ผู้เขียน หัวข้อ: พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ภัยร้ายของวงการสาธารณสุขไทย  (อ่าน 3443 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด

ประวัติความเป็นมา
ออกมาในช่วงปฏิวัติ(คมช)  โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช)  ซึ่งเป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน มีเพียงสภาเดียว และไม่มีการทำประชาพิจารณ์   ผ่านสภาสามวาระโดยผู้เข้าประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงผ่านโดยผิดหลักการออกกฎหมาย แต่สุดท้ายก็ลงในราชกิจจานุเบกษา  บังคับใช้  จึงแก้ไขไม่ได้แล้ว เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ 23 สิงหาคม 2551                                                             

ผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ ประธานศาลอุทธรณ์ พิจารณาให้คดีทางการแพทย์  เป็นคดีผู้บริโภค ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2552 นั่นคือบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับชั้น(แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด)ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้เป็นเรื่องประกันสังคมหรือบัตรทองก็ไม่รับการยกเว้นทั้งสิ้น ล้วนต้องถูกพิจารณาคดีตามกฎหมายนี้ได้ทั้งหมด                                                                                                                                                   

ทำไม? พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ถึง เป็นกฎหมายที่ใช้ฟ้องง่ายและเป็นเครื่องมือข่มขู่บุคลากรทางการแพทย์                 


1. ผู้ฟ้อง ไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมในการฟ้องศาล  (ปกติการฟ้องในกฎหมายอื่น ต้องวางเงิน และถ้าแพ้คดี ผู้ฟ้องต้องถูกริบเงินด้วย)เพราะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ตามมาตรา18ในกฎหมายนี้ เรียกได้ว่า อยากฟ้องก็เดินมาตัวเปล่าได้เลย                                                                                                                                                     

2.  ผู้ฟ้องไม่ต้องจ้างทนาย  (ปกติการการฟ้องในกฎหมายอื่น  โจทย์และจำเลยต่างต้องจ้างทนายมาสู้กันในศาล)  เพราะไม่ต้องทำหนังสือฟ้อง  แค่เดินมาแจ้งและเล่าคำฟ้องกับเจ้าพนักงานคดี  เจ้าหน้าที่ก็บริการเขียนให้ ออกแรงแค่ลงชื่อรับรอง ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น (ตามมาตรา 20)  ที่ไม่ต้องจ้างทนาย  เพราะหน้าที่แก้ต่างหรือพิสูจน์เป็นภาระของจำเลย    ตามมาตรา 29(บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกฟ้อง  ต้องจ้างทนายฝ่ายเดียว ถ้าถูกฟ้องเมื่อไหร่ ถือว่าโชคร้ายไป มีแต่เสียกับเสีย)  ผู้ฟ้องมีหน้าที่กล่าวหาเฉยๆนอนรอดูผลตัดสินเอา ผู้ฟ้องมีแต่ได้หรือเสมอตัวเท่านั้น (เพราะไม่ต้องเสียอะไรเลยในคดี)                                                                           

3.  ผลตัดสิน  ศาลมีสิทธิ์สั่งให้ผู้ถูกฟ้องเสียเงินเพิ่มมากกว่าที่ผู้ฟ้องเรียกร้องได้อีกด้วย ตามมาตรา 39 เรียกได้ว่าผู้ฟ้องถ้าฟ้องไปแล้ว มีโอกาสได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  ยิ่งชักจูงให้อยากฟ้อง                                                                                                                                                       

4.  ศาลตัดสินไปแล้ว  มีสิทธิ์แก้คำตัดสินใหม่ได้ ภายในสิบปีนับแต่ศาลตัดสินหรือมีคำสั่ง ตามมาตรา 40  เรียกได้ว่าผู้ถูกฟ้องอาจโชคร้าย  ตัดสินแล้วอาจถูกตัดสินหรือมีคำสั่งใหม่ให้จ่ายค่าเสียหายเพิ่มในสิบปี  ต้องทุกข์ทรมานใจร่วมสิบปี !                           

5. ถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ทำตามคำสั่งศาล  ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังจนกว่าจะทำตามคำสั่งตามมาตรา43                                                                                                                                                             
6. การโฆษณา( เช่น “เห็นผลตั้งแต่ครั้งแรก” เป็นต้น) แม้ไม่มีหนังสือสัญญา  ก็ใช้ฟ้องได้  ตามมาตรา11                             

7.  กฎหมายไม่มีอายุความ  เพราะให้ผู้ฟ้อง มีสิทธิ์ฟ้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย  และรู้ตัวผู้ทำให้เสียหาย  แต่ไม่เกินสิปปีนับแต่รู้ถึงความเสียหาย  ตามมาตรา 13  นั่นคือตามแต่ใจผู้ฟ้องว่ารู้เมื่อไหร่?    อายุความจริงๆ จึงไม่แน่นอน ล่องลอย  เรียกได้ว่า  บุคลากรทางการแพทย์ให้บริการใคร  แต่ละครั้ง ต้องรับผิดชอบผู้นั้นไปตลอดชีวิต   

สถานการณ์ปัจจุบัน  พบว่าเกิดคดีความตามกฎหมายนี้กับบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   และในความเป็นจริงมีจำนวนมากถูกคนไข้ใช้กฎหมายนี้ข่มขู่กรรโชกทรัพย์ว่าจะฟ้อง  บุคลากรทางการแพทย์หลายราย ต้องยอมจ่าย  ซึ่งน้อยกว่าจ้างทนายและเสียเวลาขึ้นศาลหรือทุกข์ทรมานใจไปหลายปี  รวมทั้งชื่อเสียง และไม่รู้ว่าจะชนะคดีหรือไม่   อยากให้พวกเรา    อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว  แต่ท่านรู้หรือไม่ว่าตลอดเวลาที่ทุกท่านยังทำงานทางการแพทย์   ครึ่งตัวของท่านก็อยู่ในศาลไปแล้ว เนื่องจากกฎหมาย พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฉบับนี้   เพราะในชีวิตการทำงาน ย่อมต้องพบผลที่ไม่ดีมากมายที่เลือกไม่ได้  เช่นภาวะฉุกเฉิน  หรือผู้ป่วยที่หนัก จนเยียวยาให้เป็นปกติไม่ได้  ย่อมต้องเสี่ยงถูกการเข้าใจผิด  และถูกฟ้องร้องได้ตลอดเวลา แล้วจะทำอย่างไรดี?                                                                                                                         

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  คือ  ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการจริงๆ และมีจริยธรรม  ไม่หวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญที่สุดของที่สุด  คือ  ต้องมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วยตลอดทั้งระหว่างการรักษา และหลังจากมีปํญหาต่อกันขึ้นมา   เพราะแม้รักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการและมีจริยธรรม  ขึ้นศาลก็ยังแพ้ได้  แม้แพทยสภาหรือสภาวิชาชีพจะตัดสินว่าไม่ผิดก็ตาม   ตามข่าวที่พวกเรารู้กันมาตลอด

การแก้ปัญหาที่ถาวรและขอความร่วมมือจากพวกเราทุกคน  คือ   ร่วมกันเสนอ ร่างกฎหมาย    แก้ไขให้บริการสาธารณสุขไม่เป็นคดีผู้บริโภค    โดยการเขียนใบ ข.ก.๑ ( กรอกรายละเอียดตามที่ใบต้องการ  พร้อมลงชื่อเรียบร้อย)  พร้อมกับแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ( ลงชื่อรับรองสำเนาบัตรว่าถูกต้องด้วย และเขียนกำกับทับลงไปว่าใช้เพื่อเสนอร่างกฎหมาย) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น  เป็นประชาชนไทยทั่วไปที่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป  ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็สามารถร่วมครั้งนี้ได้  (เช่น ญาติ พี่น้อง เพื่อน ฯลฯ เป็นต้น)                       

ส่งใบ ข.ก.๑ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการดังกล่าว   มาที่
สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา   ชั้น  7   อาคาร 6
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข   อำเภอเมือง   จังหวัดนนทบุรี  11000                                           

พวกเราจะยอมก้มหน้ารับชะตากรรม ที่ผู้อื่นเป็นผู้กำหนด  หรือ  จะร่วมกันฝ่าฟันความอยุติธรรมครั้งนี้ให้ได้  ขึ้นอยู่กับตัวทุกท่านเอง


ด้วยความห่วงใยจาก สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป  (นพ.เพิ่มบุญ จิรยศบุญยศักดิ์  รองประธานสมาพันธ์ฯและกรรมการแพทยสภา  เรียบเรียง)