ผู้เขียน หัวข้อ: วัคซีนยังเป็นภาพมายา ฟ้าทะลายโจรนี่สิของจริง พาณิชย์อย่าปล่อยปั่นราคา ซ้ำรอย  (อ่าน 309 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  แม้รัฐบาลลุงจะป่าวประกาศระดมฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างอึกทึกครึกโครมแทบทุกวัน แต่เอาเข้าจริงมีประชาชนคนไทยได้ฉีดวัคซีนในตอนนี้ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ประมาณ 13 ล้านคนเท่านั้น จากจำนวนประชากร 60 กว่าล้านคน เรียกว่ายังห่างไกลเป้าหมายฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันรวมหมู่ซึ่งต้องฉีดให้ครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 70% วัคซีนที่ว่าจะมีมายังเป็นภาพมายา หรือ “วัคซีนทิพย์” ขณะที่ยาไทยที่มีมาแต่โบราณกาลอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งพอหาได้และใช้รักษาอาการเริ่มต้นได้ชะงัดนักเป็นของจริงที่พึ่งพาได้ แต่ความพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดกันเองของคนไทยทำให้ฟ้าทะลายโจรเริ่มขาดตลาดและราคาพุ่งสูงขึ้นด้วยการฉกฉวยโอกาสของนักปั่นราคา

ไม่เพียงแต่ฟ้าทะลายโจรเท่านั้นที่เริ่มหายาก สมุนไพรไทยที่มีกระแสว่าช่วยป้องกันและบรรเทาอาการโควิดช่วงเริ่มต้นอย่างเช่น ขิง กระชาย ราคาก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ากระชายสดราคาพุ่งขึ้นจากปกติกิโลกรัมละ 30-35 บาท เป็น 150-200 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนขิงแก่ราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 30-40 บาท เป็น 70-80 บาท อีกทั้งยังหาซื้อยากในหลายพื้นที่

ขณะที่ยาแผนไทยหลายชนิดที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันและรักษาโควิด-19 ช่วงเริ่มต้นก็ขาดตลาดเช่นกัน เช่น ยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล ราคากระปุกละ 140-200 บาท ยาแคปซูลสกัดจากกระชายขาว 200-300 บาท วิตามินบำรุงร่างกายประเภทต่างๆ รวมถึงยาเขียวที่มีสรรพคุณขับสารพิษออกจากร่างกาย ขาดตลาดมาร่วม 3-4 สัปดาห์ หลังประชาชนแห่ไปซื้อกักตุนจนเกลี้ยงห้างขายยาและร้านสะดวกซื้อ

นักการเมืองที่กระโดดงับประเด็นนี้ขี่กระแสสังคมคือ  นายสิระ เจนจาคะ  ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ โดยออกมาไล่บี้กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีนายจุลินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดูแลอยู่ นายสิระ บอกในทำนองสารภาพกลายๆ ว่ารัฐบาลจัดการโควิด-19 แบบเอาไม่อยู่ เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ประชาชนต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูลอย่างมาก ทำให้มีการขายในราคาสูงเกินปกติผ่านช่องทางขายออนไลน์และร้านค้าต่างๆ

เช่น ในร้านขายยาขายกันขวดละ 160 บาทต่อ 60 แคปซูล จากปกติราคาเพียงแค่ 80 บาทเท่านั้น องค์การเภสัชกรรม แจ้งว่ายาฟ้าทะลายโจรขาดตลาดจะมีสินค้าเข้ามาอีกครั้งในปลายเดือนกรกฎาคม และราคาอาจปรับขึ้นไปจากเดิม นายสิระ จึงเรียกร้องกระทรวงพาณิชย์ ให้เข้ามาตรวจสอบและควบคุมราคาอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชนในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ อย่าปล่อยให้พ่อค้าคนกลางมาฉวยโอกาส เหมือนคราวที่เกิดปัญหาหน้ากากอนามัย
ขณะเดียวกัน นางสาวรสนา โตสิตระกูล  อดีต ส.ว. กรุงเทพมหาคร (กทม.) และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุขภาพไทย ซึ่งมีบทบาทในการรณรงค์ให้มีการนำยาฟ้าทะลายโจรไปใช้ในการเสริมภูมิต้านทานและรักษาโควิด-19 ในระยะเริ่มต้น ได้โพสเฟซบุ๊กถึงกระแสการปั่นราคายาฟ้าทะลายโจรว่า “...... ระยะหลังความต้องการฟ้าทะลายโจรเพิ่มมากขึ้นเพราะยาขาดตลาด หรือถึงจะมีขายทางออนไลน์ ก็มีการอัพราคาสูงขึ้นมาก บางยี่ห้อโฆษณาหวือหวารักษาโรคจากการติดเชื้อ ขายเป็นพันบาทขึ้นไป บางยี่ห้อไม่มีทะเบียน อย.แต่โฆษณาขายกันโจ่งแจ้งในโซเชียลมีเดีย ซื้อ 1 แถม 1 ราคาเกินครึ่งพัน เท่ากับขวดละเกือบ 300บาท ทั้งที่ราคาขายทั่วไปประมาณ 80 บาท กรณีแบบนี้ fb นอกจากไม่บล็อคแล้วยังให้ซื้อบริการให้คนเห็นเพิ่มได้ ไม่เห็นว่าจะขัดต่อมาตรฐานของชุมชนเขาเลย เป็นเรื่องแปลกดีใช่ไหมล่ะ!! นับว่าเป็นโอกาสทองของธุรกิจหากำไรในวิกฤตของเพื่อนร่วมชาติ เลยมีประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงยาหลั่งไหลขอมาทางดิฉันเพิ่มมากขึ้น....”
ขณะนี้ มูลนิธิสุขภาพไทย ได้รับมอบเบี้ยต้นอ่อนฟ้าทะลายโจร ที่ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ส่งมาให้ถึงสำนักงานมูลนิธิสุขภาพไทย จำนวน1,000 ต้น ซึ่งจะได้นำไปปลูกที่นครปฐม และอยุธยาเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ และวัตถุดิบสำหรับการขยายพันธุ์และผลิตยาในอีก 4 เดือนข้างหน้า ถึงเวลานั้นน่าจะมีความต้องการยาฟ้าทะลายโจรเพิ่มขึ้น
นางสาวรสนา บอกว่า เวลานี้ส่งฟ้าทะลายโจรมือเป็นระวิงถึงผู้ป่วยติดเชื้อที่รอเตียงอยู่ที่บ้าน และในแคมป์คนงาน เครือข่ายโรงเรียนที่เป็นชุมชนครู ผู้ปกครองที่ติดเชื้อในสมุทรสาคร เพชรบุรี พระในวัดต่างจังหวัด และวัดในกทม. แรงงานต่างชาติทั้งในสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชุมชนคลองเตยที่ยังมีผู้ติดเชื้อวนเวียนอยู่ และไกลสุดส่งยาฟ้าทะลายโจรถึงอ.เบตง จ.ยะลา และมีรายงานกลับมาว่า 6 ชุมชนที่เคยมีผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ติดเชื้อเป็นศูนย์แล้ว

“ดิฉันได้กระจายเมล็ดฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2564 หวังให้แต่ละท่านที่ขอมาได้ปลูก และได้วัตถุดิบมาทำยาแบ่งปันกันใช้ในยามวิกฤต ซึ่งมีบางแห่งเล่ามาให้ฟังว่าได้เก็บเกี่ยวฟ้าทะลายโจรมาทำยาแบ่งปันกันแล้วในหมู่ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

พร้อมกับแนะนำว่า ฟ้าทะลายโจรสดนำมาชงชากินวันละ 3 ใบ เป็นการเสริมภูมิคุ้มกันที่ดี สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรละลายได้ดีในน้ำ ความขมของฟ้าทะลายโจรคือคุณค่าสำคัญ สมดังคำพังเพยไทยที่ว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” หากท่านใดจะลองดื่มชาฟ้าทะลายโจรที่อร่อยลองทำสูตรที่ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสุขภาพไทย ทำกินเองก็ได้ โดยใช้ใบฟ้าทะลายโจร 3-5ใบล้างน้ำให้สะอาด ใส่ถ้วยชาแล้วรินน้ำเดือดลงไป ประมาณ 150 ซีซี ทิ้งไว้ราว 3-5 นาที จึงเติมน้ำผึ้ง และน้ำมะนาว ปรับรสตามความชอบจะช่วยกลบรสขมและชูรสชาติให้ดื่มได้ง่ายขึ้น

หากมีอาการหวัด ที่แสดงสัญญาณ ไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ เจ็บคอ ถ้าหายาสำเร็จรูปไม่ได้ หรือแพงเกินเหตุ ก็เอาฟ้าทะลายโจรทั้งชนิดสด หรือชนิดตากแห้งที่เก็บไว้มาต้มกิน วันละ3-4 แก้ว สำหรับอาการเริ่มต้นของหวัด ฟ้าทะลายโจรจัดการได้อยู่หมัดแน่นอน ในช่วงเวลาที่เราคนไทยยังไม่อาจหวังให้มีวัคซีนมาฉีดได้ทั่วถึง 60-70%ของประชากรเพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็ขอให้ช่วยกันหาสิบเบี้ยใกล้มือประชาชน อย่างเบี้ยฟ้าทะลายโจรเอาไว้ใช้ยามจำเป็นระหว่างรอความหวังจะได้ตำลึงทองจากวัคซีนของรัฐบาล

ขณะที่มูลนิธิสุขภาพไทย และเครือข่าย ร่วมกันรณรงค์กระจายการปลูกและใช้สมุนไทยฟ้าทะลายโจรเป็นตัวช่วยรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกระทรวงยุติธรรม โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็เตรียมเปลี่ยนพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศที่มีพื้นที่เหลือใช้นำมาปลูกฟ้าทะลายโจร เป็นคลังสำรองสมุนไพรเป็นการพึ่งพาตัวเองและช่วยสร้างอาชีพผู้ต้องขังก่อนคืนสู่สังคม ซึ่งเรือนจำที่มีความพร้อมเตรียมหน้าดินสำหรับเพาะปลูกแล้วคาดว่าอีกประมาณ 3 เดือน ราชทัณฑ์จะเป็นคลังสำรองสมุนไพรไทยได้

สำหรับกรณีการมีความต้องการใช้ฟ้าทะลายโจรสูงจนทำให้ขาดตลาดนั้น มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้แจงว่า ขณะนี้ฟ้าทะลายโจรขาดสต็อกเนื่องจากปริมาณความต้องการสูงมาก และส่วนใหญ่ได้นำไปมอบให้กับผู้ป่วยหนักและในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ โดยทางมูลินิธิฯ กำลังเร่งบริหารจัดการกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางภายใต้มาตรฐานและคุณภาพ

การหาทางช่วยเหลือพึ่งพากันเองของประชาชนคนไทย โดยใช้ยาสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรที่เห็นผลดีในยามที่วัคซีนหายาก ผู้ป่วยล้นเตียง ทำให้สภาการแพทย์แผนไทย ออกมาจัดทำ  “โครงการคลินิกอาสาสภาการแพทย์แผนไทยหมอไทยใจดี”  เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดโดยเฉพาะ ซึ่ง  พท.(แพทย์แผนไทย) หลักทอง ใบสะอาด  เลขานุการประชาสัมพันธ์สภาการแพทย์แผนไทย ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ เล่าว่า ตั้งแต่เปิดโครงการนี้เมื่อปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา มีผู้ป่วยโควิดมาขอรับบริการจำนวนมากโดยเฉพาะในเขต กทม. และจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงและโซนภาคใต้ที่มีมาทั้งเป็นคลัสเตอร์ ครอบครัวและรายบุคคล แพทย์แผนไทยถือเป็นทีมเสริมที่เข้ามาช่วยทีมเสื้อกาวน์ซึ่งตอนนี้งานหนักมาก

สำหรับการวินิจฉัยและจ่ายยานั้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังคลินิก สามารถพูดคุยผ่านโทรศัพท์และวิดีโอคอล ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการ วินิจฉัย จ่ายยา และจัดส่งยาไปให้ถึงบ้านฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย มีแค่ค่าจัดส่ง 50 บาท หรือหากในครอบครัวมีผู้ป่วยหลายคน ก็เสียค่าจัดส่งยา 100 บาท โดผู้ป่วยในพื้นที่ใดก็ให้ติดต่อไปยังคลินิกอาสาในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอยู่ ส่วนผู้ป่วยที่ติดต่อไปยังผู้ประสานงานระดับภาคหรือสภาการแพทย์แผนไทย ทีมแพทย์ก็จะซักถามอาการเพื่อคัดกรองว่าเป็นผู้ป่วย หรือจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือแค่วิตกกังวล

.ถ้าพบว่าป่วยหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็จะประสานส่งเคสไปยังคลินิกในพื้นที่ แต่หากแค่วิตกกังวลก็จะแนะนำเรื่องการรับประทานอาหารเป็นยาเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แต่หากเป็นผู้ป่วยในลักษณะคลัสเตอร์ซึ่งมีจำนวนมาก ต้องใช้แพทย์หลายคน ทีมแพทย์ส่วนกลางก็จะวินิจฉัยและจ่ายยาเอง อย่างกรุงเทพฯซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม นอกจากจะมีคลินิกอาสาหลายแห่งที่ให้บริการแล้ว ยังมีทีมแพทย์แผนไทยจากส่วนกลางอีกชุดหนึ่งที่ช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดด้วย

สำหรับการจัดสรรยาจากสภาการแพทย์แผนไทยให้คลินิกอาสาแต่ละแห่งนั้น พท.หลักทอง ชี้แจงว่า สภาการแพทย์แผนไทยจะจัดส่งยาสมุนไพร 3 ตัวหลัก คือ ยาฟ้าทะลายโจร ยาห้าราก และยาจันทน์ลีลา ให้อย่างละ 1,000 เม็ด เมื่อยาใกล้หมดทางคลินิกจะติดต่อขอยาเพิ่มจากส่วนกลาง พร้อมทั้งรายงานการรักษาและการจ่ายยาให้สภาแพทย์แผนไทยทราบเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในการบริหารและจัดสรรยาต่อไป

 +การผนึกรวมองค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทย การใช้ยาสมุนไทย ร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันระหว่างรอวัคซีน นับเป็นหนึ่งในทางเลือกทางรอดของประชาชนคนไทยในเวลานี้ ที่สำคัญอย่าให้คนไทยที่หวังพึ่งสมุนไพรกลายเป็นเหยื่อพ่อค้าปั่นราคาฟ้าทะลายโจรซ้ำรอยหน้ากากอนามัยเท่านั้นเป็นพอ.

17 ก.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์