ผู้เขียน หัวข้อ: ฟีฟ่ารับรอง ม.มหิดล เป็นศูนย์การแพทย์ฟุตบอลนานาชาติแห่งแรกของไทย  (อ่าน 1159 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและอาเซียน ให้เป็นศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสถาบันฟุตบอลนานาชาติ และเป็นแห่งที่สามของเอเชีย
       
       ประธานฝ่ายแพทย์ของฟีฟ่า นายแพทย์จีรี โวด์แรค (Jiri Dvorak, FIFA Chief Medical Officer) เป็นตัวแทนของฟีฟ่าเดินทางมามอบประกาศนียบัตร FIFA Medical Centre of Excellence หรือ “ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสถาบันฟุตบอลนานาชาติ” ให้แก่ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพและวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและอาเซียน และเป็นแห่งที่สามของเอเชีย (ญี่ปุ่น, กาตาร์, ไทยและซาอุดิอาระเบีย) โดยในปัจจุบันมีสถาบันทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองทั่วโลกอยู่ 26 สถาบันเท่านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา
       
       ทางวิทยาลัยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย "นพ. โอภาส สินเพิ่มสุขสกุล" ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ อาจารย์จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน ให้เป็น FIFA Medical Centre of Excellence พร้อมกับศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยทางวิทยาลัยได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่มีความสามารถใน 5 สาขาหลักของประเทศ ได้แก่ เวชศาสตร์การกีฬา สรีรวิทยาการกีฬา ชีวกลศาสตร์การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา และโภชนศาสตร์การกีฬาฯลฯ ออกสู่สังคม
       
       "ปัจจุบันได้ขยายหลักสูตรการศึกษาไปถึงในระดับปริญญาเอก(นานาชาติ) พร้อมทั้งดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพร่างกายและเก็บสถิติการบาดเจ็บในกีฬาฟุตบอลและกีฬาอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลงานที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียและระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพอย่างรอบด้านทางการศึกษาค้นคว้าวิจัยตลอดจนการให้การดูแล รักษา และฟื้นฟูสุขภาพบุคคลากรฟุตบอลและทางการกีฬาอื่นๆให้มีสมรรถภาพที่ดี มีคุณค่ากับวงการกีฬาของประเทศไทยต่อไป"
       
       ทางด้าน "นายแพทย์ชาตรี ดวงเนตร" กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า ปัจจุบันฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีผู้เล่นและผู้ชมมากที่สุดในโลก โดยมีการคำนวณคร่าวๆว่ามากกว่า 600 ล้านคน การที่นักฟุตบอลจะเก่งหรือมีความสามารถในการเล่นระดับโลกได้นั้น นอกจากพรสวรรค์แล้ว การใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้กับนักฟุตบอลจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
       
       "ในเวลาที่นักฟุตบอลมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น การให้การดูแลรักษาทันทีที่มีการบาดเจ็บ การวิเคราะห์โรคที่รวดเร็ว แม่นยำ โดยอาศัยแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการบาดเจ็บของนักฟุตบอลและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัย เช่น การใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอสนามแม่เหล็ก ตลอดจนการรักษาทั้งทางยาและการผ่าตัดด้วยวิธีการที่ทันสมัยโดยอาศัยการผ่าตัดผ่านกล้องและมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก จะช่วยทำให้นักฟุตบอลหายจากการบาดเจ็บนั้นได้อย่างรวดเร็วที่สุด"
       
       นายแพทย์ชาตรีกล่าวต่อว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การฟื้นฟูสภาพร่างกายควบคู่กับการรักษาระดับความฟิตของหัวใจ ปอด และกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ตลอดจนการทำกายภาพบำบัดด้วยโปรแกรมที่ดีคุณภาพระดับสากล จะส่งผลให้นักฟุตบอลกลับลงไปเล่นได้อย่างเช่นก่อนการบาดเจ็บได้โดยเร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นฟีฟ่าจึงมีนโยบายที่จะให้การรับรองสถาบันทางการแพทย์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งจะต้องมีการสนับสนุนการป้องกันการบาดเจ็บอย่างเป็นรูปธรรม มีการศึกษา อบรมตลอดจนการวิจัยเพื่อองค์ความรู้ใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่นักฟุตบอล และประชาสัมพันธ์ให้นักฟุตบอลทั่วทุกภูมิภาคของโลกว่าจะสามารถเข้าไปรับการดูแลได้ที่ใดบ้าง
       
       “นับเป็นความภาคภูมิใจของทางโรงพยาบาลที่ได้รับรองมาตรฐานด้านเวชศาสตร์การกีฬาจาก FIFA สถาบันชั้นนำทางด้านกีฬาฟุตบอลระดับโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นการดำเนินงานในด้าน “เวชศาสตร์การกีฬา” ว่าทางศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพได้มีบทบาทและให้ความสำคัญเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยได้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลสุขภาพของนักฟุตบอลทีมชาติ นักฟุตบอลประจำทีมสโมสรฟุตบอลชั้นนำในไทยพรีเมียร์ลีก ทั้งในเรื่องของการดูแลรักษานักกีฬาที่เกิดการบาดเจ็บ การฟื้นฟูและมุ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มสมรรถภาพด้านร่างกาย เทคนิคการเตรียมความพร้อม เทคนิคการเล่นกีฬาเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกทั้งยังรวมถึงงานด้านโภชนาการ และจิตวิทยาการกีฬา ได้อย่างมีมาตรฐาน”
       
       นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ และประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานจากฟีฟ่าได้นั้นจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์การพิจารณาและคุณสมบัติ 7 ประการ ได้แก่
       
       1. Multidisciplinary Approach (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา) มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาที่สนับสนุนการดูแล การป้องกันและการรักษานักฟุตบอล เพราะนักฟุตบอลไม่ได้มีปัญหาเฉพาะการบาดเจ็บเท่านั้น อาจมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บได้ทุกเรื่อง เช่น สมอง ไขสันหลัง ตา หู คอ จมูก ระบบหายใจ ทางเดินอาหาร ทันตกรรม หัวใจ ดังนั้นสถาบันนั้นๆจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ นอกจากแพทย์เวชศาสตร์การกีฬา แพทย์ออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ) แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดสำหรับการดูแลการบาดเจ็บ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา ฟิตเนสและโภชนาการด้วย
       
       2. Team Physician Experience (แพทย์ประจำทีมฟุตบอล) สถาบันนั้นๆจะต้องมีแพทย์ที่ทำหน้าที่แพทย์ประจำทีมฟุตบอล เพื่อการมีประสบการณ์ตรงในการดูแลนักฟุตบอล รู้ปัญหาและความต้องการของนักฟุตบอล ทั้งนี้ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ มีแพทย์ที่ทำหน้าที่แพทย์ประจำทีมฟุตบอลทีมชาติหลายชุด แพทย์ประจำทีมสโมสรฟุตบอลชั้นนำในไทยพรีเมียร์ลีก เช่น เอสซีจีเมืองทองยูไนเต็ด, บุรีรัมย์ยูไนเต็ด เป็นต้น
       
       3. Prevention (การป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วย) สถาบันนั้นๆต้องสนับสนุนการป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยของนักฟุตบอล โดยมีการตรวจเช็คร่างกายก่อนการแข่งขันเป็นประจำ มีการสนับสนุนโปรแกรมการวอร์มอัพของฟีฟ่า (The 11+ หรือ เดอะอิเลเว่นพลัส) ที่ได้ผลในการป้องการบาดเจ็บได้เป็นอย่างดี ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพให้การตรวจเช็คร่างกายนักฟุตบอลทีมชาติและทีมสโมสรชั้นนำมาโดยตลอด ส่วนการวอร์มอัพของฟีฟ่านั้นได้มีการนำเสนอสาธารณชนทางสื่อหนังสือพิมพ์และการอบรมสัมมนามาโดยตลอด และในปลายปีนี้ช่วงฟุตซอลโลกในไทย ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพจะได้ร่วมมือกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และฟีฟ่าทำโครงการเดอะอิเลเว่นพลัส ให้รับรู้กันโดยทั่วประเทศไทย โดยฟีฟ่าจะส่งวิทยากรมาเปิดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ที่สนใจในเดือนพฤศจิกายนศกนี้
       
       4. Education (การศึกษาอบรม) สถาบันจะต้องมีระบบการฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักฟุตบอล เพื่อให้ทราบองค์ความรู้ที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ มีระบบการเรียนการสอนดังกล่าวมาโดยตลอด
       
       5. Research (การทำวิจัย) สถาบันจะต้องมีการสนับสนุนให้มีการทำวิจัยเพื่อศึกษาและค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆเพื่อประโยชน์ในวงการฟุตบอล ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพได้ร่วมมือกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬามหาวิทยาลัยมหิดล ทำการวิจัยดังกล่าวและสนับสนุนให้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชียและระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ
       
       6. Events (การมีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันฟุตบอล) ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันฟุตบอลของฟีฟ่า เอเอฟซี และของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด ในการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกที่สำคัญที่ผ่านมา นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้รับการแต่งตั้งจากฟีฟ่า ให้เป็นประธานฝ่ายแพทย์ของการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงชิงแชมป์โลก รุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2004 และเช่นเดียวกันในปลายปีนี้ในการแข่งขันฟุตซอลโลก 1-18 พฤศจิกายน 2555
       
       7. กิจกรรมอื่นๆ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมความรู้ด้านเวชศาสตร์ฟุตบอล (Football Medicine) แก่สาธารณชน โดยผ่านการเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ ตลอดจนการนำเสนอผ่านรายการโทรทัศน์ เกี่ยวกับองค์ความรู้ดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรแกรมการวอร์มอัพเดอะอิเลเว่นพลัสของฟีฟ่า
       
       "ซึ่งทั้งหมดก็คือคุณสมบัติองค์รวมที่ทำให้ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองมาตรฐานจากฟีฟ่าให้เป็น FIFA Medical Centre of Excellence ด้วยคุณสมบัติที่ครบถ้วนดังกล่าวข้างต้น โดยการรับรองครั้งนี้จะมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ก่อนที่จะมีการรับรองครั้งใหม่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่สร้างมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพจนเป็นที่ยอมรับขององค์กรระดับโลกอย่างฟีฟ่า"

ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 มิถุนายน 2555