ผู้เขียน หัวข้อ: ข่าวดี! ผู้ป่วยเอดส์ไม่เกิน 4 สัปดาห์ รักษาไวมีสิทธิหาย  (อ่าน 792 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

   

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
       ข่าวดี! ตรวจพบเชื้อเอชไอวีเร็วก่อน 2 สัปดาห์ มีโอกาสรักษาหายได้ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์เผยรักษาต่อเนื่อง 1 ปี ไม่มีเชื้อในเม็ดเลือดขาว ย้ำมีเซ็กซ์เสี่ยงต้องรีบตรวจ เล็งศึกษาต่อในขั้นการให้วัคซีนกระตุ้นเชื้อหลบใน และหยุดยาต้านไวรัส เอ็นจีโอเอดส์กระทุ้งรัฐทำงานเชิงรุก
       
       วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้ออำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวในการแถลงข่าว “ก้าวแรกของความเป็นไปได้ในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรกให้หายขาด” ว่า ในการประชุมนานาชาติ Conference on Retroviruses and Opportunistic Infections (CROI) ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยโครงการตรวจหาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะเฉียบพลัน ภายใต้ความร่วมมือเพื่อการวิจัยระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และฮาวาย (เซิร์ช : SEARCH) ในการตรวจเลือดวิธีใหม่เพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก ด้วยวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (NAT : Nucleic Acid Amplification Testing) ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยตรง มีความไวและแม่นยำสูง สามารถใช้ตรวจหาการติดเชื้อที่เพิ่งรับมาประมาณ 5 วันขึ้นไปได้ โดยจากผลการศึกษาพบว่า ถ้าตรวจพบตั้งแต่สัปดาห์แรกของการรับเชื้อแล้วรีบให้ยาต้านไวรัสทันที จะทำให้สามารถดักเชื้อไม่ให้ฝังตัวในเซลล์เพื่อขยายพันธุ์ในระยะยาวได้ และมีแนวโน้มที่จะทำให้สามารถรักษาได้หายขาดและหยุดยาต้านไวรัสได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็สนับสนุนสมมติฐานที่ว่าหากรักษาได้เร็วก็อาจช่วยกู้ภูมิคุ้มกันคนไข้ให้กลับคืนมาได้ สอดคล้องกับกรณีเด็กมิสซิสซิปปี ซึ่งรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาต้านไวรัสตั้งแต่รับเชื้อใหม่ๆ จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก
       
       รศ.พญ.จินตนาถ อนันต์วรณิชย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซิร์ช กล่าวว่า โครงการเซิร์ซ 010 หรืออาร์วี 254 มีจุดประสงค์เพื่อทำการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลัน หรือช่วง 4 สัปดาห์แรกของการติดเชื้อ โดยจะให้การรักษาในช่วงที่มีการทำลายภูมิคุ้มกันอย่างรุนแรงและมีการเพิ่มจำนวนของเชื้ออย่างรวดเร็วในเม็ดเลือดขาวและอวัยวะต่างๆ เพื่อทำการลดเชื้อที่หลบซ่อนในร่างกายด้วยการให้ยาต้านไวรัส จากนั้นในระยะ 2 จะเริ่มกำจัดเชื้อที่หลบซ่อนในร่างกายด้วยการให้วัคซีนกระตุ้มภูมิคุ้มกัน ให้ยากระตุ้นเชื้อที่หลบซ่อนแสดงตัว เพื่อให้ยาต้านไวรัสสามารถกำจัดเชื้อได้ และให้ยาลดอาการอักเสบ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เชื้อเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนในระยะที่ 3 จะควบคุมเชื้อโดยไม่ต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัส ด้วยการหยุดยาซึ่งจะมีการวิจัยติดตามอย่างใกล้ชิด โดยตั้งเป้าว่าผู้ป่วยจะสามารถหายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวีได้
       
       รศ.พญ.จินตนาถ กล่าวอีกว่า ขณะนี้โครงการเซิร์ชยังอยู่ในการศึกษาขั้นแรกคือ การลดเชื้อที่หลบซ่อนในร่างกาย ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยเอชไอวีเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 96 คน โดยจะพยายามรับผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการให้ได้ 150 คน ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการมาจากผู้ที่มารับบริการการตรวจเชื้อเอชไอวีที่คลินิกนิรนามตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 60,000 คน โดยได้ทำการตรวจหาแอนติบอดีต่อเอชไอวี ด้วยวิธีที่มีความไวสูง แล้วพบว่า มีผลตรวจเป็นบวกทั้งสิ้น 5,000 คน ส่วนกลุ่มที่ให้ผลเป็นลบได้นำไปตรวจด้วยวิธี NAT ปรากฏว่า พบการติดเชื้อระยะเฉียบพลันถึง 100 คน จึงได้ขอให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยในกลุ่มผู้ป่วย 75 คนแรกที่เข้าร่วมโครงการ พบว่ามีจำนวน 24 คนที่มีการติดเชื้อแบบเฉียบพลันไม่เกิน 2 สัปดาห์ ซึ่งจากการวินิจฉัยพบว่าเชื้อยังไม่เข้าไปแทรกตัวในเม็ดเลือดขาวและลำไส้ใหญ่ เมื่อทำการรักษาด้วยการให้ยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี พบว่า ในกลุ่มดังกล่าวยังคงไม่พบเชื้อเอชไอวีในเม็ดเลือดขาว และร้อยละ 75 ไม่พบเชื้อเอชไอวีในลำไส้ใหญ่ หลังรักษาต่อเนื่องนาน 6 เดือน
       
       “การศึกษาดังกล่าวจึงเป็นความหวังว่าการเริ่มให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในระยะติดเชื้อเฉียบพลัน สามารถลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในร่างกายให้ต่ำมาก เป็นก้าวแรกที่อาจนำมาสู่การรักษาเอชไอวีให้หายได้ จึงขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไปที่มีเพศสัมพันธ์ควรตรวจเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยเอชไอวีที่ติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งระยะแรกจะมีอาการ ไข้ ปวดหัว เพลีย แผลในปาก ผื่น เจ็บคอ และถ่ายเหลว แต่ส่วนมากมักเสียโอกาสเพราะไปตรวจที่สถานพยาบาลอื่น จึงไม่ได้รับคำแนะนำให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี” รศ.พญ.จินตนาถ กล่าว
       
       ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขอชื่นชมความสำเร็จในการศึกษาวิจัยของโครงการดังกล่าว เพราะถือเป็นก้าวแรกของความหวังในการรักษาผู้ป่วยเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่ปัจจุบันยังคงมีปัญหาคือ หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ยังคงทำงานเชิงรับ คือให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในหน่วยบริการเพียงอย่างเดียว ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีคนสมัครใจมารับบริการตรวจเอชไอวีเองเพียงประมาณแสนคน แต่อีกประมาณ 4 แสนคนล้วนมาด้วยอาการที่สัมพันธ์กับโรคเอดส์ ทำให้ไม่สามารถลดอัตราการตายได้ และสถิติการป่วยของประเทศได้ ทั้งที่ผ่านมาเรามีการเรียกร้องให้จ่ายยาไวขึ้น
       
       “อยากให้รัฐใช้องค์ความรู้นี้ในการรณรงค์และพัฒนาระบบการตรวจหาเชื้อเอชไอวีให้รวดเร็วขึ้น เอื้ออำนวยความสะดวกคนที่มีความเสี่ยงและเดินเข้ามาตรวจได้ง่าย รวดเร็ว เป็นมิตร และปลอดภัย ถ้าทำให้ง่ายจะช่วยลดอัตราติดเชื้อและตายได้ ถ้ายังเปิดให้บริการแบบเดิมรอคนมาตรวจก็จะมีอัตราการตายเหมือนเดิม เป็นการสูญเสียโอกาสของคนที่ติดเชื้อ โดยอาจตั้งเป้าไว้เลยว่าจะตรวจเอชไอวีให้ได้ 20 ล้านคน ใน 1 ปี เป็นต้น” นายนิมิตร์ กล่าว
       
       ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เมื่อสองปีที่ผ่านมา สธ.รู้ดีว่าแผนงานลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ได้ครึ่งหนึ่งล้มเหลว จึงมีการหารือวิธีการใหม่ ด้วยการพยายามชี้เฉพาะกลุ่มว่า กลุ่มไหนมีสิทธิ์ในการรับเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นจำนวนมาก ก็จะทำกิจกรรมเฉพาะกลุ่มนั้นๆ รวมไปถึงส่งทีมเข้าไปในชุมชน หรือให้ชุมชนทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวีกันเอง ก็จะสามารถเพิ่มการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้มากขึ้น โดยภายในปีหน้าจะมีการคู่มือการตรวจเชื้อเอชไอวีในพื้นที่ชุมชน เพื่อสร้างมาตรฐานการตรวจเชื้อที่น่าเชื่อถือ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   15 มีนาคม 2556 21:31 น