ผู้เขียน หัวข้อ: จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของไทย  (อ่าน 1726 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของไทย

ในปีพ.ศ.2545 รัฐสภาได้เห็นชอบที่จะรับรองร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 ให้ออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขในประเทศไทยจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

 กล่าวคือก่อนที่จะมีพ.ร.บ.ฉบับนี้ การบริการสาธารณะด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น ก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2530  กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่น ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

แต่ในปีพ.ศ. 2545 มีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้น คือเกิดมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นมา ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สำนักงานแห่งนี้ ไม่ได้มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม ใดๆเลย นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของเขา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของเขา เนื่องจากในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้เขียนไว้ว่า ให้มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี

  ความหมายของคำว่ากำกับ หมายถึงดูแลเฉพาะความชอบด้านกฎหมาย ส่วนคำว่าบังคับบัญชาหมายถึงดูแลทั้งความชอบด้านกฎหมาย ดุลพินิจ นโยบาย

 หมายความว่า ตามพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะด้านสาธารณสุขใดๆที่เกี่ยวข้องกับสปสช.ได้  กระทรวงสาธารณสุขอยากจะทำอะไร ก็ไม่มีเงินทำงาน เอกภาพในการบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขมันหายไป สปสช.ไม่อยู่ในกรอบตามกฎหมายที่จะต้องทำตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขเลย จะทำตามก็ได้ ไม่ทำก็ได้ นับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมจริงๆ

รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถกำหนดนโยบายใดๆได้เลย ถ้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เห็นด้วย  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ได้มีจุดเกาะเกี่ยวในอำนาจที่จะบังคับบัญชาหรือสั่งการใดๆต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสปสช.ได้เลย

มีกฎหมายอยู่ข้อหนึ่งบอกว่า สปสช.จะต้องส่งงบดุลรายการใช้จ่ายเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเสนอต่อสภา โดยผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่รัฐมนตรีอาจจะไม่เคยได้อ่านงบดุลเหล่านี้อย่างละเอียดรอบคอบ และอาจไม่สามารถตรวจพบรายการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากไม่รู้เท่าทันการบริหารงบประมาณของสปสช.

ส่วนที่รัฐมนตรีทำได้คือตรวจการใช้งบ แต่ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมการ ใช้อำนาจของสปสช.ได้ ซึ่งตอนนี้ สปสช.มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจหลายอย่าง เช่น บัญชีเงินเดือน ก็กำหนดเอาเอง การซื้อยาก็รวบอำนาจมาทำเอง การรักษาพยาบาลของแพทย์ก็ถูกแทรกแซง โดยมีการกำหนดว่าให้ใช้ยาอะไร การจ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุขก็จ่ายไม่ครบตามที่โรงพยาบาลได้ใช้จ่ายจริง

แต่สปสช.มีเงินมากำหนดโครงการใหม่ๆเพิ่มเติมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน หรือแม้แต่การที่สปสช.มีหน้าที่จ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สปสช.ก็จ่ายเงินไปเพียง0.01% ของงบประมาณเฉพาะส่วนนี้ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มอ้างว่า การที่สปสช.จ่ายเงินเพียงไม่เกินรายละ 200,000 บาท ทำให้ประชาชนมีเงินไม่พอใช้จ่ายในการดำรงชีวิต จึงพยายามกดดันรัฐบาล ให้ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยอ้างว่าสปสช.จ่ายเงินตามม. 41 น้อยเกินไป

 นายสุกฤษฏิ์ กิตติศรีวรพันธุ์  นักกฎหมายมหาชน  ได้กล่าวไว้ในการสัมมนา “แปดปีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"”เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2552ว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลก ที่รัฐมนตรีไม่สามารถสั่งการหน่วยงานที่ทำงานตามภาระงานในสายงานการบริหารของตนเองได้ รัฐมนตรีมีหน้าที่บังคับบัญชาและจัดการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน แต่ไม่มีอำนาจที่จะสั่งใช้เงินในการดำเนินการตามนโยบายได้

 รัฐมนตรีและปลัดกระทรวง  ไม่สามารถบริหารงบประมาณได้ตามแนวนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากสปสช.มีอำนาจในการควบคุมการใช้เงิน ส่วนรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงมีเพียง คนละ 1เสียงในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น  โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นผู้กำหนดการใช้เงิน โดยที่คณะกรรมการเหล่านี้ ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชน  ไม่มีความเกี่ยวโยงกับสส. ไม่ต้องผ่านการคัดเลือกใดๆ ไม่ต้องผ่านการสอบความรู้ความสามารถทางวิชาการเหมือนข้าราชการ

กล่าวคือสปสช.ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของทั้งฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายข้าราชการ แต่ได้มาบริหารงบประมาณแผ่นดินมากมายมหาศาล ทำให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจหลายอย่างดังกล่าวมาแล้ว และเป็นเนื้องอกหรือสิ่งแปลกปลอมของกระทรวงสาธารณสุข ที่บ่อนทำลายการทำงานบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของประเทศไทยมายาวนานถึง 8 ปีแล้ว   

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์
และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
9 พ.ค.54