ผู้เขียน หัวข้อ: คำถามเดิมที่ยังรอคำตอบ…มีสารเคมีอันตรายอะไรบ้างในโรงงานอุตสาหกรรม(ที่ถูกน้ำท่วม)  (อ่าน 1295 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
อุทกภัยในประเทศไทยที่ผ่านๆ มา ถ้าไม่นับน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดในปี พ.ศ. 2554 นี้ ความเสียหายส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภาคการเกษตร เรือกสวนไร่นา

ตลอดจนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำที่เกิดอุทกภัย และได้รับความสนใจน้อยจากผู้ที่อยู่ในภาคส่วนอื่นๆ แต่อุทกภัยใหญ่ครั้งนี้มีผลกระทบไปถึงภาคอุตสาหกรรม ทำให้นิคมอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของประเทศ 7 แห่ง คือ นิคมสหรัตนนคร นวนคร บ้านหว้า (ไฮเทค) บางปะอิน แฟคตอรี่แลนด์ โรจนะ และ บางกะดี จมน้ำ จนเกิดความเสียหายในภาคอุตสาหกรรมที่มีผู้ประเมินค่าเชิงเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงพยายามกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายโดยเร่งและเริ่มสูบน้ำออกจากนิคมฯ โดยที่ยังไม่มีรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการวิเคราะห์สิ่งเจือปนที่อาจจะมีอยู่ในน้ำก่อนเริ่มกระบวนการสูบน้ำออก ทำให้เกิดข้อทักท้วงจากนักวิชาการว่า มีความเสี่ยงต่อการกระจายสารพิษ (ที่อาจจะมี) สู่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ที่มาของความกังวล คือ การไม่มีข้อมูลว่าในแต่ละโรงงานมีสารเคมีอันตรายอะไรบ้าง ปริมาณเท่าใด และสารปนเปื้อนในน้ำที่ท่วมขังอยู่อาจเป็นสารที่อยู่ในน้ำเสียที่ปล่อยออกมา สารจากกระบวนการผลิต รวมถึงวัตถุดิบที่ไม่สามารถขนย้ายได้ทัน และอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถคาดคะเนได้เลยว่า จะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่จะต้องรองรับน้ำหรือไม่ อย่างไร และมากน้อยเพียงใด
 
ข้อที่น่าสังเกตคือ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ ที่ถูกน้ำท่วมขังแต่ละแห่งน่าจะบอกภาพรวม (ซึ่งไม่ใช่ความลับเชิงการค้า) ได้ว่าในน้ำที่ท่วมโรงงานอยู่อาจมีสารเคมีอันตรายอะไรอยู่บ้าง การตัดสินใจสูบน้ำออกก็สามารถทำได้โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่และจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
 
การขาดข้อมูลการผลิต การใช้ และการกระจายสารเคมีในประเทศไทยไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ และไม่ได้เป็นเฉพาะภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นจริงในภาคการเกษตรและอื่นๆ ด้วย ขณะที่ประเทศไทยมีทั้งกฎหมายและข้อบังคับอยู่เป็นจำนวนมากที่ระบุความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ในการจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีไปยังหน่วยงานควบคุมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย โดยมีรูปแบบและระบบสารสนเทศที่เอื้อผู้ประกอบการในการนำข้อมูล (ดูบทความ “ระบบข้อมูลสารเคมีเพื่อการเริ่มต้นแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด” ซึ่งเผยแพร่โดยหน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=3&ID=25) ตัวอย่างเช่น

- การขออนุญาตประกอบกิจการ โรงงานต้องให้ข้อมูลปริมาณการใช้วัตถุดิบ (ซึ่งรวมถึงสารเคมี) และแหล่งที่มา
 
- การประกอบการ (การผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง) ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายตามบัญชีพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายจะต้องมีการขึ้นทะเบียน การขออนุญาต การแจ้งดำเนินการ การแจ้งข้อเท็จจริง ฯลฯ
 
- การแจ้งปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์รายเดือน (สำหรับประเภทหรือชนิดโรงงาน 90 ลำดับ)
 
- การจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยง (โรงงาน 12 ประเภท)

- การจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน (โรงงาน 18 ประเภท)
 
ข้อเท็จจริงก็คือทุกครั้งที่มีปัญหาอุบัติภัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดระเบิด ไฟไหม้ การรั่วไหล รวมทั้งการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่คราวนี้ ก็จะมีผู้ชี้ว่าต้องมีข้อมูลที่เพียงพอและทันสมัยสำหรับใช้แก้ไขปัญหาพร้อมทั้งข้อเสนอแนะให้มีการเก็บและเปิดเผยข้อมูล เมื่อเกิดอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้ ก็มีการชี้ปัญหาการขาดข้อมูล และข้อเสนอเดิมๆ ปรากฏขึ้นอีก
 
หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอใช้โอกาสนี้ ในการเสนอลักษณะข้อมูลเดิมที่น่าจะเป็นประโยชน์มาก (หากเป็นข้อมูลที่ทันสมัย) คือ ข้อมูลจำนวนชนิดและปริมาณสารเคมีที่ใช้และที่เก็บสูงสุด ซึ่งเคยมีการสำรวจโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2545 - 2546 เพื่อตอบคำถามว่า “มีสารเคมีอะไรบ้างในโรงงานอุตสาหกรรม”  ข้อมูลชุดนี้หน่วยข้อสนเทศฯ ได้นำมาตรวจสอบความซ้ำซ้อน จัดกลุ่มความเป็นอันตราย จัดทำแผนภาพการกระจายสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศจำแนกตามจังหวัดและอำเภอและเผยแพร่บนเว็บไซต์ (http://www.chemtrack.org/chem-map/chemmap.htm) ดังตัวอย่างที่เลือกมาวิเคราะห์เพิ่มเติมและนำเสนอในตารางที่ 1

อำเภอที่แสดงในตารางที่ 1 เป็นแหล่งที่ตั้งของนิคมทั้ง 7 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ตัวเลขที่แสดงมาจากการสำรวจโรงงาน 29 ประเภท ซึ่งเป็นโรงงานที่มีลักษณะการประกอบการที่น่าจะมีการใช้สารเคมีอยู่มาก จะเห็นว่าเมื่อประมาณ 8-9 ปีมาแล้ว ทุกอำเภอที่เกิดน้ำท่วมในครั้งนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนหลายพันโรงงาน และมีการใช้สารเคมีต่อปีไม่น้อย ทั้งชนิดและปริมาณ
 
ในกรณีของนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง เมื่อไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า มีสารเคมีอะไรอยู่บ้าง ผู้เขียนจึงลองใช้ข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันคือประเภทกิจการของโรงงานจากข้อมูลที่สืบค้นได้จากเว็บไซต์ของการนิคมฯ และของกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้วเทียบหาจำนวนโรงงานที่อยู่ในข่าย 29 ประเภท (โรงงานที่น่าจะมีการใช้สารเคมีมากในการประกอบกิจการ) ได้ข้อมูลดังแสดงในตารางที่ 2 

จะเห็นว่าจำนวนโรงงานที่อยู่ในข่ายฯ ในนิคมโรจนะ และ นวนคร มีมากกว่าอีก 5 นิคมฯ ที่เหลือ ดังนั้นจึงตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่านิคมโรจนะและนวนคร มีโอกาสของการเกิดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีมากกว่านิคมฯ อื่นๆ อย่างไรก็ดีข้อสันนิษฐานนี้จะใช้ประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลจริงว่าในโรงงานเหล่านั้นมี สารเคมีอะไรบ้าง เป็นสารอันตรายหรือไม่ และปริมาณเท่าใด
 
เป็นที่น่าเสียดายว่า กิจกรรมที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดทำเฉพาะกิจเมื่อปี พ.ศ. 2545-2546 ในการสำรวจข้อมูลสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมไม่มีการดำเนินงานเพิ่มเติมและต่อเนื่อง หากหน่วยงานควบคุมไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มีระบบและผู้รับผิดชอบติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ลักษณะของ “การไม่มีข้อมูล” จะยังคงเป็นจริงต่อไป การแก้ไขปัญหาอุบัติภัยในอนาคตก็จะเป็นรูปแบบเดิม คือ ไม่สามารถประเมินความเสี่ยงเพื่อมาตรการป้องกันและจัดการอย่างเป็นระบบและเหมาะสม ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวเพิ่มขึ้นได้ คำถามที่สังคมต้องคิดต่อ ก็คือ เราจะต้องรอถึงเมื่อไร ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันใช้รูปแบบและระบบที่มีอยู่แล้วทำให้ประเทศไทยมีผู้รับผิดชอบในการติดตามการเก็บข้อมูล การผลิต การเก็บ และการใช้สารเคมีที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ทันสมัย และใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไม่ต้องรอให้เกิดมหันตภัยครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นอนาคตอันใกล้เกินคิด

โดย : รศ.ดร.วราพรรณ ด่านอุตรา,ศ.ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์
กรุงเทพธุรกิจ 29 พฤศจิกายน 2554