ผู้เขียน หัวข้อ: สวรรค์อันดามัน(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1708 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ทะเลอันดามันได้ชื่อว่าเป็นทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกต่างหลั่งไหลมาเพื่อชื่นชมความงามของสรวงสวรรค์ใต้ท้องทะเลแห่งนี้ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลผู้ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งทะเลอันดามันพบว่า  บริเวณนี้มีระบบนิเวศทางทะเลเขตร้อนที่สำคัญของโลกครบทุกประเภท  ตั้งแต่แนวปะการัง  ป่าชายเลน หญ้าทะเล หาดหินและหาดทราย ไปจนถึงป่าชายหาด โดยเฉพาะระบบนิเวศแนวปะการังมีปะการังมากกว่า 250  ชนิด ชนิดพันธุ์ปลามากกว่า 1,200 ชนิด และสัตว์น้ำประเภทอื่นๆ อีกกว่า 7,000 ชนิด “เราพบสัตว์น้ำที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานไว้เลยไม่ต่ำกว่า 400 ชนิดแล้ว ทั้งกุ้งหอยปูปลา และเราเชื่อว่ายังมีอีกมหาศาลรออยู่” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยถึงความสมบูรณ์ของทะเลอันดามัน

 

บทพิสูจน์อันดามัน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา  แนวปะการังในทะเลอันดามันเผชิญภัยคุกคามที่ท้าทายความอยู่รอดครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี  2547 เป็นเสมือนฝันร้ายที่ยังตราตรีงอยู่ในความทรงจำ   แนวปะการังรอบบริเวณหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ หมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา คือเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย  แนวปะการังในเขตน้ำลึกถูกคลื่นซัดพังเป็นแถบๆ ขณะที่ปะการังอ่อนและกัลปังหาหลุดร่วงจากหินที่ยึดเกาะ  ส่วนปะการังในเขตน้ำตื้นถูกตะกอนดินทรายที่คลื่นพัดพามาทับถมและทำให้ปะการังตายในที่สุด  ธรรมชาติต้องใช้เวลาฟื้นตัวอยู่นานหลายปี

ทว่ายังไม่ทันที่แนวปะการังจะกลับมางดงามดังเดิม   ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด  ในปี 2553 แนวปะการังอันดามันเผชิญบททดสอบสุดหินครั้งใหญ่อีกครั้ง  หลังปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ               ทำให้แนวปะการังหลายแห่งในทะเลอันดามันได้รับความเสียหายและเสื่อมโทรมลงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มปะการังเขากวางที่หมู่เกาะสุรินทร์ตายลงมากกว่าร้อยละ 80

มนุษย์เองก็สร้างปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  แนวปะการังอันดามันต้องแบกรับภาระจากกิจกรรมทางทะเลอันบ้าคลั่งของมนุษย์  โดยเฉพาะการทำประมงในเขตแนวปะการัง  ภาพซากอวนสีดำทะมึนพาดขึงอยู่บนกองปะการัง  สัตว์น้ำน้อยใหญ่ดิ้นทุรนทุราย  ยังคงพบเห็นได้จนชินตา 

อีกด้านหนึ่ง  แม้เราไม่ (อยาก) ปฏิเสธรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจการท่องเที่ยว  แต่โลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี เรือสำราญน้อยใหญ่จอดเบียดเสียดรอรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเพื่อไปเที่ยวตามเกาะแก่งแห่งสวรรค์ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร   ห้างสรรพสินค้า บ้านเรือน   และชุมชนผุดขึ้นราวดอกเห็ดริมชายหาด   น้ำเสียจากภาคครัวเรือน ตะกอนดินจากการพัฒนาชายฝั่งเพื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ตลอดจนนักท่องเที่ยวไร้จิตสำนึกที่เหยียบย่ำ ยืน หักกิ่งปะการัง กิจกรรมเหล่านี้ล้วนสร้างความบอบช้ำให้แนวปะการังอันดามัน โดยเฉพาะแนวปะการังน้ำตื้นที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง

 

 

สวรรค์รำไร

แม้จะฟังดูเหมือนทะเลอันดามันเป็นผู้ป่วยกระเสาะกระแสะสามวันดีสี่วันไข้ไร้ทางเยียวยา      แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ความหวัง   ปัจจุบันหลายภาคส่วนไล่เรียงมาตั้งแต่ครอบครัว   โรงเรียน   ห้างร้าน   ผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่   ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐพยายามต่อลมหายใจสวรรค์ใต้น้ำผืนนี้  ด้วยการระดมสรรพกำลังทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้  การสร้างปะการังเทียมด้วยการทิ้งโครงสร้างขนาดใหญ่ลงสู่ก้นทะเลเพื่อหวังให้เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่  ยังมีส่วนช่วยลดกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในแนวปะการังตามธรรมชาติ  ตลอดจนเป็นป้อมปราการหน้าด่านป้องกันเครื่องมือประมงก่อนเข้ามาถึงแนวปะการังธรรมชาติ      การประกาศปิดแหล่งดำน้ำที่ทรุดโทรม           งดกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเอง การรณรงค์กระตุ้นให้ตระหนักถึงคุณค่าของท้องทะเลแห่งนี้ผ่านสื่อต่างๆ และสังคมออนไลน์ 

ท้ายที่สุด  ประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างมากในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา  คือความพยายามผลักดันให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามันของประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติจากยูเนสโก กลุ่มนักวิชาการและนักอนุรักษ์คาดหวังว่า  กลไกของการเป็นมรดกโลกจะกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสนใจกับการอนุรักษ์ กิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อคุณค่าของการเป็นมรดกโลกจะถูกยับยั้ง  หรือต้องปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

                แม้หนทางอาจจะยังอีกยาวไกล   บางคนถึงกับบอกว่าริบหรี่ลางเลือน     บ้างเห็นด้วย บ้างไม่ยี่หระ   บ้างคัดค้านหัวชนฝา   แต่อย่างน้อยความพยายามนี้ก็ทำให้ทุกคนได้ฉุกคิดและหันกลับมามองทะเลอันดามันอีกครั้ง    ไม่ว่าท้ายที่สุดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลทางฝั่งทะเลอันดามันจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่  ผืนน้ำสีครามแห่งนี้จะยังคง ทำหน้าที่สร้างสายสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างสรรพชีวิตแห่งท้องทะเลและมนุษย์อยู่ทุกเมื่อ และคงไว้ซึ่งความงดงามตราตรึงอันเป็นมนตร์สะกดแห่งทะเลอันดามัน

พฤศจิกายน 2555