หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

๑๐๐ ปีชาตกาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)

(1/1)

pani:
เมษายน 2554 หรือ 16 ปีหลังเจ้าของเรือนถึงแก่อสัญกรรม บ้านสวนพลูยังคงสภาพงดงาม สะอาดสะอ้าน เป็นพื้นที่สีเขียวท่ามกลางป่าคอนกรีต ผู้คนยังเดินเข้าออก แม้จะไม่คึกคักและเป็นกันเองเหมือนก่อน เพราะบุคคลที่มาด้วยความอยากรู้จักเหล่านี้ไม่ใช่ญาติมิตรหรือลูกศิษย์ลูกหา ที่นำเสียงหัวเราะ เสียงด่าทอ เสียงดนตรี หรือแม้แต่กลิ่นอาหารมาสู่หมู่เรือนไทยที่ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ให้เป็น พิพิธภัณฑ์ บ้านสวนพลูวันนี้เงียบเกินไป สนามหญ้าสีเขียวและหมู่ไม้  ที่ ตัดเล็มอย่างประณีตนั้นเล่าก็ว่างเปล่าเกินไป แม้จะมีหลักฐานและร่องรอยอันเด่นชัดของปูชนียบุคคลผู้เคยครอบครองอาศัย แต่ชีวิตที่นั่นเลือนหายไปสิ้นแล้ว

สำหรับ คนร่วมสมัย ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจเป็นอะไรหลายอย่าง คิดและทำอะไรไว้มากมาย เป็นนายธนาคาร อาจารย์ นักแสดง ศิลปินแห่งชาติ นักหนังสือพิมพ์ นักพูดฝีปากกล้า นักจัดรายการวิทยุ บุรุษผู้มีรสนิยมวิไลในการใช้ชีวิต ไปจนถึงนักการเมือง โดยดำรงตำแหน่งสำคัญเกือบครบ ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติ และนายกรัฐมนตรี    บทบาทในการเป็นผู้นำทางความคิดในด้านต่างๆ   ทั้งเศรษฐกิจ   สังคม   การเมืองการปกครอง ศิลปวัฒนธรรม และการศึกษา ทำให้บุรุษผู้นี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพหูสูต โดยองค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในสี่สาขา คือ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552

 

ชาติกำเนิด

พล ตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรธิดา 6 คน ของพลโท พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ พระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับหม่อมแดง ธิดาพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) มีพี่ร่วมบิดามารดาคือ ม.ร.ว.หญิงบุญรับ ปราโมช (พินิจชนคดี) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.หญิงอุไรวรรณ ปราโมช ม.ร.ว.ถ้วนเท่านึก ปราโมช  เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2454 ปีกุน บนเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างที่ครอบครัวเดินทางไปพิษณุโลก 

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็เริ่มเรียนหนังสือจากพี่สาวคนโต ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนวังหลัง หรือวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน ต่อด้วยโรงเรียนสวนกุหลาบจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 แล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่         เทรนต์คอลเลจ      ประเทศอังกฤษ     ขณะ อายุได้ 15 ปี  หลังสำเร็จการศึกษาด้านการเมือง ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ที่ควีนส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อปี 2476 แล้วก็กลับมาโลดแล่นในหน้าประวัติศาสตร์ไทยนับแต่นั้น

 

หนังสือพิมพ์ที่มีจิตวิญญาณ

มรดกสำคัญชิ้นหนึ่งของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช คือ สยามรัฐ หนังสือพิมพ์อายุเก่าแก่ที่สุดที่ยังมีลมหายใจอยู่ในปัจจุบัน  ซึ่ง จะมีอายุครบ 61 ปีในเดือนมิถุนายนนี้ “ท่านสั่งไว้ว่าอย่าให้ล้มหายตายจากตามท่านไป” ชัชวาลย์ คงอุดม เจ้าของและผู้อำนวยการคนปัจจุบันของ สยามรัฐ เล่าถึงความเป็นมาและการดำเนินงาน หลังสูญเสียนักเขียนที่เป็นแม่เหล็กและเสาหลัก “ผมก็ทำเหนื่อย (ขาดทุน) เดือนหนึ่งสี่ห้าล้าน หกเจ็ดล้าน กว่าจะดีก็ปี 50 มันขาดทุน ช่วงปี 39 ลำบากมาก โดยเฉพาะตอนที่ลอยตัวค่าเงินบาท แต่เรารับปากท่านไว้แล้ว จึงกัดฟันสู้ ไม่ขาย”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยมุ่งยกระดับความรู้ความคิดผู้อ่านให้เข้าใจในระบอบประชาธิปไตย มากกว่ามุ่งหวังผลกำไร เป็นหนังสือพิมพ์สำหรับประชาชนที่มีจุดหมายต่อต้านเผด็จการ เพราะหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ในยุคนั้นชอบความตื่นเต้นหวือหวามากกว่าจะให้ความ รู้ประชาชน ในทรรศนะของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ความเป็นจริง ความเป็นธรรม และเสรีภาพ คือ “จิตวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์” ที่แท้จริง ดังหลักการทำงานที่ว่า “มุ่งให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่สุจริต ไม่เป็นพวกใคร ถือเอาความจริงเป็นใหญ่ เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่วู่วาม ทั้งด้านการเสนอข่าวและความคิดเห็น มองโลกในแง่ดี และมีอารมณ์ขันเป็นครั้งคราว ไม่มีเจตนาเคลือบแฝงที่จะให้คุณให้โทษแก่ฝ่ายใดและบุคคลใด”

ความ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมืองและบุคลิกที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่พาดหัวข่าวหวือหวา ไม่ใส่อารมณ์ในข้อเขียน ไม่ประจบสอพลอหรือเขียนทำลายใคร แต่มุ่งนำเสนอความจริงและมีอารมณ์ขัน ทำให้ สยามรัฐ มีความโดดเด่นที่กลุ่มปัญญาชนสนใจและให้การตอบรับนับตั้งแต่วางแผงฉบับแรกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2493

 

เรื่องสั้นถึงเรื่องยาว

มรดก “คึกฤทธิ์” ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคงหนีไม่พ้นงานเขียนที่มีการรวมเล่มและตีพิมพ์นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่บทกวี  เรื่องสั้น ไปจนถึงนวนิยายเรื่องยาวที่ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่าง สี่แผ่นดิน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ซึ่งเล่าเรื่องผ่าน  “แม่พลอย” หญิงสาวชาววังผู้มีชีวิตในช่วงที่สังคมมีการเปลี่ยนผ่านในทุกด้าน

ก่อนจะมี สยามรัฐ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนนวนิยายกึ่งพงศาวดารลงในหนังสือพิมพ์ เกียรติศักดิ์รายสัปดาห์ โดยในปี 2492 เขียน สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉนายกตลอดกาล เพื่อเสียดสีจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ทำท่าจะไม่สละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีง่ายๆ แต่เมื่อ สยามรัฐ ถือกำเนิดในปีต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็นำ สามก๊กฉบับนายทุน มาลงต่อที่หน้า 5 ของ สยามรัฐ จนจบเมื่อปี 2494 หลังจากนั้นก็เริ่ม สี่แผ่นดิน นวนิยายเรื่องยาวที่ฉายภาพชีวิตในรั้วในวังได้อย่างแจ่มชัดอย่างที่ไม่เคยมีนักเขียนคนใดหรือนวนิยายเรื่องใดทำได้มาก่อน

แม้ สี่แผ่นดิน จะเป็นผลงานเรื่องเอก และแม้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะเริ่มเขียนหนังสืออย่างจริงจังเมื่ออายุเข้าสู่วัย 40 แต่ผลงานที่ตีพิมพ์มีมากกว่า 150 เล่ม ทั้งเรื่องสั้น เรื่องแปล นวนิยาย สารคดี บทความ และบทวิจารณ์ มีความหลากหลายทั้งเนื้อหา แนวเรื่อง และรูปแบบการเขียน ความสามารถทางวรรณศิลป์และผลงานเหล่านี้ทำให้คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศให้พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2528และนี่คือมรดกวรรณกรรมที่ไม่ว่าจะหยิบขึ้นมาอ่านเมื่อไร เราจะได้สัมผัสความคิด จิตใจ และตัวตนของผู้เขียนอย่างแท้จริงเสมอ

 

 “พระ นาง ยักษ์ ลิง” แห่งสารขัณฑ์ประเทศ

ความแตกฉานด้านศิลปวัฒนธรรมทำให้การแสดงนาฏศิลป์ โดยเฉพาะโขน เป็นมรดกศิลปะของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช   ที่ยังมีลูกศิษย์ลูกหาและผู้สืบทอดกลุ่มต่างๆ นำเสนอศิลปะชั้นสูงนี้บนเวทีแสดงอย่างต่อเนื่อง

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์หัดโขนมาตั้งแต่เด็ก และเคยแสดงมาแล้วหลายบทบาท ครูทองสุข ทองหลิม อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฎศิลป์และเพื่อนร่วมงาน เล่าไว้ในหนังสือ เกร็ดชีวิต คึกฤทธิ์ 81 ปี ว่า “อาจารย์อยู่ในวังมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นเขาเล่นโขน ก็ฝึกเล่นมาตั้งแต่เด็ก หลังกลับจากเมืองนอก ความรักในวัฒนธรรมที่ยังกรุ่นทำให้ท่านไม่ทิ้งเรื่องนี้ สมัยหนุ่มๆ ท่านแต่งเป็นตัวนาง บางครั้งก็เล่นเป็นทศกัณฐ์ หาใครสู้ท่านไม่ได้...  ท่าน เข้าใจคำว่าศิลปะ ลีลา ร่ายรำ ว่าเป็นอย่างไร เคยเล่นเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ ที่ไม่เคยเล่นเห็นจะเป็นลิง แต่ก็บอกได้ว่าลิงต้องเล่นอย่างไร”

เมื่อ ปี 2506 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้รับพระราชทานครอบครูองค์พระพิราพจากพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต และถือเสมือนเป็น “โขนหลวงประจำรัชกาลที่ 9” สามปีต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ริเริ่มก่อตั้งคณะโขนธรรมศาสตร์ด้วยความเชื่อว่า นาฏศิลป์ไทยจะถ่ายทอดต่อไปได้ต้องสร้างทั้งนาฏศิลปินและคนดู วิทยาลัยนาฏศิลป์ผลิตนาฏศิลปินออกมาแล้ว แต่ถ้าปราศจากผู้ชมที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ศิลปะแขนงนี้ก็จะไม่เติบโตก้าวหน้า และเล็งเห็นว่านักศึกษามหาวิทยาลัยคือผู้ที่สมควรได้รับการปลูกฝังเช่นนั้น ด้วยการลงมือฝึกด้วยตนเอง เพราะเมื่อนักศึกษาเรียนจบไปเป็นผู้นำในสังคม เป็นผู้ชมที่มีความรู้ การสืบทอดนาฏศิลป์ไทยจะดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงรับเป็นครูฝึกโขนให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ร่วมกับครูจากกรม ศิลปากร

โขน ธรรมศาสตร์ซึ่งมีเอกลักษณ์จากบทที่กระชับ แทรกประเด็นทางสังคม การเมือง และเหตุการณ์ปัจจุบัน มีบทพูดเสียดสี ใส่อารมณ์ขัน และสร้างความสนุกสนานชวนติดตาม ออกโรงอย่างรุ่งเรืองจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เริ่มสร่างซา และเมื่อนายโรงใหญ่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2518-2519 คณะโขนจึงค่อยๆลดบทบาทลง

 

เข้าสู่เวทีการเมือง

บทบาท ทางการเมืองของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ดูจะลบเลือนไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ทั้งการตั้งพรรคการเมือง การเป็นหัวหน้าพรรค และการเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพรรคการเมืองนั้นหมดบทบาทไปจากเวทีการเมืองปัจจุบัน และวาระหนึ่งปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีสีสันไม่จัดจ้านร้อนแรงพอ

ใน ปี 2488 หรือ 13 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้การเมืองไทยด้วยการร่วมกับกลุ่มคนที่มีความคิดเห็น ต่อต้านคณะราษฎร์ ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า พรรคการเมืองพรรคแรกของไทยที่จดทะเบียนตามกฎหมาย เพื่อต่อสู้ทางระบบสภาและเตรียมการเลือกตั้งใหม่หลังสงคราม โดยเป็นผู้นำวิธีหาเสียงรูปแบบใหม่มาใช้เป็นครั้งแรก นั่นคือการปราศรัยบนเวทีสาธารณะ และผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จากพรรคการเมืองใหม่ก็ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พระนครในปี 2489 ถือเป็นหนึ่งในส.ส.ที่มีบทบาทและฝีปากเด่นทั้งในและนอกสภา

การ ปราศรัยของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากประชาชน และได้รับการเสนอข่าวเกรียวกราวในหน้าหนังสือพิมพ์ อันนำไปสู่ความสำเร็จทางการเมืองระยะแรก อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2491 เพราะไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้าน ไม่คัดค้านนโยบายที่ฝ่ายรัฐบาลมีมติเพิ่มค่าตอบแทนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกคนละ 1,000 บาท แต่กลับยกมือสนับสนุนมติดังกล่าว ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ที่น่าตื่นเต้นเพราะเหตุการณ์นั้นถือเป็นครั้งแรกที่มี ส.ส.ลาออกเพื่อประท้วงมติของสภา

 

จากนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 สู่ “เสาหลักประชาธิปไตย””

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์หวนคืนสู่สังเวียนการเมืองอีกครั้ง โดยเริ่มจากการได้รับเลือกเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จากนั้นก็ร่วมมือกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนักธุรกิจ ตั้งพรรคกิจสังคมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2517 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค  มี นายบุญชู โรจนเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค ใช้คำขวัญในการหาเสียง เช่น “กล้าพูด กล้าทำ และทำได้” “ทำได้ใจถึง ต้องคึกฤทธิ์” และ “เราทำได้” โดยเน้นนโยบายที่จะนำการเมืองไปสู่ประชาชน ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนชนบทและกระจายความเจริญสู่จังหวัดต่างๆ

การ คืนสู่สนามการเมืองครั้งนี้ส่งผลให้หัวหน้าพรรคกิจสังคมดำรงตำแหน่งนายก รัฐมนตรีคนที่ 13 ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2518 ทั้งๆที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 18 คน โดยต้องตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ถึง 22 พรรค  ถือ เป็นรัฐบาลที่มีพรรคผสมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และออกนโยบายน่าสนใจหลายข้อ อาทิ นโยบายผันเงิน 2,500 ล้านบาทสำหรับพัฒนาชนบทผ่านสภาตำบล นโยบายประกันราคาพืชผล นโยบายเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน นโยบายสวัสดิการสังคม เช่น การนั่งรถประจำทางฟรี และจัดให้คนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 1,000 บาทได้รับการรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นรากของนโยบายขายดีที่รัฐบาลหลายชุดในปัจจุบันรับไป พัฒนา

แต่ ผลงานสำคัญของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือการเปิดความสัมพันธ์การการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2518 ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายนี้แสดงถึงการแยกแยะระหว่างความอยู่รอดของชาติ บ้านเมืองกับความคิดเห็นส่วนตัว เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ประกาศท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าตนไม่นิยมคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหารออกไป ขณะที่สถานการณ์ในคาบสมุทรอินโดจีนไม่สู้ดี ประเทศเพื่อนบ้านของไทย  ทั้งกัมพูชา  ลาว  เวียดนาม มีสงครามกลางเมืองและคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายมีชัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ไม่รีรอที่จะให้ความสำคัญกับจีน

อย่าง ไรก็ตาม ในปีที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศคุกรุ่นขณะที่เกิดวิกฤติการณ์ภายใน อย่างหนัก ทั้งการเดินขบวน การชุมนุมประท้วงกรณีต่างๆ หรือแม้แต่การบุกรุกทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ไม่เว้นแม้แต่บ้านของนายกรัฐมนตรี แต่นอกจากการบริหารราชการแผ่นดิน ยังมีปัญหาในฐานะผู้นำรัฐบาลพรรคผสมที่จะต้องประสานประโยชน์ของพรรคหรือฝ่าย ต่างๆ ที่ร่วมรัฐบาลด้วย ท้ายที่สุด รัฐบาลผสมที่ขาดเสถียรภาพก็บริหารประเทศได้เพียงแปดเดือน ผู้นำรัฐบาลตัดสินใจยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ตอนต้นปี 2519 และพรรคประชาธิปัตย์ของม.ร.ว.เสนีย์ ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเนื่องด้วยความร้อนแรงของสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น จนในที่สุดก็ระเบิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ยุติบทบาททางการเมืองและลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคมในปลาย ปี 2528 ทิ้งไว้แต่ฉายา “เฒ่าสารพัดพิษ” อันหมายถึงลีลาการเมืองอันแสบสันต์จนเป็นที่รู้กันดี “เสาหลักประชาธิปไตย” หรือ “ซือแป๋ซอยสวนพลู” แต่ถึงแม้จะปิดฉากเวทีการเมือง คึกฤทธิ์ก็ยังไม่ลงจากเวทีวรรณกรรม ยังคงมีข้อเขียนแสดงทรรศนะและวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองภายใต้ การบริหารงานของรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้พักผ่อนมากขึ้นเมื่อวางมือจากภาระต่างๆ แต่สุขภาพร่างกายก็เริ่มถดถอย โดยต้องผ่าตัดแคลเซียมเกาะกระดูกสันหลังที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2525 อีกสี่ปีต่อมา คณะแพทย์ตรวจพบอาการป่วยรุมเร้าหลายอย่าง  อาทิ โรคหัวใจ  เบาหวาน  ถุงลมโป่งพอง  ถุงน้ำดีอักเสบ และนิ่ว  และเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2538 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถูกนำส่งห้องไอซียูของโรงพยาบาลสมิติเวชด้วยระบบการทำงาน ของอวัยวะภายในเสื่อม และถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2538 สิริรวมอายุ 84 ปี 5 เดือน 20 วัน

เมษายน 2554

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version