ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำท่วม “ไฟช๊อต” คร่าชีวิต 36 ศพ ใน 15 จังหวัด "นนทบุรี" นำโด่ง  (อ่าน 1484 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
กรมควบคุมโรค เผย มีผู้เสียชีวิตจากถูกไฟฟ้าช๊อตแล้วกว่า 36 ราย ใน 15 จังหวัด นนทบุรี ครองแชมป์ 9 ศพ ชี้มีแนวโน้มสูงขึ้น  ด้านรองเลขาฯ แพทยสภา แนะวิธีรับมือเบื้องต้น วอนสื่อที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ชาวบ้านด้วย

วันที่ 30 ตุลาคม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช๊อตในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2554 ทั้งหมด 36 ราย ใน 15 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง โดยจังหวัดที่มีรายงานผู้ที่เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวมากที่สุด คือ นนทบุรี 9 ราย รองลงมาคืออยุธยา 6 ราย ลพบุรีและนครปฐมจังหวัดละ 3 ราย เป็นผู้ชาย 2.6 เท่าของเทียบกับผู้หญิง อายุเฉลี่ย 44 ปี (น้อยสุด 16 มากที่สุด 79 ปี) พบเสียชีวิตในเดือนสิงหาคม 3 ราย กันยายน 13 ราย และตุลาคม 20 ราย

รายงานระบุด้วยว่า เกือบครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิต (ร้อยละ 47) เกิดในช่วงสัปดาห์แรกหลังวันที่น้ำเริ่มท่วม โดยเป็นวันเดียวกับที่น้ำท่วมร้อยละ 12.5 แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่เสียชีวิตหลังจากที่น้ำท่วมไปแล้วหลายเดือน โดยระยะเวลาที่นานที่สุดที่พบคือ 3 เดือน มี 19 ราย ที่เสียชีวิตภายในบ้าน ซึ่งส่วนมากผู้เสียชีวิตจะสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ปลั๊กไฟ ตู้เย็น ปั๊มน้ำ ชาร์ตสายโทรศัพท์มือถือ หรือสัมผัสเครื่องใช้ที่มีคุณสมบัติเหนี่ยวนำไฟฟ้า และมี 6 ราย ที่เสียชีวิตขณะเดินทาง เช่น พายเรือเหล็กไปเก็บของบริเวณบ้านและโดนไฟฟ้ารั่วบริเวณบ้าน ขับขี่รถจักรยานยนต์ไฟบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่น้ำท่วม เป็นต้น

ทั้งนี้  กรมควบคุมโรค สรุปภาพรวม พบว่า  ผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช๊อตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบมากในพื้นที่จังหวัดภาคกลางที่เป็นเขตเมือง โดยที่สาเหตุการถูกไฟฟ้าช็อตมีทั้งที่ไปจับหรือแตะปลั๊ก สวิทซ์ไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ในขณะที่ตัวเปียกน้ำ นอกจากนี้ยังเกิดจากการจับสิ่งที่สามารถเป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น เหล็ก หรือไม้ที่เปียกน้ำซึ่งสัมผัสกับสายไฟ หรือการเข้าไปใกล้บริเวณที่มีเสาไฟฟ้าหรือสายไฟที่รั่วในรัศมีน้อยกว่า 2 เมตร

ขณะที่นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ. อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวกับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปว่า เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าช๊อตควรระมัดระวังใน 3 ระยะ คือ ก่อนน้ำท่วม ขณะที่น้ำท่วม และหลังน้ำท่วม โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หากถูกไฟช๊อตเกินเวลากว่า 0.04 วินาที กระแสไฟจะมุ่งสู่หัวใจทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิต

ข้อควรจำ!

หากจะแตะอะไรที่เสี่ยงจะมีกระแสไฟ ต้องใช้ “หลังมือ” สัมผัสเสมอ เพราะหากไฟช๊อต มือจะเด้งกลับเข้าหาตัว เช่น ถ้าเจอน้ำไม่รู้ว่ามีไฟหรือไม่ ให้ใช้หลังมือแตะก่อน ถ้ามือไม่เด้งเข้าหาตัว ก็สามารถเข้าไปได้

เหตุที่ไม่ควรใช้ “หน้ามือ” สัมผัส เนื่องจาก ไฟจะช๊อตทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมอวัยวะชิ้นนั้นได้ เกิดอาการกระตุกเกรงในเชิงบีบรัดมากยิ่งขึ้น ทำให้คนที่กำลังโดนไฟช๊อตไม่สามารถดึงมือออกได้ และอยู่จนเกิน 0.04 วินาที จนกระแสไฟฟ้าแล่นเข้าสู่หัวใจและเสียชีวิต ดังนั้น!! เมื่อเจอคนหมดสติ นอนอยู่ในสภาพตัวเปียก หากจะเข้าไปช่วย ให้ใช้ “หลังมือ” แตะดูก่อน

ข้อควรระวังอีกประการ คือ พาหนะ เช่น เรือที่เป็นเหล็ก เมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่มีไฟรั่วจะเสี่ยงอันตราย รวมทั้ง การบริการสาธารณด้วยเครื่องไฟฟ้า เช่น ตู้เติมเงิน ตู้ขายของ ตู้เอทีเอ็ม หากจะเข้าไปใกล้โปรดระวัง เมื่อเสี่ยงหรือเริ่มมีน้ำท่วมภาครัฐโปรดเข้ามาตัดไฟ

หมายเหตุ : เนื่องจากว่ากระแสไฟฟ้ายิ่งใกล้ตัวปลั๊กจะยิ่งแรงกว่าไกลปลั๊ก ดังนั้น เมื่อรั่วลงน้ำ หากผู้ประสบภัยอยู่ใกล้ปลั๊กจะถูกช๊อตแรงกว่า ดังนั้น ห้ามลุยน้ำเลย ให้ใช้ไขควงไฟฟ้าหรือหลังมือแตะดูก่อน ในระยะที่ “อยู่ไกลปลั๊ก”

1.ก่อนน้ำท่วม

ผู้ประสบภัยควรสังเกตว่าในละแวกบ้านมี “ปลั๊กไฟ” อะไรอยู่บ้าง เช่น ปลั๊กตู้เย็น ปลั๊กปั้มน้ำ ซึ่งมักจะอยู่ต่ำและถูกหลงลืมได้ง่าย เมื่อตัดไฟแล้ว หรือลืมตัดก็ตาม มักจะเกิดไฟรั่ว มีผลทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ แม้จะสับคัตเอาท์ใหญ่ลงแล้ว ควรใช้ไขควงไปเทสต์ไฟดูอีกครั้งด้วยว่ามีไฟรั่วเข้ามาหรือไม่

2.ขณะที่น้ำท่วม

ตัดไฟชั้นที่น้ำท่วมทั้งหมด และไม่แนะนำให้อยู่ในพื้นที่ที่มีไฟฟ้า เช่น ยกทีวีขึ้นสูงเปิดทีวีในขณะที่น้ำท่วมภายในบ้าน เพราะมีโอกาสไฟรั่วได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ถูกช๊อตมากกว่า คือ กลุ่มที่ออกจากบ้านแล้วไม่ถอดปลั๊กไฟออก เมื่อกลับเข้าบ้าน น้ำได้ท่วมปลั๊กไปแล้วจึงโดนช๊อต ด้วยเพราะคาดว่าน้ำไม่น่าท่วม

3.การช่วยเหลือ

3.1 เมื่อพบผู้ถูกไฟช๊อตให้รีบตัดไฟ สับคัตเอาท์ลง แล้วใช้ผ้าแห้งดึง กระตุกออก ห้ามใช้มือ จะตายคู่

3.2 เจอคนหมดสติ อาจถูกไฟช๊อต ให้ตรวจว่าไฟยังมีหรือไม่ โดยแตะด้วยหลังมือ หากกระตุกกลับแสดงว่ายังมีไฟ ห้ามใช้ฝ่ามือ

3.3 ถ้าตัวมีไฟ ให้คล้องลากมาที่แห้งก่อน จับชีพจร ถ้าไม่เต้นหรือเรียกไม่ตื่น ให้จับอ้าปากดูฟันปลอม นำอาหารออกก่อนปั๊มหัวใจ

3.4 หากเจอผู้ถูกไฟช๊อตหมดสติอยู่ให้ปั๊มหัวใจ 60-80 ครั้ง/วินาที ถ้ามีคนช่วยเป่าปากด้วยก็จะกระตุ้นได้ และโทร 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ด่วน เพื่อเร่งนำส่งโรงพยาบาล หากหมดสติน้อยกว่า 5 นาที มีโอกาสรอด แต่ถ้าล้มลงแล้วมีแผลแตก ฉีกขาดควรปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน

3.5 ไฟช๊อตแม้ไม่หมดสติ หรือฟื้นขึ้นมาแล้วเจ็บหน้าอก เหนื่อย หายใจไม่ออก มักมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย ให้รีบพบแพทย์ และหากมีกล้ามเนื้อเกร็ง ข้อพับยืดไม่ออก อาจเกิดจากกล้ามเนื้อไหม้ ให้พบแพทย์เช่นกัน

ดังนั้น ในช่วงที่มีความเสี่ยงว่าน้ำจะท่วมบ้าน ควรให้คนที่มีอายุน้อยและยังแข็งแรงที่สุดในบ้าน ได้เรียนรู้วิธีการปั๊มหัวใจอย่างถูกต้องและการกู้ชีพพื้นฐานไว้ด้วย

4.หลังน้ำท่วม

เมื่อน้ำลดหรือแห้งสนิทแล้ว จะเปิดคัตเอาท์ไฟ ต้องสำรวจไฟรอบบ้านให้เรียบร้อยก่อนว่ามีไม่มีจุดไหนไฟรั่ว เพราะขั้นตอนนี้ก็มีความสำคัญและเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวด้วยว่า ในแต่ละวันมีสายโทรเข้ามาแจ้งเหตุว่าถูกไฟช๊อต และไฟรั่วมากกว่า 50 รายต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะแก้สถานการณ์ได้ทัน แต่ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟช๊อตอยู่เสมอๆ อยากให้สื่อมวลชนที่เข้าไปสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยในบ้านที่ถูกแช่น้ำเปียก แล้วเปิดทีวีอยู่ อธิบายกับผู้ประสบภัยถึงอันตรายของการเกิดไฟรั่ว ไฟช๊อตด้วย อย่าให้เห็นว่าไฟฟ้าน่ารักน่าใช้ โดยลืมคำนึงถึงอันตราย

    เขียนโดย สาธินีย์ วิสุทธาธรรม
    วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2011 เวลา 12:22 น.
thaireform.in.th