หมวดหมู่ทั่วไป > ห้องพักผ่อนรวม (Common Room)

เปิด "เมืองเสี่ยง" แผ่นดินไหว ความพร้อมต่ำ-เสียหายสูง !! กับ 5 ประเทศเสี่ยงต่ำ

(1/1)

story:
แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเป็นหนึ่งใน "ภัยธรรมชาติ" ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม ก็สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ทว่ายังมีหลายเมืองในโลกที่มีความเสี่ยงจะเกิดแผ่นดินไหว แต่ปัจจุบันก็ยังขาดความพร้อมในการจัดการกับภัยพิบัติดังกล่าว

อาทิ "กรุงมะนิลา" เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ที่ยังไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง ทั้ง ๆ ที่ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งประเทศที่ทำเลอยู่บนวงแหวนไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุบ่อยครั้ง นอกจากนี้ พื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรสูงบนเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศอย่าง "เกาะลูซอน" ยังอยู่บนหรืออยู่ใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลกอย่างน้อย 4 แห่ง

ทั้งนี้ ผลการศึกษาด้านแผ่นดินไหวชี้ว่า รอยเลื่อนดังกล่าวจะขยับทุก ๆ 200-400 ปี และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 17 และการขยับรอบต่อไปอาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวความแรงสูงถึง 7.2 ริกเตอร์ ที่สามารถผลักฟิลิปปินส์ให้ร่วงสู่บ่วงวิกฤตได้ทันที

บาร์โตโลมี บอทิสต้า รองผู้อำนวยการสถาบันศึกษาด้านภูเขาไฟและ แผ่นดินไหวของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของสถาบันร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) เมื่อปี 2547 แสดงให้เห็นว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ ที่อยู่อาศัยราว 40% ในกรุงมะนิลาจะพังครืน หรือได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน อีกทั้งอาจคร่าชีวิตคนอย่างน้อย 3.4 หมื่นคน และจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 1.14 แสนคน

สอดคล้องกับ รายงานของกลุ่มนักคิดด้านการประเมินและยุทธศาสตร์แปซิฟิกเตือนว่า แผ่นดินไหวจะส่งผลให้ เมืองหลวงตากาล็อกวุ่นวาย เพราะอาคารบ้านเรือน ถนนหนทางจะถูกทำลายเสียหาย พร้อมๆ กับมีคนเสียชีวิตหลายหมื่นคน และคนจำนวนมากจะไร้ที่อยู่อาศัย

จัน พาลาฟ็อกซ์ วิศวกรด้านผังเมือง ชี้ว่า การคอร์รัปชั่นส่งผลให้การบังคับใช้โซนที่อยู่อาศัยไม่สำเร็จ โดยรัฐบาลปล่อยให้สร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัย ธรรมชาติ

นอกจากกรุงมะนิลาแล้ว "อิสตันบูล" คืออีกหนึ่งเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงจากภัยแผ่นดินไหว และมีประชากรเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าศักยภาพด้านความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย ซึ่งหมายถึงว่าหากเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ ความเสียหายที่ตามมาย่อมมหาศาลตามไปด้วย

โดย ดร.โรเจอร์ บิลแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด มองว่า ถ้าปราศจากความพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้าง การให้ความรู้แก่คนทุกกลุ่มเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างให้ดีขึ้น โศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้นกับเฮติเมื่อ ต้นปี 2553 อาจถูกทำลายสถิติ หากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองอย่างการาจีในปากีสถาน กาฐมาณฑุในเนปาล ลิมาของเปรู หรือเมืองใหญ่ยากจนอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวครั้งสำคัญ

ดร.บิลแฮมประเมินว่า หากกรุงเตหะรานของอิหร่านเกิดแผ่นดินไหวขนาดเท่ากับที่เกิดขึ้นในเฮติ จะมีคนเสียชีวิตราว 1 ล้านคน หรือในกรณีของอิสตันบูล อาจคร่าชีวิตคนราว 3-4 หมื่นคน และจะมีคนบาดเจ็บอีก 1.2 แสนคน เพราะที่อยู่อาศัยไม่ได้ถูกสร้างให้รองรับการแผ่นดินไหว และบางส่วนมีการต่อเติมแบบผิดกฎหมาย

ด้าน มาห์มุต บาส หัวหน้าคณะ ทำงานวิเคราะห์พื้นดินและแผ่นดินไหวของอิสตันบูล ระบุว่า การพังทลายของอาคารบ้านเรือน เป็นเพียงหนึ่งในภัยคุกคามสำคัญ เพราะหากมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าท่อก๊าซธรรมชาติ 3 หมื่นท่อน่าจะแตก และหาก 10% ของท่อเหล่านั้นเกิด ไฟไหม้ หรือเท่ากับ 3 พันท่อ ก็จะกลายเป?นวิกฤตครั้งใหญ่ เพราะสถานีดับเพลิงของเมืองรับมือกับเหตุไฟไหม้ได้มากที่สุดเพียง 30-40 กรณีต่อวันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อิสตันบูลกำลังพยายามเตรียมรับมือกับความเสี่ยง แผ่นดินไหว โดยก้าวแรกคือการกำหนดแผนรับมือแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งโดยทั่วไป หาได้ยากที่เมืองธรรมดาจะมีแผนแบบนี้ เพราะที่ผ่านมาจะมีแต่เมืองร่ำรวย เช่น โตเกียว และ ลอสแองเจลิส ที่มีการวางแผนเช่นนี้

ตามแผนนี้ มีความพยายามกำหนดโซนการก่อสร้าง การบังคับให้มีการ ประกันแผ่นดินไหว ตลอดจนขอเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อปรับปรุง หรือสร้างโรงเรียน และอาคารสาธารณะอื่น ๆ ใหม่ให้แข็งแรงทนทานยิ่งขึ้น และนอกจากการมีสิ่งก่อสร้างที่ทนต่อแผ่นดินไหวได้แล้ว ก็จะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย หากเกิดแผ่นดินไหวด้วย

...................

 

5 ประเทศเสี่ยงต่ำ ภัยธรรมชาติน้อย


จาก วิกฤตภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับ "ญี่ปุ่น" เรื่อยไปจนถึงวิกฤตการเมืองการปกครองที่กำลังรุมเร้าหลายประเทศในตะวันออก กลางและแอฟริกาเหนือ ทำให้หลายคนอาจเริ่มมองถึงความปลอดภัยของชีวิตตนเอง และประเทศที่ตนอยู่อาศัยว่ามีความเสี่ยงจากวิกฤตเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

แม้ ว่าจะไม่มีประเทศใดในโลกที่จะปลอดภัยหรือดีสมบูรณ์แบบในทุกด้าน แต่ก็ยังมีบางประเทศที่อาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในหลายแง่มุม

ซึ่ง "บิสซิเนสอินไซเดอร์" รวบรวมประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งในแง่ภัยธรรมชาติ ปัญหาการเมือง นิวเคลียร์ และผู้ก่อการร้ายไว้ดังนี้

เริ่ม จาก "อุรุกวัย" ประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกาใต้ที่เผชิญกับภัยธรรมชาติน้อยครั้ง แม้อาจต้องรับมือกับน้ำท่วมตามฤดูกาลบ้าง แต่ไม่หนักหนาสาหัสถึงขั้นทำลายล้าง อีกทั้งยังปลอดภัยจากปัญหาแผ่นดินไหว เฮอร์ริเคน ภูเขาไฟระเบิด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขณะที่ประชากรก็มีความแตกต่างทางเชื้อชาติน้อย และรัฐบาลก็ไม่รวยมากพอที่จะควบคุมประชากรแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้รัฐบาลทหารแบบฟาสซิสต์จะเป็นส่วนหนึ่งของอดีตอันไม่สวยงามของประเทศ แต่ไม่ใช่สำหรับอนาคตที่สดใสอย่างแน่นอน

ด้าน "โปแลนด์" ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นกัน แม้จะหนาวยะเยือกในฤดูหนาว แต่ก็เกิดภัยธรรมชาติอื่น ๆ น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยของโลกครั้งที่ผ่านมาเลย หรืออาจเทียบได้ว่าหากสหรัฐเป็นหวัด แต่โปแลนด์แค่มีคัดจมูกเบา ๆ เท่านั้น แถมรัฐบาลก็มีทุนหนา แม้ว่าจะเป็นอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ก็ตาม อีกทั้งยังเสี่ยงต่อวิกฤตผู้อพยพชาวมุสลิมน้อย ต่างจากประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ

ถัดมาคือ "สิงคโปร์" ที่ทำเลที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิเหมาะสมระหว่างเกาะบอร์เนียวและมาเลเซีย ปราการธรรมชาติที่จะคอยเป็นด่านแรกที่รับพายุไต้ฝุ่นหรือสึนามิหากเกิดขึ้น ก่อนที่ภัยดังกลˆาวจะมาถึงสิงคโปร์ด้วยความแรงไม่มากนัก ส่วนด้านสังคม แม้จะมีความหลากหลายสูง แต่สิงคโปร์ก็มีประวัติศาสตร์ในแง่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสม กลมกลืนกันได้ อีกทั้งยังเป็นประเทศอันดับท้าย ๆ ในโลกที่รัฐบาลทุนนิยมจะเปิดฉากปะทะกับประชาชนของตนเอง

ขณะที่ "เอสโตเนีย" มีลักษณะคล้ายกับโปแลนด์ คือไม่เคยเจอกับภัยธรรมชาติหนักหน่วง ยกเว้นภัยหนาว ทั้งยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปราศจากกลุ่มหัวรุนแรง หรือความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่น่ากังวล ด้านรัฐบาลทุนนิยมที่มีความโปร่งใสก็บริหารงานแบบคุมเข้มจนไม่เหลือช่องงบ ประมาณสำหรับหน่วยงานตำรวจจำนวนมาก

สุดท้ายคือ "สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยปราศจากมหันตภัยธรรมชาติ แต่อาจมีปัญหาหนักสุดคือพายุทรายตามฤดูกาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าวิตก แถมแผนตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกก็คงไม่สำเร็จเป็นรูปธรรมใน อนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน และหากมองในแง่ของความเป็นตะวันออกกลางที่กำลังเกิดวิกฤตอยู่ในปัจจุบันนั้น ยูเออีก็แตกต่างจากประเทศในกลุ่มนี้ด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการคือ ประการแรก รัฐบาลกลางของยูเออีมีอำนาจจำกัด และแต่ละรัฐมีอิสระในการปกครองตนเอง อีกทั้งปัจจุบันยูเออีถือเป็นประเทศที่ "เสรี" ที่สุดในกลุ่มตะวันออกกลาง ดังนั้นแทบไม่ต้องวิตกเรื่องการเรียกร้องให้ปฏิรูป และประการสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือ ชาวต่างชาติในประเทศมีจำนวนมากกว่าคนท้องถิ่น เช่น ดูไบ ที่มีประชากร 71% เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ส่วนตำรวจก็เป็นชาวเอเชียใต้จากอินเดีย และปากีสถาน ไม่ใช่คนท้องถิ่น

มติชนออนไลน์
20 มีนาคม พ.ศ. 2554

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version