ผู้เขียน หัวข้อ: คนไทยอายุยืนขึ้น ขณะสัดส่วนแม่วัยรุ่นเพิ่ม 3 เท่า  (อ่าน 1466 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
เผย คนไทยอายุยืนขึ้น ชาย 69.5 ปี หญิง 76.3 ปี สอดคล้องอัตราการตายของวัยแรงงานลดลงเหลือ 3.2% ต่อพันคน เหตุ คนไทยสุขภาพดีขึ้น คนจนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น แต่การควบคุมโรคเรื้อรังยังน่าห่วง สลด สัดส่วนแม่วัยรุ่นเพิ่มเกือบ 3 เท่า แถมอายุน้อยลง อยู่ที่ 10-14 ปี
      
       รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะบรรณาธิการหนังสือรายงานสุขภาพคนไทย 2554 กล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำรายงานสุขภาพคนไทย 2554 โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายปี 2551-2552 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และข้อมูลจากแหล่งต่างๆ โดยรายงานนี้ใช้กรอบตัวชี้วัดสุขภาพแห่งชาติ 12 หมวด ประกอบด้วยหลายมิติ เช่น สุขภาพกาย สุขภาพจิต พฤติกรรมสุขภาพ ความมั่นคง การเข้าถึงบริการสุขภาพ เป็นต้น โดยรวมพบว่า แนวโน้มคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีภาวะอ้วนและอ้วนลงพุง 34.7% และ 32.1% ขณะที่สัดส่วนแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 5.6% ในปี 2501 เพิ่มเป็น 15.5% ในปี 2551 โดยเฉพาะกลุ่มแม่วัยรุ่นอายุ 10-14 ปี มีอัตราการคลอดบุตรเพิ่มมากขึ้น

 “ด้านสุขภาพจิต พบว่า คะแนนเฉลี่ยสุขภาพจิตและความสุขในการดำรงชีวิตสูงขึ้น เห็นได้จากอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจาก 8.6% ต่อประชากรแสนคน ลดเหลือ 5.7% ต่อประชากรแสนคน ด้านความมั่นคงของสังคม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ถือว่าช่องว่างทางเศรษฐกิจคนไทยอยู่ในระดับสูง และไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง กลุ่มคนรวยมีรายได้ 54-59% ของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่กลุ่มคนจนมีรายได้รวมร้อยกว่า 5% กลุ่มคนรวยที่สุดจึงมีรายได้เฉลี่ยมากกว่ากลุ่มคนจนที่สุดถึง 11.3 เท่า” รศ.ดร. ชื่นฤทัย กล่าว
       
       ดร.ทพ.ญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการคาดการณ์ในปี 2554 คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น เพศชายอยู่ที่ 69.5 ปี เพศหญิงอยู่ที่ 76.3 ปี สอดคล้องกับอัตราเสียชีวิตของวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง เฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% ต่อประชากรพันคน จาก 10 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 4.1% สาเหตุที่คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นเพราะคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และอุบัติเหตุยังมีอัตราสูง ต้องเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขต่อไป
       
       นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สวรส. กล่าวว่า คนไทยมีรายจ่ายด้านสุขภาพอยู่ที่ 3.5-4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เมื่อพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมและการเข้าถึงบริการสุขภาพ พบว่า การที่ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า(บัตรทอง) ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ในระดับหนึ่ง โดยมีจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลลดลงจาก 280,000 ครอบครัวในปี 2543 เหลือ 88,000 ครัวเรือนในปี 2551 และลดลง ในทุกภาคของประเทศ โดยภาคอีสานลดลงมากที่สุด ขณะที่การวิเคราะห์คุณภาพและประสิทธิภาพของระบบ บริการสุขภาพ พบว่า การรักษาโรคให้ผู้ป่วยในมีประสิทธิภาพดีขึ้น แต่การรักษาโรคเรื้อรังของผู้ป่วยนอกยังมี ประสิทธิภาพการรักษาต่ำเห็นได้จากการมีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยสาเหตุ โรคแทรกซ้อน เฉียบพลันจากโรคเรื้อรังที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจวาย หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ลมชัก เป็นต้น แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยมากขึ้น แต่การดูแลควบคุม โรคเรื้อรัง ไม่ให้เกิดภาวะ แทรกซ้อนกลับทำได้ต่ำ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 มิถุนายน 2554