ผู้เขียน หัวข้อ: กรมควบคุมโรคเตือน 10 เมนูอันตรายหน้าร้อน ลดเสี่ยงอาหารเป็นพิษ  (อ่าน 884 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้กำหนดให้วันที่ 8–14 เมษายน 2555 เป็นสัปดาห์รณรงค์ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ จากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนมีนาคม–เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมาก นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเทศกาลมีวันหยุดต่อเนื่องยาว ประชาชนมักถือโอกาสท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา มีงานเลี้ยงฉลอง มีงานบุญ งานรื่นเริง รับประทานอาหารเป็นกลุ่มจำนวนมาก สิ่งที่พบบ่อยตามมา คือ การเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด อาหารปรุงสุกๆดิบๆ และอาหารที่ทำล่วงหน้าเกิน 4 ชั่วโมง  ซึ่งอากาศร้อนแบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้เร็ว ทำให้อาหารบูดง่าย

จากการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษพบว่า ในปี 2554 ตลอดทั้งปีมีผู้ป่วย 100,534 ราย สำหรับปี 2555 ตั้งแต่ 1 มกราคม–26 มีนาคม พบผู้ป่วย 26,811 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยสูงสุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราการป่วยสูงสุด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ รองลงมาเป็นอุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น และพิษณุโลก ตามลำดับ 

กรมควบคุมโรคจึงขอให้ผู้ประกอบอาหารและผู้บริโภคอาหาร ช่วยกันระมัดระวังให้อาหารสะอาดปลอดภัยด้วยอยู่เสมอ ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานานก่อนนำไปให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะเสียง่ายกว่าปกติ อาหารประเภทยำ ลาบ ต้องปรุงให้สุก เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้อาหารบูดเสียง่าย ผู้ปรุงอาหารต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี แต่งกายสะอาด รวบผม ล้างมือก่อนปรุงและหลังประกอบอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะต้องล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ

ส่วนผู้เดินทางท่องเที่ยวหรือผู้บริโภคอาหารนั้น ถ้าจะแวะรับประทานอาหารขอให้เลือกร้านที่มั่นใจว่าสะอาด หรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย สำหรับน้ำดื่มหรือน้ำแข็งควรมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก อย. รวมทั้งล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังต้องขอความร่วมมือจากชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขและองค์การบริหารส่วนตำบล ช่วยกันดูแลประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยหรือถ้าเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อการควบคุมโรคไม่ให้ระบาดในวงกว้าง

โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรคหรือสารพิษจากสัตว์พิษหรือพืชพิษ เช่น เห็ดพิษ คางคก แมงดาทะเล สาหร่ายหรือปลาทะเลบางชนิด เป็นต้น ทำให้เกิดอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีไข้หรืออาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการทางระบบประสาท พบมากในกลุ่มนักเรียนและผู้ที่เดินทางเป็นหมู่คณะรับประทานอาหารร่วมกัน                                           

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า  สำหรับการช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยอุจจาระร่วงเบื้องต้นทำโดยให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ  ซึ่งถ้าไม่มีก็อาจทำได้ง่ายๆ โดยใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชาผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็นลง แล้วรับประทานแทนน้ำหรือให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหารรวมทั้งนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิมแต่ปริมาณลดลงและให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร เมื่ออาการโรคอุจจาระร่วงไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น

“เมนูทอปฮิตอันตรายหน้าร้อน จากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วยพบ 10 เมนูอันตรายดังนี้
1.ลาบ/ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ
2.ยำกุ้งเต้น 
3.ยำหอยแครง 
4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจกนักเรียนหรือคณะท่องเที่ยว
5.อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิสด
6.ขนมจีน
7.ข้าวมันไก่
8.ส้มตำ
9.สลัดผัก
10.น้ำแข็ง 

ส่วนอาหารปิ้งย่างที่นิยมรับประทานกัน เช่น หมูกระทะ กุ้งกระทะ ช่วงหน้าร้อนนี้ขอให้ใจเย็นๆ เวลาปิ้ง ควรปิ้งให้สุกจะได้ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ ระยะนี้เน้นรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เท่านั้น ส่วนอาหารถุงอาหารกล่อง อาหารห่อ ต้องรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก อาหารกระป๋องแม้จะปลอดภัยก็ต้องดูวันหมดอายุ อาหารค้างคืน ต้องอุ่นทำให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง อย่าลืมฤดูร้อนผู้ปรุงอาหารต้องปรุงอาหารให้ “สุก ร้อน สะอาด” ส่วนผู้บริโภคต้อง “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้าย


มติชนออนไลน์   30 มีค 2555