ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมการปฏิรูปประเทศไทยจึงล้มเหลว  (อ่าน 875 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
ทำไมการปฏิรูปประเทศไทยจึงล้มเหลว
« เมื่อ: 24 สิงหาคม 2014, 09:35:50 »
สังคมไทยมีการปฏิรูปหลายครั้งซึ่งมักจะจบลงด้วยความล้มเหลว นอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมที่สะสมมาอย่างยาวนานได้แล้ว แนวทางการปฏิรูปเองกลับสร้างปัญหาใหม่ตามมาอีกหลายประการ ดังนั้นภายในเวลาไม่นานหลังการปฏิรูปสถานการณ์มีแนวโน้มทวีความเลวร้ายยิ่งขึ้น และนำไปสู่วิกฤติการณ์จนต้องมีการปฏิรูปใหม่ และก็จบลงด้วยความล้มเหลวอีกเช่นเดิม
       
        การปฏิรูปการเมืองซึ่งมีการผลักดันกันครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ได้แนวทางที่ดูดีสดสวย มีการประดิษฐ์นโยบาย กฎหมาย ระเบียบ มาตรการ กลไกและองค์กรอิสระนานาชนิดเพื่อขับเคลื่อน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามกับเป้าประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ สิ่งที่ปรากฏในเชิงรูปธรรมอันเป็นดัชนีชี้วัดความล้มเหลวของการปฏิรูปก็คือ การทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง ข้าราชการ และนายทุนทวีความเข้มข้นมากขึ้นและขยายตัวราวกับโรคระบาดร้ายแรง องค์กรและสถาบันทางการเมืองทำหน้าที่เบี่ยงเบนจากเป้าหมายที่สังคมคาดหวัง แทนที่จะมุ่งมั่นในพันธกิจ พัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม กลับทำหน้าที่เพื่อรับใช้ตนเอง ขยายเครือข่ายอำนาจ สร้างอาณาจักร และการครอบงำสังคม ในที่สุดก็จบลงด้วยความขัดแย้งอย่างรุนแรง การชุมนุมประท้วง และการรัฐประหาร
       
        การปฏิรูปการศึกษาก็มีอาการป่วยหนักไม่แพ้การปฏิรูปการเมือง สังคมคาดหวังจะสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้ผู้เรียนมีความความสามารถทางปัญญาและมีคุณธรรม มีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา นโยบาย และสร้างองค์กรต่างๆเพื่อเข้าไปแทรกแซงสถาบันการศึกษา เช่น สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และระบบการประเมินผลงานของครู เรียกได้ว่าระบบการศึกษาไทยรกรุงรังไปด้วยระเบียบที่ไร้ความหมาย
       
        สถาบันการศึกษาถูกประเมินด้วยตัวชี้วัดมากมายซึ่งไม่มีส่วนในการสร้างคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด สำนักงานพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนก็เต็มไปด้วยการบริหารและผู้บริหารที่มีเน้นการสร้างภาพ สร้างอำนาจ และสร้างอาณาจักรของตนเอง ส่วนบรรดาครูผู้สอนก็หมกมุ่นอยู่กับการเอาตัวรอดและการไต่เต้าแสวงความก้าวหน้าด้วยกลอุบายนานาชนิดที่สามารถคิดออกมาได้ ขณะที่คุณธรรมและจรรยาบรรณกลับถูกเก็บและปิดอย่างแน่นสนิท และรอที่จะนำออกมาฟาดฟันผู้อื่นที่ตนเองไม่ชอบเท่านั้น
       
        สิบกว่าปีที่ผ่านมาการศึกษาไทยจึงล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน มีนักเรียนจำนวนมากมายมหาศาลที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วอ่านหนังสือไม่แตกและคิดเลขง่ายๆไม่เป็น ภูมิปัญญาเฉลี่ยของประเทศตกต่ำลง คุณธรรมพื้นฐานถูกละเลย พฤติกรรมมีแนวโน้มหยาบช้า ไร้วัฒนธรรมและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
       
        หากถามว่านาทีนี้เราสามารถคาดหวังกับการปฏิรูปประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งได้มากน้อยเพียงใด จากประสบการณ์ในอดีต ผมคิดว่าเราก็คงต้องเตรียมใจเผื่อเอาไว้ก่อนเพราะหากคาดหวังมาก ความผิดหวังก็คงตามมามากเช่นเดียวกัน แต่หากจะไม่ให้คาดหวังเสียบ้างเลยก็ดูกระไรอยู่ ดังนั้นการทบทวนบทเรียนก่อนที่จะเดินไปข้างหน้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
       
        เราคงต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า “นิสัยคนเปลี่ยนยากกว่าระเบียบและกฎหมาย” จากการสังเกตของผม การใช้ระเบียบและกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงนิสัยคนนั้น สำหรับสังคมไทยแล้วก็ดูเหมือนมีประสิทธิผลไม่มากนัก เพราะว่าทั้งคนที่เป็นผู้บังคับใช้ระเบียบและคนที่ถูกระเบียบบังคับใช้ ต่างก็มีนิสัยเหมือนกันประการหนึ่งคือละเลยระเบียบ เพิกเฉยเมื่อคนอื่นละเลยระเบียบ ขาดความคงเส้นคงวาในการใช้ระเบียบ และมีการนำระเบียบที่ใช้บังคับผู้อื่นมาเป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเอง
       
        ตัวอย่างมีให้เห็นทั่วไปตั้งแต่ระเบียบหรือกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนน จนไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรามีกฎหมายที่ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย แต่คนไทยทั่วไปคงไม่ชินกับการสวมหมวกดังกล่าว คนจำนวนมากจึงไม่สวม ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ละเลยไม่ใส่ใจหรือไม่ก็หาเรื่องใช้ระเบียบดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่ตนเอง
       
        เรามีกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายป้องกันการทุจริตที่มีบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง แต่การสมยอมในการทุจริตซื้อขายเสียงหรือทุจริตในเรื่องอื่นๆก็เกิดขึ้นเป็นประจำ ภายใต้ข้ออ้างต่างนาๆนาที่แต่ละคนหยิบยกเอามาอ้างกัน ส่วนผู้บังคับใช้กฎระเบียบก็อาศัยระเบียบเหล่านั้นเป็นแหล่งสร้างประโยชน์แก่ตนเอง เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ
       
        ดังนั้นหากนิสัยละเลยระเบียบและนิสัยการใช้ระเบียบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนยังไม่ได้รับการแก้ไข หนทางแห่งการปฏิรูปก็ดูจะมืดมน
       
        แล้วจะแก้ไขนิสัยเหล่านี้ได้อย่างไร เราก็คงจะต้องศึกษาบทเรียนของสังคมที่เขาประสบความสำเร็จดูว่าเขาทำอย่างไรกันบ้าง จุดเริ่มต้นสำคัญของความสำเร็จคือ ต้องมีกลุ่มผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงกลุ่มหนึ่งที่กอปรไปด้วยจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมอย่างเข้มข้น มีเจตจำนงทางการเมืองอย่างเด็ดเดี่ยว มีสติปัญญามากพอที่จะตัดสินได้อย่างถูกต้องว่าแนวทางและการกระทำใดมีประโยชน์ต่อประเทศและคนส่วนใหญ่ และมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะเสียสละผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง รวมทั้งกล้าหาญพอที่จะจัดการกับบุคคลและระบบที่สร้างความไม่เป็นธรรม
       
        สาเหตุแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปสังคมไทยก็คือที่ผ่านมาเรายังไม่มีกลุ่มผู้นำประเทศที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เรามีแต่นักฉวยโอกาสทางการเมืองที่มุ่งแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งให้แก่ตนเองและพวกพ้อง เรามีแต่กลุ่มผู้นำที่แสดงนิสัยเลวทราม พฤติกรรมที่ละโมบ เอาแต่ได้ และขี้ขลาดซึ่งเน้นเอาตัวรอดไปวันๆในเกมแห่งอำนาจ เมื่อสังคมไทยมีกลุ่มผู้นำที่มีนิสัยและพฤติกรรมเยี่ยงนี้แล้ว คนทั่วไปก็จะเลียนแบบและปฏิบัติตาม จนเกิดเป็นวัฏจักรแห่งความชั่วร้ายสืบเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
       
        แต่หากกลุ่มผู้นำประเทศกลุ่มใหม่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และเจตจำนงอย่างแน่วแน่ในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง ก็คงจะต้องกำหนดบรรทัดฐานในการปฏิบัติของกลุ่มตนให้ชัดเจนและประกาศให้สาธารณะทราบโดยทั่วกัน เริ่มจากการจัดระเบียบภายในหน่วยงานอันทรงอำนาจของตนเอง การจัดการกับกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากระเบียบอย่างเด็ดขาด ทั้งในเรื่องการทุจริต การแสวงหาประโยชน์จากผู้ใต้บังคับบัญชา การทำผิดกฎหมาย และการสร้างอิทธิพลเถื่อนในรูปแบบต่างๆ
       
        จากนั้นก็ต้องขยายบรรทัดฐานของการปฏิบัติที่ดีออกไปสู่องค์กรอื่นๆในสังคมทั้งหน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชน สื่อมวลชน สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา รวมไปถึงวงการบันเทิง และวงการกีฬาด้วย โดยเริ่มจากการเชิญกลุ่มผู้นำขององค์กรทางสังคมต่างๆมาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ร่วมสร้างเจตจำนงและพันธกิจแห่งการปฏิรูป และสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติเพื่อเป็นตัวแบบที่ดีแก่คนในวงการนั้นๆ
       
        หากกลุ่มชนชั้นนำขององค์การและวงการต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงนิสัยและบรรทัดฐานการปฏิบัติ สิ่งที่ดีๆเหล่านี้ก็จะขยายตัวออกไป และก่อเกิดเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายแห่งการปฏิรูปประเทศ เมื่อนั้นหนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปฏิรูปก็พอจะมีความหวังอยู่บ้าง
       
        แต่หากกลุ่มชนชั้นนำของประเทศและสังคมในวงการต่างๆยังไม่มีจิตสำนึก ไม่มีนิสัยและบรรทัดฐานแห่งการปฏิบัติที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการปฏิรูป การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การออกกฎหมายใหม่ การสร้างกลไกใหม่ และการสร้างองค์กรใหม่ก็ดี จะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายและไร้ประสิทธิผลในการปฏิรูปประเทศดังที่เคยเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้
       
        สำหรับกลไกและองค์การต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลิตความคิดและบรรทัดฐานแห่งการปฏิบัติที่นำไปสู่การสร้างค่านิยม ความเชื่อ และบรรทัดฐานแห่งความล้มเหลวก็จำเป็นจะต้องยุบเลิกหรือไม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนเสียใหม่ ดังที่ คสช. ได้ยกเลิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมไปแล้ว การใช้อำนาจในการยุบเลิกสภาฯดังกล่าวอาจทำได้ไม่ยากนักเพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่มาก อำนาจหน้าที่ก็น้อย และที่สำคัญคือผลประโยชน์ไม่มาก
       
        แต่การเปลี่ยนแปลงองค์การที่มีคนเกี่ยวข้องมากและมีผลประโยชน์สูง อย่างเช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด บริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเรื่องอื่นๆเช่น ระบบการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากไม่มีเจตจำนงที่เด็ดเดี่ยว หรือขาดสติปัญญาในการใช้ศิลปะและศาสตร์เพื่อแสวงหาทางออกอย่างเป็นระบบ หรือไร้ความกล้าหาญในการจัดการกลุ่มที่เสียประโยชน์ และขาดความเสียสละประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
       
        กล่าวโดยสรุปการปฏิรูปประเทศจะหลุดพ้นจากความล้มเหลวได้หากกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงมีคุณลักษณะที่สำคัญห้าประการครบครัน นั่นคือ การมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม การมีเจตจำนงที่เด็ดเดี่ยว การมีสติปัญญาที่แหลมคม มีความกล้าหาญ และมีความเสียสละ หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปหนทางแห่งการปฏิรูปก็ดูจะมืดมัวลงไป และมหันตภัยครั้งใหม่ของประเทศก็จะก่อตัวขึ้นมาอีกในอนาคต

ASTVผู้จัดการรายวัน    1 สิงหาคม 2557