ผู้เขียน หัวข้อ: มวลน้ำจืดมุ่งลงอ่าวไทย กระทบนิเวศทางทะล คิดแก้กันหรือยัง  (อ่าน 1573 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปีนี้ กินวงกว้างตั้งแต่พื้นที่บางส่วนของจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง ถึงกรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องกันมารวมระยะเวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประเมินว่าในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมที่มีน้ำขังเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 วัน มีทั้งสิ้น 14 จังหวัด ไล่เลียงมาตั้งแต่พื้นที่ จ.พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี คิดเป็นปริมาณน้ำเสียมากถึง 138 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปริมาณนี้แบ่งเป็นน้ำเสียจากชุมชน 86,000 ไร่ และน้ำเสียจากพื้นที่เกษตรกรรม 3.2 ล้านไร่ แต่ปริมาณน้ำเสียเหล่านี้ยังไม่รวมถึงปริมาณน้ำเสียที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้

ก็อย่างที่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกไว้ในบทสัมภาษณ์ล่าสุด "น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ น้ำไหลจากตอนเหนือลงตอนใต้" วันนี้ก็ชัดเจน...น้ำกำลังไหลจากแผ่นดินตอนบนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และออกสู่อ่าวไทย

ปรากฏการณ์ปลาลอยหัวตายเกลื่อนอยู่ในน้ำหลายพื้นที่ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และนักสมุทรศาสตร์จากสถาบันต่างๆ เริ่มวิตกกังวลน้ำเสียจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในอ่าวไทย โดยเฉพาะกับสัตว์น้ำนานาชนิด

ถึงขั้นนัดรวมตัวกันประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้

คุณศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) บอกว่า สถานการณ์นี้ ในมิติทางทะเลถือว่าน่ากังวลยิ่งกว่าเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เพราะมวลน้ำเสียปริมาณมหาศาลจะส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง กิจการท่องเที่ยว

นั่นหมายถึงจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงประชาชนด้วย

"เพราะขณะนี้ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ถ้าเป็นลักษณะนี้น้ำจะหมุนทวนเข็มนาฬิกา ดังนั้น ทิศทางกระแสน้ำในอ่าวไทยตอนในน่าจะวนไปทาง จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ซึ่งจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงที่สุด เมื่อน้ำจืดลงไปถึงอ่าวไทย แม้ว่าจะไม่ทราบชัดเจนว่ามีปริมาณมากน้อยเท่าใด แต่ตามหลักการเมื่อน้ำจืดลงสู่ทะเลมากๆ จะทำให้ค่าความเค็มของน้ำทะเลเปลี่ยนไป

จากค่าปกติ 30-33 พีพีที (ส่วนในล้านส่วน) อาจลดต่ำในเวลาอันรวดเร็วเหลือเพียง 20-25 พีพีที

น้ำจืดที่เน่าเสียจะทำให้สัตว์น้ำประจำถิ่น เช่น หอยแครง หอยนางรม หอยแมงภู่ทั้งในธรรมชาติและที่เพาะเลี้ยงชายฝั่งได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนปลาทะเล เช่น ปลาทู ถ้าค่าออกซิเจนละลายน้ำ (ดีโอ) ลดลงเหลือ 0-1 มิลลิกรัมต่อลิตร ปลาจะตายเพราะขาดออกซิเจน ซึ่งสังเกตได้ง่ายจากปรากฏการณ์ปลาลอยหัวขึ้นมาหาอากาศบนผิวน้ำ"

"ถ้าน้ำจืดที่ลงทะเลเป็นน้ำนิ่ง และคลื่นไม่แรงก็จะทำให้มวลน้ำที่ผสมกันในทะเลแบ่งออกเป็นชั้น โดยชั้นบนจะเป็นมวลน้ำจืด และส่วนชั้นล่างจะเป็นน้ำเค็ม ทั้งนี้ หากมวลน้ำจืดด้านบนขุ่นมากจนแสงส่องไม่ถึงน้ำเค็มชั้นล่าง ปลาจะขาดออกซิเจนทันที โดยเฉพาะปลาทูอยู่ในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้ ปลาทูจะอพยพจากทะเลชุมพร ขึ้นมาบริเวณอ่าวไทย แถว อ.แม่กลอง จ.สมุทรสงคราม หากมีน้ำเสียลงสู่อ่าวไทยบริเวณนี้ อาจส่งผลให้ปลาทูต้องถอยร่นไปอยู่บริเวณพื้นที่ จ.เพชรบุรี แทนที่จะว่ายไปถึงแม่กลอง"

คุณศักดิ์อนันต์กล่าวไว้

ถึงตรงนี้แล้วยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะนักกินปลาทูต่างรู้ดีว่า หากจะกินปลาทูให้อร่อย ต้องกินปลาทูแม่กลองเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มประมงชายฝั่งพื้นบ้าน กลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ตั้งแต่บริเวณปากอ่าวไทย เช่น บางขุนเทียน ท่าจีน ปากน้ำแม่กลอง ดอนหอยหลอด คลองโคน บ้านบางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี ด้วย

เว็บไซต์ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่มีผลผลิตด้านการประมงสูงมาก และยังติดอันดับต้นๆ ของผู้ส่งออกมาตั้งแต่ปี 2535 โดยพบว่าในปี 2551 มีผลผลิตมวลรวมในสาขาประมง 105,977 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิตมวลรวมภาคเกษตร หรือร้อยละ 1.2 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ที่สำคัญกว่านั้น กิจกรรมประมงยังเกี่ยวข้องกับคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล หรือบริเวณใกล้เคียง หากให้นับเป็นหมู่บ้านจะได้มากกว่า 2,000 หมู่บ้าน มีครัวเรือนที่ทำประมงทะเลตามข้อมูลสำมะโนประมงทะเลในปี 2543 จำนวน 55,981 ครัวเรือน และมีตลาดแรงงานรองรับซึ่งสำรวจในปี 2543 มากถึง 826,657 คน โดยอยู่ในภาคของประมงทะเล 161,670 คน เป็นกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงชายฝั่ง 77,870 คน อยู่ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับการประมง 183,100 คน ส่วนที่เหลืออยู่ในภาคกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด

นอกจากนี้ การประมงแห่งประเทศไทย ได้สำรวจพื้นที่การเพาะเลี้ยงชายฝั่งไว้ในปี 2546 พบว่ามีประมาณ 512,620 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องภัยธรรมชาติ และเรื่องน้ำเสียมาตลอด

แม้ว่า กรมควบคุมมลพิษจะมั่นใจว่าปัญหาน้ำทะเลจืดและเสื่อมคุณภาพจะฟื้นฟูได้เองโดยธรรมชาติ แต่เชื่อว่าคราวนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ

แล้ววันนี้...รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการอะไรไว้บ้างหรือยัง?

โดย น.รินี เรืองหนู
(ที่มา คอลัมน์คลื่นคิดข่าว หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554)