ผู้เขียน หัวข้อ: "กินเค็ม" ทำคนป่วยเสียชีวิต ภาครัฐเตรียมจัดเก็บภาษี"โซเดียม"  (อ่าน 319 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9763
    • ดูรายละเอียด
สถานการณ์โควิดทำให้ค้นพบว่า คนกินเค็มที่ติดโควิดมีอัตราเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป หลายหน่วยงานจึงร่วมกันหาวิธีช่วยเหลือประชาชนให้บริโภคโซเดียมลดลง และศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้น

“การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ได้รู้ว่า คนไข้ในกลุ่มที่บริโภคโซเดียมปริมาณสูงมีอัตราเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่กินเค็ม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม

มองเห็นปัญหานี้จึงได้จัดประชุมสัมมนาขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย และขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม ให้ภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดเค็ม” ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานสัมมนาฯ และว่ากินเค็มให้น้อยลงช่วยให้สุขภาพดี

“การลดการบริโภคเกลือโซเดียม จะช่วยลดการเจ็บป่วย เสียชีวิต ที่มาจากกลุ่ม โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดมีหลักฐานว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูง

จากรายงาน เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก

"กินเค็ม" ทำคนป่วยเสียชีวิต ภาครัฐเตรียมจัดเก็บภาษี"โซเดียม"อาหารที่มีปริมาณโซเดียมเยอะ

พบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

ภาครัฐเตรียมออกภาษีความเค็ม

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีภารกิจสนับสนุนนโยบายสาธารณสุขที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น

“เห็นได้จากการจัด เก็บภาษี เครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน ปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางจัดเก็บภาษีความเค็มตามปริมาณโซเดียม ปัจจุบันคนไทยบริโภครสหวาน มัน เค็ม มากเกินความพอดี ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs

มีการบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน การลดโซเดียมเป็น 1 ใน 9 เป้าหมาย ซึ่งต้องลดให้เหลือร้อยละ 20 หรือไม่เกิน 2,800 มิลลิกรัมต่อวัน ในระยะเวลา 8-10 ปีนับจากนี้

เก็บภาษีความเค็มเพื่อสุขภาพ

ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า แนวทางการลดปริมาณโซเดียมโดยใช้มาตรการทางภาษีมีขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน

“วัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีไม่ได้มุ่งเป้าเพิ่มรายได้ แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน เพิ่มทางเลือกสินค้าโซเดียมต่ำให้มากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ลง และทำให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงข้อมูลการบริโภคโซเดียมอย่างสมดุลต่อร่างกาย”

ภาคไหนกินเค็มมากที่สุด ?

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า คนไทยชอบกินอาหารนอกบ้าน เพราะมีความสะดวกสบาย

“จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหาร พบว่า คนไทยทำอาหารรับประทานเองในบางมื้อคิดเป็นร้อยละ 76 (ส่วนใหญ่ 1 มื้อต่อวัน) มีพฤติกรรมซื้ออาหารนอกบ้านสูงถึงร้อยละ 81 (เฉลี่ยวันละ 1 มื้อ) นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากเพราะสะดวกเข้าถึงง่าย

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการลดการบริโภคเค็มอย่างต่อเนื่อง ทั้งให้ความรู้ผ่านสื่อ, การปรับฉลากโภชนาการให้ระบุปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม รวมทั้งขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมอาหารให้ปรับสูตรอาหาร ซึ่งยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เครือข่ายฯ จึงพยายามผลักดันให้เกิดมาตรการภาษีโซเดียม

จากการสำรวจปริมาณ โซเดียม 4 ภาค ล่าสุด พบว่า

ภาคใต้ มีผู้บริโภคโซเดียมต่อวันมากที่สุด คิดเป็น 4,107.8 มิลลิกรัมต่อวัน
ภาคเหนือ  3,562.7 มิลลิกรัมต่อวัน
ภาคกลาง 3,759.7 มิลลิกรัมต่อวัน
กรุงเทพมหานคร 3,495.9 มิลลิกรัมต่อวัน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,315.8 มิลลิกรัมต่อวัน
ซึ่งตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ให้บริโภคโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น”

"กินเค็ม" ทำคนป่วยเสียชีวิต ภาครัฐเตรียมจัดเก็บภาษี"โซเดียม"ดร.เรณู การ์ก  (Dr.Renu Madanlal Garg) Medical Officer, NCDs องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ว่าการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากรนั้น ต้องมีมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนทราบถึงปริมาณโซเดียมที่มีอยู่สูงมากในอาหาร ซึ่งสามารถทำได้โดยการกำหนดรูปแบบฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ

เช่น การแสดงคำเตือนปริมาณโซเดียมสูง ฯลฯ จะช่วยให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าจะซื้ออาหารชนิดใดและชนิดใดไม่ควรซื้อ ส่วนการใช้นโยบายเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป จะสามารถผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับสูตรอาหารให้มีโซเดียมน้อยลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น”

28 พ.ย. 2564
https://www.bangkokbiznews.com/health/974359