My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวสมาพันธ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 08 มีนาคม 2012, 01:30:10

หัวข้อ: พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ภัยร้ายของวงการสาธารณสุขไทย
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 08 มีนาคม 2012, 01:30:10
(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/imagesCAP254H3.jpg)
ประวัติความเป็นมา
ออกมาในช่วงปฏิวัติ(คมช)  โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช)  ซึ่งเป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน มีเพียงสภาเดียว และไม่มีการทำประชาพิจารณ์   ผ่านสภาสามวาระโดยผู้เข้าประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง จึงผ่านโดยผิดหลักการออกกฎหมาย แต่สุดท้ายก็ลงในราชกิจจานุเบกษา  บังคับใช้  จึงแก้ไขไม่ได้แล้ว เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ 23 สิงหาคม 2551                                                             

ผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์ ประธานศาลอุทธรณ์ พิจารณาให้คดีทางการแพทย์  เป็นคดีผู้บริโภค ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2552 นั่นคือบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับชั้น(แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด)ทั้งภาครัฐและเอกชน แม้เป็นเรื่องประกันสังคมหรือบัตรทองก็ไม่รับการยกเว้นทั้งสิ้น ล้วนต้องถูกพิจารณาคดีตามกฎหมายนี้ได้ทั้งหมด                                                                                                                                                   

ทำไม? พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ถึง เป็นกฎหมายที่ใช้ฟ้องง่ายและเป็นเครื่องมือข่มขู่บุคลากรทางการแพทย์                 


1. ผู้ฟ้อง ไม่ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมในการฟ้องศาล  (ปกติการฟ้องในกฎหมายอื่น ต้องวางเงิน และถ้าแพ้คดี ผู้ฟ้องต้องถูกริบเงินด้วย)เพราะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ตามมาตรา18ในกฎหมายนี้ เรียกได้ว่า อยากฟ้องก็เดินมาตัวเปล่าได้เลย                                                                                                                                                     

2.  ผู้ฟ้องไม่ต้องจ้างทนาย  (ปกติการการฟ้องในกฎหมายอื่น  โจทย์และจำเลยต่างต้องจ้างทนายมาสู้กันในศาล)  เพราะไม่ต้องทำหนังสือฟ้อง  แค่เดินมาแจ้งและเล่าคำฟ้องกับเจ้าพนักงานคดี  เจ้าหน้าที่ก็บริการเขียนให้ ออกแรงแค่ลงชื่อรับรอง ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น (ตามมาตรา 20)  ที่ไม่ต้องจ้างทนาย  เพราะหน้าที่แก้ต่างหรือพิสูจน์เป็นภาระของจำเลย    ตามมาตรา 29(บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกฟ้อง  ต้องจ้างทนายฝ่ายเดียว ถ้าถูกฟ้องเมื่อไหร่ ถือว่าโชคร้ายไป มีแต่เสียกับเสีย)  ผู้ฟ้องมีหน้าที่กล่าวหาเฉยๆนอนรอดูผลตัดสินเอา ผู้ฟ้องมีแต่ได้หรือเสมอตัวเท่านั้น (เพราะไม่ต้องเสียอะไรเลยในคดี)                                                                           

3.  ผลตัดสิน  ศาลมีสิทธิ์สั่งให้ผู้ถูกฟ้องเสียเงินเพิ่มมากกว่าที่ผู้ฟ้องเรียกร้องได้อีกด้วย ตามมาตรา 39 เรียกได้ว่าผู้ฟ้องถ้าฟ้องไปแล้ว มีโอกาสได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  ยิ่งชักจูงให้อยากฟ้อง                                                                                                                                                       

4.  ศาลตัดสินไปแล้ว  มีสิทธิ์แก้คำตัดสินใหม่ได้ ภายในสิบปีนับแต่ศาลตัดสินหรือมีคำสั่ง ตามมาตรา 40  เรียกได้ว่าผู้ถูกฟ้องอาจโชคร้าย  ตัดสินแล้วอาจถูกตัดสินหรือมีคำสั่งใหม่ให้จ่ายค่าเสียหายเพิ่มในสิบปี  ต้องทุกข์ทรมานใจร่วมสิบปี !                           

5. ถ้าบุคลากรทางการแพทย์ไม่ทำตามคำสั่งศาล  ศาลมีอำนาจสั่งจับกุมและกักขังจนกว่าจะทำตามคำสั่งตามมาตรา43                                                                                                                                                             
6. การโฆษณา( เช่น “เห็นผลตั้งแต่ครั้งแรก” เป็นต้น) แม้ไม่มีหนังสือสัญญา  ก็ใช้ฟ้องได้  ตามมาตรา11                             

7.  กฎหมายไม่มีอายุความ  เพราะให้ผู้ฟ้อง มีสิทธิ์ฟ้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย  และรู้ตัวผู้ทำให้เสียหาย  แต่ไม่เกินสิปปีนับแต่รู้ถึงความเสียหาย  ตามมาตรา 13  นั่นคือตามแต่ใจผู้ฟ้องว่ารู้เมื่อไหร่?    อายุความจริงๆ จึงไม่แน่นอน ล่องลอย  เรียกได้ว่า  บุคลากรทางการแพทย์ให้บริการใคร  แต่ละครั้ง ต้องรับผิดชอบผู้นั้นไปตลอดชีวิต   

สถานการณ์ปัจจุบัน  พบว่าเกิดคดีความตามกฎหมายนี้กับบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   และในความเป็นจริงมีจำนวนมากถูกคนไข้ใช้กฎหมายนี้ข่มขู่กรรโชกทรัพย์ว่าจะฟ้อง  บุคลากรทางการแพทย์หลายราย ต้องยอมจ่าย  ซึ่งน้อยกว่าจ้างทนายและเสียเวลาขึ้นศาลหรือทุกข์ทรมานใจไปหลายปี  รวมทั้งชื่อเสียง และไม่รู้ว่าจะชนะคดีหรือไม่   อยากให้พวกเรา    อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว  แต่ท่านรู้หรือไม่ว่าตลอดเวลาที่ทุกท่านยังทำงานทางการแพทย์   ครึ่งตัวของท่านก็อยู่ในศาลไปแล้ว เนื่องจากกฎหมาย พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฉบับนี้   เพราะในชีวิตการทำงาน ย่อมต้องพบผลที่ไม่ดีมากมายที่เลือกไม่ได้  เช่นภาวะฉุกเฉิน  หรือผู้ป่วยที่หนัก จนเยียวยาให้เป็นปกติไม่ได้  ย่อมต้องเสี่ยงถูกการเข้าใจผิด  และถูกฟ้องร้องได้ตลอดเวลา แล้วจะทำอย่างไรดี?                                                                                                                         

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  คือ  ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการจริงๆ และมีจริยธรรม  ไม่หวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญที่สุดของที่สุด  คือ  ต้องมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วยตลอดทั้งระหว่างการรักษา และหลังจากมีปํญหาต่อกันขึ้นมา   เพราะแม้รักษาผู้ป่วยตามหลักวิชาการและมีจริยธรรม  ขึ้นศาลก็ยังแพ้ได้  แม้แพทยสภาหรือสภาวิชาชีพจะตัดสินว่าไม่ผิดก็ตาม   ตามข่าวที่พวกเรารู้กันมาตลอด

การแก้ปัญหาที่ถาวรและขอความร่วมมือจากพวกเราทุกคน  คือ   ร่วมกันเสนอ ร่างกฎหมาย    แก้ไขให้บริการสาธารณสุขไม่เป็นคดีผู้บริโภค    โดยการเขียนใบ ข.ก.๑ ( กรอกรายละเอียดตามที่ใบต้องการ  พร้อมลงชื่อเรียบร้อย)  พร้อมกับแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ( ลงชื่อรับรองสำเนาบัตรว่าถูกต้องด้วย และเขียนกำกับทับลงไปว่าใช้เพื่อเสนอร่างกฎหมาย) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น  เป็นประชาชนไทยทั่วไปที่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป  ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็สามารถร่วมครั้งนี้ได้  (เช่น ญาติ พี่น้อง เพื่อน ฯลฯ เป็นต้น)                       

ส่งใบ ข.ก.๑ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการดังกล่าว   มาที่
สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา   ชั้น  7   อาคาร 6
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข   อำเภอเมือง   จังหวัดนนทบุรี  11000                                           

พวกเราจะยอมก้มหน้ารับชะตากรรม ที่ผู้อื่นเป็นผู้กำหนด  หรือ  จะร่วมกันฝ่าฟันความอยุติธรรมครั้งนี้ให้ได้  ขึ้นอยู่กับตัวทุกท่านเอง


ด้วยความห่วงใยจาก สมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป  (นพ.เพิ่มบุญ จิรยศบุญยศักดิ์  รองประธานสมาพันธ์ฯและกรรมการแพทยสภา  เรียบเรียง)