ผู้เขียน หัวข้อ: แฉสนั่นออนไลน์!! ศึกเจ้าอาวาส VS ผู้ช่วย วัดสระเกศ  (อ่าน 903 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
วงการผ้าเหลืองร้อนสะดุ้งอีกครั้ง หลังเกิดการแฉผ่านโลกออนไลน์ เจ้าอาวาสวัดดังร่ำรวยผิดปกติ มีทรัพย์สินกว่าหนึ่งพันล้านบาท แว่วว่างานนี้เป็นคนวงในผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่ถูกสั่งปลดออกมาสาวไส้ให้กากิน ถือเป็นการเปิดศึกภายในวัดสระเกศอย่างเต็มรูปแบบ!!
       
       สนั่นวัด เปิดศึกผลประโยชน์
       
        เอาละเหวย! วงการพระพุทธศาสนาโดนเปิดโปงอีกครั้ง หลังเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ตีแผ่ความจริง คนไร้คุณธรรม ไร้ความเป็นผู้นำ” เผยข้อมูลวิเคราะห์เจาะลึกความร่ำรวยของพระรูปหนึ่งที่รวยล้นฟ้า ถึงขั้นมีไร่มีสวนหลักร้อยไร่ พ่วงธุรกิจเพาะพันธุ์สัตว์อีกหลายชนิด มีรถหรูหลายสิบคันให้เลือกใช้
       
        “เฮียเหนาะ (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ถึงเวลาแล้วที่ต้องตอบคำถามที่สังคมต่างตั้งข้อสงสัยถึงความร่ำรวยผิดปกติของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถและธุรกิจต่างๆ มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท ว่ามีความเหมาะสมกับความเป็นพระหรือไม่ ท่านมีรถหรูไม่ต่ำกว่า 20 คัน มีที่มาอย่างไร มีความจำเป็นสำหรับพระมากขนาดนั้นหรือไม่
        การทำธุรกิจสวนกล้วยไม้ร่มวรีส์กว่า 300 ไร่มูลค่ากว่า 100 ล้านบาทส่งขายวัดโสธรฯ และวัดต่างๆ, ธุรกิจปล่อยเงินกู้แก่เจ้าอาวาสวัดต่างๆ, ธุรกิจสวนมะยงชิด, มีรีสอร์ตหรูหลายหลัง, ธุรกิจเพาะพันธุ์ไก่ชนขาย, ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลากัดขาย, ธุรกิจเพาะพันธุ์นกเขาขาย
        และขณะนี้กำลังปรับพื้นที่ทำธุรกิจบ้านจัดสรรมูลค่าไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท, การมีผู้หญิงไปมาหาสู่เข้าๆ ออกๆ ยามวิกาลในกุฏิของท่านซึ่งมีความลึกลับซับซ้อนไม่มีใครเข้าออกได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เขาเป็นใคร? ทั้งหมดนี้คือคำถามจากสังคมที่ต้องการคำตอบและสามารถค้นหาความจริงได้ที่บ้านสามเรือนบางปะอินอยุธยา”
       
        ข้อความดังกล่าวถูกโพสต์ลงเมื่อช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา และในขณะนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่พุทธศาสนิกชนต่างให้ความสนใจ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเสื่อมในวงการผ้าเหลือง
       
        ทั้งนี้ ภายในเฟซบุ๊กแฟนเพจเดียวกันนั้น ได้มีการเฉลยเอาไว้ว่าพระผู้นี้คือ “พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร)” เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 12 พร้อมกับพาดพิงถึงสีกาอีกคนหนึ่งโดยระบุว่า เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้ไปมาหาสู่ เข้าๆ ออกๆ ยามวิกาลในกุฏิของพระพรหมสุธี ซึ่งมีความลึกลับซับซ้อนไม่มีใครเข้าออกได้ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
       
        ทั้งยังปรากฏภาพอีกหลายสิบภาพ อาทิ ภาพที่ดินที่กำลังจะสร้างบ้านจัดสรรพันล้าน, ภาพฟาร์มเลี้ยงไก่ชน, ภาพสวนกล้วยไม้ร่มวลีส์ และภาพรถหรูหลากยี่ห้อ อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจดังกล่าวเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา จึงคาดว่าน่าจะมีการเตรียมการออกมาแฉพระรูปนี้โดยเฉพาะ
       
        นอกจากนั้น ยังมีกระแสกล่าวว่าเฟซบุ๊กแฟนเพจนี้ถูกแฉโดย “พระพรหมสิทธิ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ และเจ้าคณะภาค 10 หลังจากถูก “พระพรหมสุธี” ปลดจากจากหน้าที่การงานในวัดสระเกศ รวมถึงแจ้งความข้อหายักยอกทรัพย์สินด้วย จึงทำให้ต้องออกมาโจมตีกลับด้วยการแฉผ่านทางโลกโซเชียล รวมไปถึงเอกสารแจกแจงให้อัปเปหิพระพรหมสุธี ความยาวกว่า 19 หน้า ระบุถึงเหตุการณ์ยักยอกเงินวัด, การแจ้งความจับ และอีกหลายเหตุการณ์ที่แสดงถึงความขุ่นข้องหมองใจของพระทั้งสองรูป (อ่านต่อฉบับเต็มคลิกที่นี่)
       
       “พุทธพาณิชย์” ความโลภบังตา
       
        จากกรณีดังกล่าวทำให้ต้องมานั่งฉุกคิดว่า การที่พระสงฆ์สองรูปในวัดดังต่างแฉกันไปมาในเรื่องของเงินๆ ทองๆ เป็นเพราะความโลภและหลงใหลในระบอบ “พุทธพาณิชย์” ที่สร้างรายได้มหาศาลอาจเป็นชนวนเหตุให้เปิดศึกกันกลางวัด
       
        ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันคนไทยทำบุญแบบมักง่าย แลกบุญด้วยเงินตราจ่ายแล้วจบ ไม่เน้นการฟังธรรม ไม่สนการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ “พุทธพาณิชย์” พุทธัง-ธัมมัง-สังฆัง เอาตังค์ใส่ตู้ ดังนั้น ทุกวันนี้จะเข้าไปทำบุญวัดไหนจึงต้องเห็นตู้ให้หยอดบริจาคเงินควบคู่กับองค์พระปฏิมาอยู่ร่ำไป
       
        รวมไปถึงวัดที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะหยิบจับอะไรก็คิดเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด ค่าดอกไม้ ธูป เทียน 20 บาท, ค่าวางรองเท้า 20 บาท, ค่าใบเซียมซี 20 บาท จนคนเข้าวัดเห็นแล้วแขยงไปตามกันๆ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนไทยทำบุญเฉลี่ย 250 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ทำให้เห็นได้ว่าตลาดการทำบุญนั้นมีมูลค่าถึง 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีทั้งบริจาคเข้าวัดและบริจาคเพื่อการกุศลอื่นๆ ด้วย และคิดรวมถึงการบริจาคเป็นสิ่งของ
       
        “ผมคิดว่าคนไทยทำบุญเข้าวัดก็ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่น 5 พันล้านบาทต่อปี โดยในวันพระใหญ่แต่ละวันผมคิดว่าน่าจะมีเงินไหลเวียนไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งการที่เงินไหลเวียนระดับนี้ เรากำลังพูดถึงธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาพุทธเป็นหลัก
        แต่ถึงแม้เงินจะไหลเวียนสูงถึง 35 พันล้านบาท แต่จริงๆ กระจุกอยู่ในวัดใหญ่มากกว่าวัดเล็กๆ เราจึงเห็นวัดบางวัดต้องปิดตัวไป หรือต้องอยู่กันแบบสภาพทรุดโทรม บางวัดศาลามูลค่า 50-60 ล้านบาทได้ แต่ว่าบางวัดแค่ศาลายังไม่มีเลย” เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว
       
        อีกหนึ่งแนวความคิดในการทำบุญที่เราได้ยินได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ในขณะนี้ “บริจาคมาก ได้บุญกลับมามาก บริจาคน้อย ได้เงินกลับมาน้อย” ก็เป็นสิ่งพึงอันตรายของพุทธศาสนิกชนไทย เพราะมันคือความเชื่อแบบผิดๆ ดังที่ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ผู้สอนวิชาศาสนาในสังคมปัจจุบัน ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า ตอนนี้ แม้กระทั่งการทำบุญเราก็คิดกันแบบทุนนิยม
       
        “คนสมัยนี้ บริจาคมากเพื่อหวังจะได้อะไรกลับ คิดว่าทำบุญมากต้องได้บุญกลับไปมาก ทำร้อยล้านต้องได้ตอบแทนร้อยล้าน เป็นวิธีคิดแบบทุนนิยมมาก หยิบเอาเรื่องกำไรสูงสุดมาเป็นตัวชี้นำให้คนทำบุญหรือไม่ทำบุญ ซึ่งมันผิด มันไม่ใช่บุญในพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว ผมเข้าใจนะว่าวัดทุกวัดมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน แต่ปัจจุบันนี้เราผูกโยงเรื่องการเข้าวัดทำบุญไว้กับเรื่องกำไรขาดทุนมากเกินไป มันกลายเป็นวงจร พระหรือวัดก็รู้ว่าคนต้องการอย่างนี้ เขาก็เลยทำขึ้นมา และกลายเป็นพิธีกรรมที่เอื้อกันพอดี ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ผล ผมว่าต้องแก้ทั้งระบบ”
       
       แก้ปัญหา สอบรายได้วัด
       
        อย่างที่รู้ๆ กันว่า เงินที่เข้าวัดส่วนใหญ่แทบจะไม่เหลือหลักฐานอะไรให้ตรวจสอบ และก็คงจะไม่มีใครกล้าไปตรวจสอบด้วยเช่นกัน และโดยมากก็รู้เห็นเป็นใจทำเป็นขบวนการทั้งวัดไล่ตั้งแต่เจ้าอาวาส พระลูกวัด ไปจนถึงคณะกรรมการวัด เรียกได้ว่าแบ่งกันรวยรับเละ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้น ทางออกลำดับแรกๆ คือการจัดระเบียบการตรวจสอบรายได้ที่เข้ามาในวัด เพื่อความโปร่งใส
       
        “ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะกฎหมายของเราหรือระเบียบของพระสงฆ์ที่ให้ครอบครองทรัพย์สินมันยังไม่รัดกุม ระบบการใช้จ่ายของวัดมันไปตกอยู่แต่ในมือของเจ้าอาวาส หรือพระรูปใดรูปหนึ่ง มิตรสหายของผมเองก็นำเสนอว่าควรมีระเบียบออกมาให้วัดเสียภาษี เพราะการเสียภาษีหมายถึงพระต้องแสดงทรัพย์สิน หรือมีระเบียบเกี่ยวกับการครอบครองดูแลทรัพย์สิน ซึ่งถ้าเราดูตามเจตนารมณ์พระวินัยเนี่ย ไม่ได้ต้องการให้พระสงฆ์มีทรัพย์สินเลยนะครับ มีแค่เพียงจำเป็นที่จะพอยังชีพ แต่ทีหลังเราย่อหย่อนในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และจริงๆ วัดควรจะเป็นของชุมชน ชาวบ้านควรได้ช่วยตรวจสอบ วัดไม่ใช่สมบัติของพระเพียงอย่างเดียว
       
        อีกอย่างอย่าลืมว่าคนให้เงินพระคือฆราวาสและก็ให้อย่างเต็มใจด้วย มันจึงอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาบางอย่างหรือเปล่า เพราะสุดท้ายเงินมันไปกองกับพระสงฆ์บางรูป ในขณะนี้ของที่เป็นส่วนกลางของวัดเราแทบจะตรวจสอบไม่ได้เลยว่ามันมีมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับนโยบายเรื่องของการจัดการทรัพย์สินของวัด ถ้าจะมองว่าพระรูปไหนโกงไม่โกง อันนี้มันเป็นเรื่องระดับบุคคลมากกว่า” อ.คมกฤช ระบุ
       
        นอกจากนั้น อาจารย์คนเดิมยังเสริมด้วยว่า อยากให้คนไทยปรับทัศนคติในเรื่องของการทำบุญ ให้ทำบุญเพื่อส่วนรวมจะได้บุญมากกว่าตามพระไตรปิฎก อย่างเช่น การถวายสังฆทาน การถวายหลอดไฟ ดีกว่าการนำสิ่งของหรือปัจจัยไปปรนเปรอพระสงฆ์เพียงบางรูป
       
        สุดท้าย คงต้องยอมรับว่า “วงการผ้าเหลือง” ทุกวันนี้ถูกย่ำยีจากคนภายในเอง และถ้าหากไม่มีใครนำความเสื่อมออกมาเปิดโปง เราก็ยังต้องเคารพกราบไหว้โจรในคราบพระอยู่ร่ำไป ถึงกระนั้น พระปฏิบัติดีคงต้องมีอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าทำบุญด้วยวิธีไหนถึงจะสบายใจ ไม่ขุ่นข้องสงสัยให้เสียบุญเปล่าๆ
       
        ส่วนกรณีของพระฉาวรูปนี้ คงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าข่าวโคมลอยพร้อมหลักฐานจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และหากเป็นการใช้เงินบุญจากประชาชนมาโปรยทางให้ตนเองร่ำรวยจริง เชื่อว่าสักวันหนึ่งกรรมจะตามสนองเอง!!
       
เรื่องโดย ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live
ASTVผู้จัดการรายวัน    26 สิงหาคม 2557