ผู้เขียน หัวข้อ: ทรรศนะเก่าสุขภาพ คว่ำองค์กรตระกูล ส.  (อ่าน 1315 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เปิดมุมมอง

ประเด็น... “ทรรศนะเก่า และทรรศนะใหม่เกี่ยวกับสุขภาพกับการตรวจสอบองค์กรสุขภาพ” ไว้น่าสนใจ ควรต้องรับฟัง

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ เล่าให้ฟังว่า คสช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ (คตร.) ซึ่ง คตร.ได้เข้าไปตรวจสอบองค์กรสุขภาพ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ตรวจสอบและผู้ปฏิบัติว่า “สุขภาพ” ...คืออะไร น่าจะเป็นคุณต่อการถือเอาประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นตัวตั้ง

ทรรศนะเก่า คิดว่า...สุขภาพคือการไม่มีโรค

ผล...ทำให้เรื่องสุขภาพจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องมดหมอหยูกยาและโรงพยาบาลเท่านั้น

การทำงานเพื่อสุขภาพของคนทั้งมวล (Health for All) พบว่า ทรรศนะที่คับแคบดังกล่าวไม่สามารถสร้างสุขภาพของคนทั้งมวลได้ ทำให้ระบบบริการมุ่งแต่เฉพาะการรักษาโรคเป็นการตั้งรับ คือ...รอให้คนเจ็บป่วยแล้วก็สร้างโรงพยาบาลรักษาโรค

ซึ่งทำให้หมดเปลืองทั้งชีวิตของผู้คน และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ท้ายที่สุดแล้วก็ไปต่อไปไม่ได้ ต้องปฏิรูปหันมาเน้น “การรุกสร้างสุขภาพดี (Good health)”...ไม่ใช่ตั้งรับอยู่เฉพาะเรื่อง “สุขภาพเสีย (Ill health)”

นั่นคือทำทุกอย่างที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี อย่าให้เจ็บป่วยล้มตายโดยไม่จำเป็น ที่เรียกว่า “สร้างนำซ่อม” คือ การสร้างสุขภาพดีต้องนำการซ่อมสุขภาพเสีย

ปัจจัยที่กำหนดสุขภาพดีนั้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่นอกแวดวงสิ่งที่เรียกว่าการสาธารณสุข เช่น เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนธรรม สิ่งแวดล้อม ความเข้มแข็งของชุมชน การสื่อสาร นโยบายสาธารณะ สันติภาพ

“ถ้ายากจนเกิน...ก็ไม่มีสุขภาวะหรือสุขภาพ” ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ ว่า

“สังคม” ซึ่งหมายถึงการอยู่ร่วมกันทุกๆระดับ ทั้งในครอบครัว ในชุมชน ในองค์กร ในสังคมใหญ่...ถ้าเป็นไปด้วยดีเป็นปัจจัยของสุขภาวะที่สำคัญ ถ้าขัดแย้งรุนแรงหรือขาดสันติภาพ ทำให้ไม่มีสุขภาวะ ความยุติธรรมสำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันด้วยความสุข การศึกษาและการสื่อสารมีผลกระทบต่อสุขภาพ ฯลฯ

ฉะนั้น ทรรศนะใหม่ของสุขภาพ “สุขภาพ”...คือสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา

หรือบางคนกล่าวว่า “Health is the whole” หรือ...สุขภาพคือทั้งหมด หรือสุขภาพบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด ไม่ใช่แค่เรื่องมดหมอหยูกยาและโรงพยาบาลเท่านั้น

ถึงตรงนี้ คงต้องกล่าวถึง “องค์กรตระกูล ส.” ที่เกิดมาเพื่อเป็นเครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพ โดยมีทรรศนะสุขภาพใหม่ที่ว่า...ปัจจัยกำหนดสุขภาพกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่นอกแวดวงการสาธารณสุข

องค์กรตระกูล ส. จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ที่ถ้าใช้ทรรศนะเก่าสุขภาพ จะมองว่าอยู่นอกเรื่องสุขภาพ แต่ถ้าใช้ทรรศนะใหม่ ระบบสุขภาพครอบคลุมกว้างขวางมาก

ยกตัวอย่าง สปสช. ไม่ได้สนใจเฉพาะจะไปจ่ายเงินให้โรงพยาบาลเท่านั้น นั่นเป็นการตั้งรับเกินไป แต่ สปสช. ไปสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน เพราะความเข้มแข็งของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสุขภาพ

เช่น สปสช. ไปสนับสนุนการตั้ง “กองทุนสุขภาพตำบล” เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กกำพร้า เพื่อว่า...ประเทศไทยจะได้เป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

น่าสนใจว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ขณะนี้มีทุกตำบลแล้ว แล้วอย่างนี้...รัฐบาลจะไม่ดีใจดอกหรือ ที่มีองค์กรช่วยรัฐบาลทำงาน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน

“อย่าไปตีกรอบว่าอะไรอยู่นอกหรือในหน้าที่ ถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นตัวตั้งจะไม่ดีกว่าหรือครับ”

หรืออย่างงานของ สสส. ในสังคมที่สลับซับซ้อนและยาก ไม่มีรัฐบาลใดจะแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จ ถ้าไม่สำเร็จ...สุขภาวะก็ไม่เกิด

ปัญหาที่ยากและสลับซับซ้อนการใช้อำนาจไม่ได้ผล ดังที่ฝรั่งพบมานานแล้ว และพูดว่า “Power is less and less effective” เรื่องนี้...เมื่อครั้งที่คุณทักษิณเป็นนายกฯใหม่ๆ ขอคุยกับอาจารย์หมอประเวศเป็นส่วนตัว ได้เตือนท่านว่าอย่าไปใช้อำนาจ นอกจากไม่ได้ผลและจะเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

วิธีการที่ควรเดินไปก็คือต้องเปิด “พื้นที่ทางสังคม” และ “พื้นที่ทางปัญญา” อย่างกว้างขวาง

นั่นคือให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และต้องใช้ข้อมูล ความรู้ เหตุผล หรือกระบวนการทางปัญญา เพราะใช้อำนาจหรือความรุนแรงก็ไม่ได้ผล

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ ย้ำว่า องค์กรทางราชการไม่ชำนาญในการเปิดพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง สสส. จึงเป็นเครื่องมือเปิดพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง

แล้ว...รัฐบาลไม่ดีใจดอกหรือที่มีองค์กรไปช่วยรัฐบาลทำในสิ่งที่ระบบราชการไม่ชำนาญ แม้เพราะเหตุนี้จึงดูเหมือนว่า สสส. เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ซึ่งก็ไม่นอกเหนือไปจากเรื่องสุขภาพเพราะ “Health is The whole”

องค์กรตระกูล ส. ไม่ว่าจะเป็น สปสช. สสส. สช. ลงไปทำงานสนับสนุนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง เพราะตระหนักว่า “ชุมชนท้องถิ่น”...เป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงจะรองรับประเทศให้มั่นคง ทั้งนี้โดยเน้นการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำระหว่างทุกฝ่าย เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

“...ไม่ยุยงให้คิดเชิงปฏิปักษ์ ไม่ฝักใฝ่...เล่นการเมืองเรื่องอำนาจ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ร่วมมือด้วย ดังที่ทำเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคกับรัฐบาลทักษิณ เรื่องปฏิรูปประเทศไทยกับรัฐบาลอภิสิทธิ์”

ขณะนี้รัฐบาลนี้มียุทธศาสตร์ประชารัฐสานพลังเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี องค์กรตระกูล ส. ทั้งหมด เช่น สปสช. สสส. สช. สวรส. ก็ยินดีสนับสนุนรัฐบาล เพราะถ้าเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ประชาชนย่อมมีสุขภาวะหรือสุขภาพที่ดี

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วย่อมเห็นอานิสงส์ของทรรศนะใหม่เกี่ยวกับ “สุขภาพ” ว่า “สุขภาพบูรณาการ”...อยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องมดหมอหยูกยาและโรงพยาบาลเท่านั้น

สุดท้ายนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ตั้งความหวังว่า...ความร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก จะเป็นฐานแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของเพื่อนคนไทยทุกภาคส่วน

เพื่อรวมพลัง “บินออกจากเข่ง” ที่กักขังคนไทยไว้ให้จิกตีกันและตกอยู่ในหลุมดำแห่งวิกฤตการณ์เรื้อรัง ไปสู่อนาคตใหม่แห่งแสงสว่าง และการร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก.


ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 12 ต.ค. 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ปฏิรูปสุขภาพ ใช้สมองไม่ก่อบาป
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 15 ตุลาคม 2015, 10:09:29 »
“ธรรมะคือการเรียนรู้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร” หรือความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นเหตุปัจจัย หรือกระบวนการทางปัญญา

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ย้ำว่า กระบวนการทางปัญญากับกระบวนการทางอารมณ์ ความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ในกระบวนการทางปัญญา ทำให้มนุษย์เข้าใจปรากฏการณ์แจ่มแจ้งขึ้น มีโอกาสทำให้ดีขึ้น สังคมไทยยังขาดกระบวนการทางปัญญา แต่ใช้อารมณ์และอำนาจสูง ประเทศเราจึงอ่อนแอ

เหมือนอย่างกรณีความขัดแย้งระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช. หากใช้ปัญญาให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และควรเป็นอย่างไร โดยถือประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นตัวตั้ง

การเอาประโยชน์สูงสุดประชาชนเป็นตัวตั้งควรเป็นหลักการใหญ่ที่สุดของงานสาธารณะทุกประเภท แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมนุษย์มีตัณหา มานะ ทิฐิเป็นพื้นฐาน จึงมักเอาองค์กร...สถาบันเป็นตัวตั้งที่เรียกว่า “สิทธิสถาบันนิยม” หรือเอาความเป็นสถาบันวิชาชีพเป็นตัวตั้งที่เรียกว่าลัทธิวิชาชีพนิยม เช่น เมื่อก่อนแพทย์จะคิดว่าแพทย์เท่านั้นที่รักษาโรคได้ ทันตแพทย์เท่านั้นที่ถอนฟันได้ หรือพยาบาลเท่านั้นที่ทำการพยาบาลได้ ในขณะที่ถ้าคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งมวล ต้องคิดถึงบทบาทของคนอื่น หรือบุคลากรอื่นๆอีกอย่างหลากหลาย

ส่วนใหญ่จะคิดเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ขาดความคิดเชิงระบบ สิ่งทั้งหลายดำรงอยู่เป็นระบบ แต่นักวิชาการมักคิดเชิงเทคนิคเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั้งมวลขาดประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ เช่น เรารู้วิธีควบคุมโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เราก็ดูแลไปตามเทคนิคได้ไม่กี่คน โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรเรื่องที่เรารู้ว่าดีจะเกิดกับคนทั้งประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องคิดเชิงระบบ ถ้าเราคิดและทำงานเชิงระบบเป็น ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่านี้

“ระบบสาธารณสุข” หรือ “ระบบสุขภาพ” ซึ่งกว้างกว่า ประกอบด้วยมิติทางประชากร มิติทางระบาดวิทยา โครงสร้างของระบบบริการ ชนิด ประเภท ความสามารถของบุคลากรเหมาะสมในแต่ละระดับ เทคโนโลยีที่ให้ผลคุ้มค่า ระบบการเงินที่จะทำให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการซึ่งรวมถึงนโยบายและยุทธศาสตร์

ปฏิรูประบบสุขภาพอย่างไรประชาชนจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด สำคัญที่สุด...เราต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ...เราไม่มีความรู้เชิงระบบ มีแต่ความรู้เชิงเทคนิค ก็จำเป็นต้องสร้างความรู้เชิงระบบ

“การสร้างความรู้จริงเพื่อการใช้งานเป็นเรื่องยาก ทำไม่ได้ด้วยระบบอำนาจสั่งการ กระทรวงต่างๆเป็นระบบอำนาจจึงเกือบสร้างความรู้ไม่ได้เลย มหาวิทยาลัยก็ทำการถ่ายทอดความรู้เชิงเทคนิคจากตำรา...ประเทศไทยจึงขาดแคลนความรู้เพื่อพัฒนานโยบายที่ดี เป็นอุปสรรคต่อความเจริญของประเทศ”

ฉะนั้น...เมื่อคิดจะสร้าง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงต้องขอคิดกันอย่างหนักว่าจะมีสถานะอย่างไรจึงจะสร้างความรู้จริง ความรู้ปลอมอันตรายยิ่งนัก...ในที่สุดผู้ร่วมก่อตั้งตกผลึกว่าต้องเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ เช่นเดียวกับการที่ต้องมี สกว. สวทช. ในทำนองเดียวกันในปี 2535

สวรส. จึงเป็นองค์กรตระกูล ส. องค์กรแรกที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่สร้างความรู้เชิงระบบ เพื่อเอาความรู้ไปปฏิรูประบบสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนทั้งมวล

ปฏิรูปจากการตั้งรับไปสู่การรุกสร้างสุขภาพดี...แบบที่เรียก สร้างนำซ่อม จึงเกิด สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ

คำว่า “สุขภาพ” มีความหมายกว้างกว่าสาธารณสุข ไม่ได้หมายถึงมดหมอหยูกยาโรงพยาบาลเท่านั้น แต่หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางสังคม และทางปัญญา ปัจจัยที่กำหนดสุขภาพกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่นอกแวดวงกระทรวงสาธารณสุข เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ความเข้มแข็งของชุมชน นโยบายสาธารณะ ฯลฯ จนมีคำกล่าวว่า “Health is the whole” หรือ “สุขภาพบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งมวล” งานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. จึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆมากมาย

ตามมาด้วย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ปฏิรูปให้คนเล็กคนน้อยคนยากคนจนมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน สร้างระบบบริการสาธารณสุขให้สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาลแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ทั่วถึงและคุณภาพดี

“ระบบราชการ...เป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ใช่ระบบที่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง...ประชาชนจะได้หรือไม่ได้อะไรสุดแต่ทางราชการจะจัดให้หรือไม่ให้ ระบบราชการเป็นระบบเจ้าขุนมูลนายที่มองขึ้นข้างบนมากกว่าลงข้างล่าง คนยากคนจนไม่มีเกียรติไม่มีศักดิ์ศรี ไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยดี ถูกดุถูกว่าถูกรังเกียจ...”

“ระบบราชการที่รวมศูนย์อำนาจ”...ไม่ว่ากระทรวงใดๆ มีประ-สิทธิภาพต่ำที่จะสนองประโยชน์ประชาชน เพราะเป็นระบบอำนาจไม่ใช่ระบบแนวทางประชาชน

พื้นฐานความคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพ ก็คือ การปฏิรูปให้ประชาชนมีศักดิ์ศรี...เดิมทั้งผู้ให้บริการและผู้ดูแลรายจ่ายงบประมาณรวมอยู่ในที่เดียวกันคือกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้อำนาจรวมศูนย์จึงขาดประสิทธิภาพดังกล่าวแล้ว ในระบบอำนาจรวมศูนย์ประชาชนมีเกียรติน้อยมีอำนาจต่อรองน้อย

เงื่อนปมขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ สปสช. เป็นความขัดแย้งเชิงระบบ ไม่ใช่เชิงบุคคลระหว่างใครกับใคร ระหว่างคนดีกับคนดี หรือว่าใครมีศักดิ์ศรีกว่าใคร การแก้ไขปัญหาต้องสร้างองค์กรทางสาธารณสุขให้สัมพันธ์กันอย่างลงตัว

ความจริงกระทรวงสาธารณสุขกับองค์กรตระกูล ส. อยู่คนละระดับ ไม่ควรจะมาเป็นคู่แข่งหรือคู่ขัดแย้งกัน คือองค์กรตระกูล ส. เช่น สวรส. สปสช. สสส. เป็นองค์กรปฏิบัติ...มีหน้าที่ที่กฎหมายขององค์กรบัญญัติไว้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขมีฐานะสูงกว่าคือเป็นองค์กรนโยบาย ที่กำหนดนโยบายให้องค์กรปฏิบัติรับไปปฏิบัติ เช่น จะให้ สวรส.วิจัยเรื่องอะไร สปสช. จะสนับสนุนระบบบริการสุขภาพอย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด สสส. ต้องทำอะไรบ้างคนไทยจึงจะมีสุขภาพดีได้เต็มประเทศ

“องค์กร ส. เป็นเครื่องมือของกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นองค์กรที่เป็นอีกแบบหนึ่ง ต่างจากระบบราชการที่เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจ แต่การทำหน้าที่องค์กรนโยบายได้จะต้องมีปัญญาสูงสุด หรือสมองก้อนโต...ที่รู้ทั้งหมด สามารถสังเคราะห์นโยบาย และบริหารนโยบายได้”

ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า นโยบายต้องเชื่อมโยงไปทั้งใน...นอกกระทรวง เพื่อให้การพัฒนาทั้งหมดเป็นประโยชน์สุขต่อคนไทยทั้งมวล เพราะสุขภาพคือทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องของมดหมอหยูกยาโรงพยาบาลเท่านั้น

ถ้าได้ประกอบองค์ประกอบทั้งหมดได้อย่างถูกต้อง ระบบก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น อวยประโยชน์สูงสุดแก่คนไทยทั้งมวล ประดุจถ้าเราประกอบเครื่องรถยนต์ได้ครบถ้วนถูกต้อง รถก็จะวิ่งไปได้อย่างราบรื่นพาผู้ขับขี่ไปสู่เป้าหมายได้อย่างสบายๆ

“เราจะต้องร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด เราทำไม่ได้ในภพภูมิเก่า ซึ่งเป็นภพภูมิแห่งการคิดเชิงอำนาจและโครงสร้างอำนาจทางดิ่ง ซึ่งเป็นภพภูมิที่ทำให้มีความบีบคั้น พฤติกรรมเบี่ยงเบน ไม่ใช้ความจริง ทำร้ายกันสูง...เราต้องการศีลธรรมใหม่ และการปฏิวัติสัมพันธภาพด้วยกัลยาณมิตรธรรม

“ศีลธรรมใหม่” คือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน การปฏิรูประบบสุขภาพประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ต้องใช้ความจริง...ความเป็นเหตุเป็นผล คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นตัวตั้ง.



ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 3 ก.ค. 2558

sereynut

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 24
    • ดูรายละเอียด
Re: ทรรศนะเก่าสุขภาพ คว่ำองค์กรตระกูล ส.
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 16 ตุลาคม 2015, 10:01:12 »
 ;) ;) ;) ;) ;)
คาสิโนออนไลน์ ในรูปแบบใหม่ล่าสุดจาก ปอยเปต คาสิโน รีสอร์ท ได้ที่นี่ royal1688