ผู้เขียน หัวข้อ: เช็คความพร้อมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของไทย---พร้อมแค่ไหน...หมอ...พยาบาล...ปี 2558  (อ่าน 1477 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
ไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้ง 3 เสาหลักคือการเมืองและความมั่นคง-เศรษฐกิจและเสาหลักด้านวัฒธรรมและสังคม

ประเทศภาคีสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว พม่าและกัมพูชา กำลังก้าวไปสู่รวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอันจะทำให้มีพลังอำนาจในการต่อรองความร่วมมือกับองค์กรต่างๆนอกภูมิภาค

หากแต่วันนี้ ไทยในฐานะประเทศ 1 ใน 4 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน และเป็นประเทศที่มีบทบาทนำในภูมิภาคมาตลอด มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียน มากน้อยเพียงใด คงจะต้องย้อนกลับไปดูความฟิตของไทยว่าให้ความสำคัญการดำเนินงานมากน้อยเพียงใด ในความร่วมมืออาเซียน ใน 3 เสาหลักสำคัญ ได้แก่ เสาการเมืองและความมั่นคง มุ่งส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง การปกครองแบบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาล เสาหลักเศรษฐกิจและเสาหลักด้านวัฒธรรมและสังคม

ในส่วนของเสาหลักด้านความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคง กล่าวได้ว่า ประเทศในอาเซียน แสดงความเป็นหนึ่งเดียวในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย นับเป็นสัดส่วนเพียง 10 %ของการมีส่วนร่วมประชาคมอาเซียน เนื่องด้วยประเทศภาคอาเซียน มีรูปแบบปกครองเฉพาะตน และในกฎบัตรอาเซียนได้ระบุชัดว่า จะไม่มีการแทรกแซงการเมืองภายใน จึงทำให้แนวคิดทางการเมืองที่เป็นหนึ่งเดียวกันในทุกปัญหา จึงค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก

แล้วอาเซียนจะลดช่องว่างเหล่านี้อย่างไร อย่างปัญหาการก่อการร้าย การค้ามนุษย์ ปัญหาโลกร้อน การรับมือกับพิบัติภัยทางธรรมชาติ รวมไปถึงข้อพิพาทของประเทศในภูมิภาค ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยก็มีบทบาทนำในการพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทในภูมิภาค เช่น การจัดทำแนวทางฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Regional Code of Conduct) นับเป็นก้าวหนึ่งที่ไปสู่การทูตเชิงป้องกัน

ขณะที่ เสาที่ 2 เศรษฐกิจ มีสัดส่วนสำคัญ ราว 60 % ของการเป็นประชาคมอาเซียน เน้นการพัฒนาตลาดร่วม (Single Market) และเป็นฐานการผลิตอันเดียวกัน (Single Production Base) ซึ่งจะต้องมีการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุนและแรงงานฝีมือทั่วทั้งภูมิภาค ของประชาคมอาเซียนมีเงินทุนไหลเวียนโดยเสรี

และมีสถานะการพัฒนาทางเศรษฐกิจในหมู่สมาชิกประชาคมที่เท่าเทียมกันรวมทั้งเสริมสร้างเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพด้านการเงิน การประสานในด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างสมาชิกทั้ง 10 ชาติ รวมถึงมีกฎระเบียบที่ดีด้านการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งประชาคม

ทั้งนี้ การขยับเป้าหมายการรวมตัวเป็น "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" จากเดิมที่จะมีขึ้นในปี 2563 ให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558 ก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญกับการสานต่อแผนผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนนี้อย่างไร (โดยไม่นับรวมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีระหว่างไทย กับประเทศในอาเซียน) โดยเฉพาะการสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ได้มีการส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับลู่ทางการลงทุน กลไกตลาด ระเบียบการค้าและภาษีให้กับนักลงทุนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ในแง่ของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ ทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจของไทยต้องตื่นตัวรับรู้ว่า ปี 2558 จะก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งบวกและลบอย่างไร

และได้เตรียมตั้งรับรวมทั้งเตรียมใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้เช่นใด เช่นเมื่อตลาดอาเซียน ขยายขึ้นเป็นห้าร้อยล้านคน ถ้ามีการปรับลดกำแพงภาษีระหว่างกัน นักธุรกิจไทย พร้อมจะไปบุกตลาดเพิ่มหรือไม่ อีกทั้งรัฐต้องส่งเสริมการเรียนรู้ข้อมูลของตลาดอาเซียน รวมทั้งกฏกติกาการค้าแบบใหม่ที่อาเซียนจะเอามาใช้ร่วมกันด้วย

อีกประเด็นที่สำคัญ คือในทางทฤษฎี ตลาดแรงงานอาเซียน จะหลอมรวมเป็นตลาดเดียวกันต่อไปในอนาคต นั่นแปลว่า ผู้ประกอบการหรือคนงานทุกคนต้องตระหนักว่า จะต้องเกิดแรงงานไหลเวียน และเปิดเสรีของผู้ที่อาชีพที่ใช้ทักษะชั้นสูง เช่น อาชีพหมอ พยาบาล วิศวกร ผู้ตรวจสอบบัญชี อาจถูกแข่งขันจากเพื่อนร่วมอาชีพจากผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ จากประเทศสมาชิกอาเซียน

ขณะเดียวกัน ไทยก็สามารถข้ามรั้วไปทำงานบ้านเขาได้เช่นเดียวกัน แล้วประเทศไทย พร้อมในเรื่องนี้หรือยัง

เสาหลักที่ 3 สังคมและวัฒนธรรม เป็นส่วนสำคัญของประชาคมอาเซียน เนื่องจากได้ยกให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือ และมุ่งเชื่อมประสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน (ASEAN Connectivity) โดยมีกิจกรรมในด้านต่างๆ การเดินทางไปมาหาสู่กันทุกระดับ การแลกเปลี่ยนใกล้ชิดระหว่างกัน ทั้งด้านการศึกษา ภาคธุรกิจภาคเอกชน และสถาบันต่างๆ ตลอดจนการศิลปิน นักเขียนและสื่อสารมวลชน

เมื่อได้ทบทวนความร่วมมือทั้ง 3 เสาหลักแล้ว จะเห็นว่า สิ่งสำคัญประการแรก ในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทย ที่จะเข้าเป็นประชาคมอาเซียน นั่นคือ การทำความรู้จักประเทศตนเอง ในบริบททางวัฒนธรรมให้ดีพอเสียก่อน จึงจะเปิดรับและเรียนรู้ประเทศสมาชิกในอาเซียนอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะรู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของกันและกัน ที่จะช่วยส่งเสริมประโยชน์ในเรื่องการเชื่อมความสัมพันธ์

แต่ขณะนี้ก็เกิดคำถามว่า ประเทศไทยรู้จักเพื่อนบ้านร่วมอาเซียน เรารู้จักฟิลิปปินส์ กัมพูชา บรูไนดีแค่ไหน รู้จักวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิธีคิดจิตใจของเขา แค่ไหน

อย่างเมื่อปี 2554 มีข่าวปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตลอดทั้งปี แน่นอนว่า ทั้ง 2 ประเทศย่อมมีทัศนคติในทางลบระหว่างกัน เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายในการวางกลยุทธ์เพื่อปเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยปราศจากการเมืองชี้นำ เพื่อสัมพันธ์ที่ยั่งยืนแท้จริง

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทย ยังไม่ได้เตรียมพร้อมให้เด็กไทยเข้าสู่ระบบการเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็กำลังปรับหลักสูตรให้ลงตัวอยู่ แต่จะทำได้ทันในปี 2558 หรือไม่ คงต้องลุ้นกันมากทีเดียว

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การรู้ภาษาอังกฤษก็มีความสำคัญและถือเป็นพื้นฐานขั้นต้น เพื่อสื่อสารกันให้เข้าใจ ซึ่งภาษาทำงานของอาเซียน คืออังกฤษ แล้วภาษาอังกฤษของเด็กไทย ที่ใช้สื่อสารกับเพื่อนอาเซียนอยู่ในเกณฑ์สื่อสารรู้เรื่องดีพอแล้วหรือไม่

ขณะที่บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือพม่า อาจจะได้เปรียบไทย เพราะเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน ที่ผ่านมา จากการสำรวจทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษในประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยก็ยังรั้งในอันดับท้าย เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเห็นความสำคัญ ในการกำหนดยุทธศาสตร์และดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจริงเพียงใด

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน มักกล่าวประโยคนี้บ่อยๆว่า อย่าคาดหวัง พอถึงปี 2558 แล้ว ประชาคมอาเซียนจะหลอมรวมกันอย่างทันทีทันใด และต้องยอมรับว่า ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นมาได้ชั่วข้ามคืน แต่เรื่องนี้ อาจถือได้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ของกระบวนการที่จะต้องพัฒนาต่อไป แต่ถึงอย่างไร ทิศทางอาเซียนต้องเดินหน้า หันหลังกลับไม่ได้อีกแล้ว

กรุงเทพธุรกิจ 2 มกราคม 2555