไข้ที่เป็น Steven Johnson Syndrome ตาบอดซึ่งเกิดความเสียหาย พิการจริง เป็นผลกระทบจากากรักษาจริง แต่ไม่มีทางป้องกันได้ ยาทุกชนิดแพ้ได้หมด    1/1,000  1/10,000  กรณีนี้ต้องถามกลับมาที่สังคมว่าควรจ่ายหรือไม่ หากต้องการให้จ่าย จะเป็นเงินของใคร ในการเลี้ยงดูตลอดชีวิต
1. เป็นเงินงบประมาณของรัฐ   
2. เงินสมทบจากประชาชนทุกคนที่รับบริการทุกคนหยอดกระปุกเข้ากองทุน  5 บาท/ครั้ง จากจำนวนการใช้บริการ 200 ล้านครั้งต่อปี
3. เรียกเก็บจากแพทย์-พยาบาล ผู้ให้การรักษา ซึ่งกรณีหลังนี้คงไม่ดีแน่ๆ เพราะคงไม่มีใครเต็มใจให้การรักษา ทำมาก จ่ายมาก โดยที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำเหตุ  อย่าลืมว่า “เลี้ยงดูตลอดชีวิต” ใครเป็นผู้จ่าย
กลุ่มที่ 2 นี้จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด หากเอาสถิติของต่างประเทศมาจับ อาจจะมีนับ 10,000 รายต่อปี เป็นลักษณะสังคมสงเคราะห์ ทุกพลภาพชั่วคราว จนถึงถาวรตลอดชีวิต ข้อเสนอ การแยกว่าเป็นกลุ่ม 2 หรือไม่ ต้องใช้กรรมการวิชาชีพจำเพาะว่า “สุดวิสัยจริง” “มิใช่การกระทำโดยประมาท

กลุ่มที่ 3   แพทย์ - พยาบาล     ถูก             ประชาชน     (บางคน(มิจฉาชีพ)) ผิด

กรณีนี้เกิดจากการใช้ พรบ.เป็นช่องทางหากิน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาชีพนางแบบ เกิดแผลกระเพาะอาหารทะลุหรือใส้ติ่งอักเสบ แพทย์ทำการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิต คนไข้มีรอยแผลผ่าตัดหน้าท้องตลอดชีวิต เดินมาเรียกร้องสาธารณสุขว่าประกอบอาชีพไม่ได้เนื่องจากมีแผลเป็นที่หน้าท้อง ขาดรายได้ไปเดือนละ 50,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี ที่จะต้องประกอบอาชีพนางแบบ รวมเป็นเงิน 6 ล้านบาท กองทุนนี้จะจ่ายกลุ่มนี้หรือไม่  ใครเป็นผู้จ่าย รัฐบาลจ่าย หรือแพทย์-พยาบาลจ่าย หรือเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการปกติครั้งละ 5 บาท (ฐานคำนวนจากกลุ่ม 1 หากระบบคิดกรองไม่ดีพอจะเป็นแบบประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ซึ่งล้มละลายทางค่าใช้จ่ายทางการแพทย์) เป็นเงินหยอดกระปุก
   เนื่องจากการผ่าตัดหน้าท้องเพื่อรักษาชีวิต อย่างไรเสียต้องมีแผลเป็นที่หน้าท้องตลอดไป จะไม่มีทางเหมือนเดิมได้อีก จะเห็นได้ว่าความสำคัญของ พรบ.ฉบับนี้มาตรา 5-6 ต้องมีความเฉียบขาดเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือต้องมีกลุ่มคนวิชาชีพที่สามารถชี้ว่าเสียหายจริง หรือจงใจโกงระบบ เพื่อปกป้องเงินกองทุนไม่ว่าจะเรียกเก็บรัฐหรือเรียกเก็บจากประชาชนทั่วไป ครั้งละ 5 บาท – 10 บาท ปีละครั้ง 2,000 ล้านบาทในเบื้องต้น

   องค์ประกอบคณะกรรมการฯใน พรบ.ฉบับนี้ไม่มีองค์ประกอบใดๆชี้ให้เห็นว่าจะมีขีดความสามารถคัดกรองผู้ที่จ้องจะโกงระบบได้อย่างไรในกลุ่มที่ 3  และความรับผิดของกรรมการเป็นอย่างไร
ส่วนในกลุ่มที่ 2 นั้นผลกระทบความเสียหายเกิดจริง แพทย์-พยาบาล ถูก   ระบบ(รัฐ)ถูก   ประชาชนถูก กรณีคุณดอกรักหรืออื่นๆใหญ่บ้างเล็กบ้าง  ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายต่อปีนั้น รัฐจะดำเนินการสังคมสงเคราะห์ตลอดชีวิต หรือให้แพทย์-พยาบาลจ่ายค่าเลี้ยงดูกลุ่มนี้ตลอดชีวิต
   กลุ่มที่ 1 นั้น ค่อนข้างชัดเจน หากแพทย์-พยาบาลผิด ต้นทางของเงินต้องมาจากแพทย์-พยาบาล ซึ่งมีระบบประกันการประกอบวิชาชีพ (Malpractice Insurance) เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ครอบคลุม  ส่วนกลุ่ม 1.2 นั้นเกิดจากนโยบายรัฐ  รัฐต้องเป็นผู้จ่ายไม่ใช่เรียกเก็บจากบุคคลากรทางการแพทย์ 

องค์ประกอบคณะกรรมการมาตรา 7 มีลักษณะเป็นมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บ หรือเรียกเก็บจากบุคคลทั่วไป

คำถามยอดนิยม 7 คำถาม ซึ่ง พรบ.นี้ไม่มีคำตอบ
1.   ความรับผิดของบุคคลากรทางการแพทย์ 300,000 คน  ทำผิดมาตรฐานตั้งแต่ต้น การตรวจผู้ป่วยนอกในเวลา 3 ชั่วโมงนั้น ควรตรวจผู้ป่วยประมาณ 40 คน แต่ความเป็นจริงในโรงพยาบาลของรัฐต้องทำการตรวจผู้ป่วย 70-80 คนซึ่งผิดมาตรฐานทุกราย ควรจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ป่วยทุกรายตั้งแต่ต้น ความผิดอยู่ที่ระบบแต่บุคคลากรทางการแพทย์ต้องรับผิดก่อน เพื่อกองทุนนี้จึงจะจ่ายเงินออกมาได้ มาตรา 5-6 ต้องเฉียบขาด ในร่าง พรบ.ของรัฐฯฉบับนี้ มาตรา 5 ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับ มาตรา6(2)
ในมาตรา 5 ให้จ่ายเร็ว จ่ายง่าย ซึ่งเป็น “คุณ” ต่อทั้งแพทย์และผู้ป่วย กลุ่มหมอก็ชอบมาตรานี้ แต่พอไปดูเงื่อนไขการจ่าย มาตรา6(2) กลับกลายเป็น “โทษ” ทั้งต่อแพทย์และผู้ป่วย คือแพทย์ต้องยอมรับว่าบกพร่อง กองทุนจึงจ่ายออกได้ ประชาชนก็ไม่ได้เงินเยียวยา ทันการแบบ ม41 ของ สปสช.เดิม

เข้าใจว่ามาตรา6(2)นี้เป็นจุดที่ทำให้ทุกคนสะดุด คือเน้นมาตราฐาน ไม่ใช่การเข้าถึง รพ.ของกระทรวงสาธารณะสุข ในส่วนภูมิภาค ทำงานเกิน ความสามารถจริงไป 20-30% แพทย์จะเน้น “มาตราฐาน” มากกว่าการ “เข้าถึง” คือตรวจผู้ป่วยเพียง 40 คนต่อวันไม่ใช่ตรวจ 70-80คนต่อวัน คุณภาพจะดีขึ้นแต่คนไข้จะล้นและต้องนัดคิวตรวจ อาจจะเป็นเดือน ลองนึกภาพว่า รพ.ทุกๆโรงกำหนดโควต้าการตรวจเหมือนโรงเรียนแพทย์ใหญ่ในกทม.ทั้งหมด

2.   ความรับผิด-รับชอบของคณะกรรมการกองทุน  หากคณะกรรมการกองทุนดำเนินการจ่ายเงินให้กับกลุ่มที่ 3 โดยเจตนาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างหรือโดยประมาทเลินเล่อ ความรับผิดของคณะกรรมการกองทุนในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐจะเป็นอย่างไร และบทลงโทษเพื่อป้องปรามและปราบปรามประชาชน(มิจฉาชีพ)บางส่วนซึ่งจงใจหากินกับกองทุนมีมาตรฐานอย่างไร เงินทุกบาททุกสตางค์มาจากบุคคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งและเรียกเก็บจากผู้รับบริการอีกส่วนหนึ่ง คือเป็นเงินของพวกเราทุกคน ประเทศทางตะวันตกล้มละลายทางการแพทย์เพราะเหตุนี้

3.   ความหวาดระแวงสงสัยในความโปร่งใสของคณะผู้ผลักดันกองทุน ประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบ  มีกลุ่มวิชาชีพแพทย์ 10 คนซึ่งมีความใกล้ชิดกับ NGO บางกลุ่มผลักดันกองทุนนี้ ท่านนักการเมืองนี้ ต้องการคะแนนเสียง หากเอาตัวเลขของ สวรส. มาจับ พบว่าจะมีเงินประมาณ 80/5 IPD/OPD     2,000 ล้านบาทต่อปีไหลเข้ากองทุน โดมีการจ่ายออกประมาณ 200 ล้านบาทเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตามตัวเลข สปสช  ที่เหลือ 1,800 ล้านบาทไม่ต้องส่งกลับ
ภายใน 5 ปีจำนวนเงินจะสะสมเป็นเงิน 10,000 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการคือ 1,000 ล้านบาทใน 5 ปี เป็นค่าเบี้ยประชุมและเครื่องใช้ในสำนักงานซึ่งบริหารด้วยคนประมาณ 10 กว่าคน ความเคลือบแคลงต่อสาธารณะถึงความโปร่งใส กลุ่มบุคคลนี้กำลังผลักดันอยู่นี้ โดยอ้างประชาชนเป็นการอำพราง

4.   มีกองทุนแล้ว.... ก็ยังฟ้องได้จริง
คำตอบ  แล้วคนจ่ายเงินจะจ่ายไปทำไม บังคับจ่ายด้วย ใครมีคำตอบ...ช่วยตอบที

5.   ทำไมไม่ขยาย ม.41  จาก 46 ล้านคนเป็น 65 ล้านคน
ทำไมฝ่ายผลักดันเรื่องกฎหมายเงียบงัน   ตาม ม. 41 ได้กันเงินไว้ปีละ 1,000 ล้านบาท จ่ายปีละประมาณ 100 กว่าล้าน เหลือ 900 ล้าน ต้องคืนคลังทุกๆปี   เป็นเหตุให้ผู้ผลักดันกองทุนต้องการ ”หนี” จากอำนาจตรวจสอบของรัฐทางด้านการเงิน เช่น สตง......ใช่หรือไม่

6.   ทำไมออกกฎหมายแล้วไม่ถามคนจ่ายเงินก่อน......    ไม่มีคำตอบ
เรียกเก็บจากบุคคลากรทางการแพทย์ 300,000 คนแล้วเรียกเก็บรายหัว 5 บาทต่อครั้ง  80 บาทต่อการนอน เป็นจำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท ทำไมไม่ถามคนจ่ายเงินว่ายินดีจ่ายหรือไม่ ปีที่ 5 ปีที่ 7 จะขึ้นราคาจาก 5 บาท เป็น 10 บาท เป็น 80 บาท เป็น 160 บาท หรือไม่
ใน 5 ปี ข้างหน้า..ผู้ป่วยทุกคนต้องหยอดกระปุก 10 บาท ทุกครั้งที่เดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อเป็นเงินสังคมสงเคราะห์ ต่อมูลนิธิการกุศลที่ตนเองไม่ได้นิยมชมชอบ.... พวกเราตกลงไหม
ทั้งนี้มีมูลนิธิการกุศลที่...โปร่งใส...เมตตา...เป็นจำนวนอีกมากที่ให้บริจาค...โดยจิตเมตตา...การบังคับจ่ายเงิน...คงไม่เกิดจิตเมตตาแน่ๆ......

7.   ประชาสงเคราะห์ข้ามชาติ แรงงานอพยพ พม่า-ลาว-เขมร จำนวน 4 ล้านคนในประเทศไทยใช้บริการ 12 ล้านครั้งต่อปี ในอุตสาหกรรมประมง  แรงงานก่อสร้าง อีกทั้งคนต่างชาติ (คนรวย) มีเงิน ที่บินมารักษาอีก 1 ล้านครั้งต่อปี พวกเรายินดีช่วยบริจาคผ่านมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ใช่หรือไม่ เป็นการเลี้ยงดูตลอดชีวิตใช่ไหม เพราะว่าเหตุเกิดจากโรงพยาบาลในไทย ซึ่งความเสียหายเกิดในประเทศไทย

พวกเรายินดี เลี้ยงดู ให้การสังคมสงเคราะห์กลุ่มนี้ตลอดชีวิต ใช่ไหม

   โดยสรุปแล้ว ร่างกฎหมายมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บจากบุคคลากรทางการแพทย์  สถานพยาบาลและประชาชนผู้เดินเข้าโรงพยาบาลทุกครั้งนั้น ยังมีข้อบกพร่องมากมายทั้งด้าน  ความโปร่งใสของคณะผู้ผลักดัน การใช้อำนาจทางการเมืองบังคับเรียกเก็บ  จากประชาชนและบุคคลากรทางการแพทย์ ทำไมต้องทำเป็นสังคมสงเคราะห์ข้ามชาติ  ความรับผิดชอบของผู้บริหารกองทุนเป็นอย่างไร  มาตรการในการคัดกรองกลุ่มที่หาผลประโยชน์  เรียกร้องเงินกองทุนโดยมิชอบเป็นอย่างไร  การบังคับเรียกเก็บเงินเป็นมูลนิธิสงเคราะห์นี้จะไม่เกิดเมตตาจิต เพราะลักษณะบังคับ 
   
ขอนำเรียน ทางเครือข่ายศูนย์กลางระบบบริหารสาธารณสุข  ประชาชนโดยทั่วไป และบุคคลากรทางการแพทย์ 300,000 ชีวิต เพื่อช่วยกันพิจารณาร่างกฎหมายมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ชนิดบังคับเรียกเก็บฉบับนี้ด้วย

ด้วยความรัก เคารพในเพื่อนมนุษย์
เครือข่ายปกป้องบริการสาธารณสุข

9677

เช้าวันนี้ ศุกร์ที่ ๒๐ ส.ค. มีการประชุมองค์กรแพทย์ทั่วประเทศ ๗๖ จังหวัด ของ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ซึ่งจัดโดยสมาพันธ์ รพศ.รพท. ณ.ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัด สธ. โดยมีท่านปลัด สธ. นายแพทย์ไพจิตร วราชิต เป็นผู้เปิดสัมมนา
 
เรื่อง พรบ.คุ้มครองฯ ผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณะสุขประเทศและผลกระทบต่อบุคคลากรทางการแพทย์ มีประชาชนและ อสม.จาก ๕ จังหวัดมามอบดอกไม้ประมาณ ๑๐๐ คนมาให้กำลังใจ กับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ปฎิบัติงานจริงอยู่ในส่วนภูมิภาค
มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แสดงความห่วงใยถึงผลกระทบต่อระบบโดยรวมเป็นอย่างมาก หากร่างพรบ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา

9678
โดย...สุจิตรา

ในวงการสาธารณสุขขณะนี้คงไม่มีเรื่องใดที่เป็นที่กล่าวขานเท่า (ร่าง) “พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” ผู้เขียนสนใจในเรื่องนี้จนอดรนทนไม่ได้ต้องเขียนบทความก็เพราะผู้เขียนมีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคือ ตัวแบบศึกษา (Case Study) ของกระบวนการในการออกกฎหมายเพื่อที่จะให้เกิดกฎหมายที่ดีและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและสังคม

ประเด็นที่มักจะได้รับการหยิบยกมาเพื่อสนับสนุนหรือคัดค้านได้แก่

1. ประโยชน์ของกองทุน

กลุ่มผู้สนับสนุนให้เหตุผลว่า การที่มีกองทุนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้การฟ้องร้องต่อบุคลากรทางการแพทย์ลดน้อยลง โดยยกตัวอย่างประเทศสวีเดน เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ และ นอร์เวย์ หรือที่นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้ นอกจากจะให้ความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่คนไข้ที่ได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีหลักการสำคัญเพื่อลดคดีการฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาลลงด้วย โดยปรากฏในเจตนารมณ์ของร่างฉบับดังกล่าว

ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านได้ให้เหตุผลว่าการที่มีกองทุนดังกล่าวแล้วก็ไม่มีอะไรที่รับประกันว่าการฟ้องร้องจะลดน้อยลง

ประเด็นของผู้เขียน คือ บริบทของประเทศในสแกนดิเนเวียกับประเทศไทยนั้น ต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะในแง่ของจำนวนประชากร (นอร์เวย์ 4.6 ล้านคน สวีเดน 9 ล้านคน ไทย 66.4 ล้านคน) รายได้ต่อหัวประชากร (นอร์เวย์ 58,600 เหรียญต่อหัวประชากร สวีเดน 36,800 เหรียญต่อหัวประชากร ไทย 8,100 เหรียญต่อหัวประชากร) วัฒนธรรม ประเพณี ระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ ระบบการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน สำนึกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การรู้ผิดชอบชั่วดี (มิเช่นนั้นคงไม่เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในช่วงที่ผ่านมา) หรือแม้แต่สำนึกในการเรื่องที่ง่ายที่สุด เช่น ในเรื่องของการใช้รถใช้ถนนก็แตกต่างกัน

ดังนั้น การที่ระบบ No-fault Liability ประสบความสำเร็จในประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียและนิวซีแลนด์ มิได้เป็นหลักประกันว่าระบบดังกล่าวจะต้องประสบความสำเร็จในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้เพราะระบบดังกล่าวต้องอาศัยสำนึกที่ดีของความต้องการในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ระบบดังกล่าวจึงจะขับเคลื่อนอย่างดีและมีประโยชน์ได้

การให้เหตุผลว่า ความมุ่งหวังที่จะให้การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงปรากฏชัดเจนในเจตนารมณ์ของร่างพ.ร.บ.นั้น ก็มิได้หมายความว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องบรรลุผลเสมอไป เจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละฉบับเป็นกรอบเพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นๆ พึงใช้ในการพิจารณาดำเนินการ แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายจะบรรลุความสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ตัวอย่างเช่น กฎหมายในคดีอาญาต่างก็มีเจตนารมณ์เพื่อให้คดีความต่างๆ ลดน้อยลง แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็มิได้เป็นเช่นนั้น

2. ที่มาของเงินกองทุน

ที่ประเทศสวีเดนนั้น เม็ดเงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายฯ นั้น มาจากภาษีท้องถิ่นของประชาชน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จริง ท้องถิ่นก็ต้องสร้างมาตรการที่รัดกุมในการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยา และผู้เขียนก็เชื่อว่า คณะกรรมการผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวก็ต้องมาจากคนในท้องถิ่น ท้องถิ่นคงไม่ยอมที่จะให้บุคคลอื่นที่เป็นคนนอกท้องถิ่นมาพิจารณาตัดสินการใช้จ่ายเงินของตนให้กับผู้ร้องขอ เพราะคณะกรรมการที่มาจากคนนอกไม่มีความผูกพัน และไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ ต่อเงินกองทุนดังกล่าวของท้องถิ่น รวมทั้งการใช้ภาษีของท้องถิ่นนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่องบประมาณของประเทศ

ในกรณีของไทยนั้น เงินของกองทุนที่จะตั้งขึ้นตาม (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวที่เรียกว่า “กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข” นำมาจาก (มาตรา 22) 1) เงินที่โอนมาจากเงินตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (ที่เหลืออยู่ ประมาณสี่พันหกร้อยล้านบาท) 2) เงินที่สถานพยาบาลจ่ายสมทบ (ตามมาตรา 21 ซึ่งระบุแต่เพียงว่า จะเรียกเก็บตามหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้คำนึงถึงขนาดของสถานพยาบาล จำนวนผู้รับบริการ ความถี่หรือความรุนแรงของความเสียหาย ฯลฯ ) 3) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 4) เงินเพิ่มตามมาตรา 21 วรรคสอง 5) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้กองทุน 6) ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ประเด็นของผู้เขียน คือ ความไม่ชัดเจนของที่จำนวนเงินที่สถานพยาบาลต้องจ่ายสมทบ ซึ่งตาม (ร่าง) พ.ร.บ.นี้สถานพยาบาลประกอบด้วยสถานพยาบาลของเอกชน สถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย และสถานบริการสาธารณสุขที่คณะกรรมการจะประกาศกำหนด ประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลทั้งต่อผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน แพทย์เจ้าของคลินิกแพทย์ และผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐ ว่าตนเองจะต้องเสียเงินมากน้อยเพียงใด

อีกประเด็นหนึ่งคือ จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการที่พิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาจะพิจารณาโดยคำนึงอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และคำนึงถึงกำลังของกองทุน จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เงินที่จ่ายเป็นค่าชดเชยเยียวยานั้นจะไม่บานปลายออกไปในแต่ละปีจนกลายเป็นภาระแก่เงินงบประมาณตามวงเล็บ 3 (เงินอุดหนุนรัฐบาล) และเป็นภาระแก่สถานพยาบาลที่อาจต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นทุกปีตามที่คณะกรรมการกำหนดในภายหลัง

3. ความเคลือบแคลงในผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้เกี่ยวข้อง

ทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวต่างก็ถูกหยิบยกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงเหตุผลเบื้องลึกที่สนับสนุนและที่คัดค้าน

ในส่วนผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ นายแพทย์อำพล จินดา หรือ นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดม ก็ถูกตั้งประเด็นว่ามีความต้องการลึกๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการเพื่อบริหารกองทุนที่มูลค่าหลายพันล้านหรือหลายหมื่นล้านบาทในโควตาของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนทั้งสิ้น 5 คนในอนาคตหรือไม่ หรือความพยายามที่จะส่งคนของตนเข้ามามีบทบาทแทนในกรณีที่ตนเองไม่สามารถจะเข้ามาได้ กลุ่ม NGO ซึ่งก็มีเก้าอี้ที่ชัดเจนในกรรมการถึงสามคน รวมทั้งตัวแทนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ

นอกจากนี้แล้วสำนักงาน ก.พ.ก็ติงว่า พ.ร.บ.นี้อาจซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สำนักงาน ก.พ.ร. ก็มีความเห็นว่า สธ.ควรมอบให้ สปสช.ดำเนินการขยายความครอบคลุม โดยไม่ต้องตั้งกองทุนและสำนักงานขึ้นใหม่ กระทรวงการคลังเห็นว่าใช้เงินตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ได้ ทำไมกลุ่มผู้ที่สนับสนุนทั้งหลายจึงไม่นำข้อท้วงติงหรือความเห็นของหน่วยงานดังกล่าวมาหาทางออกที่เหมาะสมกว่าการตั้งกองทุนใหม่

ในกลุ่มผู้คัดค้านซึ่งหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการแพทยสภาบางท่านก็ถูกตั้งประเด็นว่า ที่ออกมาคัดค้านเพราะอีกด้านหนึ่งนั้นก็มีสถานะเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนซึ่งต้องเสียเงินสมทบกองทุนดังกล่าวด้วย

ประเด็นปัญหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.

ประเด็นปัญหาสำคัญที่กลุ่มผู้ออกมาคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวคือเป็นประเด็นที่ไม่ได้มีการระบุชัดเจนใน (ร่าง) พ.ร.บ. มีเพียงข้อความที่เขียนว่า “ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้” (มาตรา 6) หรือ “วิธีการและอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” ในเรื่องของการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนของโรงพยาบาลต่างๆ (มาตรา 21) ทั้งที่สองมาตราดังกล่าวเป็นมาตราที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความไม่วางใจ ความหวาดกลัวว่าเมื่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ผ่านสภาแล้ว การกำหนดรายละเอียดในภายหลังตามที่ระบุใน พ.ร.บ. จะถูกเล่นแร่แปรธาตุและจะยากในการแก้ไขดังที่มีบทเรียนมาแล้วในกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทย

ส่วนหนึ่งเหตุผลของผู้คัดค้านคือความห่วงใยในผลกระทบวงกว้างต่อสังคมทั้งในแง่ภาระค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลที่ต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอนเพราะแพทย์ทุกคนก็ต้องสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยมากขึ้นเพื่อปกป้องตนเอง ความห่วงใยในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และความห่วงใยว่าต่อแต่นี้ไปทุกหน่วยราชการก็จะพยายามเขียนกฎหมายเพื่อตั้งกองทุนเพื่อที่ตนจะได้เข้าไปบริหาร โดยมีกฎหมายบังคับให้สังคมต้องเอาเงินมาลงไว้ที่กองทุนที่ตั้งขึ้น

สังคมไทยเราได้เคยมีบทเรียนมามากมายแล้วกับความพยายามที่จะสร้างผลงานในประชานิยมในด้านสาธารณสุขและผลงานเหล่านั้นก็สร้างบาดแผลให้กับสังคมและภาระทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติ เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) นัยว่าเพื่อให้คนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง (ทั้งที่ในระบบก่อนหน้านี้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนก็เข้าถึงได้อยู่แล้ว แม้จะไม่มีเงินสักบาทโรงพยาบาลของรัฐก็ยังรักษาให้ฟรี)

แต่ภาระที่เกิดขึ้นคือค่าใช้จ่ายในโครงการที่นับวันมีแต่จะมากขึ้นๆ หรือ โครงการระบบการจ่ายตรงด้านค่ารักษาของข้าราชการ ที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ข้าราชการ แต่กลับสร้างภาระแก่สังคมและประเทศชาติอย่างมากในปัจจุบัน รวมทั้งสร้างช่องทางในการทุจริตและคดโกงให้เกิดขึ้นดังที่กรมบัญชีกลางตระหนักดี หรือ กองทุนประกันสังคม (ด้านการรักษา) ที่ให้ผู้ทำงานต้องจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าในกองทุนประกันสังคม แทนที่จะเก็บล่วงหน้าจากบริษัทห้างร้านและรัฐบาล และจะเก็บจากผู้ทำงานก็ต่อเมื่อไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ในโรคหรือการเจ็บป่วยที่ง่ายๆ ที่ผู้ทำงานน่าที่จะดูแลตนเองได้ เช่น หวัด อุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง (ยกเว้นโรคที่ต้องต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายสูงหรือกรณีเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน (IPD)

วิธีการดังกล่าวจะกระตุ้นให้ประชาชนผู้ทำงานจะได้ใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตน เป็นการมุ่งไปที่การป้องกันมากกว่าการรักษา ผู้ทำงานที่ดูแลสุขภาพได้ดีก็จะได้รางวัลคือไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี อีกทั้งความหวาดระแวงของผู้ป่วยในระบบประกันสังคมต่อโรงพยาบาลหรือต่อแพทย์ว่าจะได้ยาที่ไม่ดีจะได้ไม่เกิดดังเช่นทุกวันนี้ เหล่านี้คือตัวอย่างของการออกกฎหมาย กฎระเบียบที่อาจส่งผลดีต่อผู้รับบริการ แต่ส่งผลกระทบและผลข้างเคียงในระยะยาวและยากที่จะแก้ไข

คำถามมีอยู่ว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ นี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างหรือไม่

ถ้าร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างนั่นคือต่อระบบสาธารณสุข รัฐบาลและรัฐสภามีเหตุจำเป็นต้องรีบเร่งเพื่อออก พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

บทเรียนในแง่การเมืองภาคประชาชน

ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องรีบเร่งออกกฎหมายมาบังคับใช้ รัฐบาล รัฐสภา และสังคมน่าที่จะใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือหรือหนทางในการสร้างเวทีทางปัญญาเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมคิดร่วมแสดงความเห็น ความเห็นหลากหลายมุมมอง ความเห็นที่มีหลายขนาดของการมอง ความเห็นที่มีความลึก (Perspective) ในการมองไปถึงอนาคตข้างหน้า เป็นการปูพื้นฐานการเมืองภาคประชาชนเพื่อประชาชนได้มีโอกาสและให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทุกคนและผูกพันกับลูกหลานของเราในอนาคต มิใช่ปล่อยให้นักการเมืองในสภาบังคับวิถีชีวิตของเราจนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสังคมและประเทศชาติดังที่เป็นมา

เวทีที่ผู้เขียนพูดถึงนี้อาจไม่ใช่เวทีทางทีวีหรือวิทยุ อาจเป็นเวทีบนโลกไซเบอร์ที่คนที่สนใจเข้าถึงโดยสะดวกทุกเวลา ไม่ใช่เวทีเพื่อให้คนทั่วไปฟังแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่เวทีเพื่อทำลายฝั่งตรงข้ามและประกาศก้องว่า “ข้าคือผู้ชนะ” แต่เป็นเวทีเพื่อสร้างเวทีการเมืองภาคประชาชนให้ประชาชน บนพื้นฐานความคิดที่ต้องการให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นในสังคมในระยะยาว มิใช่คิดเพียงง่ายๆ แล้วต้องมาตามแก้ในภายหลัง

ผู้เขียนได้เคยลองเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ถ้าทุกฝ่ายจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงที่เกี่ยวข้องกับตน ทำไมไม่ทดลองนำระบบนี้มาใช้ในพื้นที่บางจังหวัดและติดตามดูผลว่า ผลที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปดังเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ ติดตามดูว่า การฟ้องร้องทางการแพทย์ลดลงหรือไม่ ติดตามดูว่า ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยที่เราต้องการให้ดีขึ้นและเป็นเหมือนในประเทศแถบสแกนดิเนเวียนั้นดีขึ้นจริงตามเขาหรือไม่ ติดตามดูว่า ประเด็นที่กลุ่มผู้คัดค้านห่วงใย ไม่ว่าจะในเรื่องของเงินกองทุนที่บานปลาย การร้องเพื่อขอเงินชดเชยที่มากขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อติดตามและได้ผลดีแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว ก็สามารถที่จะขยายผลไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดที่มีบริบทเหมือนกัน สุดท้ายเมื่อแนวทางดังกล่าวเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายจริง ทุกฝ่ายก็จะมาร่วมด้วยความสมัครใจ

ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ประเทศไทยยังคงต้องอยู่อีกนาน เรายังมีเวลาอีกมากมาย ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่ต้องเร่งรีบออกกฎหมายหรือสร้างระบบที่อาจเกิดผลกระทบในแง่ลบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

9679
บ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการ คือ แพทย์ พยาบาล เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน แต่ไม่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์.....

โดย...ศ.นพ.ธารา ตริตระการ ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้เขียนได้ติดตามเรื่องพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่นั้น มีความเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่อยากฝากคณะทำงานให้พิจารณาและดำเนินการแก้ไขต่อไป คือ

1.ความเสียหายใน พ.ร.บ.ดังกล่าวคืออะไร ?

ในมาตรา 3, 5 และ 6 มีนิยามคำ “ผู้เสียหาย” แต่มิได้กล่าวถึงว่า “ความเสียหาย” คืออะไร มีความรุนแรงระดับใดจึงจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น เสียชีวิต เสียอวัยวะ สูญเสียการทำงานของอวัยวะทั้งหมดหรือบางส่วน เสียโฉม เสียหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เสียความสามารถในการทำงาน เสียขวัญ เสียใจ หรือทำให้เกิดความหวาดวิตกจนกระทบต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีการกำหนดให้ชัดเจน ย่อมมีผู้ยกความเสียหายขึ้นมาร้องเรียนขอค่าชดเชยได้แม้เป็นเพียงความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ

2.มีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนในมาตรา 5 และ 6 ว่าด้วยสิทธิของผู้เสียหายและเงื่อนไขในการได้รับสิทธิตามร่าง พ.ร.บ.ฯ

มาตรา 5 กำหนดหลักการพื้นฐานไว้ว่าผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยจากกองทุนตามร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด นอกจากนี้ในมาตรา 6 ผู้เสียหายไม่อาจอ้างสิทธิตามมาตรา 5 ได้หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้ (1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (2) ความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ (3) ความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เปิดให้ใช้สิทธิอย่างกว้างขวาง ยกเว้นจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 วงเล็บ 1, 2 และ 3 แล้ว เมื่อเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้น ย่อมมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือได้ทั้งสิ้นโดยไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยประกอบอื่น แม้เหตุยกเว้นในวงเล็บทั้งสามบ่อยครั้งไม่สามารถแยกว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน หรือเป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุเวชปฏิบัติ์ หรือ Malpractice

บ่อยครั้งที่ผู้ให้บริการ คือ แพทย์ พยาบาล เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาในการรักษาโรคที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อน แต่ไม่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติ หรือ Malpractice เป็นการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่น่าจะเป็นความผิด จึงไม่รับผิดและไม่เห็นด้วยในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ผู้เสียหายมองว่า ความเสียหายเกิดจากการรับบริการสาธารณสุข ผู้ให้บริการจึงต้องรับผิดชอบ ความเห็นที่แตกต่างกัน นำไปสู่ความขัดแย้งและการฟ้องร้อง

เพื่อความเข้าใจตรงกัน จึงขอยกตัวอย่างเช่น

ผู้ป่วยเป็นนักธุรกิจวัยกลางคน มีรายได้สูง มีอาการเจ็บหน้าอก เป็นลมหมดสติ ผู้ใกล้ชิดนำส่งโรงพยาบาล แพทย์พบว่าหัวใจหยุดเต้น จึงให้การรักษาโดยการช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ ช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยากระตุ้นหัวใจและยาอื่นๆ อีกหลายชนิด ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องที่หออภิบาลหรือหอผู้ป่วยหนักอีก 2 สัปดาห์ ผลการรักษาอาจเป็นไปได้หลายลักษณะ เช่น

1.การช่วยชีวิตสำเร็จ ผู้ป่วยฟื้นเป็นปกติ กลับไปประกอบอาชีพได้เหมือนเดิมแต่เกิดความเสียหาย คือ ฟันหน้าหัก 2 ซี่ กระดูกซี่โครงหัก 4 ซี่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดทุกครั้งที่บิดร่างกาย มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ไม่สามารถเดินทางไกลๆ โดยเครื่องบิน ทำให้เสียรายได้ในการประกอบธุรกิจ

- ผู้ป่วยจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่ เพราะความเสียหายมิใช่ความเสียหายตามธรรมดาของโรค แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการรักษา เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ เป็นความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย แต่ไม่ใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติ หรือ Malpractice

2.ผู้ป่วยฟื้น มีชีวิตรอดจากความตาย แต่เกิดความเสียหาย คือ สูญเสียความสามารถของสมองบางส่วน ความจำเสื่อม ทำให้ประกอบธุรกิจไม่ได้ ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนมาก

- ผู้ป่วยจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือว่าเกิดจากการรักษาไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย

3.ผู้ป่วยฟื้น มีชีวิตรอดจากความตาย แต่เกิดความเสียหาย คือ สูญเสียความสามารถของสมองอย่างมาก ช่วยตัวเองไม่ได้ ขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ กินอาหารเองไม่ได้ เป็นภาระแก่ครอบครัวอย่างมาก

- ผู้ใกล้ชิดที่พาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลพบว่า แพทย์ผู้ให้การรักษาเบื้องต้นเป็นเพียงแพทย์จบใหม่ ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลมีอุปกรณ์ไม่พร้อม เครื่องช็อกหัวใจไม่ทำงาน ทำให้การช่วยฟื้นคืนชีพไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสียหายจนครอบครัวได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ทรมานมาก

- ผู้ป่วย และครอบครัวจะเรียกร้องความเสียหายตามสิทธิใน พ.ร.บ.นี้ได้หรือไม่?

จะเห็นได้ว่าความเสียหายในลักษณะที่ 1 เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่เรียกว่า ทุรเวชปฏิบัติหรือ Mal Practice ฟันและกระดูกซี่โครงที่หักเกิดจากกระบวนการช่วยชีวิต เป็นความเสียหายที่น่าจะรับได้ในการช่วยชีวิตฟันหักสามารถใส่ฟันปลอมได้ กระดูกหักจะติดและหายเองตามธรรมชาติภายใน 4 ถึง 6 สัปดาห์

ตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดกว้างให้ผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองอย่างกว้างขวางทุกกรณีที่ไม่ใช่ข้อยกเว้นใน มาตรา 6 วงเล็บ 1 ถึง 3 ถ้าคณะกรรมการหรือผู้ที่กำลังดำเนินการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความเห็นว่า ความเสียหายที่เกิดจากเหตุลักษณะนี้ สมควรได้รับสิทธิคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ก็จะมีผู้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับเงินค่าเสียหายมากมาย จนเป็นภาระหนักแก่ระบบการเงินของประเทศและระบบการสาธารณสุขของประเทศ กระทบการเงินที่จะนำไปพัฒนาการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอื่นๆ และอาจกระทบระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศได้ เพราะความเสียหายในลักษณะนี้|มีมากมาย ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงเสียชีวิต

ความเสียหายในลักษณะที่ 2 เป็นความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยไม่มี ความผิดพลาดใดๆ ในการให้บริการ อาจเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น เนื่องจากการนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลช้า ทำให้สมองได้รับความเสียหาย แต่ผู้เสียหายและญาติอาจมองว่า เกิดจากการบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สมองเสียหาย ซึ่งจะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ว่าเข้าข่ายมาตรา 6 (1) หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ไม่มีสิทธิตาม พ.ร.บ.นี้

ความเสียหายในลักษณะที่ 3 เป็นความเสียหายซึ่งอาจเกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น เนื่องจากการนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลช้า ทำให้สมองขาดออกซิเจนและได้รับความเสียหาย เมื่อหัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือดและออกซิเจนมากกว่า 5 นาที เซลล์สมองจะเริ่มตาย ความเสียหายของสมองจึงขึ้นกับเวลาที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลและประสิททธิภาพของการช่วยฟื้นคืนชีพ แต่ญาติผู้เสียหายมองว่า เกิดจากความบกพร่องของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล การบริการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สมองเสียหาย ซึ่งจะต้องดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และพิจารณาขีดจำกัดของโรงพยาบาลและผู้ให้บริการ

การที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้สิทธิกับผู้เสียหายอย่างกว้างขวางดังกล่าว กำหนดเวลาให้คณะกรรมการและอนุกรรมการตลอดจนกระบวนการพิจารณาช่วยเหลือต่างๆ รวดเร็ว ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วทันการ ย่อมเป็นผลดีอย่างยิ่งแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย แต่มีผลสะท้อนกลับ ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่ว่าจากเหตุใดๆ แม้เพียงเล็กน้อย ใช้สิทธิเรียกร้องเงินช่วยเหลือหรือเงินชดเชย ซึ่งจำเป็นต้องหาเหตุแห่งความเสียหายที่ไม่ใช่สาเหตุในข้อยกเว้นที่จะใช้สิทธิในมาตรา 6 จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นการกล่าวโทษผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลได้ให้การรักษามาอย่างดีโดยตลอด แม้กระทั่งการช่วยชีวิต จึงน่าจะมีผลกระทบที่ทำให้ความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการเสื่อมทรามลง มีผลกระทบขวัญและกำลังใจของผู้ให้บริการ ที่ทุ่มเทกายใจในการช่วยเหลือผู้รับบริการ

การกำหนดนิยามและความรุนแรงของความเสียหาย และเหตุแห่งความเสียหายให้รัดกุมจึงจำเป็น แม้ว่ามาตรา 5 กำหนดหลักการพื้นฐานไว้ว่าผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยจากกองทุนตามร่าง พ.ร.บ. โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ในหลายประเทศที่มีระบบการบริการสาธารณสุขและระบบเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายที่ดี เช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย จะพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะเมื่อเกิดความเสียหายที่รุนแรง หรือที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ให้บริการสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ใช้สิทธิอย่าง กว้างขวางตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

จึงขอฝากให้คณะทำงาน พิจารณาแก้ไขมาตรา 5 และ 6 ในร่าง พ.ร.บ.นี้

สำหรับนิยาม “ความเสียหาย” ขอเสนอเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 3 ดังนี้ “ความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข” หมายความว่า การเสียชีวิต การเสียอวัยวะ การเสียความสามารถในการทำงานของอวัยวะอย่างถาวรบางส่วนหรือทั้งหมด

การเสียโฉม การได้รับบาดเจ็บเรื้อรัง การได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเรื้อรังจนมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต อันเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการได้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งมิไช่ผลที่คาดว่าจะได้รับตามปกติจากการรับบริการสาธารณสุข มิใช่ผลการดำเนินของโรคตามปกตินั้น มิใช่ผลที่เกิดตามมาตรฐานการรับบริการสาธารณสุขมิใช่ผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการรับบริการสาธารณสุขที่คาดว่าอาจเกิดขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการสาธารณสุขได้แจ้งให้ผู้รับการรับบริการสาธารณสุขทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร

นิยามที่เสนอเพื่อพิจารณานี้ กำหนดขอบเขตความคุ้มครองให้ชัดเจนขึ้น ป้องกันมิให้มีการฉวยโอกาสเรียกร้องสิทธิโดยไม่สมควร จะช่วยให้คณะกรรมการพิจารณาการช่วยเหลือชุดต่างๆ พิจารณาได้ง่ายขึ้น ไม่กำหนดผู้กระทำหรือการกระทำว่าผิดถูกอย่างไรว่า เป็นความประมาท ความบกพร่อง ความผิดพลาด ความไม่พร้อมของผู้ให้บริการ สถานบริการ หรือกระบวนการให้บริการ แต่ดูที่ผลลัพธ์ของการบริการที่เป็นความเสียหายจึงไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 5 นิยามนี้กำหนดชัดเจนว่า ผลเสียหรือความเสียหาย เป็นผลโดยตรง ที่เกิดจากการได้รับบริการสาธารณสุขที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังและเกิดผลเสียที่กระทบต่อผู้เสียหายรุนแรงและยาวนาน

ตามตัวอย่างที่ยกมาแสดงข้างต้น ความเสียหายในลักษณะที่ 1 ฟันหักเป็นความเสียหายถาวรที่ต้องรักษาโดยการใส่ฟันปลอม สมควรได้รับการชดเชย ส่วนซี่โครงหักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้จากการช่วยฟื้นคืนชีพตามมาตรฐาน และหายได้เอง จึงไม่ควรได้รับการชดเชย

ความเสียหายในลักษณะที่ 2 และ 3 ถ้านำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ช้ากว่า 5 นาทีสมองย่อมได้รับความเสียหายตามธรรมชาติ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น แม้มีการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ จึงไม่ต้องพิจารณากระบวนการให้การบริการ แต่ถ้านำส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วก่อน 5 นาที จึงพิจารณาว่ากระบวนการให้บริการไม่มีประสิทธิภาพและเป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือไม่

การกำหนดคำจำกัดความและขอบเขตความคุ้มครองที่ชัดเจน จึงเป็นธรรมแก่ผู้ให้และผู้รับบริการ จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประชาชน จะต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันคิด ช่วยกันกำหนดขอบเขตที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศโดยรวม ไม่เปิดกว้างจนเกินไป ไม่ทำให้ผู้ฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จาก พ.ร.บ.นี้

จึงขอฝากให้คณะทำงานพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.นี้



9680
8 ปีที่ตั้งเครือข่ายเสียหายทางการแพทย์ มีสมาชิกผู้เสียหายเข้าร้องเรียนหลายพันราย แต่จากการตรวจสอบเอกสารและวิเคราะห์ว่ามีมูลในการฟ้องร้องได้นั้นมีกว่า 600 ราย...

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

สังคมไทยเชิดชูวิชาชีพแพทย์ในฐานะผู้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้หลุดพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยอันเป็นทุกข์ ตลอดถึงการยื้อชีวิตในยามที่ความเจ็บป่วยมาถึงปลายสุดระหว่างความเป็นความตาย

สำนึกของสังคมไทยต่อแพทย์ จึงเป็นสำนึกแห่ง “บุญคุณ”

แม้จรรยาวิชาชีพจะเป็นสิ่งกำกับและควบคุมการทำหน้าที่ของแพทย์ให้เป็นไปเพื่อมนุษยธรรม แต่ความผิดพลาดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากการปฏิบัติใดตกอยู่ใต้ความประมาทเลินเล่อ ที่ผ่านมาสำนึกแห่ง “บุญคุณ” ในผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ กดทับให้ผู้รับบริการอยู่ในภาวะทำใจเพื่อจำยอมต่อความบกพร่อง ทั้งที่ควรได้รับสิทธิในการเยียวยาช่วยเหลือจากความผิดพลาดบกพร่องนั้น

ตลอดระยะเวลาที่มีการใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 มีการใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทองจำนวนถึง 727 ล้านครั้ง เป็นคนไข้ใน 28 ล้านราย ความถี่ของการใช้บริการจำนวนมหาศาลเช่นนี้ จำนวนครั้งของ “ความผิดพลาด” ก็น่าจะมากตามไปด้วย

แต่ทว่า มีคนไข้เพียง 3,200 รายเท่านั้น ที่กล้า “ใช้สิทธิ” ฟ้องร้องความผิดพลาดของแพทย์

เจ้าชายนิทรา

กว่า 5 ปีมาแล้ว ที่ ยงยุทธ ปันนินา เด็กหนุ่มระดับหัวกะทิความหวังของครอบครัว “ปันนินา” ต้องมีสภาพเป็นเจ้าชายนิทรา นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง โดยมี ดวงนภา ปันนินา มารดา ที่ต้องระทมทุกข์แสนสาหัส เสมือนมีคมมีดกรีดกรายหัวใจอยู่ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

“ทุกวันนี้ลูกเหลือเพียงร่างกับลมหายใจ แม่ทุกคนย่อมรักลูก แต่เมื่อเห็นสภาพแบบนี้แล้วเราก็อยากให้เขาตายไปเลย ตัวเราเองบางครั้งก็อยากกินยาตายเหมือนกัน”

เธอตัดพ้อชะตากรรมอย่างหดหู่ต่อลูกชายวัย 19 ปีเศษ ของเธอประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงเมื่อเดือน พ.ค. 2547 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.แพร่ ด้วยการให้ยาและเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากมีอาการสมองบวมและเลือดออกในสมอง โดยรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูถึง 27 คืน กระทั่งอาการดีขึ้นแพทย์เจ้าของไข้จึงตัดสินใจย้ายมาพักฟื้นและสั่งถอดเครื่องช่วยหายใจบริเวณลำคอออก

“ตอนนั้นลูกชายอาการดีขึ้นมากแล้ว กายภาพบำบัดหัดเดินได้ เขียนหนังสือได้ สื่อสารด้วยคำสั้นๆ ได้ เรียกพ่อเรียกแม่ได้ เราก็คิดว่าลูกจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งหมอสั่งให้ถอดเครื่องช่วยหายใจที่คอออก พอหมอผ่าตัดเสร็จก็เดินออกจากห้องทันที ให้พยาบาลดูแลแทน เราเห็นพยาบาลเอาผ้าก๊อซอุดรูที่คอเอาไว้แล้วเดินออกไปโดยไม่สนใจอะไรเลย ทันใดนั้นลูกก็อาการทรุดลง หายใจไม่ได้” เธอกล่าวด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก แล้วเล่าต่อว่า ทราบภายหลังว่าสมองของบุตรชายขาดออกซิเจน

เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ดิ้นอย่างทุรนทุราย มีอาการคล้ายๆ ชัก ผู้เป็นแม่จึงรีบวิ่งไปแจ้งพยาบาลเวรที่อยู่นอกห้องให้ช่วย แต่คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ “เด็กยังไม่ชินกับการหายใจ ปล่อยไว้สักพักเดี๋ยวก็ดีขึ้น” จนสุดท้ายบุตรชายทนไม่ไหว กระเสือก|กระสน ถ่ายเรี่ยราด แพทย์จึงนำเข้าห้องไอซียูรอบ 2 เป็นเวลากว่า 45 คืน

“ลูกก็ทรุดหนัก รอดตายมาได้ด้วยการปั๊มหัวใจขึ้นมา แต่ก็ต้องกลายเป็นเจ้าชายนิทราแบบนี้ เป็นเพราะความประมาทของแพทย์และพยาบาลที่ไม่ดูให้ดีว่าคนไข้หายใจเองได้หรือไม่” เธอกล่าวตำหนิ

เวลา 4 เดือนที่เข้ารับการรักษา ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ครอบครัว “ปันนินา” มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทเท่านั้น

“เราก็คนบ้านนอก ไม่รู้จะทำยังไง พอดีอ่านข่าวเจอเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จึงได้เขียนจดหมายไปแบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง แต่สุดท้ายกลับได้รับการช่วยเหลืออย่างดี ตอนนี้เราฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและชนะคดีในชั้นต้นกับอุทธรณ์แล้ว ศาลให้ชดเชยให้เรา 3.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอีกกว่า 4 แสนบาท แต่เราบอกเขาว่าไม่เอาดอกเบี้ยก็ได้ ขอให้จบเถอะ อย่าต้องให้ไปสู้อีกศาลหนึ่งเลย เราเหนื่อยและลำบากมาพอแล้ว” ดวงนภาวิงวอน

แอบตัดลำไส้

วนาพร เกริกชัยวัน เป็นเหยื่ออีกรายที่ถูกกระทำ โดยเธอเข้ารับการผ่าตัดพังผืดซึ่งอยู่ระหว่างรังไข่และมดลูก เพื่อสะดวกต่อการมีบุตรเมื่อเดือน พ.ย. 25 ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง หลังการผ่าตัดแพทย์แจ้งว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี มีปัญหาเล็กน้อย คือ |มีดไปสะกิดโดนลำไส้ เนื่องจากพบพังผืดในบริเวณนั้น ทว่าได้เย็บตกแต่งเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเธอกลับบ้านกลับเกิดอาการอาเจียนและปวดท้องอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจกลับมายังโรงพยาบาลอีกครั้ง

แพทย์อีกรายเอกซเรย์และวินิจฉัยว่ามีลำไส้บางส่วนไม่ทำงาน จำเป็นต้องสอดสายยางทางจมูกจนถึงลำไส้ เพื่อทำการดูดน้ำย่อยและน้ำดีออกมา

เป็นเวลา 10 วัน ที่ต้องนอนทรมานโดยมีสายยางระโยงระยางทั่วตัว เธอรู้สึกมีกลิ่นเหม็นออกมาจากภายในร่างกายและพยายามแจ้งพยาบาลตลอดเวลา ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าเป็นกลิ่นน้ำย่อย จึงไม่ต้องวิตกกังวล จากนั้นแพทย์รายใหม่ได้ดูฟิล์มเอกซเรย์ พบว่าลำไส้หลายส่วนไม่ทำงาน จำเป็นจะต้องฉีดรังสีเข้าเส้นเลือด เพื่อทำการเอกซเรย์ในอุโมงค์อย่างละเอียดและผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง

การผ่าตัดครั้งที่ 2 ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง ด้วยความสงสัยจึงสอบถามพยาบาลว่า แพทย์ได้ตัดลำไส้ออกไปบ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่าตัดไป 8 มิลลิเมตร แต่จากการถามแพทย์อีกครั้ง ทำให้ทราบว่าตัดออกไปครึ่งหนึ่งของลำไส้ทั้งหมด เนื่องจากมีการเน่าเสียเกิดขึ้น

“ดิฉันทราบมาว่าการผ่าตัดครั้งแรกก็มีการตัดลำไส้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ไม่ได้โดนใบมีดบาด เมื่อไปสอบถามแพทย์รายแรก เขาจึงยอมรับว่าตัดไป 2 นิ้วจริง” เธอ กล่าว และเล่าว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทั้งหมด 2.4 แสนบาท ทั้งที่ตัวเองเตรียมเงินไว้เพียง 7 หมื่นบาท สำหรับผ่าตัดเพื่อช่วยการมีบุตรเท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อไปถามแพทย์รายแรกกลับพบว่าการผ่าตัดเพื่อมีบุตรก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน ทั้งนี้แพทย์คนดังกล่าวได้รับปากจะเจรจากับโรงพยาบาลเพื่อลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้ แต่ก็ไม่เป็นผล

“หมอบอกว่าผ่าตัดไม่สำเร็จ และต่อไปจะไม่สามารถมีบุตรได้อีกแล้ว ดิฉันต้องสูญเสียลำไส้ สูญเสียความหวังในการมีบุตร จากความผิดพลาดของหมอและโรงพยาบาล ที่สำคัญยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ก่อไว้ด้วย”

ทุกวันนี้วนาพรมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายตลอดเวลา และไม่สามารถยึดอาชีพเสริมสวยซึ่งสร้างรายได้ให้เธอถึงวันละ 3,000 บาท ได้เหมือนเก่า

ขูดเลือดด้วย ความหวัง

“แค่หมอบอกว่ามีโอกาสเพียง 1% ที่จะช่วยให้สามีดิฉันรอดจากความตาย ไม่ว่าต้องเสียเงินเท่าไรดิฉันก็จะไปหามา แต่นี่สามีดิฉันเสียชีวิตไปแล้วแต่กลับไม่บอกความจริง บอกแค่ว่ายังมีทางช่วย แล้วสุดท้ายเรียกเก็บเงินถึงคืนละ 5 แสน” นางปุ้ย (นามสมมติ) ตัดพ้อด้วยน้ำเสียงสั่นเครือคับแค้นใจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการจากไปของสามีเธอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนั้นยังคงฝังอยู่ในความทรงจำ รู้สึกได้ว่าเพิ่งผ่านพ้นไปเพียงชั่วข้ามคืน เธอย้อนเหตุการณ์กลับไปยังคืนวันที่ 11 ส.ค. 2552 ว่า ได้รับแจ้งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยว่าสามีล้มหมดสติอยู่ในห้องเซานา จึงรีบลงไปดูแล้วส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการปฐมพยาบาล จากนั้นจึงส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งมีประวัติการรักษาอยู่ที่นั้น

การพยาบาลเป็นไปตามขั้นตอน สามีของเธอถูกส่งไปรักษาตัวยังห้องไอซียู เธอจึงพาบุตรกลับไปพักผ่อนที่บ้าน กระทั่งเช้าของวันที่ 12 ส.ค.2552 เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลได้โทร.แจ้งว่าให้กลับมาด่วนและต้องปั๊มหัวใจสามี เพราะอาการทรุดตัวลง

เรื่อยมาจนบ่ายคล้อย มีการปั๊มหัวใจถี่ขึ้นอีก 2 ครั้ง แพทย์เจ้าของไข้เข้ามาบอกให้ทำใจเอาไว้ และคาดว่าสามีคงอยู่ไม่พ้นวันนี้ เนื่องจากร่างกายไม่รับยา

“ตอนนั้นดิฉันรีบติดต่อญาติของสามี น้องสะใภ้ เสนอให้ย้ายไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งและจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ เมื่อดิฉันได้คุยกับแพทย์โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้ ได้รับคำยืนยันว่ามีโอกาสรอด จึงตัดสินใจย้ายสามีไปทันที” เธอเล่าถึงความหวังอันริบหรี่

โรงพยาบาลแห่งใหม่เสนอทางยื้อชีวิตสามีไว้ด้วยการฉีดยาเข้าที่หัวใจ แต่ราคายาเข็มละกว่า 7 หมื่นบาท เธอตอบตกลงทันทีด้วยความหวังว่าจะช่วยชีวิตของสามีไว้ได้

“พอฉีดยาปุ๊บ เขาก็บอกว่าทุกอย่างกระเตื้องขึ้น แล้วจึงพาสามีไปอยู่ที่ห้องไอซียู จนถึงกลางดึกสามีกลับมีเลือดจากทุกส่วนของร่างกาย และสุดท้ายแพทย์ก็มาบอกว่าสามีได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่จะให้แพทย์ชำนาญการมาดูเรื่องเลือด เนื่องจากเลือดติดเชื้อ”

“ในเมื่อสามีเสียชีวิตแล้ว จะเอาทั้งหมอทั้งเครื่องฟอกโลหิตหรืออะไรอื่นๆ มาทำไมอีก ดิฉันถามหมอว่า ถามจริงๆ นะคะคุณหมอ ที่ทำทั้งหมดไม่ได้ให้ช่วยให้รอด เพียงแต่พยุงร่างไว้ให้เห็นใช่หรือไม่ คุณหมอก็พยักหน้า ที่สำคัญหมอยังไม่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของสามีด้วย เขียนแต่เพียงว่าตายผิดปกติ แล้วส่งต่อไปสถาบันนิติเวชจุฬาฯ ผ่าพิสูจน์ศพ”

เธอ บอกว่า ค่ารักษาคืนเดียวเป็นเงิน 5 แสนบาท ทั้งที่แพทย์น่าจะรู้แล้วว่าสามีเสียชีวิตตั้งแต่โรงพยาบาลแรกแล้ว แต่ด้วยต้องการทำเพื่อการค้าอย่างไร้จรรยาบรรณ จึงรับปากเพื่อรับคนไข้มารักษาโดยต้องการแต่เงินเพียงอย่างเดียว

“เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาเป็นที่สุด เพราะเราไม่มีทางสู้หมอหรือสู้แพทยสภาได้เลย เขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาลกันทั้งนั้น เวลารักษาก็มุ่งแต่จะคิดเงิน ไม่ได้มองถึงคุณค่าของชีวิตและความรู้สึกของคนอื่นสักเท่าไร” เธอกล่าวสรุปอย่างหมดหวัง

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ บอกว่า กว่า 8 ปีที่ตั้งเครือข่ายมา มีสมาชิกผู้เสียหายเข้าร้องเรียนหลายพันราย แต่จากการตรวจสอบเอกสารและวิเคราะห์ว่ามีมูลในการฟ้องร้องได้นั้นมีกว่า 600 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ไกล่เกลี่ยกันได้ อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ย กำลังเตรียมยื่นฟ้อง และอยู่ระหว่างพิจารณาคดี ที่สำคัญคือมีกลุ่มที่ต่อสู้แล้วเลิกล้มกลางคันเป็นจำนวนมาก

“จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2543 พบการเสียชีวิตจากความผิดพลาดที่ป้องกันได้ 9.8 หมื่น-1.9 แสนราย แต่ในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน สหรัฐอเมริกาใช้เวลาตรวจคนไข้เฉลี่ย 20 นาทีต่อคน ในขณะที่ประเทศไทยใช้เพียง 2-3 นาที นั่นเชื่อได้ว่าอัตราความผิดพลาดย่อมสูงกว่า ทั้งนี้ยืนยันว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งต้นเหตุและปลายเหตุอย่างแน่นอน”

ความหวังของผู้ป่วยที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด คงไม่ต่างกับอุดมการณ์ของแพทย์ผู้ให้บริการ ที่ปราถนาจะทำหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์จนเต็มความสามารถอย่างถึงที่สุด แม้ความผิดพลาดอาจสุดวิสัยที่จะหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว การเยียวยาบรรเทาผลกระทบ คือ สิ่งแรกสุดที่จะต้องเร่งทำอย่างเต็มกำลัง

9681
ใครเสีย ในร่างพ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


สิทธิของผู้รับหรือซื้อบริการทางสาธารณสุข ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากความผิดพลาดของการให้บริการก็ตาม หรือแจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ละเมิดก็ตาม เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งเพื่อปกป้องตนเอง และถ้าคิดให้กว้าง ย่อมปกป้องสังคมโดยรวมจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขายหรือให้บริการด้วย


และเพราะเป็นสิทธิพื้นฐานที่มีประโยชน์เช่นนี้ การฟ้องร้องเป็นคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดพลาดของบริการสาธารณสุข จึงไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายในตัวเอง ผู้ที่คัดค้าน "ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" จึงต้องยอมรับในเบื้องต้นก่อนว่า สิทธิและการใช้สิทธิเช่นนี้ ไม่ใช่ปัญหา ไม่ควรลิดรอนสิทธิ หรือประณามการใช้สิทธินี้ตามครรลองแห่งกฎหมาย


อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การฟ้องร้องก่อให้เกิดความเจ็บปวดมากมายแก่ทุกฝ่าย ทางฝ่ายบุคลากรทางสาธารณสุขเองก็หวาดระแวงว่า การปฏิบัติของตนอาจทำให้ตนเองเสียหายจากการถูกฟ้องร้องได้ การตัดสินใจในภารกิจหลักคือการรักษาพยาบาล กลับตกเป็นรองการตัดสินใจเพื่อรักษาความปลอดภัยทางกฎหมายของตนเอง (ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่คนไข้แน่นอน) และในทางตรงกันข้าม การเป็นคดีในศาลสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก นอกจากต้องเสียทรัพย์สินเงินทองในการดำเนินคดีแล้ว ยังใช้เวลานานหลายปี โอกาสจะชนะคดีก็มีไม่มากนัก เพราะ "ผู้ชำนาญการ" ที่จะให้การเป็นพยานหาได้ยาก เนื่องจากศาลไทยยอมรับความ "ชำนาญการ" แก่แพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ในขณะที่การแพทย์ปัจจุบัน แยกความเฉพาะทางออกเป็นส่วนย่อยละเอียดซับซ้อน จนกระทั่งแต่ละ "ทาง" ก็มีไม่กี่คน ล้วนเห็นหน้าเห็นตาและรู้จักกันเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น


เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และคนไข้ และเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ม.41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข "โดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด" เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งแก่คนไข้ และบุคลากรทางสาธารณสุข โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นวินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากความบกพร่องของบริการ หรือเกิดขึ้นด้วยเหตุปรกติธรรมดา หากเกิดขึ้นจากบริการ ก็ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหาย


หลักการ "ไม่ต้องพิสูจน์ความผิด" นี้มีความสำคัญ กล่าวคือแม้จะยังต้องวินิจฉัยว่า ความเสียหายเกิดขึ้นจากความบกพร่องของบริการหรือไม่ ข้อวินิจฉัยนี้จะไม่ผลักภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์คนใดคนหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นความบกพร่องของ "ระบบ" ฉะนั้นจึงตั้งกองทุนขึ้น เพื่อจ่ายเงินค่าช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ได้ไปรีดเอาจากบุคลากรคนใดคนหนึ่งแต่อย่างไร


เท่ากับว่าหลักการข้อนี้คำนึงถึงเงื่อนไขการทำงานของบุคลากรในความเป็นจริงด้วย ในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง แพทย์แต่ละคนต้องทำงานหนักมาก โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยหรือตัดสินใจให้การรักษาพยาบาลอาจเกิดขึ้นได้ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ความผิดพลาดนั้นจึงเป็นความผิดพลาดของ "ระบบ" ไม่ใช่บุคคลแต่เพียงอย่างเดียว แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการนำคดีขึ้นสู่ศาล เพราะศาลจะไม่สามารถคำนึงถึงเงื่อนไขอื่นๆ ได้นอกจากการตัดสินใจและการกระทำของบุคคลนั้นๆ คำพิพากษาจึงบังคับให้บุคคลต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น


นอกจากนี้ หลักการข้อดังกล่าว ยังทำให้การช่วยเหลือเบื้องต้นสามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็วกว่าการดำเนินคดีในศาลอย่างเทียบกันไม่ได้ จากสถิติที่ สปสช.ได้รวบรวมไว้ ในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติเริ่มมีผลในเรื่องนี้ (2547-2552) ระยะเวลาเฉลี่ยของการดำเนินการในแต่ละกรณีมีเพียง 51 วันเท่านั้น ในปี พ.ศ.2553 ซึ่งยังไม่สิ้นปี สถิติถึงกรกฎาคม เวลาเฉลี่ยในการดำเนินการเหลือเพียง 27 วัน


เรายังมีกฎหมายคุ้มครองผู้รับบริการทางสาธารณสุขอีกฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยกฎหมายกำหนดให้โรงพยาบาลเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายแทนเจ้าหน้าที่ ก็คงอาศัยหลักการอย่างเดียวกัน กล่าวคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความผิดพลาดเชิงระบบมากกว่าเชิงบุคคลล้วนๆ


แม้ผลดีที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ที่มีอยู่ปรากฏอย่างชัดแจ้งแล้ว แต่ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับก็มีข้อจำกัดที่ครอบคลุมประชาชนไม่ทั่วถึง ม.41 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติครอบคลุมเฉพาะผู้รับบริการซึ่งใช้บัตรทอง (30 บาท) ซึ่งมีผู้ถือบัตรอยู่เพียง 40 กว่าล้านคน จากประชากรกว่า 60 ล้านในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเพียงแต่ "ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น" เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการชดเชยความเสียหาย ส่วน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ครอบคลุมเฉพาะผู้รับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น


ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ ซึ่งถูกต่อต้านโดยบุคคลบางฝ่ายอยู่เวลานี้ จึงเป็นเพียงการเติมเต็มความพยายามในทิศทางที่ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่ พ.ศ.2539 เท่านั้น เช่นขยายการคุ้มครองให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม ทำความพอใจให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายมากขึ้น คือไม่ได้จ่ายแต่ค่า "ช่วยเหลือเบื้องต้น" เท่านั้น แต่รวมถึงการ "ชดเชย" เบื้องต้นด้วย ซึ่งสถิติที่ผ่านมาชี้ว่า จะยิ่งทำให้ผู้เสียหายนำเรื่องไปฟ้องคดีน้อยลง หลักการ "ไม่ต้องพิสูจน์ความผิด" ก็ยังคงเดิม ซึ่งหมายความว่าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ "ระบบ" สาธารณสุขต้องพัฒนาไปในทางที่ปลอดภัยมากขึ้น


ในส่วนผู้ได้รับความเสียหาย ก็ไม่จำเป็นต้องไปผ่านกระบวนการที่สร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นแก่ตนเองในศาล


ผู้ที่อาจคิดว่าตัวต้อง "เสีย" จริงๆ จากร่าง พ.ร.บ.นี้ก็คือโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปล่อยให้แพทย์ของตนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเป็นคดีในศาล (ทั้งแพ่งและอาญา) ได้ตลอดเวลา โดยบริษัทผู้ทำธุรกิจโรงพยาบาลไม่ต้องรับผิดชอบมากไปกว่ารักษาภาพพจน์ของตนในตลาดไว้ให้ดีเท่านั้น จะด้วยเหตุผลทางธุรกิจอย่างใดก็ตาม กลุ่มผู้ต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างรุนแรงที่สุด จึงเป็นกลุ่มสหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ที่เรียกตนเองว่า "แพทยสภา"


อันที่จริงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลเอกชนเข้ากองทุนน้อยมาก อันไม่เป็นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนสูงขึ้นกว่าเดิม ในทุกวันนี้กำไรของบริษัทธุรกิจที่ทำโรงพยาบาลก็สูงมากอยู่แล้ว จะดูดซับไว้เองก็ยังได้ แม้บริษัทพยายามจะผลักภาระด้านนี้มาให้แก่ผู้บริโภค การแข่งขันกันในตลาดของธุรกิจประเภทนี้ ก็บังคับให้ไม่อาจเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลให้สูงไปกว่านี้ได้อีกมากนักอยู่แล้ว


ความวิตกกังวลของผู้ต่อต้านคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสมเหตุสมผลเท่าไรนัก


ที่เกรงว่า จะก่อให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีในศาลมากขึ้น สถิติที่มีอยู่กลับชี้ไปในทางตรงกันข้าม แม้ว่า สปสช.ยังไม่มีสถิติว่าผู้ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว นำคดีขึ้นสู่ศาลสักเท่าไร แต่ดูจากการ "อุทธรณ์" คำวินิจฉัยของคณะกรรมการประจำจังหวัด เข้ามายังคณะกรรมการกลาง (ซึ่งหมายความว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการประจำจังหวัดไม่เป็นที่พอใจ จึงร้องขอคำวินิจฉัยใหม่ หากเป็นกระบวนการทางการศาลก็คือนำคดีขึ้นสู่ศาล) กลับพบว่า จากที่เคยมีตัวเลขถึง 14.4% ใน พ.ศ.2548 กลับลดลงเหลือเพียง 8.2% ใน พ.ศ.2552 เฉลี่ยคือ 10.5% เท่านั้น ดูจากแนวโน้มแล้ว อัตราเฉลี่ยจะต่ำกว่านี้อีกในระยะยาว ยิ่งร่าง พ.ร.บ.ให้ค่าชดเชยเบื้องต้นด้วย ซึ่งย่อมมากกว่าค่าช่วยเหลือเบื้องต้น ก็ยิ่งแน่ใจได้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการจะเป็นที่พอใจมากกว่านี้


ค่าใช้จ่ายจริงตาม ม.41 ของ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพก็มีน้อยกว่าที่คาดการณ์มาก กล่าวคือเป็นเพียง 0.05% ของกองทุนเท่านั้น ในปีสุดท้ายใช้ไปเพียง 296.5 ล้านบาท(ข้อมูลผิดจริงๆปี 52 - 73 ล้าน) ของเงิน 1,000 ล้านบาท (ซึ่งเหลือสะสมมามากกว่านี้อีกมาก)


คนไทยก็เหมือนมนุษย์ทั่วไป ไม่มีเงินจำนวนมากสักเท่าไรหรอก ที่จะทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เงินจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในการตัดสินใจฟ้องหรือไม่ฟ้อง เท่ากับท่าทีของผู้กระทำความเสียหายต่อผู้ได้รับความเสียหาย ร่าง พ.ร.บ.นี้เข้ามาสร้างท่าทีที่ดีของผู้กระทำความเสียหาย เพื่อให้ปัญหายุติลงโดยดี โดยไม่มีฝ่ายใดต้องเจ็บปวดกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่ควร


ข้อที่วิตกกันและสหภาพแพทย์โรงพยาบาลเอกชนใช้เป็นข้ออ้างในการต่อต้านอีกอย่างหนึ่ง ก็คือคณะกรรมการซึ่งจะเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.นี้จะประกอบด้วยคนหลายประเภท และส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ (หรือผู้ชำนาญการ-ทางการแพทย์) ความหลากหลายขององค์ประกอบคณะกรรมการนั้นมีความสำคัญ หากเราถือว่าคณะกรรมการไม่ได้วินิจฉัยความผิดพลาดของบุคคล แต่วินิจฉัยความผิดพลาดบกพร่องของ "ระบบ" ถึงความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นจากบุคคล แต่ก็เป็นบุคคลที่ต้องทำงานอยู่ใน "ระบบ" ดังนั้น "ผู้ชำนาญการ" จึงต้องมีหลายด้านมากกว่าทางการแพทย์ คนที่ติดตามกรณีผู้เสียหายมานาน ย่อมเข้าใจและ "ชำนาญการ" กับ "ระบบ" ยิ่งกว่าแพทย์ ดังเช่นเอ็นจีโอทั้งหลายเป็นต้น


จากสถิติการดำเนินงานตาม ม.41 ของ พ.ร.บ.สุขภาพฯ มีคำร้องของผู้ที่คิดว่าได้รับความเสียหายถูกปฏิเสธ เพราะไม่เข้าเกณฑ์เฉลี่ยถึง 17.2% ความคิดที่ว่า คนไข้ใกล้ตายจะพากันมาตายที่โรงพยาบาลเพื่อให้ญาติได้รับสิทธินี้ จึงเป็นความเพ้อเจ้อเท่านั้น เพราะกรรมการซึ่งประกอบด้วยหลายฝ่าย จะสามารถวินิจฉัยได้ไม่ยากว่า ความตายนั้นเกิดขึ้นจากความบกพร่องของ "ระบบ" หรือมาจากเหตุอันหลีกเลี่ยงมิได้


ถึงจะมีผู้สมัครใจมาตายโรงพยาบาลมากขึ้น ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.นี้แน่นอน ความจริงคนไทยเลือกตายโรงพยาบาลมานานแล้ว เพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สะดวกที่จะตายที่บ้านอย่างบรรพบุรุษของตนเองอีกแล้ว


นอกจากนี้ แม้ว่าคณะกรรมการประกอบด้วยคนหลายฝ่าย ก็ใช่ว่าฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่แพทย์มีความจงเกลียดจงชังแพทย์เป็นพิเศษ ในกรณีที่ต้องการความเห็นของ "ผู้เชี่ยวชาญ" ทางการแพทย์ คณะกรรมการฝ่ายอื่นก็คงต้องฟัง เพราะไม่มีความรู้พอที่จะวินิจฉัยได้ สิ่งที่น่าห่วงกลับเป็นตรงกันข้ามมากกว่า นั่นคือจะหาความรู้จากที่ใดมาตรวจสอบถ่วงดุลวินิจฉัยของแพทย์ที่เป็นกรรมการได้ ฉะนั้นกรรมการที่เป็นแพทย์แม้เป็นส่วนน้อย ก็อาจมีอิทธิพลสูงสุดในการวินิจฉัยในบางกรณี


ส่วนข้อวิตกว่าจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลโดยรวม และโดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนแพงขึ้น ก็ได้กล่าวแล้วว่าไม่มีทางเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาโรงพยาบาลเอกชนในฐานะที่เป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง


ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้ทุกฝ่ายได้มากกว่าเสีย ผู้เสียหายก็ได้ บุคลากรทางสาธารณสุขก็ได้ เอาเข้าจริง เสี่ยเจ้าของโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ ถ้าไม่เห็นแก่กำไรเพียงน้อยนิดอย่างหน้ามืดเกินไป เพราะเท่ากับทุกโรงพยาบาลมีหลักประกันด้านนี้ไว้แล้วส่วนหนึ่ง โอกาสที่จะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายก็ลดลง และสังคมไทยโดยรวมก็ได้


นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านควรสนับสนุนอย่างเต็มที่



9682
ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ต้องแก้กระดุมทั้งหมด แล้วเริ่มติดกระดุมใหม่
สิ่งที่หลีกไม่พ้น คือ ยังไง ๆ ก็ ต้องแก้กระดุมเม็ดแรกด้วย
เมื่อจะแก้ทั้งที เปลี่ยนกระดุมเป็นแบบสวยๆหน่อย ขยับขยายรังดุมให้เหมาะด้วยเลย

พี่น้อง......เตรียมแก้กระดุมเม็ดแรกกันได้แล้ว(แก้ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพแห่งชาติ)

9683
อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะรู้ว่าแพทย์คนเขียนเป็นแค่ คนอยากให้คนอื่นคิดว่าเป็น นักศึกษาแพทย์
พูดตรงๆ ก็คือ นักศึกษาแพทย์ตัวปลอม

อยากให้เป็นนักศึกษาแพทย์จริงๆ
จะได้ไปนั่งจับเข่าคุยกับน้อง แล้วเล่าเรื่องจริงให้ฟัง ไล่เรื่องขยะๆ ออกจากหัวของน้องให้หมด

9684
หมอสุธีร์หยุดกล่าวหาแพทย์ทั้งประเทศเสียทีครับ คุณไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่ารู้ดีไปกว่าหมอที่เคลื่อนไหว

ไม่มีใครโง่พอที่จะทำลายสิ่งที่เป็นเรื่องดี เรื่องราวที่เป็นเนื้อหาภายในร่างพระราชบัญญัติจะได้มีการชำแหละละเอียด

ยิ่งกว่าการชำแหละชันสูตรพลิกศพ แล้วคุณจะได้รู้ว่าคุณหรือใครที่คุณกล่าวหานั้น ใครโง่กว่าใคร แล้วจะรู้ว่า อะไรเป็นอะไรครับ


ไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติงาน ไม่รู้เรื่องกฎหมาย มองไม่เห็นภาพที่แท้จริงของเนื้อใน ดูแค่เปลือกกับคำโฆษณา แล้วขยันออกความคิดเห็น
คุณหมอสุธีร์กลับไปเรียนต่ออีกหลายปีก็จะยังไม่ทราบกระมังว่า อะไรเป็นอะไร


เพื่อนเราคนหนึ่ง

9685
นักศึกษาแพทย์ผู้ซึ่งจะเป็นหมอในเมษายนปีหน้านี
เขาก็น่าจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เหมือนกัน

เพราะเมื่อเขาจบใหม่เขาก็จะยังไม่มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่สมบูรณ์เหมือน พี่ ๆ ที่จบมานานแล้ว
เขาก็จะต้องไปทำงานในโรงพยาบาลในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชน
และเมื่อเขาทำอะไรผิดพลาดด้วยความอ่อนในประสบการณ์ หรือด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ไม่พร้อม
เขาก็ควรจะมีเครื่องมืออะไรมาช่วยให้พวกเขาได้เห็นว่าผู้ป่วยของเขาที่ไ้ด้ร ับความเสียหาย
ได้รับช่วยเหลือเยี่ยวยาที่เหมาะสม
แต่เหตุใด พี่ ๆ จึงมาทำลายเครื่องมือที่จะช่วยเขาเสีย

จาก นพ. Suthee Rattanamongkolgul

มายาคติแห่งวิวาทะแพทย์-ผู้เสียหายทางสาธารณสุข
ปฏิเสธ ไม่ได้เลยว่าการออกมาปะทะกันรอบล่าสุดของกลุ่มองค์กรวิชาชีพสาธารณสุขที่นำ โดยแพทย์ กับกลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุขถือว่ารุนแรงและส่ง ผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างโดยเฉพาะในประเด็นของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ......
 
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดจาก เจตนารมณ์ที่ดีในการที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายให้ได้รับการชดเชย ที่เหมาะสม ลดการฟ้องร้องแพทย์และเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง “หมอ” กับ “คนไข้” ที่กำลังถูกถ่างให้กว้างขึ้นทุกทีโดยคนหลายกลุ่มทั้งที่รู้และรู้เท่าไม่ถึง การณ์
 
ต้นเรื่องคือความสัมพันธ์ที่ ย่ำแย่มาจากการที่เกิดความเสียหายกับคนไข้ขึ้นมาแล้วหมอไม่ได้อธิบายหรือ อธิบายได้ไม่ดีพอ แล้วเกิดคดีความฟ้องร้อง คราวนี้ต่างฝ่ายก็มีกองเชียร์เข้ามาช่วยสนับสนุน ฝ่ายหนึ่งก็เป็นสภาวิชาชีพที่เล่นผิดบทบาท ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นกลุ่มNGOsที่เจ็บปวดมาเหมือนๆกัน ต่อสู้กันไปต่อสู้กันมา ๓ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง สุดท้ายไม่ว่าผลเป็นยังไงก็เจ็บด้วยกันทั้งสองฝ่าย  ทั้ง หมอที่รักษาคนไข้เองก็เกิดอาการท้อ-น้อยใจ- หมดกำลังใจ-หวาดระแวงในการทำงานเพื่อคนไข้คนอื่นๆต่อ ส่วนผู้ป่วยก็รู้สึกแย่ต่อหมอทั้งๆที่ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียขึ้น ส่วนกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายก็เตรียมไปห้ำหั่นกันในเวทีต่อไป
  
อย่างเหตุการณ์ประท้วงร่างพระราช บัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ......เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคมที่ผ่านมานี่ทำให้ผมมองเห็นอะไรได้หลายๆอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ของกลุ่มสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทย ในครั้งนี้
  
อย่างแรกคือตัวแทนของสมาพันธ์ที่ ออกมาเรียกร้องวันนี้หลายๆคนไม่ได้อ่านร่างพรบ.อย่างถึ่ถ้วนเลยด้วยซ้ำ สังเกตจากการตอบคำถามในวงสนทนาต่างๆที่มักจะแสดงออกกันไปคนละเรื่องกับคำถาม ในแถลงการณ์ต่างๆที่สมาพันธ์แห่งนี้ออกมาก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและมี อคติต่อร่างฉบับนี้อย่างมาก  ผลที่ตามมาก็คือได้มี การสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวขึ้นในหมู่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร...จนเกิดการล่ารายชื่อมาคัดค้านร่างพรบ.ฉบับนี้สมใจผู้ชักใยอยู่ เบื้องหลังสมาพันธ์ไปเต็มๆ
  
มายาคติแรก มีผู้พยายามบอกว่าพรบ.ฉบับนี้จะทำให้เกิดการฟ้องร้องหมออย่างกว้างขวางอย่าง ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน(คุ้นๆเหมือนตอนมีมาตรา ๔๑ใหม่ๆไหมครับ) แล้วก็จะมีการเอาหมอติดคุก ทำให้กำลังใจในการทำงานหดหายไป ทั้งที่ความจริงแล้วพรบ.ฉบับนี้ไม่เกี่ยวกับหมอเลยสักนิด เขาตราขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการรับบริการ หมอไม่ถูกฟ้องอาญาจากพรบ.ฉบับนี้ เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีพรบ.นี้เขาก็ฟ้องอาญาหมอได้อยู่แล้วตามประมวล กฎหมายอาญาซึ่งมีมาก่อนแล้ว
 
มายาคติที่สอง มีการปลุกระดมถึงการที่ไม่มีตัวแทนสภาวิชาชีพเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ มีแต่NGOsกับ คนที่ไม่ได้ตรวจคนไข้มารุมหมอ แล้วการตัดสินก็ใช้เสียงข้างมากโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดอีก ถามว่าทำไมถึงไม่ให้มีตัวแทนสภาวิชาชีพก็เพราะเขาไม่ต้องการให้เกิดความทับ ซ้อนกันระหว่างคณะกรรมการนี้กับการไต่สวนของสภาวิชาชีพ เพราะกองทุนนี้ตั้งมาเพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่วงที่จะมาเอาผิดใคร เป็นการช่วยเหลือตามมนุษยธรรมด้วยจิตใจของมนุษย์โดยมโนสำนึกว่าผู้เสียหายคน นี้ควรได้รับเงินช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร โดยไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เหมือนอย่างกรณีที่แพ้ยาแล้วตาบอดถามว่าแพทย์ผิดไหมที่ให้ยาตัวนี้ก็ไม่ผิด เพราะแพทย์ไม่รู้ว่าคนๆนี้จะแพ้ยาอะไรล่วงหน้าได้ แต่ถามว่าได้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของเขาไหม เขาจะอยู่ต่อไปอย่างไร ครอบครัวเขาจะทำอย่างไร ตรงนี้หมอตอบไม่ได้ หมอก็จะคิดว่าเป็นความซวยหรือกรรมของคนไข้เองที่แพ้ยาตัวนี้ ทีนี้ก็เกิดความไม่เข้าใจกันขึ้นมากลายเป็นปัญหาลุกลามต่อไป
 
ถามว่าเวลาขับรถแล้วเราไปชนรถ คันหน้าที่เบรกกระทันหันเนี่ยบริษัทประกันจ่ายเงินให้เราไหม??
 
มายาคติที่สาม ที่ทุกคนกลัวกันมากที่สุดคือการถูกถอนใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม การออกจากราชการและการติดคุกซึ่งเป็นโทษจากกฎหมายอื่นทั้งสิ้น กฎหมายฉบับนี้ไม่มีการระบุโทษดังกล่าวไว้เลย!! เป็นแต่เพียงการปรุงแต่งจากคนบางกลุ่มเท่านั้นที่บอกว่าจะมีคนเอาผลจากการ ตัดสินชี้ขาดของคณะกรรมการตามพรบ.นี้ไปขยายผลฟ้องอาญาต่อ ซึ่งถือว่าไกลจากตัวกฎหมายฉบับนี้มาก เพราะขั้นตอนคือการฟ้องอาญา;ศาลตัดสินจำคุก;ออกจากราชการ;แพทยสภาตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน;เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นขั้นตอนปกติเหมือนตอนยังไม่มีพรบ.ฉบับนี้  แล้ว กฎหมายฉบับนี้ช่วยแพทย์โดยศาลสามารถนำหลักฐานการ พิจารณาของคณะกรรมการกองทุนมาพิจารณาเพื่อที่จะไม่ลงโทษหรือลดโทษให้อีกก็ ได้ในกรณีที่ศาลเห็นว่าแพทย์มีความผิด

กรณีร่อนพิบูลย์ก็เป็นตัวอย่าง หนึ่งที่แสดงให้เห็นแล้วว่าความจริงเขาก็ไม่ได้อยากฟ้องแต่คนในสภาวิชาชีพ เองต่างหากที่ไปยุให้แพทย์ไม่ไปงานศพ ไม่ขอโทษ ไม่ช่วยเหลือตามมนุษยธรรม โศกนาฏกรรมที่สภาวิชาชีพเอาไปฉายซ้ำสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวและสร้าง บาดแผลให้วงการแพทย์จึงเกิดขึ้น
  
บางครั้งหมอก็ควรมองความเดือดร้อนของคนไข้บ้างว่าเขาเดือดร้อนจริงๆ ไม่ใช่คิดเพียงแต่ว่าพวกนี้อยากได้เงิน อยากเอาหมอติดคุก อยากให้หมอคนนี้ถูกยึดใบประกอบฯ มิเช่นนั้นระยะห่างของหมอกับคนไข้จะถูกถ่างออกไปอีก จากผู้ให้ไปสู่ผู้รับกลายเป็นพ่อค้ากับลูกค้า
  
บอกตรงๆครับผมในฐานะนักเรียน แพทย์คนนึงรู้สึกสลดใจที่เห็นหมอ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัดออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองยังไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ เพียงแต่ฟังๆเขาเล่ากันมา เอาขี้ปากเขามาพูดสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวกัน ภาพพวกพี่ๆที่ออกมาวันนี้ในสายตาชาวบ้านดูไม่ดีเลยครับ
 
ผมไม่อยากให้เรื่องวันนี้จบแค่ การออกมาแสดงพลังโก้ๆของแต่ละฝ่าย ทั้งสองฝ่ายควรย้อนกลับไปรวบรวมข้อมูลหลักฐานและข้อเสนอแนะต่อร่างพรบ.ฉบับ นี้แล้วมาคุยกันใหม่โดยปราศจากอคติ คิดถึงใจเขาใจเรา อย่าคิดถึงตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว ผมไม่อยากให้สังคมสาธารณสุขของเราไม่ฟังกันแบบเหลืองกับแดงที่มีความคิดฝังหัวโดยไม่รู้จักแยกแยะผิดถูก แล้วมาเจอใหม่ในรัฐสภาตอนแปรญัตติดีกว่าครับ
  
เชิญตรองดูตามโยนิโสมนสิการ
ขุมทรัพย์ เพชร.

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓  




9686
มีข่าวแจ้งว่า

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิต วราชิต ได้ประสานให้มีการพบปะ พูดคุยกันของหลายๆฝ่ายที่เกียวข้องกับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
(เช่น ตัวแทนจากแพทยสภา-ตัวแทนจากแพทยสมาคม- ตัวแทนจากสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.- ตัวแทนจากชมรมแพทย์คลินิค- คณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร์-ตัวแทนเอ็นจีโอ)
ในวันจันทร์ที่ 2 ส.ค.นี้ที่กระทรวงสาธารณสุข เวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับร่าง
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข

จากข่าววงใน

9687

ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 14.00 น. พรรคประชาธิปัตย์  ได้มีตัวแทนแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ ผู้แทนสาขาเภสัชกรรม สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง และคณะกรรมการศึกษาเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาการสาธารณสุขไทย นำโดย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภา ได้เดินทางมาพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารมูลนิธิ ควง อภัยวงศ์ เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .. เพราะเห็นว่าคนบางส่วนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่จะเสียประโยชน์ และเป็นภาระงบประมาณระยะยาว จึงควรถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมาก่อนแล้วนำมาพิจารณาใหม่ให้รอบคอบ โดยใช้เวลาการเข้าพบประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

 จากนั้น รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า ในภาพรวม ทุกคนที่มาวันนี้ มีความเห็นพ้องกันว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องผลักดันให้เกิดขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์รายละเอียดและสาระแล้ว เราคิดว่ามันยังไม่สอดคล้องกันกับเจตนารมณในหลายๆรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องที่มีอยู่ในหลายกระทรวง ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อหาทางออกไปด้วยกันว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ดีควรถูกนำมาปรับอย่างไรให้เหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการทางการแพทย์ทั้งประเทศ เพราะร่างพ.ร.บ.นี้กินความไปถึงผู้ประกอบวิชาชีพจนถึงนักวิชาการด้านสาธารณสุข จึงถือว่าพ.ร.บ.ดังกล่าวครอบคลุมกลว้างขวางมาก จึงต้องมีการทบทวนรายละเอียดที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับไป และบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่สำคัญว่าสาระยังไม่ครบถ้วน ในเวลาเดียวกันผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นายกรัฐมนตรีจึงรับไปบริหารจัดการในแนวทางของท่าน เพื่อให้ทุกกลุ่มได้มาพูดคุยในรายละเอียดอีกครั้ง

 เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีระบุหรือไม่ว่าจะชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยนิติบัญญัติ ที่จะเริ่มในเดือน ส.ค.นี้ รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของนายกรัฐมนตรี ทางเราไม่ไปผลักดัน หรือกดดันว่าให้ทำอะไร เราเพียงแต่เสนอข้อเท็จจริงในเรื่องของสาระสำคัญเท่านั้น แต่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างไรนั้น ก็ถือเป็นวิจารณญาณของท่าน ทั้งนี้ เราไม่อยากให้ร่าง
พ.ร.บ.นี้ออกมาแล้วทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์ สถานพยาบาล และคนไข้ที่อยู่ในระดับจังหวัดต่างๆ จะได้รับผลกระทบ เพราะวันนี้ความสัมพันธ์ยังดีอยู่มาก นอกจากนี้ เราไม่อยากให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ออกมาแล้วเกิดการสั่นสะเทือนในการปรองดองของชาติ จึงควรชะลอแล้วทำให้เกิดความเรียบร้อย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการเยียวยามากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับรัฐบาล แต่ก็ขึ้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา


9688
ข้อเสนอเนื้อหาที่น่าจะนำเสนอความคิดเห็นกับร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายต่อสื่อมวลชน

1.             แพทย์และบุคลากรทางด้านสาธารณสุขไม่ได้คัดค้านการที่ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อมีความเสียหายจากโรคภัยไข้เจ็บ และจากกระบวนการรักษาพยาบาล

2.             บุคลากรทางด้านสาธารณสุขมีความเห็นว่าการช่วยเหลือเป็นเงินเป็นการช่วยเหลือชั่วคราวเท่านั้น มิได้เป็นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายในระยะยาว การช่วยเหลือที่ดีที่สุด คือ การทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปรกติสุข หรือใกล้เคียงที่สุด ซึ่งการช่วยเหลือนี้ ได้แก่ การฟื้นฟูสุขภาพ การใช้กายอุปกรณ์ การใช้อุปกรณ์เทียม การฝึกอาชีพ เป็นต้น ซึ่งร่างพรบ.นี้เน้นการช่วยเหลือในรูปของเงินอย่างเดียวจึงไม่เหมาะสม

3.             นอกจากผู้ที่ได้รับความเสียหายจากโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังมีผู้ได้รับความเดือดร้อนและทุกข์ทรมานจากสาเหตุอื่นๆอีก ได้แก่ ผู้ได้รับบาดเจ็บจากภัยการจราจร ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากอาชญากรรม จากการจราจร เป็นต้นซึ่งควรได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลืออาจเป็นการช่วยเหลือโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสังคมสงเคราะห์ โดยเป็นการช่วยครอบคลุมประชาชนผู้เดือดร้อนทุกคน ไม่เลือกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4.             หากจะมีการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็ควรจะให้การช่วยเหลือโดยประเมินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น มิใช่ประเมินจากว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นหรือไม่ ความผิดร้ายแรงเพียงใดดังร่าง ถึงแม้ว่าร่างพรบ.นี้จะมีการเขียนว่าจะไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด แต่จริงๆแล้วเนื้อหาในร่างพรบ.นี้จะมีการจ่ายเงินให้ก็ต่อเมื่อมีความผิดเกิดขึ้นเท่านั้นซึ่งจะทำให้ผู้ได้รับความเสียหายไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพียงพอเพราะต้องใช้เวลาในการตัดสิน และอาจได้รับการช่วยเหลือไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

5.             คณะกรรมการที่จะตัดสินว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขทำผิดหรือไม่ตามร่างพรบ.นี้ส่วนใหญ่ จะไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ และกฎหมาย ทำให้การติดสินไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและตามหลักกฎหมาย

6.             ดังนั้นถ้าตัดสินว่าบุคลกรทางด้านสาธารณสุขไม่ได้กระทำผิด ผู้ป่วยก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่ถ้าตัดสินว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขกระทำความผิดบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็ไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะคณะกรรมการที่ตัดสินถูกผิดส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางด้านสาธารณสุข แต่ผลการตัดสินสามารถนำไปเป็นมูลฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลอาญา และอื่นๆได้

7.             กฎหมายนี้มีอคติต่อบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพราะแม้แต่ชื่อก็แสดงถึงการมองถึงบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในด้านอาฆาตมาดร้าย และเนื้อหาในร่างพรบ.นี้ก็มิได้ให้ความยุติธรรมต่อบุคลากรทางด้านสาธารณสุข

8.             บุคลากรทางด้านการแพทย์ซึ่งเสียสละตนเองเพื่อผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถอยู่แล้ว มิควรถูกผลักภาระให้ต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่ออีกทั้งภาระทางด้านการเงินซึ่งต้องจ่ายให้กองทุนตามร่างพรบ.นี้ ภาระด้านความรับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งการช่วยเหลือควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น

9.             บุคลากรทางด้านการแพทย์จะขาดขวัญและกำลังใจเพราะ ขาดความเชื่อมั่น ความมั่นใจ จนอาจไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถ หรือแม้กระทั่งอาจลาออกจากราชการ หรือเปลี่ยนอาชีพจากทางด้านสาธารณสุขเลยก็เป็นได้

10.        ผู้ที่เสนอกฎหมายนี้อาจมีเงื่อนงำอย่างอื่นซ่อนอยู่ เพราะถ้าหากสามารถเข้าไปเป็นกรรมการในร่างพรบ.นี้ ซึ่งจะมีกองทุนอยู่จำนวนมหาศาล สามารถจะกำหนดเงินเดือน เงินตอบแทนอื่นๆ ได้เอง และสามารถนำเงินในกองทุนไปหาผลประโยชน์แอบแฝงอย่างอื่นได้

 พ.ภีศเดช

9689
สถิติการแพทย์ไทยที่น่าสนใจ
ในการวางแผนจะคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการไปโรงพยาบาลอย่างไรดี

ปัจจุบันนี้ วงการแพทย์และสาธารณสุขไทย กำลังมีประเด็นร้อนเรื่องการที่รัฐบาลและสส.รวมทั้งประชาชน ได้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. .... เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและมีข่าวว่า ประชาชนอยากให้มีกฎหมายนี้ แต่ฝ่ายแพทย์ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ยังไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนี้ ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ กลุ่มแพทย์เหล่านี้ ก็อาจจะถูกมองว่า ไม่อยากให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ผู้เขียน ได้ออกมาแสดงความ “ไม่เห็นด้วย” กับร่างพ.ร.บ.นี้ แต่ไม่ใช่ว่า พวกแพทย์ไม่อยก คุ้มครองประชาชน” แต่การคุ้มครองประชาชนก็ควรจะคุ้มครองทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายผู้ให้การรักษา และฝ่ายได้รับการรักษาด้วย

 ก่อนอื่นก็ขอทำความเข้าใจกับประชาชนว่า บุคลากรทางการแพทย์นั้น ทุกสาขาวิชาชีพ ต่างก็มีจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพกำกับดูแลมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ และมีสภาวิชาชีพ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของวิชาชีพนั้นๆ คอยกำกับดูแล และบังคับให้บุคลากรในการกำกับนั้น ปฏิบัติวิชาชีพอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามมาตรฐานวิชาชีพนั้นๆ ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ไม่ปฏิบัติตามกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมวิชาชีพแล้ว ก็ต้องได้รับโทษทัณฑ์จากสภาวิชาชีพ โดยไม่มีข้อยกเว้น  แต่ทำทในปัจจุบัน ในระยะแปดปีมานี้ มันเกิดอะไรขึ้นในวงการแพทย์ จึงทำให้มีการฟ้องร้อง /ร้องเรียนแพทย์เกิดขึ้นมากมาย ก็จะขอทบทวนว่า “เกิดอะไรขึ้นในวงการแพทย์บ้านเรา

  ภายในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา เกิดสิ่งใหม่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย คือพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ที่ให้สิทธิแก่ประชาชน 46.9 ล้านคน ได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกชนิด โดยจ่ายเงินเพียงครั้งละ 30 บาท และต่อมาในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ยกเลิกการเก็บเงินครั้งละ 30 บาท โดยนพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สธ.ในยุคนั้น อ้างว่า เสียเวลาลงบัญชี

แต่ผลพวงของระบบ 30 บาท(0 บาท) รักษาทุกโรคนี้ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย คือประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสุขภาพเลย แต่ไปเรียกร้องสิทธิ์การรักษามากขึ้น ประชาชนมีความคาดหวังสูง และเมื่อไม่ได้ตามคาดหวัง ก็มีการร้องเรียน/ฟ้องร้องมากขึ้น (เรียกร้องตามสิทธิ์ที่รัฐบาลบอกไว้)
จากสถิติของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช)ซึ่งพอ.(พิเศษ)ผศ.นพ.กิฎาพล วัฒนะกุล ได้บรรยายที่จังหวัดขอนแก่น  ได้แสดงตัวเลขที่น่าสนใจว่า ในปีงบประมาณ 2553 (ตค.52-มีค. 53)ประชาชนมีการร้องเรียน388,493 เรื่อง  แต่เป็นเรื่องสอบถามข้อมูล 381,680 เรื่อง(98.25%) เป็นเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย 1,550 เรื่อง(0.39%) และเป็นเรื่องความเสียหายจากการรักษาเพียง 1,978 เรื่องหรือ 0.51%ของเรื่องร้องเรียน

แต่ถ้าดูจำนวนครั้งที่ประชาชนไปรับการตรวจรักษาแล้ว ในแต่ละปี จะพบว่า ในจำนวนประชาชนทั้งหมด 63 ล้านคนนี้ ไปโรงพยาบาลทั้งสิ้น 200 ล้านครั้ง โดยแบ่งออกเป็นผู้ป่วยนอก 2.7 ครั้งต่อคนต่อปี รวมเป็น 140 ล้านครั้ง เป็นผู้ป่วยใน(นอนรักษาในโรงพยาบาล) อีก 11%ของประชาชนทั้งหมดคือ 6.9 ล้านคน/ปี ถ้าคิดว่าประชาชนนอนรพ.เฉลี่ยครั้งละ 3 วัน เป็นจำนวนที่แพทย์ต้องตรวจวันละอย่างน้อย รวมการผ่าตัดและรักษาอื่นๆวันละ 3 ครั้ง รวมแล้วเท่ากับแพทย์ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยในอีก62.1 ล้านครั้ง รวมแล้วแพทย์ต้องรับภาระตรวจรักษาผู้ป่วย 200,000,000 ครั้งต่อปี แต่เกิดการฟ้องร้องเรื่องความเสียหายแค่ ไม่ถึง 2,000 ครั้ง เท่ากับอัตราการเกิดความเสียหายเพียงไม่ถึง 1 ครั้งต่อการรักษา 100,000 ครั้ง หรือคิดเป็นเพียง 0.001%

  ทีนี้มาดูสถิติแพทย์ไทยบ้าง พบว่าประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด37,598 คน ในจำนวนนี้ รับราชการในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 12,000 คน แต่ในจำนวน 12,000 คนนี้ เป็นผู้บริหารตั้งแต่ระดับสูง กลาง ล่าง เสียเกือบ 4,000 คน ยังเหลือแพทย์ที่ทำงานดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยเพียงประมาณ 8,000 คนเทียบกับภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยปีละ200,000,000 ครั้ง ทำให้แพทย์เหล่านี้ต้องทำงานสัปดาห์ละ 80-120 ชั่วโมง และมีเวลาในการตรวจผู้ป่วยนอก 2-4 นาที่ต่อผู้ป่วย 1 คน ความเสี่ยงต่อความผิดพลาดจากการตรวจรักษาผู้ป่วยก็คงจะเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงต่อการที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจก็คงมากขึ้นเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่จะเกิดการฟ้องร้อง/ร้องเรียนมากขึ้น

  ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไต้หวัน (ไม่ต้องไปเปรียบกับประเทศทางยุโรป ที่เก็บภาษีแพงมาก) ที่มีประชาชนเพียง 23 ล้านคน แต่มีแพทย์จำนวน 50,000 คน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แพทย์ไทยต้องรับภาระมากกว่าแพทย์ไต้หวันอย่างเห็นได้ชัด
 
 จะเห็นได้ว่า คนไทยป่วยมากๆแล้วจึงไปหาหมอ ทำให้อัตราผู้ป่วยในมากกว่าไต้หวันถึง 10 เท่า ในขณะที่อัตราผู้ป่วยนอกของไต้หวันมีถึง 14 ครั้งต่อคนต่อปี มากกว่าอัตราผู้ป่วยนอกของไทยประมาณ 5 เท่า แสดงว่าเขารีบไปหาหมอ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายค่านอนโรงพยาบาลแพง เนื่องจากไต้หวัน เขากำหนดให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินในการไปใช้บริการโรงพยาบาล อัตราการจ่ายเงินก็แตกต่างกันระหว่างผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ทันตกรรม หรือค่ายา ยกเว้นกลุ่มโรคที่มีอาการรุนแรง ผู้มีรายได้น้อย ผู้อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ทหารผ่านศึก และเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ไม่ต้องจ่ายเงิน

ในขณะที่ไต้หวัน มีงบประมาณการประกันสุขภาพ 400,000 ล้านบาทสำหรับหระชาชน 23 ล้านคน แต่ประเทศไทยมี 3 กองทุน สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพมี 120,000 ล้านบาท สำหรับประชาชน 46.9 ล้านคน ฟรีหมด แล้วยังไปจ่ายเงินเดือนบุคลากรอีกส่วนหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ งบประมาณไม่พอใช้

  จากการสัมมนาแปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดโดยแพทยสภา ได้สรุปว่า
การที่ประชาชนไทยได้สิทธิฟรี ทำให้ไม่ดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ไปใช้บริการโรงพยาบาลเหมือนโรงเจ แต่คนจนจริงๆ อาจไม่สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้ เพราะไม่มีค่ารถเดินทางไปโรงพยาบาล

เมื่อคนไปโรงพยาบาลมาก แพทยพยาบาลรับภาระงานมากเกินไป ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงอันตรายเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีความคาดหวังสูง ทำให้การฟ้องร้องสูง เพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวัง และยังสมาารถร้องเรียนได้เงินชดเชยอีก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์แย่ลง

  มีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับมาตรฐานการแพทย์เกิดขึ้น 1,978 เรื่อง ในปีพ.ศ. 2553 โดยแยกเป็นเรื่องร้องเรียนจากเขตต่างๆของสปสช.ดังนี้คือ
1.เขตกรุงเทพมหานคร 61.9%
2.เขตเชียงใหม่ 8.4%
3. เขตสระบุรี 7.1%
4.เขต สงขลา 3.2%
5.เขตสุราษฎร์ธานี 3.2%
6.เขตขอนแก่น 2.6%
7. เขตพิษณุโลก 1.3%
8.เขตนครสวรรค์ 1.3%
9.เขต นครราชสีมา 1.3%

 เป็นเรื่องน่าคิดมากที่เขตกทม.มีศูนย์การแพทย์ที่มีศักยภาพสูงสุดอยู่มากกว่าเขตอื่นๆในประเทศไทย ทำไมจึงเกิดการร้องขอเงินช่วยเหลือมากกว่าเขตอื่นๆอย่างโดดเด่นเช่นนี้ น่าที่คณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขของสปสช.จะไปศึกษาวิเคราะห์ในเชิงลึกต่อไป ว่า มันเป็นเพราะกทม. มีประชาชนอาศัยอยู่มากกว่าที่อื่น (หมายถึงคนต่างจังหวัดและต่างด้าวอพยพมาทำงาน โดยไม่มีทะเบียนบ้าน) ผู้ป่วยอาการวิกฤติถูกส่งต่อมาจากต่างจังหวัดเยอะ ทำให้มาถึงแล้ว แพทย์ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ หรือคนในกรุงเทพมีความคาดหวังสูงเกินไป

 มีการวิเคราะห์ของคณะกรรมการควบคุมมาตรฐานหน่วยบริการสาธารณสุขได้มาคุยเป็นการส่วนตัวกับผู้เขียนว่า โรงพยาบาลและหน่วยบริการปฐมภูมิ (PCU) หลายแห่งไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากมีบุคลากรน้อยเกินไป เช่นหมอ 1 คน ต่อผู้ป่วย 30,000 คน พยาบาล 1 คน ต่อผู้ป่วย 10,000-20,000 คน และที่PCU แห่งนี้ มีเรื่องร้องเรียนมากว่าพยาบาลไม่ยิ้มเลย


 ผู้เขียนก็อึ้งกิมกี่ไปเลย (จะหัวเราะก็มิออก จะร่ำไห้ก็มิได้!) แต่ได้ข่าวว่า ผู้บริหารจะไปจ้างประชาสัมพันธ์ให้มาทำหน้าที่ยิ้มแทนบุคลากร ! และกำลังจะออกพ.ร.บ.มาคุ้มครองผู้เสียหายและทำร้ายบุคลากรพ.ศ. ....

มีข่าวว่าพวกหมอต่อต้านกฎหมายคุ้มครองประชาชน  เพราะหมอไม่รักประชาชนหรือเปล่า? หมอไม่อยากให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัยหรือเปล่า?

ขอตอบตามความเป็นจริงว่า หมอแทบทุกคน ส่วนใหญ่แล้วต้องรักประชาชนยิ่งกว่าตัวเองอยู่แล้ว  หมออยากรักษาประชาชนให้หายป่วย ไม่ต้องตายโดยไม่สมควรตายทุกคน เพราะถ้าหมอรักษาดี ก็จะมีชื่อเสียงขจรขจาย ถ้าหมอรักษาไม่ดี ก็จะมีชื่อเสีย เน่าเหม็นไปทุกวงการ และหมอส่วนมาก ย่อมต้องเสียสละเวลาที่ควรจะเป็นเวลาส่วนตัวกับครอบครัว ทำงานสัปดาห์ละ 80-120 ชั่วโมง เวลากินก็ไม่ได้กิน เวลานอนก็ไม่ได้นอน หวังเพียงช่วยเหลือให้ผู้ป่วยปลอดภัย  โดยมีมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพกำกับอยู่แล้ว มีสภาวิชาชีพคอยลงโทษ มีกฎหมายหลายฉบับที่ลงโทษได้อยู่แล้ว
ประชาชนล่ะ จะให้กำลังใจให้หมออดทนทำงานต่อไปได้แค่ไหน?

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

9690
เมื่อเอ่ยถึง “ลพบุรี” หลายคนนึกถึงจังหวัดที่เต็มไปด้วยลิงและโบราณสถานกลางเมืองซึ่งสะท้อนความเป็นดินแดนที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย แต่ใครหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเมืองละโว้ในอดีตนี้ยังมีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์โลกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ด้วย
       
       ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ.2228 เป็นอีกปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยและดาราศาสตร์โลก ในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้เสด็จทอดพระเนตรจันทรุปราคา ณ พระที่นั่งเย็น จ.ลพบุรี โดยมีคณะเจซูอิตหรือคณะสงฆ์แห่งพระเยซูชาวฝรั่งเศส 6 รูปถวายคำบรรยาย และระหว่างปรากฏการณ์คณะสงฆ์ได้บันทึกข้อมูลระหว่างเกิดคราสในแต่ละนาทีโดยละเอียด และระบุว่าคราสบังถึงหลุมใดของดวงจันทร์บ้าง
       
       ข้อมูลในหนังสือจดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย ด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยบันทึกของ บาทหลวง เจ.เดอฟงเตอเนย์ ซึ่งเป็น 1 ในคณะสงฆ์แห่งพระเยซู ว่าปรากฏการณ์ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทอดพระเนตรกล้องโทรทรรศน์ความยาว 12 ฟุตที่ใช้ในการสังเกตการณ์ อีกทั้งยังพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษต่อคณะสงฆ์ เช่น พระราชทานอนุญาตให้คณะสงฆ์ลุกขึ้นยืนต่อหน้าที่ประทับ และประทับเบื้องหลังคณะสงฆ์เพื่อทอดพระเนตรปรากฏการณ์ เป็นต้น
       
       นายอารี สวัสดี อุปนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าเมืองลพบุรีถือเป็นเมืองดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อ 325 ปีดังกล่าวนั้น คณะสงฆ์แห่งพระเยซูชาวฝรั่งเศสได้เดินทางมาศึกษาปรากฏการณ์และบันทึกข้อมูลโดยละเอียดเพื่อหาเส้นละติจูด (Latitude) หรือเส้นรุ้งและเส้นลองจิจูด (Longitude) หรือเส้นแวง ของเมืองละโว้ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเปรียบเทียบกับหอดูดาวกรุงปารีส
       
       การศึกษาปรากฏการณ์จันทรุปราคาดังกล่าวเพื่อหาตำแหน่งเส้นละติจูดและลองจิจูดนี้ นายอารีบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส เพื่อสร้างแผนที่ซึ่งมีความแม่นยำและเที่ยงตรง โดยมีคณะสงฆ์ที่ได้เดินทางไปเก็บข้อมูลปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งนั้นถึง 18 แห่งทั่วโลก อาทิ เมืองนูเรมเบิร์ก เยอรมนี, กรุงโรม อิตาลี, กรุงปารีส ฝรั่งเศส, กรุงมาดริด สเปน และ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
       
       “ครั้งนั้นเทคโนโลยีดาราศาสตร์ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นมาอยู่ที่ลพบุรี กล้องโทรทรรศน์ที่ดีที่สุด นาฬิกาพก นาฬิกาลูกตุ้มและอุปกรณ์วัดมุมที่ดีที่สุดมารวมอยู่ที่นี่ ข้อมูลจากการสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคาถูกส่งไปให้ จิโอวานนี โดมินิโก แคสสินี* นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีซึ่งเป็นศิษย์เอกของกาลิเลโอ กาลิเลอิ** และอาจกล่าวได้ว่าเป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติโครงการแรกที่เข้ามาในไทย” นายอารีกล่าว
       
       สำหรับพระที่นั่งเย็นนั้น นอกจากเป็นสถานที่เสด็จทอดพระเนตรปรากฏการณ์จันทรุปราคาแล้ว ยังเป็นสถานที่เสด็จทอดพระเนตรปรากฏการณ์สุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. พ.ศ.2231 ด้วย แต่จากบทความในหนังสือจดหมายเหตุดาราศาสตร์จากฝรั่งเศสเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามฯ ซึ่งเขียนโดย นายอารี สวัสดี ระบุว่าไม่อาจค้นคว้าได้ว่ามีการจดบันทึกการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนั้นหรือไม่ เพราะเกิดการปฏิวัติในปีเดียวกันนั้น และต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 ก.ค.2231
       
       อีกสถานที่สำคัญสำหรับดาราศาสตร์ไทยคือ “วัดสันเปาโล” ซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งแรกของไทยที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และยังเป็นบ้านพักที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่บาทหลวงนักวิทยาศาสตร์จากราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยสร้างขึ้นใน พ.ศ.2228 และมีรูปแบบคล้ายกับหอดูดาวกรุงปารีสที่สร้างขึ้นก่อนหอดูดาววัดสันเปาโลเพียง 21 ปี แต่ปัจจุบันหอดูดาววัดสันเปาโลหลงเหลือเพียงซากและโครงสร้างบางส่วนเท่านั้น ขณะที่หอดูดาวกรุงปารีสยังค่อนข้างสมบูรณ์อยู่
       
       จากความสำคัญของวัดสันเปาโลอายุกว่า 300 ปีนี้ ในปี 2552 ซึ่งเป็นปีดาราศาสตร์สากล (International Year of Astronomy) ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จึงได้สถาปนาให้เป็นหนึ่งในจุดสำคัญทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย (Establishment of Astronomical Landmark in Thailand) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ
       
       ทั้งนี้ เราทราบถึงความรุ่งเรืองของดาราศาสตร์ยุคใหม่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์จากเอกสารที่บันทึกโดยคณะทูตและคณะสงฆ์แห่งพระเยซูจากฝรั่งเศส โดย นายภูธร ภูมะธน ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณสถานและสิ่งแวดล้อม จ.ลพบุรี เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสืบค้นเอกสารเกี่ยวกับดาราศาสตร์ไทยในยุคดังกล่าว ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดของหอดูดาวกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเขาได้มอบให้แก่สมาคมดาราศาสตร์ดำเนินการแปลต่อไป
       
       “ลพบุรีเป็นเมืองที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานการศึกษาดาราศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ สมเด็จพระนารายณ์ทรงสนพระทัยศึกษาวิจัยด้วยตนเอง มีแง่มุมดาราศาสตร์ที่โดดเด่นมาก ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองไม่แตกต่างกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ซึ่งสถานที่สำคัญๆ ทางดาราศาสตร์ของลพบุรีมีอย่างน้อย 2 แห่ง คือ วัดสันเปาโลและพระที่นั่งเย็น เมืองนี้เป็นเมืองที่มีหลักฐานว่าครั้งหนึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยเรื่องนี้ และมีหลักฐานจริง จงภูมิใจในประวัติศาสตร์ของพวกเรา” นายภูธรกล่าว
       
       แม้ความรุ่งเรืองของดาราศาสตร์ยุคใหม่ในไทยจะเหลือให้เห็นเพียงซากปรัก แต่อย่างน้อยร่องรอยที่ทิ้งไว้ได้สะท้อนให้เห็นพระราชวิสัยทัศน์อันก้าวหน้าและยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต และเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้น้อมนำไปเป็นแบบอย่าง
 
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 กรกฎาคม 2553 

หน้า: 1 ... 644 645 [646] 647 648 ... 652