แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 555 556 [557] 558 559 ... 652
8341
ไชน่าเดลี - เซาท์เทิร์นเมโทรโปลิส เดลี รายงานว่า มณฑลก่วงตงอันมีประชากรมากสุดบนแผ่นดินมังกร เพียง 10 เดือนแรกของปีนี้ก็มีประชากรเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ “ซิฟิลิส” กว่า43,000 กรณีแล้ว
       
       มณฑลก่วงตงทำสถิติเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อโรคจากเพศสัมพันธ์แบบสูงสุดมา 8 ปีต่อเนื่อง และในระหว่างเดือนม.ค.ถึงต.ค.ปี 2554 นี้ มีผู้ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ถึง 43,116 คน รายงานข่าวระบุ (5ธ.ค.)
       
       เอกสารสถิติเผยว่า ตัวเลขดังกล่าวยังต้องรวบรวมอีกให้ครบ 12 เดือน ซึ่งก็คงไม่แตกต่างจากปีที่แล้วมาก ปีที่แล้วทั้งปีมีจำนวนผู้เป็นโรคซิฟิลิสประมาณ 45,000 คน
       
       รายงานระบุฯ โรคติดต่อที่ระบาดเร็วนี้เพิ่มทวีในมณฑลก่วงตงมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งถือว่าเพิ่มจำนวนปีละ 15-20 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
       
       หยัง ปิน ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มณฑลก่วงตง ให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้ที่ขายบริการทางเพศและกลุ่มชายรักชาย เป็นกลุ่มหลักที่ติดโรคซิฟิลิส”
       
       ประมาณ 25 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ขายบริการทางเพศในมณฑลพบว่าเป็นซิฟิลิส
       “ซิฟิลิสเป็นโรคที่สามารถรักษาเยียวยาได้ ยิ่งพบว่าเป็นเร็วยิ่งรักษาได้เร็ว แต่ว่าระยะแรกของอาการ เชื้อจะฟักตัวจะไม่แสดงอาการใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบและทำให้การรักษาล่าช้า” หยังเผย
       
       ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มณฑลก่วงตงมีบริการสำหรับผู้ป่วยนอกไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับการตรวจโรคซิฟิลิสทุกสัปดาห์.

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2554

8342
ผู้บริหาร รพ.ไฟไหม้ที่อินเดีย โดนคดีฆาตกรรม หลังละเลยจนผู้ป่วยถูกย่างสด 90 ศพ

  เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ - ผู้บริหารระดับสูง 6 คน ของโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอในเมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย ถูกจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันเสาร์ (10) ที่ผ่านมา ฐานฆาตกรรม และละเมิดกฎเกณฑ์การป้องกันอัคคีภัยขั้นพื้นฐาน หลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงพยาบาล ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คน เหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ติดอยู่ภายในอาคาร และสิ้นใจจากการสำลักควันไฟ
       
       ผู้ต้องหาทั้งหกเป็นตัวแทนบริหารที่มาจากบริษัท 2 แห่ง ซึ่งถือครองโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอร่วมกัน หากศาลพิพากษาให้ผิดจริงตามข้อกล่าวหา บรรดาผู้บริหารเหล่านี้อาจต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี
       
       ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม พร้อมกันนั้น ผู้พิพากษายังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้บริหารคนที่ 7 ขึ้นศาลโดยเร็วที่สุด หลังเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บจากเหตุไฟไหม้ สำนักข่าวเพรสส์ ทรัสต์ ออฟ อินเดีย รายงาน
       
       จาเวด ข่าน หัวหน้าหน่วยดับเพลิงของรัฐเบงกอลตะวันตก เสนอความเห็นผ่านเอเอฟพีว่า เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะการละเลยไม่เอาใจใส่ และละเมิดต่อบรรทัดฐานความปลอดภัยขั้นร้ายแรง “ปี 2008 โรงพยาบาลแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้วครั้งหนึ่ง เรากำลังสืบว่าทางการต่ออายุใบอนุมัติมาตรฐานป้องกันอัคคีภัยให้โรงพยาบาลได้อย่างไร”
       
       รายงานของบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทางการเคยมีหนังสือเตือนโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอ กรณีมาตรฐานความปลอดภัยในชั้นใต้ดินเมื่อเดือนกันยายน แต่ก็ไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ส่วนสำนักข่าวเพรสส์ ทรัสต์ ออฟ อินเดีย รายงานว่า โรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอไม่มีประตูหนีไฟ และสัญญาณเตือนภัยก็ไม่สามารถใช้งานได้
       
       มามะตา บาเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก ยืนยันว่า ผู้รับผิดชอบโรงพยาบาลต้องได้รับโทษรุนแรงที่สุด
       
       ทั้งนี้ เพลิงไหม้เริ่มปะทุขึ้นเวลาประมาณ 03.00 น. ของเช้าตูร่วันศุกร์ (9) ควันพิษลอยโขมงทั่วชั้นต่างๆ โดยผลการสืบสวนเบื้องต้นระบุว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้มีสาเหตุมาจาก “ไฟฟ้าลัดวงจร” บริเวณชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นห้องเก็บถังออกซิเจน ท่อพลาสติก สารเคมี และเครื่องมือแพทย์
       
       นักผจญเพลิงทุบกระจกนำตัวผู้ป่วยที่มีทั้งหมด 160 ชีวิต ออกมาได้เพียงบางส่วน ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า สัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบดับเพลิงฉุกเฉินไม่ทำงาน ขณะเดียวกัน เซน หัวหน้าทีมสืบสวน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เหยื่อทุกคนเสียชีวิตจากการสำลักควันไฟ ซึ่งลอยเข้าสู่บริเวณห้องพักผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 4 คน
       
       อีกมุมหนึ่ง ชิวานี มนดัล ชาวชุมชนสลัมวัย 60 ปี ที่อยู่ข้างโรงพยาบาล เล่าว่า “เราได้ยินเสียงผู้ป่วยร้องขอความช่วยเหลือ ตอนนั้น หน่วยดับเพลิงยังมาไม่ถึง แต่ยามไม่ยอมให้พวกเราเข้าไปในโรงพยาบาล … สุดท้าย พวกเด็กวัยุร่นก็ใช้บันไดไม้ไผ่ปีนช่วยคนที่พอจะช่วยได้”
       
       สุบราตา มุขเคอร์จี รัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณสุขของรัฐเบงกอลตะวันตก เปิดเผยหลังเกิดเหตุว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของโรงพยาบาลหนีเอาตัวรอด โดยไม่สนใจผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่กำลังหลับอยู่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2554

8343
 เด็ก 4 ขวบสามารถทำอะไรได้บ้าง? เชื่อว่าส่วนใหญ่คงซุกอยู่ภายใต้อ้อมกอดอันอบอุ่นที่พร้อมจะปกป้องดูแลของพ่อแม่ ทว่าที่หมู่บ้านปาจยาจื่อ ในชนบทอันทุรกันดารห่างจากเมืองฮาร์บิน เมืองเอกของมณฑลเฮยหลงเจียงราว 100 กว่ากิโลเมตร มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อายุเพียง 4 ขวบ แต่กลับต้องอุทิศชีวิตดูแลทั้งพ่อและแม่ที่พิการ ผู้ที่รับรู้เรื่องราวของเธอล้วนพากันซาบซึ้งระคนรัดทดใจไปกับชะตากรรมของเด็กน้อย
       
       สื่อจีนรายงานว่า หนูน้อยผู้นี้มีชื่อว่า "ซุนเย่ว์" เนื่องจากรับประทานแต่แป้งเปียกต้ม โจ๊กและผักดอง รูปร่างหน้าตาของหนูน้อยจึงค่อนข้างซูบเซียวเพราะขาดสารอาหาร วันที่ผู้สื่อข่าวจีนเดินทางไปพบ เธอสวมเสื้อนวมเก่า ขากางเกงสองข้างขาดปรุเผยให้เห็นกางเกงนวมกันหนาวด้านใน ส่วนรองเท้าก็เป็นรองเท้าแตะยางคู่เก่าของมารดา ขณะที่ผู้สื่อข่าวจีนเดินทางไปถึงบ้าน หนูน้อยกำลังป้อนน้ำให้มารดาอย่างตั้งอกตั้งใจ มือน้อยๆ ที่ประคองถ้วยน้ำดูหยาบกร้าน อีกทั้งยังสั่นน้อยๆ ขณะที่มารดาดื่มน้ำลงไปทั้งน้ำตา ส่วน ซุน เย่ว์หมิน ผู้เป็นบิดาที่นั่งพิงอยู่อีกด้านหนึ่งของเตาผิงไฟก็ได้แต่มองภาพแม่ลูกด้วยสีหน้ารันทดอับจนหนทาง เมื่อหนูน้อยซุนเย่ว์หันมาเห็นผู้สื่อข่าวจีนที่เป็นคนแปลกหน้าก็รีบหลบเข้าไปซุกอยู่ในอ้อมกอดแม่ตามวิสัยเด็ก เพียงแต่ส่งแววตาสงสัยจับจ้องมองมาเท่านั้น
       
       จากการสำรวจภายในบ้าน พบว่าบ้านของหนูน้อยซุนเย่ว์ แท้จริงคือห้องเล็กๆ ตีจากไม้กระดานและดินโคลน ความกว้างสิบกว่าตารางเมตร ที่ผนังสี่ด้านแปะแผ่นพลาสติกขาดๆ เอาไว้เพื่อป้องกันความหนาวเย็น ทว่าภายในบ้านยังคงหนาวเหน็บอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีกระเบื้องมุงหลังคา 2-3 แผ่นถูกนำมาบังลมหนาวที่พัดผ่านทางประตู ขณะที่ชายคาบ้านมีถ่านกองหนึ่งที่ผู้ใจบุญเพิ่งนำมาบริจาคให้เมื่อ 2 วันก่อน บริเวณทำครัวมีมันฝรั่งอยู่ 2 ถุงซึ่งเป็นผักทั้งหมดที่ครอบครัวนี้มีไว้กินตลอดฤดูหนาว ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านประกอบด้วยโทรทัศน์เก่าๆ 1 เครื่องกับไฟฉายเท่านั้น ไร้ซึ่งตู้ โต๊ะ หรือเก้าอี้แม้แต่ตัวเดียว
       
       ซุน เย่ว์หมิน ปัจจุบันอายุ 46 ปี เล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนแรงว่า เขาและ จานเจวียน ผู้เป็นภรรยาแต่งงานกับเมื่อปีพ.ศ. 2531 กระทั่งปีพ.ศ. 2537 จึงพากันไปรับจ้างหาปลาแถบลุ่มแม่น้ำอูซูหลี่ เนื่องด้วยภรรยาต้องการหาเงินให้ได้มากๆ จึงมักจะลงไปจับปลาท่ามกลางกระแสน้ำที่หนาวเย็นของฤดูหนาว จนกระทั่งเป็นโรคเหน็บชาขั้นรุนแรง ต่อมาปี พ.ศ.2542 ก็เกิดเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบตามมา ทำให้ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ครอบครัวต้องเป็นหนี้นอกระบบราว 7-8 หมื่นหยวน(ราว 3.5-4 แสนบาท)เพื่อนำเงินมารักษาภรรยา สุดท้ายอาการของจานเจวียนดีขึ้นเล็กน้อย สามารถลุกขึ้นมาทำอาหารง่ายๆ ได้บ้าง
       
       ต่อมา พ.ศ.2549 จานเจวียนก็ตั้งครรภ์ "การตั้งท้องเป็นเรื่องที่ควรจะดีใจ แต่ผมกับภรรยาทุกข์หนัก ต้องการจะเอาเด็กออกเพราะกลัวไม่มีปัญญาเลี้ยง แต่หมอคัดค้านว่าการทำแท้งจะยิ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายของจานเจวียน เมื่อไม่มีทางเลือก ภรรยาของผมจึงอุ้มท้องและคลอดซุนเย่ว์ออกมาเมื่อเดือนกันยายนของปี พ.ศ.2550" ซุน เย่ว์หมิน รำลึกความหลังให้ฟัง
       
       จากนั้นเพื่อให้บุตรสาวมีชีวิตที่ดี ซุน เย่ว์หมินผู้เป็นพ่อจึงได้ตัดสินใจเข้าไปทำงานรับจ้างในเมือง "ตอนนั้นผมคิดว่าด้วยแรงกายของผม ปีๆ หนึ่งสามารถหาเงินได้สัก 3-5 หมื่นหยวน(ราว1.5-2.5 แสนบาท) น่าจะพอรักษาภรรยาและส่งลูกสาวเข้าโรงเรียน" ซุน เย่ว์หมินกล่าว
       
       เดือนพฤษภาคมของปีนี้ ซุน เย่ว์หมินรับงานรับจ้างขุดบ่อเกรอะในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาร์บิน "เพื่อหาเงินให้มาก ผมไม่กลัวงานหนัก ไม่กลัวสกปรก งานอะไรก็ผมก็ทำได้" ทว่าโชคชะตาไม่เคยละเว้นให้ใคร เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม เกิดเหตุดินทรุดตัว ทำให้เขาพลัดตกลงไปในบ่อลึก 4 เมตร แพทย์แผนกศัลยกรรมทรวงอก โรงพยาบาลฮาร์บินต้องทำการผ่าตัดเปิดทรวงอก เนื่องจากอาการค่อนข้างสาหัส มีกระดูกหักหลายแห่ง หลอดเลือดหัวใจเสียหาย ซุน เย่ว์หมินนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่า 20 วัน หมดเงินค่ารักษาไปถึง 1.6 แสนหยวน(ราว 8 แสนบาท) เขากลับบ้านด้วยร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับเงินชดเชยจากผู้รับเหมาเพียง 6 หมื่นหยวน(ราว 3 แสนบาท) เท่านั้น โดยซุน เย่ว์หมิน นำเงินจำนวนนั้นไปใช้หนี้สินที่ครอบครัวติดค้างอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลือหนี้ที่ยังใช้คืนไม่หมดอีกกว่า 1 หมื่นหยวน(ราว 5 หมื่นบาท)
       
       "เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมในครั้งนี้ ทำให้ภรรยาผมกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างมาก จนร่างกายกลายเป็นอัมพาตโดยสิ้นเชิง เราสองคนกลายเป็นคนพิการ ไม่มีรายได้เข้าบ้าน คนในบ้านจึงมีกินแค่แป้งเปียกต้ม โจ๊กและผักดอง ไม่มีปัญญาซื้อยามากิน อย่างมากก็กินเมล็ดฟักทองซึ่งเป็นสูตรยาจีนเท่านั้น" ซุน เย่ว์หมินกล่าวด้วยความทอดอาลัย
       
       เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสองสามีภรรยา ทำให้ภาระหนักมาตกแก่ลูกสาวตัวน้อยที่ปีนี้เพิ่งจะอายุได้ 4 ขวบ หนูน้อยผู้นี้ต้องทำงานบ้านเองแทบทุกอย่าง ทั้ง ก่อไฟ หุงหาอาหาร ซักผ้า รวมทั้งป้อนข้าวป้อนน้ำ เช็ดอุจจาระปัสสาวะให้กับบุพการีที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ด้วยสองมือน้อยๆ ของเธอ ซุน เย่ว์หมินผู้พ่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะที่เขานั่งอยู่บนรถเข็นที่ผู้ใจบุญบริจาคมาให้ และกำลังช่วยลูกสาวตัวน้อยทำอาหารอยู่นั้น หนูน้อยซุนเย่ว์ไม่ทันระวังทำชามใส่โจ๊กร้อนๆ หกใส่ขาของผู้เป็นพ่อ จนตกใจร้องไห้โฮ ซุน เย่ว์หมินต้องกอดลูกสาวตัวน้อยเอาไว้และปลอบเธอทั้งน้ำตาเช่นกันว่า "ลูกรัก พ่อไม่โทษหนูหรอก ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะพ่อใช้การไม่ได้เอง"
       
       ซุน เย่ว์หมินเปิดเผยว่า หลายครั้งหลายหนที่เขาและภรรยาพยายามที่จะส่งบุตรสาวคนเดียวไปอยู่ที่อื่น ไปอยู่ในครอบครัวที่ดี เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ ไม่ต้องมาจมปลักอยู่ในบ้านที่มีแต่คนพิการ ทว่าหนูน้อยซุนเย่ว์ไม่ยอมไป เธอมักจะกอดพ่อไว้แน่นด้วยน้ำตานองหน้าพลางกล่าวว่า "หนูไม่ไปไหนทั้งนั้น ถ้าหนูไปอยู่ที่อื่นแล้วใครจะเลี้ยงพ่อกับแม่" จากนั้นหนูน้อยจึงเป็นโรคกลัวคนแปลกหน้า เพราะเกรงว่าจะมาเอาตัวเธอไปจากบ้านหลังนี้
       
       หลังจากเวลาผ่านไปพักใหญ่ เมื่อเด็กหญิงซุนเย่ว์เริ่มคุ้นเคยกับผู้สื่อข่าว จึงค่อยๆ คลายความกลัวและกลับมาสาละวนกับงานบ้านต่อไป บางทีก็หันไปหยอกเย้าเล่นกับสุนัขของเพื่อนบ้าน ซึ่งดูเหมือนจะมีเพียงเวลานี้เท่านั้น ที่ใบหน้าน้อยๆ เลอะเขม่าควัน เผยรอยยิ้มอันใสบริสุทธิ์ออกมา

ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2554

8344
ประเด็นที่ 7    การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกำหนด

ในแต่ละปีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะได้รับการจัดสรรงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 - 2553 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับจัดสรรงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวในอัตรา 1,202.40  1,308.50  1,396.30  1,659.20  1,899.69  2,100.00  2,202.00  และ 2,401.33 บาท/หัวประชากรตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามลำดับ และในการดำเนินงานแต่ละปี สปสช. จัดทำคู่มือเพื่อใช้ในการบริหารจัดการงบอัตราเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวในการให้บริการสาธารณสุขหลายรายการ สำหรับรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 - 2553 ได้รับการจัดสรรในอัตรา 175.00  206.00  210.00  224.89  248.04  253.01  262.06 และ 271.79 บาท/หัวประชากรตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยการบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีการกระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่อย่างเป็นธรรมและกระตุ้นให้ผู้ให้บริการมีแรงจูงใจที่เหมาะสมในการให้บริการมากขึ้น โดยการจ่ายเงินจะจ่ายตามผลงานและความครอบคลุมของการให้บริการเพื่อให้เกิดการให้บริการอย่างแท้จริงและสามารถผลักดันให้มีการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต้องจัดให้มีบริการครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้นในการจัดสรรเงินให้กับหน่วยบริการจึงคำนวณตามฐานข้อมูลของประชากรทั้งประเทศ ในปีงบประมาณ 2551 - 2553 สปสช. ได้มีการบริหารจัดการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปรากฏดังตาราง

กรอบการบริหารงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประจำปีงบประมาณ 2551 - 2553



กรอบการบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแต่ละรายการตามตารางที่ 17มีคู่มือเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้บริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกระดับ ผู้ให้บริการ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จากการตรวจสอบการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) พบว่า

สปสช. จัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัดเป็นงบประมาณที่จัดสรรเพื่อการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลที่จัดในหน่วยบริการ ตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 กำหนดขอบเขตการสนับสนุนงบประมาณของงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัดเป็นการจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวโดยโอนงบประมาณให้แก่หน่วยบริการโดยตรง (หน่วยบริการ หมายความว่า สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ของเอกชน และของสภากาชาดไทย หน่วยบริการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ และสถานบริการอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545)

จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. จัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัดให้มหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 การจัดสรรงบบริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 ตัวอย่างปรากฏดังตารางที่ 18 นอกจากนั้นการให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นดำเนินโครงการจะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการและค่าธรรมเนียมสถาบันอย่างน้อยร้อยละ 10 ของงบประมาณที่ได้รับทั้งหมด จึงส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการที่ได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

ตัวอย่างการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ




ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 7    การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกำหนด

เพื่อให้การบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำกับดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาพื้นที่พิจารณาอนุมัติโครงการ/กิจกรรมด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามแนวทางที่คู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

8345
จาก​การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์​ในวารสาร British Journal of Cancer ของอังกฤษพบว่า ​เกือบครึ่งหนึ่งของ​ผู้ป่วย​โรคมะ​เร็งที่ตรวจพบ​ใน​แต่ละปี ​หรือราว 130,000 ราย มีสา​เหตุมาจาก ​ไลฟ์ส​ไตล์ ​หรือ​การ​ใช้ชีวิตต่างๆ ที่สามารถหลีก​เลี่ยง ​ได้ ​ทั้ง​การสูบบุหรี่ ดื่ม​เครื่องดื่ม​แอลกอฮอล์ ​และรับประทานอาหารที่​เป็นสา​เหตุของมะ​เร็ง

​โดย​การสูบบุหรี่​เป็นสา​เหตุของ​โรคมะ​เร็งมากที่สุด ตามมาด้วย​การดื่ม​เครื่องดื่ม​แอลกอฮอล์​เป็นนิจ ​และ​การรับประทานอาหารที่ผิดหลัก ​โดย​ใน​ผู้ชายจะพบ​ผู้ป่วยมะ​เร็ง​ใน​ผู้ที่​ไม่ค่อยชอบ รับประทานผัก ผล​ไม้สด รวม​ถึง​ความ​เครียดจาก​การ​ทำงานหนัก ขณะที่​ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัว​เกินมาตรฐานจะ​เป็นมะ​เร็ง​ในอัตราที่สูงกว่า​ผู้ที่มีน้ำหนักตัวตาม​เกณฑ์ ผล​การศึกษายังพบว่า ​โรคมะ​เร็งบางชนิด ​เช่น มะ​เร็ง​ในปาก​และลำคอ มีสา​เหตุมาจาก​ไลฟ์ส​ไตล์ที่​ไม่​เหมาะสม​แบบ 100%

คำ​แนะนำที่จะช่วย​ให้หลีก​ไกลจาก​การป่วยด้วย​โรคมะ​เร็ง ​ได้​แก่ งดสูบบุหรี่ งดดื่ม​เครื่องดื่ม​แอลกอฮอล์ ​และรับประทานอาหารประ​เภทผัก​และผล​ไม้​ให้มากขึ้น รวม​ถึง​การออกกำลังกายบ่อยๆ พักผ่อน​ให้​เพียงพอ ​และ​ทำ​ให้จิต​ใจ​ให้​แจ่ม​ใสอยู่​เสมอ

​แนวหน้า  11 ธันวาคม 2554

8346
ผล​การศึกษาล่าสุดของ​แพทย์พบว่า ​การ​ใช้ศีรษะ​โหม่งลูกฟุตบอลบ่อย​เกิน​ไป อาจส่งผล​ให้​เกิดอา​การบาด​เจ็บที่สมอง​ได้

ดร.​ไม​เคิล ลิปตัน ​แห่งศูนย์​การ​แพทย์มอง​เตอร์ฟิออ​เร่ ที่วิทยาลัย​แพทย์อัล​เบิร์ต ​ไอน์ส​ไตน์ ​เผยว่าจาก​การส​แกนสมองของนักฟุตบอลสมัคร​เล่น 32 คน พบอา​การบาด​เจ็บที่ สมองคล้ายคลึงกับที่พบ​ในคน​ไข้ที่​เกิดอา​การกระทบกระ​เทือน​ในสมอง ยิ่งนักฟุตบอลคน​ไหน บอกว่า​โหม่งลูกฟุตบอลบ่อยๆ ​ก็จะพบ​ความ​เสียหายที่มองมากกว่าคนที่​โหม่งบอลน้อยกว่า

​การศึกษาพบว่า​โดยปกติ ​ใน​การ​เล่นฟุตบอลทั่ว​ไป ลูกฟุตบอลจะ​เคลื่อนที่ด้วย​ความ​เร็วสูงสุด​ได้​ถึง 54 กม./ชม. ขณะที่​ใน​เกมระดับอาชีพลูกฟุตบอลจะพุ่ง​ได้​เร็วกว่านั้น​ถึง 2 ​เท่า ​แม้ยัง​ไม่​แน่ชัดว่ากำลังของลูกบอลจาก​แรง​เตะของนักฟุตบอลจะสร้าง​ความ​เสียหาย​ให้กับสมองมากน้อย ​เพียง​ใด ​แต่ดร.ลิปตัน​เชื่อว่า ถ้าจะ​ให้สมองปลอดภัย​ก็​ไม่ควร​โหม่งฟุตบอลมากกว่า 1 พันครั้งต่อปี

​แนวหน้า  11 ธันวาคม 2554

8347
สัปดาห์นี้งานมหกรรมพืชสวน​โลก​เฉลิมพระ​เกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ​ก็​เริ่ม​เปิดอย่าง​เป็นทาง​การ นับ​เป็นจุดนัด พบของพฤกษชาตินานาพรรณจากหลายประ ​เทศทั่ว​โลก ที่คน​ไทย​ไม่ควรพลาด​โอกาส

หนึ่ง​ในจำนวนสวนพฤกษศาสตร์​ทั้งหลายนั้นมี​การจัด​แสดงของสวนสมุน​ไพร ที่นำมา​ใช้ สอยประ​โยชน์​ใน​การดู​แลสุขภาพ ​ทั้งอาหาร​และยา  ครอบคลุมกลุ่ม​โรค​เรื้อรัง ​โรค​ในระบบทาง​เดินอาหาร ​โรค​ในระบบทาง​เดินหาย​ใจ กลุ่ม สมุน​ไพรที่มีน้ำมันหอมระ​เหย ยาบำรุงกำลังที่กำลังมา​แรง​หรือ​ไม้​ใช้สอยอื่นๆ

​การ​แสดง​ในส่วนของสมุน​ไพรยัง​ได้ผนวกภูมิปัญญา​การ​แพทย์​แผน​ไทยจากภาคต่างๆ รวม​ถึง​การ​แปรรูปผลิตภัณฑ์ อาหาร​และยา สมุน​ไพร 4 ภาค​ไว้อย่างน่าสน​ใจ ​และหนึ่ง​ในกิจกรรมที่อยาก​เชิญชวนทุกท่านหา​โอกาส​เข้าร่วม​ให้​ได้คือ​การสาธิต​การนำสมุน​ไพร​ไป​แปรรูป​ใช้​ในชีวิตประจำวัน

​โดยจะ​เน้นที่ราชพฤกษ์​หรือคูน ​ในฐานะที่​เป็นตัว​เอกของงาน ​เพื่อ​แสดง​ให้​เห็นว่าต้นราชพฤกษ์นั้นสามารถนำ​ไป​ใช้ประ​โยชน์​ได้มากกว่าที่​เรารู้จัก จะมี​การจัด​แสดง​เรื่องน้ำมันราชพฤกษ์ ลูกประคบ ชา ยาพอก ​และธูป

ต้นราชพฤกษ์ ​หรือที่​เรียกว่าลม​แล้ง ​หรือคูน ​เป็นพืช​ในวงศ์ Fabaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn. ที่​เรียกกันว่าลม​แล้ง ​เนื่องจากจะออกดอก​ในช่วงหน้าร้อน ดอกสี​เหลืองบานสะ พรั่ง​เต็มต้น  บางต้น​ก็ผลัด​ใบ​เหลือ​แต่ดอกสี​เหลืองท้าทาย​ความร้อน ​ความสวยงามของดอกคูน ลักษณะ ​และดอกที่สวยงามของคูน ​จึงมีชื่อ​เรียกภาษาอัง กฤษว่า Golden shower ตามลักษณะของดอก

คูน​เป็นพืชพื้น​เมืองของ​เอ​เชีย​ใต้ ตั้ง​แต่ทางตอน​ใต้ของปากีสถาน ​ไปจน​ถึงอิน​เดีย พม่า ​และศรีลังกา คน​ใน​แถบนี้​จึง​เรียนรู้​การนำคูน​ไป​ใช้ประ ​โยชน์อย่างกว้างขวาง ​ในภาษาสันสกฤตจะ​เรียกต้น คูนว่า สุวรรณาคา  ​หรืออารฆัธ ​หรือราชตารู ​หรือ​แม้​แต่คำว่าราชพฤกษ์​เองชาวอิน​เดีย​ก็​เรียกตามนี้ สมัยที่อังกฤษปกครองอิน​เดีย ​ได้มี​การบันทึกสรรพ คุณ​การ​ใช้ประ​โยชน์​ไว้​ในสรรพคุณยาหลวงของอัง กฤษ​และอิน​เดียว่า ชาว​เมือง​แถบ​เหนือ​แม่น้ำสินธุของอิน​เดีย ​ใช้​ใบ​โขลกพอก​แก้​โรคปวดข้อ​และอัม พาต ​โดย​ใช้ ​ใบที่​โขลกถูนวดตามร่างกายส่วนที่​เป็น

​ในอิน​เดียนำส่วนของฝัก ​เปลือก ราก ดอก ​ใบ ​ใช้​ทำยา ชาวฮินดู​ก็นิยม​ใช้​แพร่หลาย​เช่นกัน จะนำ​เอาราก​ทำ​เป็นยาระบาย ​เชื่อว่าช่วยระบาย​ไข้ รักษา​ไข้​และหัว​ใจ ช่วยถ่ายสิ่ง​โส​โครกออกจากร่างกาย ​แก้อา​การ​เซื่องซึม หนักศีรษะ หนักตัว ​เป็นยาที่​ทำ​ให้ชุ่มชื่น​ในทรวงอก ​ในบางภาคของอิน​เดีย​ก็​ใช้​เป็นยา​แก้​ไข้ ​แก้อา​การหาย​ใจขัด ถือ​เป็นยาที่​ไม่อันตราย​ใช้​ได้กับ​เด็ก​และสตรีมีครรภ์ ​และ​ผู้สูงอายุ ​ได้ปลอดภัย

สำหรับงานมหกรรมพืชสวน​โลก​เฉลิมพระ​เกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 ครั้งนี้ ​ผู้จัด​โดยกรมวิชา​การ​เกษตร ร่วมกับสถาบัน​การ​แพทย์​แผน​ไทย​เนตรดาว ​ได้​เปิด​เวทีอบรมฟรี ​ใน​การนำคูนมา​ใช้​เป็นยากลางบ้าน ​ใน​เรื่อง

- ชาสุวรรณาคา ที่​ทำจาก​ใบคูน จะช่วย​ใน​เรื่องของกลุ่มสมอง​และมีปัญหา​เส้น​เลือด​ในสมองตีบ สารจาก​ใบคูนจะช่วย​ทำ​ให้ระบบ​การ​ไหล​เวียนดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วย​ได้ดีของ​ผู้ป่วยกลุ่มอัมพฤกษ์อัมพาต ​เพราะมีปัญหาจากสมอง​เหมือนกัน ​เหมาะที่จะ​ทำ​เป็นยาดื่มควบคู่กับ​การรักษาอื่นๆ ​ได้

- น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ​เป็น​การ​เคี่ยวน้ำมันจาก​ใบคูน จะ​ได้น้ำมัน​เข้มข้น ที่สามารถนำมาปรุง​เป็นน้ำมันนวดตัวสูตรร้อน ​และสูตร​เย็น​ได้ตามต้อง​การ ​ใช้นวดกลุ่มที่มีปัญหา​เรื่อง​เส้น​และอัมพฤกษ์อัมพาต

- ลูกประคบราชตารู อันนี้​เป็นลูกประคบตามสั่ง ​โดย​ใช้​ใบคูน​เป็นยาตั้งต้น ประกอบด้วย กระวาน อบ​เชย​เทศ ​เทียนดำ ขมิ้นอ้อย ​ซึ่งยาสมุน​ไพรกลุ่มนี้​เป็นพวกกลุ่มยาลูกประคบสูตร​โบราณ จะ​ไม่​เหมือนทุกวันนี้ที่จะมีขมิ้นชัน​และ​ไพล​เป็นตัวหลัก ​ซึ่งจะมีกลิ่นค่อนข้าง​แรง ลูกประคบพวกนี้จะปรุงตาม​ความต้อง​การของ​ผู้​เข้าอบรมที่ต้อง​การถือกลับบ้าน ​โดยจะดูตาม​โรค​และอา​การ ​ซึ่ง​แต่ละคนจะ​ได้​ไม่​เหมือนกัน

- ผงพอกคูนคาดข้อ อันนี้จัด​เป็นยา​โบราณอีกอย่างหนึ่ง หมอ​โบราณ​ใช้​ใบคูนบด​เป็นผง​เข้าตัวยาด้วยกรรมวิธีง่ายๆ นำ​ไป​ใช้คาดตามข้อ ตาม​แนว​เส้นที่ปวด ตาม​แนว​เส้นอัมพฤกษ์อัมพาต ​หรือ​ใช้พอก​เท้า จะช่วย​ให้​เกิด​การ​ไหล​เวียนของระบบ ​และลดอา​การปวดอัก​เสบ​ได้ดีอย่าง​เห็น​ได้ชัด ​และ​ผู้พอก​เท้ายังมี​ความรู้สึกง่วงนอน ​และผ่อนคลายมากขึ้น

ตำรับยาสูตรนี้น่าสน​ใจมาก ​เพราะยังสามารถ​ใช้​ได้กับ​ผู้ป่วยที่อัมพาต​ใบหน้าครึ่งซีก ตา​ไม่หลับ มุมปากตก ​และ​ใช้พอกคาดตามข้อช่วยดูดลมตามที่​โบราณ​เรียก คือ​การบรร​เทาอา​การปวดตามข้อนั่น​เอง ​และ​ใช้​ได้ดีกับ​ผู้ป่วย​โรค​เกาต์

- ธูปสาวหาว ตัวนี้​เป็น​การนำผักตบชวามา​ใช้ประ​โยชน์ ​เพราะช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมามีผัก ตบชวา​เยอะมาก จริงๆ ​แล้วมันยัง​ใช้ประ​โยชน์ อื่นๆ ​ได้นอก​เหนือจาก​เครื่องจักสาน ​และ​เกษตร กรรม คือ ​การนำมา​ทำยา ​เพราะด้านพฤกษ ศาสตร์​ก็​เป็นที่ยอมรับว่า ผักตบชวา​และผักตบ​ไทยนั้นจัด​เป็นยาสมุน​ไพรที่ดีอีกตัวหนึ่ง ​โดย​เฉพาะสรรพคุณ​ใน​การดูดสารพิษ ขับล้างสารพิษ ​ซึ่งสามารถนำ​ไป​ทำ​เครื่องดื่ม​ในรูป​แบบของชาสมุน​ไพร​ได้ ​แต่ติดตรงที่ว่า​แหล่งที่​เรา​ไป​เอาผักตบนั้นต้องสะอาดจริง ​หรือมั่น​ใจว่ากิน​ได้ สรรพคุณยัง​ไล่​แมลง ลดผื่นคัน​ได้ด้วย

​โหม​โรงต้อนรับงานพืชสวนก่อน ​ใครสน​ใจต้อง​ไป​เข้าร่วมอบรมที่สวนสมุน​ไพร​ในงานพืชสวน​โลก ราชพฤกษ์ 54 ที่จังหวัด​เชียง​ใหม่.

ไทย​โพสต์  11 ธันวาคม 2554

8348
เลขา สปสช.โต้ไม่รู้เรื่องขึ้นเงินเดือน อ้างรับเงินเท่า ร.ร.มหิดล-รพ.บ้านแพ้ว ยันจ่ายโบนัสไม่ขัดมติบอร์ด...

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของ สปสช. ที่ใช้งบบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบบริหาร) และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) พบว่า การบริหารจัดการไม่เหมาะสมในหลายประเด็น ส่งผลให้นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ตามที่ สตง.ตรวจสอบว่า กรณีของอัตราเงินเดือนเลขาธิการ ที่เพิ่มเป็นอัตราสูงสุดจาก 171,600 บาท เป็น 200,000 บาท และเงินประจำตำแหน่ง จากเดือนละ 42,900 บาท เป็น 50,000 บาท ภายในปีเดียวว่า เรื่องนี้ต้องสอบถามไปยังบอร์ด สปสช. ชุดที่พิจารณาปรับอัตราเงินเดือนให้กับตน เพราะโดยส่วนตัวไม่รู้เรื่องนี้ และไม่รู้ว่าเป็นการผิดระเบียบหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าจะมีการท้วงติง ในประเด็นที่อัตราเงินเดือนเลขาธิการสูงเกินไป หากพิจารณาจากตารางแสดงอัตราเงินเดือนของผู้อำนวยการองค์การมหาชนตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 จะพบว่าอัตราเงินเดือนเลขาธิการ สปสช.อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ผอ.โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และ ผอ.โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นต้น คือ อยู่ในช่วง 1-2 แสนบาท

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจ่ายเบี้ยประชุมให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบ ตั้งแต่ ก.ย. 2547 - มี.ค. 2553 สูงเกินกว่าที่ ครม.กำหนด เป็นเงินประมาณ 3.1 ล้านบาทนั้น ขอเรียนว่า เงินที่ สปสช.จ่ายให้กับคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ไม่ใช่เบี้ยประชุม แต่เป็นค่าตอบแทนเหมาจ่าย ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น รมว.สาธารณสุข และประธานบอร์ด สปสช.เมื่อปี 2546 ส่วนการจ่ายโบนัสให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้าง ไม่เหมาะสม เพราะไม่ได้ผ่านการพิจารณาของบอร์ด สปสช. นั้น ในปี 2548 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติในหลักการว่า หากผลการประเมิน สปสช.ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ได้คะแนนอยู่ในระดับเอ จะจ่ายโบนัส 12% ในปี 2549 เมื่อผลประเมินอยู่ในระดับเอ จึงมีการจ่ายโบนัส 12% โดยไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.ใหม่ เพราะเห็นว่าบอร์ด สปสช.ได้เคยอนุมัติในหลักการแล้ว แต่เมื่อมีการท้วงติง ในปี 2550 เป็นต้น จึงได้มีการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.ทุกปี

นพ.วินัย ยังได้ชี้แจงในประเด็นที่มีการนำเงินสนับสนุนกิจกรรมตามภาครัฐ จากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม เช่น การจัดทำโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ ว่า เงินที่ได้รับสนับสนุนจาก อภ.มีระเบียบ กำหนดไว้ชัดเจน แต่เมื่อมีการทักท้วงให้นำเงินส่วนนี้ไปสนับสนุนหน่วยบริการก็ยินดี ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้มีการดำเนินการ เช่น การให้ทุนการศึกษา หรือการสนับสนุนการจัดงานวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข

“เท่าที่ดู สิ่งที่ สตง.รายงาน ไม่มีเรื่องของการทุจริต นี่คือ สิ่งที่ทำให้ผมสบายใจ สตง.เพียงแต่มีข้อท้วงติง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สตง. สปสช.พร้อมรับฟังและนำข้อเสนอแนะที่ได้รับกลับมาพิจารณา เพียงแต่บางเรื่องอาจจะเป็นส่วนของการเข้าใจผิด หรือตีความกฎหมายแตกต่างกัน ก็จะต้องมีการชี้แจง” นพ.วินัยกล่าว

ไทยรัฐออนไลน์ 7 ธันวาคม 2554



8349
นพ.ชาตรี ​เจริญชีวกุล ​เลขาธิ​การสถาบัน​การ​แพทย์ฉุก​เฉิน​แห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว​ถึง ​การ​เตรียม​ความพร้อมรับมืออุบัติ​เหตุ​ในช่วง​เทศกาลปี​ใหม่ 2555 ของกระทรวงสาธารณสุข ​เพื่อลด​ความสูญ​เสีย ​โดย​การรณรงค์ 3 ม. 2 ข.​และ 1 ร.​เพื่อ​ให้ประชาชน​ได้ตระหนัก​และ​เคารพระ​เบียบ​การจราจร ​ทั้งนี้ ​ได้​เตรียม​ความพร้อมทีมฉุก​เฉิน ​โดยจัดบุคลากรกู้ชีพกว่า 100,000 คน รถปฏิบัติ​การกู้ชีพฉุก​เฉินที่ขึ้นทะ​เบียนถูกต้อง​แล้วกว่า 10,000 คัน ​และ​เฮลิคอป​เตอร์ปฏิบัติ​การฉุก​เฉิน ​ซึ่งมีประมาณ 100 ลำ กระจายอยู่ทั่วประ​เทศ ​ซึ่งสำหรับ​การลำ​เลียง​ผู้ป่วยทาง​เฮลิคอป​เตอร์นั้น กระทรวงสาธารณสุข ​ได้ลงนามบันทึก​ความ​เข้า​ใจร่วมกับกองทัพ ตำรวจ ​และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่ง​แวดล้อม ​เพื่อขอ​ใช้บริ​การ​ได้ทันที ​โดยจะมีทีม​แพทย์จำนวน 2 คน ​ใช้ดุลพินิจ​ใน​การตัดสิน​ใจ​เพื่อ​การ​เคลื่อนย้าย​ผู้ป่วย​ในสถาน​การณ์วิกฤต ​เช่น ระยะทาง​ไกล ​หรือ​ผู้ป่วยจำ​เป็นจะต้อง​ได้รับ​การรักษาอย่างทันท่วงที รวม​ถึงอุปกรณ์​การ​แพทย์ฉุก​เฉิน ​และสถานที่​ใน​การรองรับ​ผู้ป่วย​ให้มี​แพทย์​ผู้​เชี่ยวชาญ​เฉพาะทางประจำตลอด 24 ชั่ว​โมง

​ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ​ได้วางมาตร​การ​เพื่อ​ให้​การช่วย​เหลือ​เป็น​ไปด้วย​ความรวด​เร็ว ​จึง​ได้สั่ง​การ​ให้รถปฏิบัติ​การกู้ชีพฉุก​เฉินออกตระ​เวน ​โดย​เน้นจุด​เสี่ยงทั่วประ​เทศ ​เพื่อ​ให้ประชาชน​ได้ลด​ความกังวลขณะ​เดินทาง​ในช่วง​เทศกาลปี​ใหม่ที่จะ​ถึงนี้ ​และหากท่าน​ใดพบ​เห็น​หรือต้อง​การขอ​ความช่วย​เหลือ สามารถติดต่อ​ได้ที่ศูนย์รับ​แจ้ง​เหตุ 1669 ตลอด 24 ชั่ว​โมง

แนวหน้า  10 ธันวาคม 2554

8350
วันนี้ (9 ธ.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้ครบวาระการทำงาน 2 ปี โดยได้หมดวาระลงแล้ว และได้มีการคัดเลือกใหม่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมีทั้งหมด 21 คน เป็นไปตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ซึ่งมีกรรมการในสัดส่วนต่างๆ ได้แก่ กรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน เช่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นต้นขณะที่อีก 10 คนจะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ โดยการคัดเลือกครั้งนี้จะทำการลงคะแนนเสียงเลือกในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแล้วเสร็จ ประกอบด้วย

1.นายวีรวัฒน์ อภิชิตวิทยา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกลุ่มผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทย
2.นางลัดดาวัลย์ ครูปัญญามาตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์
3.นางศิวนาถ ยอดสุวรรณ์ ผุ้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคเหนือ)
4.นายบริบูรณ์ ธัชแก้วกรพินธุ์ ผุ้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคกลาง)
5.พระครู ศุภาจารภิมล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
6.นายสะมะแอ จันทรัตนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหมอพื้นบ้าน (ภาคใต้)
7.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการ
8.นายกร พงษ์เถื่อน ผู้ทรงคุณวุฒิองค์การเอกชนพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทย
9.นายประจวบ จันทร์เพ็ญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตหรือจำหน่ายยาแผนไทย และ
10.นายณัฐ โฆษิวากาญน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มผู้ปลูกหรือแปรรูปสมุนไพร

โดยหลังจากนี้จะมีการประกาศให้ทราบ โดยหากไม่มีผู้ทักท้วงภายใน 60 วันจะดำเนินการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อลงนามต่อไป
       
       นพ.สุพรรณกล่าวต่อว่า ปีนี้มีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการเสนอเข้าพิจารณาทั้งหมด 433 คน ซึ่งหลังจากคัดเลือกได้จะทำหน้าที่ในส่วนของการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และกฎหมาย หรือประกาศตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย รวมทั้งการดูแลคุ้มครองเกี่ยวกับสมุนไพรไทยในทุกด้านด้วย เช่น การเห็นชอบออกกฎหมาย การเพิกถอน หรือกระทั่งการจดทะเบียนและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้รวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเกี่ยวกับตำรายาแผนไทยและตำราการแพทย์แผนไทยทั่วราชอาณาจักร เพื่อจัดทำทะเบียนจำนวน 89,866 รายการ แบ่งเป็นตำรายาแผนไทย 84,082 รายการและและตำราการแพทย์แผนไทย 5,784 รายการ
       
       นพ.สุพรรณกล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาการแพทย์แผนไทย ยังหมายรวมถึง การคุ้มครองสมุนไพรไทยในพื้นที่อนุรักษ์ด้วย ซึ่งในการประชุม ครม.ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีความเห็นชอบในการทำแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์ ตามที่ สธ.เสนอ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่

พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานสมเด็จพระศรีนคริทร์กาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี
พื้นที่อุทยานแห่งชาติ (อช.) แม่วงก์ จ.กำแพงเพชร
พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกาฯ จ.นครพนม
พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก
อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จ.สตูล
อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว และ
อุทยานแห่งชาติ นายูง-น้ำโสม จ.อุดรธานี

โดยคาดว่าจะส่งลงประกาศในราชกิจานุเบกษา บังคับใช้ประมาณเดือน ม.ค. 2555 ส่วนพื้นที่ได้ประกาศไปแล้วมี 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่อนุรักษ์ภูผากูด จ.มุกดาหาร พื้นที่ชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ พื้นที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา จ.ลพบุรี พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย จ.อุบลราชธานี 5 พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ธันวาคม 2554

8351
ประเด็นที่ 6   การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดย “บริการสาธารณสุข หมายถึง บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามความหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ” แต่จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. มีการจ่ายเงินไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือ

   เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้จ่ายในลักษณะการบริหารงาน สปสช. ได้รับงบประมาณ 2 ส่วนคือ งบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบบริหาร) และงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) การดำเนินงานของ สปสช. เพื่อบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้งบประมาณในส่วนงบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นงบประมาณที่จะนำไปจัดสรรให้หน่วยบริการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ จากการตรวจสอบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 พบว่าเลขาธิการได้อนุมัติให้นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 95,325,000.00 บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการเพื่อการดำเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ตัวอย่างปรากฏดังตาราง

ตัวอย่างข้อตกลงที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาใช้ในลักษณะการบริหารงาน ประจำปีงบประมาณ 2552



ที่มา : เอกสารข้อตกลงดำเนินงานตามโครงการ สำนักบริหารกองทุน สปสช.

หมายเหตุ : รายละเอียดแต่ละโครงการมีดังนี้
   1. โครงการลำดับที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินการพัฒนาคุณภาพตามระดับคะแนนคุณภาพ สำหรับโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประเมินเพื่อรับรองคุณภาพโรงพยาบาลที่พร้อมรับการตรวจเยี่ยมประเมิน
   2. โครงการลำดับที่ 2 เกี่ยวกับการจัดประชุมแพทย์และเครือข่ายผู้รับผิดชอบระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อชี้แจงการเตรียมความพร้อมและแนวทางในการดำเนินงานให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่กลุ่มเป้าหมาย และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายมารับบริการวัคซีน พร้อมทั้งติดตามผลการให้บริการและติดตามอาการภายหลังการได้รับวัคซีนโดยกรมควบคุมโรค
   3. โครงการลำดับที่ 3 เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพข้อมูลการเงินการบัญชีของหน่วยบริการ และพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศการประเมินผลการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงินการคลังและข้อมูลบริการของเครือข่ายหน่วยบริการ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารหน่วยบริการทุกระดับ
   4. โครงการลำดับที่ 4 เกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการรับส่งข้อมูลการรักษาและการใช้ยาของผู้ป่วยนอกรายบุคคล ต้นแบบสารสนเทศให้รองรับการแสดงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้นแบบการเชื่อมโยงข้อมูลบริการที่ใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศให้สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างระบบของหน่วยบริการและศูนย์ข้อมูลของ สปสช. และจัดทำแผนขยายผลการพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายบุคคลของการให้บริการ ณ จุดบริการของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การที่ สปสช. นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีผลกระทบทำให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอแนะ ]ประเด็นที่ 6   การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เพื่อให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุน

2. ให้เลขาธิการกำกับดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาเขตพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของแต่ละปีงบประมาณอย่างเคร่งครัด
...

8352
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำ หมู่บ้าน หรืออสม. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ใช้ อสม.เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศมากว่า 30 ปี ในลักษณะจิตอาสาไม่มีค่าตอบแทน แต่ในช่วงปี 2552 รัฐบาลจัดให้มีสวัสดิการค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ รายละ 600 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เป็นต้นมา ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่13 มกราคม 2552

ในปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลได้อุดหนุนงบประมาณเงินค่าตอบแทนให้กับ อสม. ผ่านทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปีงบประมาณ2553 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้กับ อบจ. โดยให้ อบจ.กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการส่งเสริม อสม.เชิงรุก และเบิกจ่ายเงินสวัสดิการตอบแทน ให้แก่ อสม.ที่มีสิทธิตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการทั่วประเทศ ตั้งแต่เมษายน 2552-กันยายน 2553 จำนวน 10,544.50 ล้านบาท

สตง.ระบุว่า จากการสุ่มตรวจข้อมูลการดำเนินงานของ อสม.เชิงรุก ของ สสจ.กาญจนบุรีพบว่าการทำงานไม่คุ้มค่าเงินที่รัฐต้องจ่ายไปอสม.ส่วนใหญ่ไม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาท หน้าที่ที่ระเบียบกำหนดไว้ จากการสอบถาม อสม. 418 ราย ในพื้นที่ พบว่าส่วนใหญ่ปฏิบัติงานไม่ถึง 4 วันใน 1 เดือน และปฏิบัติงานเพียงแค่ 4 วันต่อเดือนเพียง 12 รายเท่านั้น ไม่แตกต่างกันกับตอนที่ยังไม่มีค่าตอบแทน ส่วนใหญ่คิดว่าเงิน 600 บาทนั้น รัฐบาลจ่ายเงินเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ถึงแม้จะทำงานหรือไม่ทำงานก็ตาม

นอก จากนี้ สตง.ยังตรวจพบ อสม.ส่วนใหญ่ไม่ได้คัดเลือกจากหมู่บ้าน/ชุมชน แต่มาจากการชักชวนจากเครือญาติที่เป็น อสม.อยู่ก่อนแล้วจากการตรวจสอบทะเบียนรายชื่อ อสม. 1,015 ราย พบว่ามี อสม.ที่มีเครือญาติใช้นามสกุลเดียวกันตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป 318 ราย บางนามสุกลใช้ซ้ำกันถึง 6 ราย บางรายยังอยู่บ้านเดียวกันหรือบ้านใกล้กันทั้งที่ตามข้อกำหนดโครงการอสม. 1 ราย ต้องดูแลรับผิดชอบประชาชนในละแวกบ้าน จำนวน 8-15 หลังคาเรือน

มติชน ฉบับวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

8353
“วิทยา” ทาบทาม “กายสิทธิ์” อดีตอธิบดีอัยการฯ เป็น ปธ.ตรวจสอบ สปสช.หลัง สตง.พบตุกติก แจงเร่งแก้ปัญหาตามข้อชี้แจงของ สตง.อย่างดี ไม่มีนิ่งเฉย
       
       จากกรณีที่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้มูลความผิดปกติว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีมูลความผิดปกติเรื่องการบริหารงบประมาณและส่งเรื่อง ให้ สปสช.ชี้แจงแต่ละกรณี จนกระทั่ง นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. (บอร์ด สปสช.) จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบนั้น
       
       ล่าสุด วานนี้ (9 ธ.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยกำลังทาบทาม นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งหากตกลงก็พร้อมทำงานได้ทันที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งการตรวจสอบนั้นจะเป็นไปตามสตง.ระบุไว้ แต่จะประเด็นไหนอย่างไร คงต้องรอคณะกรรมการทำงานก่อน ซึ่งยืนยันว่าตนได้ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุดตามที่มีคนร้องเรียนมา
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบจะเน้นที่ตัวบุคคล หรือต้องเน้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร การใช้จ่ายงบประมาณ สปสช.ทั้งหมด นายวิทยา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตน อยู่ที่คณะกรรมการ และอันที่จริง เรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยตน แต่เมื่อ สตง.ตรวจสอบและส่งรายงานเรื่องนี้มา โดยตนในฐานะรัฐมนตรี สธ. และประธานบอร์ด สปสช.ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยดึงคนภายนอกเข้ามาดำเนินการ ซึ่งตนก็ทำตามหน้าที่ เพราะหากไม่ทำก็จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
       
       ต่อข้อถามว่า ระหว่างการรอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะส่งผลต่อการทำงานของ บอร์ด สปสช.หรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า คนละส่วนกัน เหมือนกับคดีความต่างๆ ยังไม่มีคนผิด ก็ทำงานได้ ซึ่งการทำหน้าที่ของบอร์ด สปสช.ก็ต้องเดินหน้าต่อไป.

ASTVผู้จัดการรายวัน    9 ธันวาคม 2554

8354
 เหตุเพลิงไหม้โรงพยาบาลเอกชน สูง 5 ชั้น ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 03.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 04.30 น.ตามเวลาของไทย ขณะที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จากทั้งหมดราว 160 คนกำลังหลับไหล
       
       เอส.อุปัฐเย รองประธานอาวุโสของโรงพยาบาลเอเอ็มอาร์ไอแห่งนี้ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า มีผู้เสียชีวิต 70 ราย และสามารถช่วยเหลือออกมาได้ราว 90 คน
       
       เหยื่อส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ป่วย ที่ติดอยู่ภายในอาคาร เนื่องจากควัน และเปลวไฟลุกลามอย่างรวดเร็วไปตามวอร์ดต่างๆ บนชั้นที่สูงขึ้นไป โดยกว่าจะควบคุมเพลิงส่วนใหญ่ได้นั้น เวลาก็ล่วงเลยไปถึงเวลา 09.00 น.
       
       นี่ถือเป็นเหตุไฟไหม้ครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแห่งนี้ ซึ่งจากการสืบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ชี้ว่า ต้นเพลิงมาจากชั้นใต้ดิน
       
       ด้าน มามะตา บาเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก รับปากว่า จะดำเนินการสอบสวนสาเหตุอย่างเต็มที่ โดยได้สั่งยกเลิกใบอนุญาตของโรงพยาบาลให้มีผลในทันที และสัญญาจะใช้มาตรการขั้นรุนแรง หากพบว่าการป้องกันอัคคีภัยต่ำกว่ามาตรฐาน
       
       นักผจญเพลิงทำงานอย่างยากลำบากในการขนย้ายผู้ป่วย และพนักงานของโรงพยาบาลที่ยังติดอยู่ภายใน ซึ่งมีควันไฟลอยโขมง ขณะที่ผู้ป่วยซึ่งเดินไม่ได้ก็ต้องอพยพออกจากอาคารด้วยรอก และเชือก ส่วนรถดับเพลิงก็เข้าถึงที่เกิดเหตุด้วยความลำบาก เนื่องจากถนนแคบ และคดเคี้ยว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    9 ธันวาคม 2554             


8355
ดทึ่ง! นักวิจัยไทยพัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนหนูทดลอง เป็นเซลล์ตับของคนได้สำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คาดอีก 10 ปี จะพัฒนาจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์ และร่างกายเป็นเซลล์ตับใหม่ให้กับคนได้อย่างสมบูรณ์ สามารถช่วยปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรักษาโรคตับได้....

รศ.ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีตัวอ่อนและเซลล์ต้นกำเนิด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะโรคมะเร็งตับพบมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคตับที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยาสามารถทำได้โดยการปลูกถ่ายอวัยวะ

อย่างไรก็ตามยังมีรายงานถึงผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนถ่ายตับ เช่น ภาวะร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่าย (Rejection) นอกจากนั้นยังพบปัญหาการขาดแคลนอวัยวะ ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคตับจึงเป็นอีกหนึ่งความหวังที่สำคัญ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต

ล่าสุด มทส. ร่วมกับนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งประกอบด้วยดร.กาญจนา ธรรมนู และ รศ.ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนฯ พัฒนาสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของหนูเพื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ตับของมนุษย์ได้สำเร็จ และได้ทำการติดตามกระบวนการเปลี่ยนแปลงเซลล์ในระดับชีวโมเลกุล พร้อมทั้งทดสอบเทคโนโลยีการแยกเซลล์อย่างรวดเร็ว โดยใช้เทคนิคกล้องจุลทรรศน์อินฟราเรด

ทั้งนี้ การพัฒนาเซลล์ต้นแบบจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อนของหนูทดลอง ซึ่งเป็นเซลล์ที่ได้จากการปฏิสนธิ และมีศักยภาพสูงที่จะเติบโตเป็นอวัยวะต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามในกระบวนการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์เพื่อกระตุ้นให้พัฒนาเป็น เซลล์ตับนั้นจำเป็นต้องทราบการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์เดี่ยว เพื่อให้รู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ การติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์นี้อาจทำให้เราทราบได้ถึงโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติอื่นใดที่สามารถเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการพัฒนาเซลล์ และที่สำคัญเมื่อเซลล์ถูกการกระตุ้นให้เป็นเซลล์ตับในระยะสุดท้ายแล้วนั้น เซลล์ตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งเทคนิคการวิเคราะห์จาก กล้องจุลทรรศน์อินฟราเรดโดยใช้แสงซินโครตรอนสามารถแสดงผลการพัฒนาไปสู่เซลล์ตับได้อย่างชัดเจนเป็นที่น่าพอใจมาก และคิดว่าจากนี้ไปจะทดลองในสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์  หรือด้วยสเต็มเซลล์ร่างกาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต และคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณกว่า 10 ปีจะสามารถพัฒนาไปสู่การสร้างเซลล์ตับใหม่ให้กับมนุษย์ได้

ด้าน ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า งานวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการสร้างฐานข้อมูลในการตรวจ หรือจัดจำแนกเซลล์ตับที่ถูกต้อง และสมบูรณ์จากเซลล์ตั้งต้นได้รวดเร็วขึ้นกว่าวิธีปกติทั่วไป และช่วยลดข้อจำกัดในของการวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุลซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สั้นกว่า และมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการการใช้สารเคมีใด ๆ จะช่วยให้การทำงานของนักวิจัยรวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยในระดับแนวหน้าของไทย

ไทยรัฐออนไลน์ 9 ธค 2554

หน้า: 1 ... 555 556 [557] 558 559 ... 652