ผู้เขียน หัวข้อ: “คุ้มค่าที่เกิดมาเป็นคน” ผอ.จิตอาสา เกษียณสอนเด็กยากไร้-ให้ทุนการศึกษา  (อ่าน 293 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
“ไม่เคยหวังผลตอบแทน” 40 ปี ที่อุทิศตนในวิชาชีพ “เรือจ้าง” ที่เห็นคุณค่าของอาชีพ มุ่งมั่น-พัฒนาโรงเรียนทุรกันดาร หล่อหลอมให้ศิษย์มีอนาคตที่ดี ในวันที่สังคมหมดความศรัทธาในตัว “ครู”

พัฒนาโรงเรียนสุดแสนกันดาร “รถเข้าไม่ถึง - ไร้บ้านพักครู”

“ถ้าพูดจากใจของตัวผมเอง เนื่องจากว่าผมเป็นลูกกำพร้า พ่อรับราชการทหารเป็นทหารอากาศ ท่านเสียชีวิตตั้งแต่ผมอายุ 10 ขวบ หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต ก็มีคุณแม่ที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ก็น้อย เรามีความรู้สึกว่าสมัยเราเป็นเด็ก เราลำบากเหลือเกิน

ยังจำได้สมัยเรียนหนังสือ บางครั้งเราไม่มีเงินไปโรงเรียนเลย สมัยเรียนมัธยมเรามีแต่ค่ารถไปโรงเรียน วันละ 5 บาท นั่งรถโดยสารจากบ้านธัญบุรีไปรังสิต แค่ค่ารถก็หมดแล้ว บางวันเราไม่มีข้าวกิน เราก็ไปอยู่หลังห้อง เพื่อนๆ เขาก็ทานข้าวกัน เราก็อดทน พอเรามารับราชการ มาเป็นครูนึกถึงสมัยก่อนที่เราเป็นเด็ก เราก็อยากจะช่วยเด็กที่เขาลำบาก

คนในชนบทก็รู้อยู่แล้วไม่มีคุณภาพชีวิต เราก็พยายามตั้งมั่นอยู่ตลอดว่าเราจะช่วยเหลือเด็กช่วยเหลือผู้ปกครอง ตามกำลัง สติปัญญา ที่เราจะหามาได้”

“ปิยะศักสณ์ ศิริทรัพย์” หรือ ผอ.จิตอาสา ผู้อำนวยการแห่งโรงเรียนบ้านขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา กล่าวกับผู้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นของการอุทิศตนทำหน้าที่เป็นครูจิตอาสา สอนดนตรีให้เด็กในโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา หลังวัยเกษียณ โดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ

“ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตราชการ ผมก็อยู่โรงเรียนกันดาร ชนบท ที่ดำรงตำแหน่งบริหารมามีแต่โรงเรียนขนาดเล็กทั้งสิ้น มันเป็นความรักความชอบ ความต้องการที่เราอยากจะมาสร้างมาทำ

ก่อนหน้านี้ผมอยู่โรงเรียนบุ่งสะอาดวัฒนา จ.นครราชสีมา 18 ปี ที่นี่แค่ 4 ปี ในช่วง 18 ปี โรงเรียนบุ่งสะอาดวัฒนายิ่งหนักกว่าโรงเรียนนี้ ผมก็ผ่านมาได้ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของเรา ไม่ท้อครับ

เราจะสนใจเรื่องคน เราจะไม่สนใจเรื่องอะไรต่างๆ ที่จะมาทำให้เราบั่นทอนจิตใจ เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว เราจะสร้าง เราจะทำ เราจะช่วย เราจะพัฒนา ขอพูดจากใจลูกผู้ชาย เราจะไม่ละทิ้งวงการของเรา ถึงทุกวันนี้ก็จะเป็นอยู่”

โดยตลอดระยะเวลา 40 ปีแห่งวิชาชีพครู เขามุ่งหน้าสู่การเป็นครูสอนแต่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารมาตลอด สถานที่ไม่มีแม้แต่บ้านพักครู แถมรถเข้าไม่ถึง ต้องเดินเท้าฝ่าโคลนเป็นสิบๆ กิโล ด้วยปณิธานเอาไว้ตั้งแต่ก้าวเข้ามาประกอบวิชาชีพแห่งนี้

“ไม่อยากเป็นครูในท้องถิ่นที่บ้านเราซึ่งมันมีความเจริญ มีความเป็นคนเมืองแล้ว เราก็เลยมุ่งมั่นตั้งใจมาสอบบรรจุครูที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งตามความมุ่งหวังของเรา เราเป็นครูบ้านนอก เพราะแต่ก่อนชื่อว่านายปิยะ ตรงกับภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอกพอดี เป็นแรงบันดาลใจอีกทางหนึ่ง ก็มาบรรจุที่โรงเรียนบ้านศิลาสามัคคี อำเภอด่านขุนทด

เนื่องด้วยเราเป็นคนตั้งใจอยู่แล้วที่จะมาอยู่ชนบท ถ้าพูดความเป็นนักศึกษาที่เราอยากจะมาทำงานในท้องถิ่นทุรกันดาร ก็ไม่มีความรู้สึกที่แปลกใจอะไรเลย กลับเป็นว่าถูกใจ เพราะว่าเป็นโรงเรียนที่รับราชการครั้งแรก

เป็นตำแหน่งครูคนแรกของโรงเรียน แล้วก็มีครูอยู่ 2 ท่าน 1 ท่าน คือ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ใหญ่ แต่ตัวเราเอง คือ ตำแหน่งคนแรก เท่ากับว่ามาเป็นครูบ้านนอก บุกเบิกโรงเรียนบ้านนอกมาเลย”

เมื่อถามถึงเส้นทางในอาชีพครูในถิ่นทุรกันดารนั้น คุณครูได้ฉายถึงความรู้สึกให้ฟังว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ จึงได้มองข้ามความยากลำบาก และมีเพียงแนวคิดพัฒนาทำทุกอย่างเพื่อโรงเรียนและเด็ก

อย่างไรก็ดี ในตอนนั้นทั้งโรงเรียนมีครูเพียง 2 คน คนหนึ่งคือครูใหญ่ ครูปิยะศักสณ์จึงเหมือนเป็นครูเพียงคนเดียวที่สอนเด็กทั้งโรงเรียน สอนทุกชั้นทุกวิชา

“ตอบอย่างคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยู่แล้ว ตอนที่บรรจุข้าราชการครั้งแรก คือ โรงเรียนจะไม่มีบ้านพักครู เราก็จะต้องไปพักที่บ้านครูใหญ่ เราเดินเท้าจะบ้านครูใหญ่ไปโรงเรียน ซึ่งเป็นทางดินเหนียว ดินโคลน รถอะไรก็ไปไม่ได้ 10 กิโล ไปกลับก็ 20 โล เราก็ต้องทรหดอดทนกับการเดินทางไปทำการสอน

เพราะออกจากบ้านพัก 6 โมงเช้า ไปถึงโรงเรียนก็ 8 นาฬิกา ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2522 คนกรุงเทพฯ มาผจญความเป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ชนิดที่ว่าตัวเองก็ไม่เคยเห็นกัน ตัวเองก็เต็มใจ

ผมก็สอนตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึง ป.4 สอนทุกวิชาครับ อย่างที่บอกว่าเราเป็นครูอยู่คนเดียว อีกท่านคือมีตำแหน่งเป็นครูใหญ่ ท่านจะไม่ค่อยได้อยู่ เพราะท่านไปปฏิบัติหน้าที่เป็นวิทยากรลูกเสือ เท่ากับว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาฯ เราเหมือนกับว่าเรามาดูแลโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัฒนาอาคาร ปรับปรุง ซ่อมแซม ให้เป็นโรงเรียนที่น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน เช่น ทาสี อาคารโรงเรียน ปูกระเบื้องทั้งโรงเรียน การเปลี่ยนหลังคาโรงเรียน การสร้างรั้วโรงเรียน การจัดหาคอมพิวเตอร์ การติดตั้งอินเทอร์เน็ต เพื่อการเรียนการสอน และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่มีงบประมาณของทางราชการ

การปรับปรุงที่สำคัญมากตั้งแต่ผมย้ายมาใหม่ๆ คือ ห้องสุขา ขณะนี้ห้องสุขาของโรงเรียนเรียบร้อย ถูกสุขอนามัย สะอาด สวยงาม”

เกษียณงานราชการ แต่ไม่เกษียณจิตวิญญาณ!

เมื่อถึงวันที่ครูเติบโตเป็นผู้บริหาร ผอ.ปิยะศักสณ์ ยังคงไม่ละทิ้งอุดมการณ์เดิมที่เลือกอยู่กับโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทที่ยังเต็มไปด้วยความขาดแคลน

ไม่ว่าจะในด้านอาคารสถานที่ ให้น่าดู น่าอยู่ น่าเรียน อุปกรณ์การศึกษาที่ขาดแคลน หรือแม้แต่ทุนการศึกษาสำหรับเด็กยากจน ผอ.ก็สวมบทมือประสาน เป็น ผอ.สะพานบุญ ประสานภาคส่วนต่างๆ รวมถึงบริษัทเอกชนผู้ใจบุญผู้มีจิตศรัทธา เพื่อเติมเต็มอุปกรณ์การศึกษา และช่วยให้เด็กได้รับทุนอย่างต่อเนื่อง

“ตัวผมเองคือมียุทธศาสตร์ในการทำงาน คือผมจะทำงานประสานกับทางผู้ใจบุญ ผู้ใหญ่ใจดี หรือทางบริษัท ภาคเอกชนต่างๆ หรือหน่วยงานที่เขามาร่วมบุญกับเรา ก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี อย่างเช่น สนามกีฬาก็ได้จากคณะนักศึกษา แล้วเราเองก็ช่วยประสานไป”

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นไว้ว่า ทุกวันนี้ทาง ผอ.จะเกษียณอายุราชการที่โรงเรียนบ้านขามทะเลสอมาปีกว่าแล้ว แต่จิตวิญญาณของครูผู้ห่วงเด็ก ไม่เคยเกษียณตามไปด้วย ผอ.จึงผันตัวเองมาเป็น “ครูจิตอาสา” เพื่อเดินหน้าสอนวิชาดนตรีให้เด็กๆ ในโรงเรียนต่อไป พร้อมหาทุนให้เด็กยากจนมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีเด็กในโรงเรียนต่างๆ ได้รับทุนมากถึง 25 โรงเรียน

“สมัยผมเป็นวัยรุ่น ผมก็อยู่กับดนตรี จนผมไม่ไปอยู่สังคมที่มั่วสุม แทนที่ผมจะไปเที่ยวกับเพื่อน ผมก็ไม่ไป ผมก็ไปร้องเพลงเล่นดนตรี แล้วเราก็กลับบ้าน รุ่งเช้าเราก็มาเรียน

สมัยนักศึกษาก็เล่นดนตรีถึงตี 2 ตี 3 ตอน 7 โมงเช้าเราก็ไปเรียนหนังสือ ก็ไม่ได้มีปัญหา ทุกวันนี้คิดว่าจะสู้ต่อไป เกี่ยวกับดนตรี ก็ยังจะอยู่กับเด็กต่อไป หัวใจของดนตรีผมจะมอบคำพูดที่เป็น concept ให้กับเด็กๆ เลย คือ ใจรัก ใจดี ใจเย็น ใจใส สุดท้ายคือใจสู้ ถ้าเด็กๆ ทำได้คือก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แล้ว

ขณะนี้ผมเป็นครูจิตอาสา ผมกลับมาอีกครั้งหนึ่งโดยมาทำหน้าที่เป็นครูดนตรี ผมเห็นเด็กๆ ที่เขาสมัครมาอยู่กับดนตรี แล้วเวลาเรามองเขาผมมีความสุขมาก มีความปีติดีใจ

อย่างน้องออมเล่นคีย์บอร์ดได้ น้องฝ้ายตีกลองได้ หรือน้องออมชั้น ป.6 เล่นเบสได้ หรือทุกๆ คนร้องเพลง เข้าใจเรื่องต่างๆ เหล่านี้ นั่นคือสิ่งที่ผมมีความสุข ผมก็พอใจแล้ว”

ไม่เพียงแค่นั้น เด็กๆ ที่โรงเรียนบ้านขามทะเลสอ นอกจากได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์จากการเล่นดนตรีแล้ว การได้ฝึกมือ ฝึกอาชีพ ด้วยการทำขนมขายก็ช่วยให้มีรายได้ เลี้ยงครอบครัวอีกทางหนึ่ง

“ที่เราต้องการพัฒนาต่อยอด คือ ให้เด็กเขาเอาทักษะที่เราฝึกเขา กิจกรรมที่เราให้ฝึก ในกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในการทำขนม ในการทำผลิตภัณฑ์ หลังจากนั้นเขาก็พัฒนาต่อยอดไปเป็นพื้นฐานอาชีพ คือ เวลาเสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุด เขาก็เอาไปทำที่บ้าน และหารายได้พิเศษ”

นอกจากการเป็นจิตอาสาบ้านขามทะเลสอ หลังทราบว่าโรงเรียนบ้านนากลางซึ่งอยู่ต่างอำเภอขาดแคลนครูดนตรี เขาก็ไม่ลังเลที่จะไปช่วยสอนอีกด้วย

“ที่ผมมาโรงเรียนบ้านนากลางก็มาสำรวจสภาพต่างๆ แล้วเห็นว่าทางโรงเรียนมีความพร้อมในหลายๆ เรื่อง และอีกหลายเรื่องก็ยังไม่พร้อม เช่น การที่เราจะทำงานดนตรี เราต้องมีวัสดุอุปกรณ์ คนเรามีแล้ว แต่วัสดุอุปกรณ์ยังไม่มี

งบประมาณยังไม่มี โดยเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องดนตรีสากล ที่เราจะตั้งเครื่องดนตรีนักเรียน ต้องบอกเลยว่าด้วยหัวใจของผม ผมอยากทำจิตอาสาตรงนี้ให้เกิดมีวงดนตรีสากลของโรงเรียนบ้านนากลางอีกโรงเรียนหนึ่ง

สิ่งที่ขาดตอนนี้คือ เครื่องดนตรีสากลทุกชนิดเลย ไม่ว่าจะเป็นกลองชุด ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นคีย์บอร์ด หรือเครื่องที่จะตั้งวงดนตรี เพื่อให้เด็กๆ มัธยมเขาจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

และเขาจะได้อยู่กับเรื่องดนตรี จะทำให้เขามีพฤติกรรมที่ดี ลดความก้าวร้าวต่างๆ ต่อไปเขาจะเป็นคนที่มีจิตใจที่สงบ เป็นคนดีของสังคม”

เมื่อชีวิตเคยผ่านความลำบาก และวันหนึ่งได้มาเป็นครู ผอ.ปิยะศักสณ์ จึงพยายามทุกทางที่จะช่วยให้เด็กๆ ไม่ต้องลำบากเหมือนที่ครูเคยเป็น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขามีความมุ่งมั่นพัฒนาโรงเรียนให้มีศักยภาพที่ดีขึ้นเสมอจนถึงทุกวันนี้

“ตัวผมเองไม่เคยหวังผลตอบแทน แต่ว่าถ้าถามว่าได้อะไรที่ทำมานาน ตอนนี้ได้ทำหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยที่ว่าเราทำเต็มที่แล้ว ถือว่าคุ้มค่าที่เกิดมาเป็นคน พูดจากใจของผมเอง คือ แค่นี้ก็มีความสุขแล้วครับ”

สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์

5 ก.พ. 2564 ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/live/detail/9640000011710