ผู้เขียน หัวข้อ: จิต..ครอบครัว..สังคม ‘แก้ไขปัญหา’ ‘ความสุข’คือกุญแจ  (อ่าน 1300 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด
จากสภาวะแวดล้อมทางสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบด้าน ในมุมผลกระทบทางลบนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ซึ่ง ’ปัญหาสังคม“ ส่วนใหญ่จะยึดโยงกับ ’ปัญหาครอบครัว“ ขณะที่ปัญหาครอบครัวก็เกี่ยวพันกับ ’ปัญหาทางจิต“ ด้วย โดยที่คนไทยอาจไม่ทันได้คิดว่านี่ก็เป็นเรื่องทางจิต

’ความสุขในครอบครัวไทยลดลงมาก“ ในยุคนี้

หากไม่เท่าทัน..ก็อาจจะ ’นำสู่สารพัดปัญหา!!“

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมรณรงค์ “บ้านอุดมสุข...ความสุขสร้างได้” ก็มีการระบุถึงปัญหา และ “แนวทางแก้ปัญหาทางจิต ครอบครัว สังคม” ที่น่าพิจารณา โดย พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ นายกสมาคมสายใยในครอบครัว ระบุว่า...การดูแลสุขภาพจิตของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่มีใครที่จะดูแลสภาวะจิตใจได้ดีเท่าตัวเราเอง โดยเราต้องทำเพื่อตัวเราเองให้ดีก่อน จากนั้นจึงแบ่งปันไปสู่คนรอบข้างหรือผู้อื่น ’ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใช้ความรักและความจริงใจเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น“

“การได้พบความทุกข์หรือปัญหา เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ต้องเจอ...เพื่อที่จะทำให้เราได้ค้นพบศักยภาพทางด้านอื่น” เราทุกคนมีโอกาสป่วยด้านจิตเวช ซึ่งบางคนหายแล้วกลับมาได้ บางคนความสามารถไม่เท่าเดิม แต่ก็ควรมีโอกาสได้ทำงาน หรือบางคนกลับมาทำงานไม่ได้ก็มี เหมือนโรคอื่นที่บางโรคหายแล้วทำงานได้ บางโรคทำงานไม่ได้ แต่เราต้องเห็นคุณค่าชีวิต ต่อความหวังให้พวกเขาได้ชีวิตเช่นคนปกติให้มากที่สุด

“ทุกคนมีความดี อยากเห็นคนไทยเราได้แสดงความดีให้มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนหล่อเลี้ยงเราให้อยากอยู่ในสังคม และความดีติดต่อกันได้ เมื่อเราเห็นคนหนึ่งทำดี โดยสำนึกเราก็จะอยากทำดีตาม แต่ที่ต้องระวังคือ หากเห็นคนที่ทำชั่ว แต่เตือนกันไม่ได้ ก็ขอให้ละเว้นหลีกไกล อย่าลอกเลียนพฤติกรรมโดยเด็ดขาด และอีกสิ่งที่เราต่างต้องพึงตระหนักก็คือ ไม่ว่าจะอยู่สถานะไหน จะยากดีมีจน หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นคนบ้า คนทุกคนล้วนมีค่าเสมอ” ...นายกสมาคมสายใยในครอบครัว ระบุ

เพิ่มเติมในประเด็นผู้ป่วยทางจิต ในส่วนของครอบครัว ทางนายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต น.อ.สมปอง เกิดแสง ชี้ว่า...การดูแลและเอาใจใส่ผู้ป่วยทางจิตโดยไม่แสดงอาการรังเกียจ เป็นเสมือนยาสำคัญที่จะช่วยบรรเทาให้กลับคืนสู่ปกติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การ กอดกันก็ให้ความรู้สึกที่ดี เกิดความรักและผูกพัน

’อยากให้ทุกคนช่วยกันดูแลเอาใจใส่ผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวช อย่าคิดว่าเขาเป็นส่วนเกินของสังคม ให้คิดว่าเขาก็มีคุณค่าในสังคมไม่ต่างไปจากคนปกติ“...นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าว

ขณะที่ รมช.สาธารณสุข นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ บอกว่า... ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย มีหลายเรื่อง ซึ่งที่สำคัญคือ ปัญหาครอบครัว ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ปัญหาผู้สูงอายุถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง ปัญหายาเสพติด ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาความรุนแรง ปัญหาการฆ่าตัวตายและฆ่าผู้อื่น ปัญหาการหย่าร้าง จากรายงานการเปิดให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า ปัญหา 3 ลำดับแรก คือ ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาโรคจิตเวช และปัญหาครอบครัว อาทิ คู่ครองนอกใจ ลูกติดยา ติดเกม ติดเพื่อน ความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว โดยผู้ใช้บริการแต่ละปีมียอดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

’สาเหตุใหญ่สำคัญของปัญหาคือ คนในครอบครัวไม่มีเวลาให้กันและกัน ทั้งที่วัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องครอบครัว แต่แม้ว่าจะดูห่างออกไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมาเริ่มสร้างกันใหม่ไม่ได้ ขอเพียงใช้เวลาที่อยู่ร่วมกันให้มีคุณค่ามากที่สุด เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว อาจเริ่มจากการสื่อสารในครอบครัว ออกแบบและทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน“ ...รมช.สาธารณสุข ระบุ

ทั้งนี้ กับปัญหาทางจิต ปัญหาครอบครัว ที่ต่อเนื่องถึงปัญหาสังคม ทาง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่า... “ความสุขเป็นกุญแจแก้ไขปัญหา” ซึ่ง “แหล่งสร้างความสุขที่ดีที่สุดคือครอบครัว” ครอบครัวที่ปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ผูกพัน เข้าใจ เห็นใจ เอื้ออาทร ย่อมเป็นครอบครัวที่มีความสุข รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นการมีสุขภาพจิตที่ดี ในทางตรงกันข้ามครอบครัวที่ไม่สงบสุข ละเลยต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ขาดความเห็นอกเห็นใจกัน ย่อมเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาต่าง ๆ และเกิดปัญหาสุขภาพจิต

’หัวใจสำคัญของการสร้างความสุขในบ้านคือ การสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารที่ชัดเจนตรงกับความรู้สึกและความต้องการภายในใจ โดยที่คำนึงถึงความรู้สึกและจิตใจของอีกฝ่ายอยู่เสมอ การรับฟังซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การเป็นครอบครัวที่มีความรักความเข้าใจและมีความผูกพันกัน เมื่อมีปัญหาก็จะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี“ ...อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวแนะนำ

’สร้างความสุขในครอบครัว“ ยุคนี้ยิ่งถือว่าสำคัญ

ช่วยป้องกันทั้งปัญหาทางจิตและปัญหาสังคม

เรื่องนี้ในยุคนี้ ’คนไทยไม่ควรจะมองข้าม!!!“.

เดลินิวส์  3 พฤษภาคม 2555