ผู้เขียน หัวข้อ: ความลับแห่งราชตระกูลตุตันคามุน(สารคดีเนชั่นแนลจีโิอกราฟฟิก)  (อ่าน 6039 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด

เมื่อปี 2005 การทำซีทีสแกนมัมมี่ของตุตันคามุนทำให้เราทราบว่า พระองค์หาได้สิ้นพระชนม์จากการถูกตีหรือถูกของแข็งกระแทกที่พระเศียรอย่างที่หลายคนเชื่อกัน ผลการวิเคราะห์ทำให้เราทราบว่า รูที่ด้านหลังกะโหลกพระเศียรเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำมัมมี่ นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ว่า ฟาโรห์พระองค์นี้สิ้นพระชนม์ในวัยเพียง 19 พรรษา และอาจเกิดขึ้น  ไม่นานหลังหลังจากพระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บจากพระเพลาข้างซ้ายหัก มาวันนี้ เราได้ศึกษามัมมี่ของพระองค์อย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น จนค้นพบข้อเท็จจริงอันน่าทึ่งเกี่ยวกับพระประวัติ  กำเนิดชาติสกุล และวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

              การวิเคราะห์ดีเอ็นเอของตุตันคามุน รวมทั้งดีเอ็นเอของมัมมี่อื่นๆอีก 10 ร่างที่สันนิฐานว่าเป็นพระประยูรญาติใกล้ชิดที่สุดของพระองค์ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2008 ในห้องปฏิบัติการล้ำสมัยซึ่งตั้งขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะสองแห่ง แห่งแรกที่ชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโรแห่งที่สองที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไคโร

              เรารู้มาก่อนหน้านี้แล้วว่ามัมมี่ 4 ร่างจากทั้งหมดเป็นใครบ้าง หนึ่งคือฟาโรห์ตุตันคามุนซึ่งพระศพยังอยู่ที่สุสานในหุบผากษัตริย์ ส่วนอีกสามร่างจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ ได้แก่ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม ยูยาและทูยู ผู้เป็นบิดาและมารดาของพระนางไทยี ราชินีผู้ยิ่งใหญ่ในฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม ส่วนมัมมี่ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้นั้นประกอบด้วยชายที่พบในสุสานลึกลับแห่งหนึ่งในหุบผากษัตริย์ที่เรียกกันว่า เควี 55 (KV55) ทั้งนี้ หลักฐานทางโบราณคดีและลายลักษณ์อักษรชี้ไปในทางที่ว่า มัมมี่ร่างนี้น่าจะเป็นฟาโรห์อเคนาเตนหรือไม่ก็สเมงห์คาเรผู้ลึกลับ
              ขณะที่การสืบหาพระมารดาของตุตันคามุน ทีมงานพุ่งเป้าไปที่มัมมี่หญิงนิรนาม 4 ร่าง สองร่างในจำนวนนี้ที่เรียกกันว่า “สตรีผู้สูงวัย” (Elder Lady) และ “หญิงสาวผู้อ่อนเยาว์” (Younger Lady) ถูกค้นพบเมื่อปี 1898 ส่วนอีกสองร่างเป็นมัมมี่เพศหญิงที่พบในสุสานขนาดเล็ก  (เควี 21)  ในหุบผากษัตริย์   และท้ายที่สุด   เราจะพยายามสกัด ดีเอ็นเอจากซากทารกในครรภ์สองร่างที่พบในสุสานตุตันคามุน ซึ่งดูไม่น่ามีความหวังนัก เนื่องจากมัมมี่ทั้งสองอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก แต่ถ้าทำสำเร็จ เราอาจค้นพบชิ้นส่วนที่ขาดหายของปริศนาแห่งราชวงศ์ที่ยาวนานถึงห้าชั่วคน

นักพันธุศาสตร์จะทำการสกัดเนื้อเยื่อจากหลายๆจุดทั่วร่างของมัมมี่ โดยมักเจาะลึกลงไปในกระดูก เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีการปนเปื้อนจากนักโบราณคดีรุ่นก่อนๆหรือนักบวชผู้ทำมัมมี่ หลังจากสกัดตัวอย่างเสร็จแล้ว ดีเอ็นเอจะถูกนำไปสกัดแยกสารประกอบที่ไม่พึงประสงค์ รวมทั้งขี้ผึ้งและยางไม้ที่นักบวชใช้ในการรักษาสภาพศพ

นักวิชาการจำนวนมากเชื่อว่า พระบิดาของตุตันคามุนน่าจะเป็นฟาโรห์อเคนาเตน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมิอาจตัดสเมงห์คาเรผู้ลึกลับทิ้งได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงพอ แต่กระนั้น น้ำหนักของหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และการเปรียบเทียบลำดับเวลาก็ค่อนข้างโน้มเอียงไปทางฟาโรห์อเคนาเตนมากกว่า

การสืบหาความสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตทำได้จากการแยกดีเอ็นเอของมัมมี่ ตามด้วยกระบวนการเปรียบเทียบโครโมโซมวายของอเมนโฮเทปที่สาม หรือมัมมี่เควี 55 กับตุตันคามุน เพื่อหาความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม (เพศชายที่มีความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติจะมีรูปแบบดีเอ็นเอในโครโมโซมวายเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะจีโนม (กลุ่มยีน) ในเซลล์ของผู้ชายส่วนนี้ได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากพ่อ) แต่หากต้องการระบุความสัมพันธ์ที่แม่นยำ ต้องอาศัยกระบวนการตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (genetic fingerprinting) ที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ด้วยการเปรียบเทียบตำแหน่งความแปรผันของรูปแบบการเรียงตัวอักษรดีเอ็นเอ ได้แก่ตัว เอ, ที, จี และซี ที่รวมกันเป็นรหัสพันธุกรรมเพียงแปดตำแหน่ง ก็เพียงพอให้ทีมงานวิเคราะห์ความน่าจะเป็นที่มากกว่าร้อยละ 99.99 ว่า ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สามเป็นพระบิดาของมัมมี่นิรนามที่พบในสุสานเควี 55 ซึ่งเป็นพระบิดาของตุตันคามุนอีกทอดหนึ่ง           

แล้วใครคือพระมารดาของตุตันคามุนกันเล่า     พวกเราประหลาดใจไม่น้อยที่พบว่า ดีเอ็นเอของหญิงสาวผู้อ่อนเยาว์ (เควี 35 วายแอล) ที่พบเคียงข้างพระศพของพระนางไทยีในสุสานย่อยภายในสุสานของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่สาม (เควี 35) ตรงกับของยุวกษัตริย์ ที่น่าประหลาดใจขึ้นไปอีกคือ ดีเอ็นเอของมัมมี่ดังกล่าวยังชี้ว่าพระนางเป็นพระธิดาในอเมนโฮเทปที่สามกับพระนางไทยี ผู้เป็นพระราชบุพการีของอเคนาเตนเช่นกัน นั่นหมายความว่าอเคนาเตนทรงมีพระโอรสกับพระภคินีร่วมสายพระโลหิต (พี่น้องแท้ๆ) และโอรสพระองค์นั้นก็คือตุตันคามุน

การค้นพบดังกล่าวทำให้เราทราบว่า ทั้งพระมเหสีเนเฟอร์ตีติและพระชายาคิยาในฟาโรห์อเคนาเตน ไม่น่าจะเป็นพระมารดาของตุตันคามุน เพราะไม่มีหลักฐานจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ทั้งสองพระองค์เป็นพระภคินีร่วมสายพระโลหิตกับอเคนาเตน แม้การสมสู่ร่วมสายโลหิต (incest) จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในหมู่สมาชิกราชวงศ์อียิปต์โบราณ แต่ผมเชื่อว่าในกรณีนี้ส่งผลต่อการสิ้นพระชนม์แต่วัยเยาว์ของพระโอรสผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของทั้งสองพระองค์                                                 

พันธุศาสตร์น่าจะเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจเกี่ยกกับประวัติศาสตร์อียิปต์ โดยเฉพาะภาพซีทีสแกนในปี 2005 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระบาทซ้ายของตุตันคามุนเป็นโรคเท้าปุก (clubfoot) และพระอัฐิ (กระดูก) บางส่วนของพระบาทข้างนั้นถูกทำลายจากภาวะการตายเฉพาะส่วน (necrosis) โรคกระดูกน่าจะทำให้พระองค์ทรงทุพพลภาพ แต่คงไม่หนักหนาสาหัสถึงขนาดทำให้สิ้นพระชนม์ เพื่อศึกษาถึงสาเหตุที่น่าจะทำให้สิ้นพระชนม์  เราจึงทดสอบมัมมี่ของพระองค์เพื่อหาร่องรอยทางพันธุกรรมของโรคติดเชื้อหลายชนิด เมื่ออ้างอิงจากการพบร่องรอยดีเอ็นเอของปรสิตพลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม (Plasmodium falciparum) หลายสายพันธุ์  ทำให้เรารู้แน่ชัดว่าตุตันคามุนทรงติดเชื้อไข้มาลาเรีย และที่สำคัญคือทรงติดเชื้อชนิดร้ายแรงที่สุดหลายต่อหลายครั้งเสียด้วย

                อาจเป็นไปได้ว่า มาลาเรียคร่าชีวิตยุวกษัตริย์พระองค์นี้ เพราะโรคอาจไปกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดการช็อกของระบบไหลเวียนโลหิต (circulatory shock) อันนำไปสู่ภาวะตกเลือด ชัก โคม่า และสิ้นพระชนม์ในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนแย้งว่า มาลาเรียอาจเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในยุคนั้นและตุตันคามุนน่าจะทรงมีภูมิคุ้มกันบ้างแล้ว                                                     

                อย่างไรก็ดี ผมมองว่าพระพลานามัยของตุตันคามุนไม่ได้สมบูรณ์มาตั้งแต่ยังอยู่ในพระครรภ์ด้วยซ้ำ พระบิดาและพระมารดาของพระองค์ต่างทรงเป็นพี่น้องร่วมสายพระโลหิต การที่พี่น้องแต่งงานกันเองย่อมมีแนวโน้มจะถ่ายทอดยีนด้อยที่ตรงกัน ทำให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสเสี่ยงต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมหลายลักษณะ ฝ่าพระบาทที่ผิดรูปผิดร่างของตุตันคามุนอาจเป็นผลมาจากความบกพร่องดังกล่าว เราสงสัยว่าพระองค์อาจมีพระอาการเพดานโหว่บางส่วน ซึ่งเป็นความพิการแต่กำเนิดชนิดหนึ่ง บางทีพระองค์อาจทรงทนทุกข์ทรมานจากภาวะอื่นๆอีกด้วย จนกระทั่งพระโรคมาลาเรียขั้นรุนแรงหรือพระเพลาที่หักจากอุบัติเหตุ กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พระพลานามัยอันบอบบางอยู่แล้วไม่อาจแบกรับพยาธิสภาพได้อีกต่อไป                                                                                 

               นอกจากนี้ ยังอาจมีความจริงอันน่าปวดร้าวซึ่งเป็นผลพวงของธรรมเนียมการอภิเษกสมรสกับเชื้อพระวงศ์ร่วมสายพระโลหิต ฝังอยู่ในสุสานตุตันคามุนด้วย แม้ข้อมูลที่มีอยู่จะยังไม่สมบูรณ์นัก แต่การศึกษาของเราบ่งชี้ว่า หนึ่งในมัมมี่ทารกในครรภ์ที่พบนั้นเป็นพระธิดาของพระองค์ ส่วนมัมมี่ทารกอีกพระศพหนึ่งนั้นก็อาจเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของพระองค์ด้วยเช่นกัน                                                                                                                                 

               จนถึงขณะนี้ เราเพิ่งได้ข้อมูลบางส่วนจากมัมมี่เพศหญิงสองร่างที่พบในสุสานเควี 21 หนึ่งในนั้นคือเควี 21 เอ ที่น่าจะเป็นพระมารดาของทารกในครรภ์ทั้งสอง ซึ่งก็คืออังเคเซนามุน พระชายาของตุตันคามุนนั่นเอง เราทราบจากประวัติศาสตร์ว่า พระนางเป็นพระธิดาของฟาโรห์อเคนาเตนกับพระนางเนเฟอร์ตีติ ดังนั้นจึงน่าจะเป็นพระภคินี (พี่สาวหรือน้องสาว) ต่างพระมารดากับพระสวามี ผลที่ตามมาของการอภิเษกสมรสกันเองนี้คือทารกในครรภ์ที่มีความบกพร่องทางพันธุกรรมจนไม่สามารถลืมตาดูโลกได้

              บางทีนี่อาจเป็นบทอวสานของละครเรื่องนี้ องค์ยุวกษัตริย์และพระราชินีทรงพยายามสร้างรัชทายาทเพื่อสืบราชบัลลังก์อียิปต์ แต่ต้องทรงผิดหวัง ท่ามกลางกองศิลปวัตถุงดงามตระการตาที่ฝังรวมกับพระศพฟาโรห์ตุตันคามุน มีหีบประดับด้วยงาช้างใบน้อยรวมอยู่ด้วย บนหีบมีภาพสลักคู่สมรสผู้ทรงศักดิ์ ตุตันคามุนทรงเอนพระวรกายพิงธารพระกร ขณะที่พระมเหสีทรงยื่นช่อดอกไม้ถวายพระองค์ ในภาพสลักนี้และภาพอื่นๆจะเห็นได้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงรักใคร่กันอย่างดูดดื่ม เราทราบกันว่าหลังการสรรคตของตุตันคามุน ราชินีแห่งอียิปต์ซึ่งน่าจะเป็น       อังเคเซนามุน ได้ทรงร้องขอต่อกษัตริย์แห่งฮิตไทต์ อริราชศัตรูของอียิปต์ ให้ส่งเจ้าชายมาเพื่ออภิเษกกับพระนาง โดยทรงให้เหตุผลว่า “พระสวามีของหม่อมฉันสิ้นพระชนม์แล้ว และหม่อมฉันไม่มีโอรส” กษัตริย์แห่งฮิตไทต์ส่งพระโอรสองค์หนึ่งมา แต่กลับมีอันเป็นไปก่อนเสด็จถึงอียิปต์ ผมเชื่อว่าพระองค์อาจถูกลอบปลงพระชนม์โดยโฮเรมเฮบ แม่ทัพใหญ่ของกองทัพฟาโรห์ตุตันคามุน ผู้ซึ่งท้ายที่สุดได้ปราบดาภิเษกยึดครองราชบัลลังก์เสียเอง

กันยายน 2553