ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.พระมงกุฎฯ แจงส่งตัวช่างภาพสภาฯช้า ปัดกั๊กรถไว้ให้"วีไอพี"  (อ่าน 939 ครั้ง)

ABBA

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2105
    • ดูรายละเอียด

พล.ต.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ ผอ.รพ.พระมงกุฎฯ โต้ไม่ได้ประเมินอาการช่างภาพเนชั่นล่าช้า ยันไม่มีการกักรถพยาบาลไว้รับส่งเฉพาะ ส.ส.-ส.ว. พร้อมให้บริการทุกคน  ....

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่รัฐสภา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประจำตัวนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นพ.สามารถ ตันอริยกุล ผอ.สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และพล.ต.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ ผอ.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณีทีมแพทย์รพ.พระมงกุฎเกล้า ประจำรัฐสภา ส่งตัวนายสกล สนธิรัตน ช่างภาพสำนักข่าวเนชั่น ที่มีอาการหน้ามืดเป็นลมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลล่าช้า ทำให้คนไข้มีอาการหนัก โดยนายวัฒนากล่าวว่า ประธานสภาฯรู้สึกเสียใจ และขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะแพทย์รพ.พระมงกุฎเกล้า ที่รัฐสภาดูแลรักษาทุกคนอย่างเต็มที่ ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส. ส.ว.เท่านั้น

 


นพ.สามารถ กล่าวต่อไปว่า เมื่อคนไข้มาถึงโรงพยาบาลกลางมีความดันสูงถึง 170 แต่เอกซเรย์แล้วมีเลือดออกที่ก้านสมองไม่มาก เท่าเมล็ดถั่วเขียว จึงให้ยาควบคุมความดัน และลดสมองบวม เพราะวิธีรักษาผู้ป่วยอาการเลือดออกในสมองจะไม่ใช้วิธีผ่าตัด จะใช้ยาควบคุมก่อน แต่หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง นายสกลชีพจรหยุดเต้น ต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา และมีเลือดออกที่ก้านสมองมากขึ้น ทำให้คนไข้ช็อก คณะแพทย์จึงตัดสินใจผ่าตัดเอาเลือดที่ก้านสมองออกมาเมื่อเวลา 20.00 น. ใช้เวลาผ่าตัด 5 ชั่วโมง ผลการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น เอกซเรย์แล้วไม่พบเลือดออกที่ก้านสมอง แต่เลือดที่ออกมาที่ก้านสมอง ทำลายเนื้อสมองมาก จึงต้องติดตามประเมินอาการต่อไป

เมื่อถามว่า การส่งตัวมาถึงโรงพยาบาลล่าช้า มีผลทำให้อาการหนักขึ้นหรือไม่ นพ.สามารถตอบว่า เมื่อคนไข้มาถึงโรงพยาบาล มีเลือดออกที่ก้านสมองเล็กน้อย มีความผิดปกติแค่ปากเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนระบบอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ การที่มีเลือดไหลออกที่ก้านสมองครั้งที่สอง เป็นลักษณะอาการของโรคนี้ที่มี 2 ลักษณะคือ ดีขึ้นหรือมีเลือดไหลออกมากขึ้น ไม่สามารถประเมินได้ว่า อาการจะดีขึ้นหรือไม่ เป็นอาการเฉพาะตัวของผู้ป่วย


ด้าน พล.ต.ชุมพล กล่าวว่า ทีมพยาบาลโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่รัฐสภา ได้รับแจ้งเมื่อเวลา 13.20 น.ว่า มีสื่อมวลชนหน้ามืดเป็นลม จึงรีบมาดูอาการทันที จากการประเมินอาการผู้ป่วยยังรู้สึกตัว พูดจาโต้ตอบได้ ชีพจรอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่มีความดันสูง สงสัยว่า น่าจะมีอาการทางสมอง จึงประสานไปยังโรงพยาบาลพระมงกุฎให้ส่งรถพยาบาลมารับตัวทันที และรีบตามแพทย์มาดูอาการใช้เวลา 10 นาทีแพทย์ก็มาถึง แพทย์ประเมินว่า อาจมีเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก จึงพูดโต้ตอบกับผู้ป่วยเพื่อประเมินถึงการรู้สึกตัว ระหว่างรอประเมินอาการ รถโรงพยาบาลก็มาถึง จึงรีบส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลกลาง ใช้เวลาเดินทาง 10 นาที ส่วนเหตุที่ไม่ใช้รถโรงพยาบาลที่ประจำรัฐสภาส่งตัวนั้น เนื่องจากทีมแพทย์รอดูระบบการหายใจของผู้ป่วยว่า มีอาการติดขัดหรือไม่ เมื่อเห็นว่า การหายใจยังปกติ จึงส่งตัวขึ้นรถพยาบาล เพราะหากผู้ป่วยไปมีอาการหายใจติดขัดบนรถพยาบาลจะยิ่งเป็นอันตรายขึ้น

ผอ.โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เป็นดุลพินิจของแพทย์ผู้ประเมินอาการที่สามารถสั่งรถพยาบาลในรัฐสภา ออกได้เลย หากเป็นกรณีฉุกเฉิน แม้รถพยาบาลคันใหม่ยังมาไม่ถึงก็ตาม แต่กรณีนี้แพทย์ต้องรอประเมินอาการผู้ป่วยก่อนว่า มีอาการหายใจติดขัดหรือไม่ ใช้เวลาประเมินแค่ 5-10 นาทีเห็นว่า ยังปลอดภัย รอการส่งต่อได้ ไม่เกี่ยวกับจะมีรถพยาบาลคันใหม่มาเสริมไม่ทัน แพทย์ต้องให้ความช่วยเหลือทุกคน ไม่ได้ให้บริการเฉพาะส.ส.-ส.ว. แต่จะไปสอบถามพยาบาลว่า มีการพูดจริงหรือไม่ว่า รถพยาบาลมีไว้ให้บริการเฉพาะ ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้น ไม่ว่าเป็นใครก็ต้องรักษาและดูแลแบบเดียวกัน ไม่ได้เก็บรถพยาบาลให้วีไอพีใช้ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หลังจากนี้จะเรียกประชุมทีมแพทย์ พยาบาลเพื่อปรับปรุงการทำงาน การส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างแพทย์ กับผู้ป่วยที่อาจยังไม่ดีพอ

 


พล.ต.ชุมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ยืนยันแพทย์ไม่ได้ประเมินอาการผิดพลาด เพราะเมื่อไปถึงโรงพยาบาลผู้ป่วยยังรู้สึกตัว สัญญาณชีพปกติ มีแค่ความดันสูงเท่านั้น ส่วนที่ไม่นำตัวส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดนั้น ไม่ว่าจะส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลใด ก็ใช้มาตรฐานการรักษาแบบเดียวกัน อีกทั้งขณะนั้นผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี ส่วนที่แพทย์ถามผู้ป่วยว่า ใช้บัตรประกันสังคมของโรงพยาบาลใดนั้น เป็นการถามเพื่อประเมินการรับรู้ของผู้ป่วย เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง นอกจากถามเรื่องชื่อ นามสกุลก็อาจถามเรื่องประกันสังคม เพื่อดูว่า คนป่วยยังรู้สึกตัวดีหรือไม่ .

 

โดย: ไทยรัฐออนไลน์