ผู้เขียน หัวข้อ: ม.มหิดลเสริมเกราะสมุนไพร สู้ศึกเวทีการค้าเสรีอาเซียน  (อ่าน 1699 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งนับวันการแข่งขันในตลาดการค้าของอาเซียนยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศต่างส่งเสริมคุณภาพสินค้าตัวเองเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศคู่ค้าตกลงซื้อขายผลิตภัณฑ์จากประเทศตัวเอง ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินและดุลการค้าที่จะถ่วงมาทางฝั่งของตนมากขึ้น...“สมุนไพรไทย” ก็เป็นอีกหนึ่งของดีที่น่าจะตีตลาดได้ ทว่าการด้วยภูมิภาคที่คล้ายคลึงกันทำให้หลายประเทศก็มีสมุนไพรเป็นสินค้าส่งออกหลักอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เวทีการค้าสมุนไพรในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะที่กำลังจะเป็นฟรีเทรดในปี 2558 นี้เข้มข้นไม่แพ้สินค้าตัวใดเลยทีเดียว
       
       รศ.ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อาจารย์จากภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่งของเมืองไทย ในฐานะกำลังสำคัญหลักของโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA โดยการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า หลายประเทศที่วิจัยสมุนไพรไปไกลมากและคาดว่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญทางการค้า เช่นมาเลเซียที่นำสมุนไพร “ปลาไหลเผือก” มาวิจัยเป็นไวอะกร้าจากธรรมชาติ ที่รัฐบาลทุ่มทั้งทุนและนักวิจัยประดับประเทศจนผลวิจัยสำเร็จ ใช้กันเป็นยาประจำบ้านได้รับความนิยมจนกลายเป็นสินค้าส่งออก ในขณะที่ประเทศไทยยังไปไม่ถึงขนาดนั้น เพราะคนไทยเองก็ยังมีคำถามต่อความปลอดภัยของยาสมุนไพรไทยเช่นกัน นั่นทำให้กลับมาที่โจทย์ที่โครงการนี้จำเป็นต้องการ คือการทำอย่างไรให้ยาสมุนไพรไทยปลอดภัยได้มาตรฐาน จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการฯ ทั้ง 2 เฟส
       
       “การดำเนินงานของโครงการขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 โดยระยะแรกเริ่มในปีพ.ศ.2552 ระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเฟสแรกได้เริ่มต้นพัฒนายาสมุนไพรในบัญชียาหลัก เป็นการพัฒนาเชิงสนับสนุนให้สมุนไพรในบัญชียาหลัก 19 ตัวนั้นมีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ยาแตกตัวได้เร็ว บรรจุในแคปซูลแล้วไม่เสียง่าย ควบคู่ไปกับการอบรมให้ความรู้ว่าผลิตยาสมุนไพรอย่างไรจึงจะได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพรภาคเอกชน60คน อบรมให้บุคลากรทางการแพทย์ 50 คน รวมถึงเดินสายอบรม 4 ภาค ภาคละ 50 คนอีกด้วย”
       
       สำหรับการดำเนินการล่าสุดในขณะนี้นั้น รศ.ดร.นพมาศ ระบุว่าอยู่ในระยะที่2 โดยมีกรอบการดำเนินงาน 2 ปี ระหว่างพ.ศ.2554-2555 โดยในเฟสนี้เน้นการขยายกรอบการทำงานและต่อยอดจากเฟสที่1 คือเพิ่มการอบรมการผลิตสมุนไพรในอุตสาหกรรมอย่างปลอดภัยและได้มาตรฐานแก่ผู้ประกอบการเอกชน 100 คน รวมถึงเพิ่มการอบรมในส่วนภูมิภาคให้แก่ผู้ผลิตยาในโรงพยาบาลรัฐบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขและผู้นำชุมชนด้วย
       
       “ส่วนในเรื่องของบัญชียาหลักซึ่งขณะนี้มีอยู่ 71 ชนิด เราจะดึงออกมา 8 ชนิด เพื่อพัฒนาเชิงสนับสนุนให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ปลอดภัยและได้มาตรฐานขึ้นเหมือนที่เราทำกับ 19 ชนิดในเฟส1 แต่จะมีอยู่ 1 ชนิดที่เราจะทำClinical trial คือการวิจัยและพิสูจน์ทางคลินิก โดยเราจะทำกับครีมไพล เพื่อพิสูจน์ว่าภูมิปัญญาไพลมีฤทธิ์ตามที่ตำรับแพทย์แผนไทยใช้สืบต่อกันมาหรือไม่ ถ้าพบว่าออกฤทธิ์รักษาอาการปวดข้อและกระดูกได้ ก็จะส่งผลการวิจัยนี้เพื่อบรรจุครีมไพลลงในบัญชียาหลักด้วย ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัย”อาจารย์จากภาควิชาเภสัชวินิจฉัยรายนี้สรุปความคืบหน้าล่าสุด"
       
       จนถึงขณะนี้ แม้ในภาพรวมจะพบว่า การสนับสนุนจากทางภาครัฐที่มีต่อแวดวงสมุนไพรอาจจะมีน้อยไปสักหน่อยหากเทียบกับบางประเทศในอาเซียนที่ออกตัวแรงและทำท่าจะเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญของไทย แต่โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTAนี้ ก็น่าจะเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญไม่น้อย ต่อการพัฒนาวงการอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอย่างแน่นอน


ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 ตุลาคม 2554

gueat001

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 1
    • ดูรายละเอียด
    • sbobet
หุหุ จริงหรอครับนี้ๆ  ;D ;D