ผู้เขียน หัวข้อ: กรมควบคุมโรครณรงค์สารถีรถโดยสารสุขภาพดีลดอุบัติเหตุ  (อ่าน 1023 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
รองอธิบดีกรมควบคุมโรครณรงค์โครงการ “คนขับรถโดยสารสาธารณะสุขภาพดี” เพื่อลดอุบัติเหตุและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ผู้ขับขี่รถโดยสาร...

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกิจกรรมรณรงค์ ป้องกันโรคและภัยจากการทำงาน “คนขับรถโดยสารสาธารณะสุขภาพดี” ซึ่งจัดที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ว่า กิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ จัดเพื่อกระตุ้นให้ “คนขับ” รถโดยสารสาธารณะหันมาใส่ใจสุขภาพ และสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงผู้ที่ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดอุบัติเหตุได้ ซึ่งกิจกรรมจะจัดพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ โดยมีเวทีเสวนา “ขับรถอย่างไรให้ปลอดโรค ปลอดภัย และถูกกฎหมาย” นิทรรศการให้ความรู้เรื่องขับขี่อย่างไรให้ปลอดโรคปลอดภัย กิจกรรมดูแลสุขภาพผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะโดยมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เช่น ตรวจสายตา วัดความดันโลหิต วัดดัชนีมวลกาย และกิจกรรมเกมส์สนุกๆ ลุ้นรับของรางวัลมากมาย

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าสาเหตุที่ผู้โดยสารนิยมใช้บริการรถตู้ในการเดินทาง เพราะคิดว่าได้นั่งแน่ มีแอร์ ถึงที่หมายเร็วไม่รอนาน แต่สิ่งที่ผู้โดยสารแทบไม่มีโอกาสเลือกได้เลย คือ คนขับรถและรถ เพราะเร่งรีบในการเดินทาง ขณะที่ปัญหาการใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะในปัจจุบันอยู่ในสภาพที่มีจำนวน รถเพิ่มมากขึ้น มาตรฐานรถแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของผู้ประกอบการ และจากจำนวนรถในปัจจุบันจึงมากเกินความต้องการใช้บริการ คนขับรถต้องทำรอบเพื่อเพิ่มรายได้ เกิดการขับแข่ง แย่งผู้โดยสารโดยละเลยความปลอดภัยของผู้โดยสาร อุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย

จากสถิติของกรมการขนส่ง ทางบก พบว่า อุบัติเหตุจราจรทางบกที่เกิดจากรถโดยสารเล็ก (รถตู้) ในเขตพื้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุประจำปีงบประมาณ 2554 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ย. 2554) จำนวน 869 ครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุปกรณ์ชำรุด คิดเป็นร้อยละ 16.51 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและเมาสุรา คิดเป็น 9.71 และ 9.04 ตามลำดับ

“จากผลการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถโดยสถาบัน วิจัยระบบสาธารณสุข พบว่าเกือบ 1 ใน 4 ขับรถมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 20 โรคเบาหวาน ร้อยละ 6 และยังพบมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ร้อยละ 60 จากข้อมูลข้างต้น ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท จำเป็นต้องมีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ เพื่อจะทำหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย และหากผู้ขับรถมีสุขภาพไม่ดี เช่น เป็นโรคที่อาจกำเริบกะทันหัน ได้แก่ โรคหัวใจ โรคลมชัก หรือมีปัญหาทางสายตาที่ไม่ใส่แว่นแก้ไข หรือดื่มเหล้า กินยาที่ทำให้ง่วง ก็อาจเกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้โดยสารได้ หากประชาชนสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333” นพ.นพพร กล่าว.

ไทยรัฐออนไลน์  2 พค 2555