ผู้เขียน หัวข้อ: แถลงการณ์สมาพันธ์ฯ ๖ ส.ค.--โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง  (อ่าน 2429 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด


แถลงการณ์สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป
เรื่อง การถอนตัวจากคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข
๖ สิงหาคม ๒๕๕๓
---------------------------------------------------------------
เรียน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข   และประชาชนชาวไทยทุกท่าน

สืบเนื่องจาก การที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำสั่งที่๑๕๓๖/๒๕๕๓ แต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข มีบุคคลเป็นกรรมการจำนวน ๒๖ คน ดังปรากฏในสื่อมวลชนต่างๆ แล้วนั้น ดิฉัน แพทย์หญิงพจนา กองเงิน แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ขอเรียนให้ทราบว่า กรรมการสมาพันธ์ฯได้มีความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นต้องถอนตัวจากการเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจาก

๑. เนื่องจากการสัมมนาในวันที่๓๐กรกฎาคม๒๕๕๓ มีมติว่าให้ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มาศึกษา แก้ไขและประชาพิจารณ์เสียก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อมิได้มีการถอนร่างฯ    แต่มีเจตนาในการเร่งรัด  ให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์    เพื่อส่งเรื่องเข้าคณะกรรมาธิการ ส.ส.  เราจึงไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการนี้

๒. กรรมการทั้งสามฝ่ายไม่เป็นไปตามข้อตกลง จากการประชุมในวันที่๒สิงหาคม๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ถูกเปลี่ยนแปลงจาก ๒๐ คนเป็น ๒๖ คน สัดส่วนไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรม มีนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติซึ่งให้ร้ายสมาพันธ์ฯและผู้คัดค้าน นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข และอีกหลายคนเพิ่มเข้ามา จนไม่ทราบว่าใครเป็นใคร อีกทั้งหลังการออกคำสั่งยังมีการใส่ร้ายป้ายสีให้คนทำงานดูแลประชาชนกลายเป็นคนร้ายที่ประชาชนต้องระแวงเพราะคัดค้านร่างกฎหมายนี้ ทำให้สมาพันธ์มีความไม่ไว้วางใจว่าจะเกิดความสมานฉันท์อย่างแท้จริง

๓. การเสนอชื่อ ถูกรวบรัดเกินไป  โดยที่สมาพันธ์ฯยังมิได้แจ้งชื่อ และมีการประกาศล่วงหน้าก่อนที่กรรมการทุกคนในสมาพันธ์ฯจะได้หารือกัน  เสมือนเป็นการบีบบังคับให้อยู่ในภาวะที่ไม่อาจปฏิเสธได้

๔. กฎหมายนี้  ครอบคลุมประชาชนทุกคน ครอบคลุมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ทุกสาขา ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนองค์กรวิชาชีพทุกส่วนที่เกี่ยวข้องนี้   ควรเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมช่วยกันอุดช่องว่าง รูรั่ว ในเนื้อหาเสียก่อน  เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

แม้ประเทศสวีเดนจะใช้กฎหมายเช่นนี้ แต่ประเทศต่างๆที่เจริญด้านระบบสาธารณสุขก็ไม่ได้นำมาใช้ทั่วไปเพราะประเทศใดจะใช้ต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกเรื่อง เช่น การเก็บภาษีซึ่งประเทศเราหากจะใช้แบบสวีเดนก็ต้องเก็บภาษีเช่นเดียวกับสวีเดน คือ ๕๑% ดังนั้นเหตุผลที่ดูดีจะไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ

ในนามของสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่ประชาชนโดยตรง จึงขอชี้แจงเหตุผล การไม่เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการชุดนี้มา ณ โอกาสนี้

สมาพันธ์ฯขอขอบคุณ ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและทุกท่านในหน่วยงานสาธารณสุขของกทม. ขอขอบคุณท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ทุกสถาบัน สภาวิชาชีพ สมาคมวิชาชีพ  รวมทั้งเพื่อนๆทุกท่านที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน  เพื่อให้ได้กฎหมายที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทยทุกคน                          

สมาพันธ์ฯขอยืนยันว่าการดำเนินการของสมาพันธ์ฯ  จะตั้งอยู่บน  ความถูกต้อง เป็นธรรมกับทุกฝ่าย     เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

สมาพันธ์ฯขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชนและมีเมตตาธรรมต่อคนทำงาน และให้โอกาสนำเสนอข้อเท็จจริง และขอเรียกร้องให้มีการถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากสภาฯ และเปิดเวทีระดับชาติ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมพิจารณาให้เกิดประโยชนสูงสุดแก่ประชาชนชาวไทยทุกคนอย่างแท้จริง


จึงเรียนมาเพื่อทราบ โดยทั่วกัน

                                                 (แพทย์หญิงพจนา กองเงิน)
   ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 สิงหาคม 2010, 12:33:11 โดย somnuk »